‘ไทยแลนด์พลัส’ จูงใจต่างชาติลงทุน ได้จริงหรือ?

มติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นชอบแพคเกจเร่งรัดการลงทุน และรองรับการย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า หรือไทยแลนด์ พลัส แพคเกจ 7 ด้าน

ประกอบด้วย 1.ด้านสิทธิประโยชน์ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดยต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563

2.ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการของหน่วยงาน ให้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุน ในลักษณะวัน สต๊อป เซอร์วิส มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคแก่นักลงทุน รวมทั้งให้บีโอไอสามารถอนุมัติโครงการในกลุ่มกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกขนาดการลงทุนเพื่อตอบสนองนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานโดยเร็ว

3.ด้านบุคลากร ให้กำหนดมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็นเทคโนโลยี ขั้นสูง ไปหักลดหย่อนเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562-2563 รวมทั้งให้มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ ระหว่างปี 2562-2563

Advertisement

4.ด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงขอให้บีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเชื่อมโยงข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน

5.มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เป็นต้น

6.ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งสรุปผลการศึกษาและกระบวนการต่างๆ ให้ได้ข้อสรุปเรื่องการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าไทย-อียู และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ภายในปี 2562 รวมทั้งมอบให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณแก่กระทรวงพาณิชย์ สำหรับกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าด้วย

Advertisement

และ 7.ให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการเพิ่มเติม โดยให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้เพิ่มขึ้น ระหว่างปี 2562-2563 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ อันจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย
หลังจากนั้นสดับฟังทั่วทิศ ได้ยินเสียงสะท้อนหลากหลายมุมมอง

นณริฏ พิศลยบุตรŽ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า แพคเกจการส่งเสริมลงทุนใหม่ไทยแลนด์ พลัส เป็นความพยายามของรัฐบาลจะออกมาตรการมาดึงดูดการลงทุน ถือว่าเป็นการออกมาตรการถูกเวลา เพราะขณะนี้หลายประเทศกำลังมีปัญหาด้านความเชื่อมั่นการลงทุนจากปัญหาสงครามการค้า ดังนั้นแพคเกจที่ออกมาช่วยทำให้ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจของนักลงทุน
ทั้งที่ดูแพคเกจ 7 ข้อที่ออกมาเน้นการลงทุนขนาดใหญ่ และเป็นการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง (ไฮเทค)

เท่าที่ดูยังรู้สึกกังวลว่าคนไทยจะได้อะไร เนื่องจากมีการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี ทำให้ภาษีที่ควรจะเก็บได้หายไป
ในเรื่องแรงงานเปิดทางให้จ้างงานบุคลากรมีทักษะฝีมือจากต่างประเทศเข้ามา และการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป็นออโตเมติก อาจเกิดผลกระทบต่อแรงงานไทย เพราะก่อนหน้านี้การมีอุตสาหกรรมในไทยจะช่วยสนับสนุนการจ้างแรงงานไทย แต่ถ้ารัฐเน้นระบบออโตเมติก ทำให้การจ้างแรงงานลดลง ดังนั้นเป็นสิ่งที่ไทยควรจะได้จากการเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมดังกล่าวอาจจะน้อยกว่าในอดีต

นอกจากนี้เท่าที่ดูแพคเกจที่ออกมายังมีความไม่มั่นใจในหลายตัว เช่น เรื่องของวัน สต๊อป เซอร์วิส ช่วยเข้ามาแก้ปัญหาการลงทุน และเข้าไปเสนอสิทธิประโยชน์ดึงดูดการลงทุนเป็นรายบริษัทนั้น ไม่มั่นใจว่าไทยทำได้ดีเท่ากับที่สิงคโปร์ให้หรือไม่ และถ้าให้สิทธิประโยชน์แตกต่างกันในแต่ละบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ ถ้าไทยสามารถทำได้ดีเทียบเท่าสิงคโปร์น่าจะช่วยตอบโจทย์การลงทุนไทยได้มากขึ้น

ในเรื่องสิทธิประโยชน์จะทุ่มให้กับนักลงทุนนั้น เท่าที่เคยศึกษามาพบว่านักลงทุนสนใจในเรื่องแรงงานมากกว่า แพคเกจการลงทุนล่าสุดที่ออกมายังไม่ค่อยพูดถึงเรื่องแรงงาน รวมถึงยังไม่มีการพูดถึงการพัฒนาแรงงานของไทยให้พร้อมกับอุตสาหกรรมในระดับสูงขึ้น โดยเรื่องแรงงานยังเป็นปัญหาสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาในไทย เพราะแรงงานระดับล่างก็ขาด แรงงานทักษะฝีมือยังมีไม่มากพอที่จะป้อนภาคอุตสาหกรรม ตรงนี้อาจทำให้ไทยยังไม่น่าสนใจมากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่งเวียดนาม เกาหลี หรือจีน

สมประวิณ มันประเสริฐŽ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ความเห็นว่า แพคเกจไทยแลนด์ พลัส ที่รัฐบาลจะผลักดันออกมาเพื่อเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบของสงครามการค้า ไว้ว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจการลงทุนได้และหากมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ ทั้งในระยะสั้นที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ต่อเนื่องในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง

ขณะที่ระยะยาว เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและการลงทุนที่เข้ามา หากเป็นการลงทุนที่ทำให้ประเทศไทยพัฒนาศักยภาพขึ้นไปอยู่ในสายพานการผลิตรูปแบบใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ จะถือว่าเป็นประโยชน์ที่ไทยได้เพิ่มเติมและจะช่วยเรื่องการเติบโตเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ทั้งนี้ นอกจากการให้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติแล้ว แพคเกจ ดังกล่าวยังมีรายละเอียดเรื่องการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจของต่างชาติให้มีสะดวกมากขึ้นด้วย จะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศในด้านความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing business) ได้ รวมทั้งยังได้มีการเตรียมพร้อมด้านตลาดให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยได้เร่งรัดให้สรุปผลการศึกษาและกระบวนการต่างๆ ในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ภายในปีนี้

แพคเกจไทยแลนด์ พลัส น่าจะช่วยจูงใจนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาได้ แพคเกจนี้มีการเตรียมไว้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การจูงใจ การอำนวยความสะดวกธุรกิจ การหาตลาด เรียกว่าจูงใจให้เข้ามาลงทุน มาผลิตแล้วก็มีตลาดที่ขายได้ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต่างชาติจะเข้ามาขอสิทธิประโยชน์เร็ว แต่การลงทุนจริงอาจจะต้องใช้ระยะเวลาเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปี เพราะต้องมีการศึกษารายละเอียดพื้นที่ ประเมินการ
ลงทุน ระยะเวลาการก่อสร้าง เป็นต้น แต่ก็ถือว่าช่วยให้ความเชื่อมั่นมีทิศทางที่ดีขึ้นŽ

สมประวิณระบุว่า ในระยะสั้นที่การลงทุนต่างชาติอาจจะยังไม่เกิดขึ้นเร็ว ส่วนที่จะเข้ามาเสริมได้ คือ นโยบายการดึงเงินลงทุนเอกชนไทยที่ออกไปลงทุนต่างประเทศให้กลับเข้ามาในประเทศ เพราะจะเกิดผลได้เร็ว แม้ว่าอาจจะมีประเด็นว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจอาจ
จะไม่อยากลงทุน แต่เชื่อว่าธุรกิจรายใหญ่มีศักยภาพและพร้อมที่จะลงทุนอยู่แล้ว รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วย

โดยก่อนหน้านี้ หน่วยงานรัฐเองก็ออกมาเปิดเผยถึงสถานะบริษัทต่างชาติเตรียมตัดสินใจเลือกประเทศลงทุนใหม่ ส่วนหนึ่งย้ายเพราะต้องการหนีปัญหาแรงปะทะระหว่างสหรัฐกับจีน ที่เชื่อว่าจะมีเล่นสงครามการค้ากันอีกยาว…

สำหรับ 100 บริษัทที่บีโอไอเตรียมเคาะประตูนั้น เบื้องต้น สศช.ได้จัดทำรายงานสรุปรายชื่อบริษัทที่มีแผนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนทั้งสิ้น 48 บริษัท ในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตเข้ามาประเทศไทย 10 ราย ได้แก่ Delta Electronics จากไต้หวัน ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะเข้ามาตั้งโรงงานที่ จ.สมุทรปราการ, Merry lectronics จากไต้หวัน ผลิตหูฟัง จะเข้ามาที่ จ.ชลบุรี
นอกจากนี้ Besser จากจีน ผลิตภัณฑ์ แอลซีดี จะเข้ามาที่ จ.ฉะเชิงเทรา, Sharp จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่ระบุที่ตั้ง, Ricoh จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้สำนักงาน ยังไม่ระบุที่ตั้ง, Xilinmen Furniture จากจีน ผลิตและออกแบบ
เฟอร์นิเจอร์ ยังไม่ระบุที่ตั้ง, BFGoodrich จากสหรัฐ ผลิตยางรถยนต์ จะเข้ามาที่ จ.ชลบุรี

รวมทั้ง Sony จากญี่ปุ่น ผลิตสมาร์ทโฟน ยังไม่ระบุที่ตั้ง, Western Digital สหรัฐ ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จะเข้ามาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี และ จ.ปราจีนบุรี, Harley Davidson จากสหรัฐ ผลิตรถจักรยานยนต์ ยังไม่ระบุสถานที่
และยังมีบริษัทที่มีแผนเข้ามาตั้งในไทยและประเทศอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา 4 บริษัท ได้แก่ Kyocera จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์
สำนักงาน อยู่ระหว่างการเลือกระหว่างไทยกับเวียดนาม, HP จากสหรัฐ อยู่ระหว่างการเลือกไทยกับไต้หวัน, Casio จากญี่ปุ่นกำลังเลือกระหว่างไทยกับญี่ปุ่น, Microsoft จากสหรัฐอยู่ระหว่างการเลือกไทยกับอินโดนีเซีย

ส่วนบริษัทที่มีแผนไปในประเทศอื่นๆ แบ่งเป็นย้ายไปประเทศเวียดนาม 9 บริษัท และอยู่ระหว่างการเลือกลงทุนในเวียดนามและประเทศอื่น 4 บริษัท เลือกที่จะไปลงทุนไต้หวัน 4 บริษัท และอยู่ระหว่างการเลือกไปลงทุนไต้หวันและประเทศอื่น 2 บริษัท เลือกไปลงทุนที่ญี่ปุ่น 2 บริษัท อยู่ระหว่างการเลือกระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศอื่น 1 บริษัท เลือกไปลงทุนอินโดนีเซีย 1 บริษัท อยู่ระหว่างการเลือกลงทุนในอินโดนีเซียและประเทศอื่น 1 บริษัท เลือกลงทุนในเกาหลีใต้ 1 บริษัท และยังไม่ได้เลือกประเทศที่จะไปลงทุนอีก 13 บริษัท
ส่วนแรงหนุนจากไทยแลนด์ พลัสแพคเกจ จะเห็นผลได้แค่ไหน รอลุ้น ไม่เกินสิ้นปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image