‘สืบศักดิ์’ เสนอแนะ ‘5จี’ วาระชาติ ต้องทะลุทุกปัญหา

ขณะนี้ 5จีŽ เริ่มขยับเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนี้หลายคนน่าจะเริ่มเห็นจากสื่อต่างๆ บ่อยขึ้น โดยการมาของ 5จีนั้น นอกจากจะช่วยกระชากความเร็วในการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่แล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่สามารถเข้ามาเพิ่มศักยภาพในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการศึกษาและด้านการแพทย์ด้วย อ.สืบศักดิ์ สืบภักดีž นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดโอกาสให้ มติชนŽ ได้อัพเดตความเคลื่อนไหวของ 5จีŽ ให้ทราบกัน

อ.สืบศักดิ์ระบุว่า 5จี ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ควรจะมี แต่มีความชัดเจนว่ากว่า 60 ประเทศทั่วโลก มีการปักหมุดเรื่องการนำเทคโนโลยี 5จี มาทดแทนเทคโนโลยี 3จี และ 4จี ที่มีอยู่อย่างชัดเจน

เมื่อพูดถึง 5จี หลายคนอาจคิดว่า เป็นเรื่องของโทรศัพท์มือถือหรือโครงข่ายการสื่อสาร จะทำให้สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตหรือโทรคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชนิดที่เร็วปรู๊ดปร๊าด แต่ในความเป็นจริงนั้น การเปลี่ยนผ่านเป็น 5จี แตกต่างจากการเปลี่ยนผ่านจากระบบ 3จี มาเป็น 4จี ในอดีตอย่างสิ้นเชิง โดย 5จี จะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นโครงข่ายสำหรับโทรศัพท์มือถือหรือโครงข่ายสำหรับใช้งานอินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว มาเป็นโครงข่ายหรือแพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมต่อหลายอย่าง ทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือข้ามอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตร, การรักษาพยาบาล, การศึกษา และโดยเฉพาะการค้าขาย ที่จะช่วยดึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น การเกิดขึ้นของ 5จี จึงจำเป็นในหลายมิติ ทั้งมิติการพัฒนาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม และมิติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม แต่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน และไม่มีโครงข่ายที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการรองรับ

Advertisement

โครงสร้างพื้นฐาน 5จี ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ หรือแถบคลื่นความถี่ (แบนด์วิธ) และ 2.รูปแบบการติดต่อสื่อสารและการเชื่อมต่อเครือข่าย (นิวเรดิโอ) โดยโครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์นั้น ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าไม่ย่ำแย่ เนื่องจากนโยบายระดับประเทศและภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความเร็วสูง อย่างระบบไฟเบอร์ออปติก (เส้นใยแก้วนำแสง) แม้จะเป็นต้นตอของสายสื่อสารระโยงระยางอยู่ตามท้องถนน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดแก้ไข ส่วนเรื่องนิวเรดิโอ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่จะขยายไปสู่การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ทำให้การเปลี่ยนผ่านจาก 4จี เป็น 5จี ต้องลงทุนด้านการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี และการวางโครงสร้างพื้นฐานไม่น้อย รวมทั้งมีการเตรียมการในหลายเรื่อง เช่น แผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (สเปกตรัม โรดแมป) เนื่องด้วยข้อจำกัด 5จี ไม่สามารถซ้อนลงบนเทคโนโลยีในระบบ 4จี ได้ จึงต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านใหม่ ที่มีแบนด์วิธกว้างเพียงพอต่อการรองรับ

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ระบุถึงแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ ว่า การประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไปจะเป็นการประมูลในรูปแบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน (มัลติแบนด์) ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 190 เมกะเฮิรตซ์, 26-28 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 300-400 กิกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ ทำให้เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านพบว่าเรามีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจนกว่า ทำให้การขับเคลื่อน 5จี อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม (เวนเดอร์) จะให้ความสำคัญกับประเทศไทย หากสามารถขับเคลื่อน 5จี ให้เกิดขึ้นได้ก่อน

คลื่นความถี่Ž คือหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อน 5จี โดย 5จี มีคุณสมบัติ ได้แก่ 1.ความเร็วสูงสุดในการรับ-ส่งข้อมูล สูงสุดถึง 20 กิกะบิต ส่วน 4จี จะอยู่ที่ 1 กิกะบิต 2.ความหน่วง (ลาเทนซี่) ในการเชื่อมต่อปลายทางทำได้เร็วและนิ่งขึ้น ระดับมิลลิวินาที ทำให้เหมาะกับการใช้งานเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น 3.รองรับการใช้งานเครือข่ายในปริมาณที่มากกว่า 4จี ถึง 10 เท่า 4.ช่วงคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นถึง 30 กิกะเฮิรตซ์ ส่วน 4จี ใช้ได้เพียง 3 กิกะเฮิรตซ์ และ 5.รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ได้ถึง 1 ล้านชิ้นต่อตารางกิโลเมตร ขณะที่ 4จี รองรับได้เพียง 1 แสนชิ้นต่อตารางกิโลเมตร

แนวทางการกำหนดค่าใบอนุญาต หรือรูปแบบการจัดสรรคลื่นความถี่ กสทช. ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยกฎหมายระบุว่า ใบอนุญาตเพื่อการพาณิชย์ จะต้องมีการประมูล ที่แม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่นอกจากจะใช้เงินลงทุนด้านการวางโครงข่ายจำนวนมหาศาล รวมแล้วรายละร่วมๆ 200,000 ล้านบาท จึงเชื่อว่า กสทช. จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในด้านราคาค่าใบอนุญาตที่สอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบัน

ในอดีตประเทศไทยล้าหลังระบบ 3จี และ 4จี กว่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ทำให้หลายเรื่องไม่สามารถพัฒนาได้ ตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็น แต่ปัจจุบันถือได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมในหลายเรื่อง จึงเชื่อว่ารัฐบาลหรือผู้กำหนดนโยบายจะได้รับบทเรียนจากในอดีตไม่น้อย จึงพยายามที่จะผลักดันการขับเคลื่อน 5จี ให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเห็นด้วย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยหนึ่ง โดยต้องเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน เช่น กระทรวงคมนาคม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ที่ผ่านมาการประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 2จี กสทช.เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลัก เพราะกฎหมายให้อำนาจกับ กสทช. จึงทำให้ไม่เกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมอื่นมากนัก

“5จี ไม่ใช่วาระของการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือของประชาชน แต่เป็นวาระของประเทศในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการแข่งขัน และพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม เป็นวาระแห่งการกำหนดอนาคตของประเทศ โดยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลŽ”

ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี ระดับชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น ถ้ามีแล้วสามารถปลดล็อกข้อจำกัดในหลายเรื่อง รวมถึงช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงานได้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจัดตั้งแล้ว มีการทบทวน, การกำหนดแนวทางด้านนโยบาย อีกทั้งต้องมีการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาทำหน้าที่ แล้วจึงนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มองว่าอาจทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างล่าช้า

“ถ้ามีคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี และเป็นวาระแห่งชาติ ก็ขอให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทะลุทุกปัญหาให้กับภาคนักลงทุนและภาคเอกชนอย่างแท้จริง แต่ถ้ามีแล้วแก้ไขปัญหาไม่ได้ และกลับมาเพิ่มขั้นตอนให้ยุ่งยากขึ้น ก็จะเป็นความยากลำบากในการขับเคลื่อนไปสู่ 5จี เพิ่มขึ้นอีกŽ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image