ถล่มโรงกลั่นซาอุ…สะเทือนไทย? พลังงานตื่นงัดสารพัดรับมือน้ำมันพุ่ง บทพิสูจน์ฝีมือ ‘รบ.ตู่-รมว.สนธิรัตน์’

แม้เหตุความหวั่นวิตกให้กับทั่วโลกอย่างมากจากเหตุการณ์โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 2 แห่งของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีทางอากาศ (จากโดรน) เมื่อวันเสาร์ที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลก ในเช้าวันจันทร์ที่ 16 กันยายน ดีดตัวสูงขึ้นมากกว่า 10% หลังตลาดซื้อขายล่วงหน้าเปิดทำการ แบ่งเป็น ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าพุ่งสูงขึ้นเกือบ 12% หรือเพิ่มขึ้น 7.06 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากราคาปิดตลาดซื้อขายเมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 13 กันยายน สู่ระดับ 67.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกหวั่นวิตกต่อปัญหาการขาดแคลนอุปทานน้ำมันดิบ จะผ่านไประยะหนึ่งแล้ว แต่ความวิตกอาจเกิดซ้ำอีกได้ยังมีอยู่

นั่นเป็นเพราะซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก และความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียสูญเสียกำลังการผลิตน้ำมันดิบไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตทั้งสิ้น 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 58.2% ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของซาอุดีอาระเบีย และคิดเป็น 5.7% ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก ซึ่งเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีกำลังผลิตอยู่ที่ 99.24 ล้านบาร์เรล

⦁หวั่นถล่มโรงกลั่นซาอุฯบานปลาย
อย่างศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบของเหตุการณ์นี้ต่อเศรษฐกิจไทยโดยแบ่งเป็น 2 กรณีตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์การตอบโต้ คือ กรณีฐานซาอุดีอาระเบียไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ อาทิ การข่มขู่ให้กลัว การตอบโต้โดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับอิหร่าน ก็น่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น

ภายใต้สมมุติฐานนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทยอยลดลงเข้าสู่ระดับเดิมก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่ระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และกรณีที่ซาอุดีอาระเบียใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2562 โดยสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นประกอบกับอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ลดลง น่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์สูงขึ้นอยู่ในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลช่วง 3-4 เดือน ที่เหลือของปีนี้ จาก 8 เดือนกรอบ 50-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

Advertisement

⦁กังวลน้ำมันขายปลีกพุ่งดันเงินเฟ้อ
ทั้งประเมินว่าหากสถานการณ์บานปลาย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทาง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะสูงขึ้นช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี และสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกที่ขยับขึ้นจะส่งผลต่อระดับราคาพลังงานในประเทศสูงขึ้นด้วย ทั้งดีเซล เบนซิน ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) รวมถึงก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ส่งผลต่อระดับราคาสูงขึ้นทั้งผู้บริโภคภายในประเทศ และทางอ้อมผ่านการปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการ อาทิ อาหารทานนอกบ้าน ค่าโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะค่าโดยสารเรือสาธารณะ

นอกจากนี้ มีการประเมินว่า หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้นใกล้เคียง 30 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 26.09 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 4 เดือนสุดท้ายเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จาก 0.72% ประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในกรณีที่ไม่มีสถานการณ์โรงกลั่นน้ำมันของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีมาอยู่ที่ 1.48% ซึ่งจะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดทั้งปี 2562 ขยับขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 0.82% อยู่ที่ 1.08% หรือเพิ่มขึ้น 0.3%

ในส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์สูงขึ้นมาอยู่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี จะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของไทยปี 2562 เกินดุลลดลง 1,231 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบจากการเกินดุลการค้าที่ลดลงจะส่งผลต่อเนื่องไปยังอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศปี 2562 ให้ลดลง 0.2-0.3% ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐในการดูแลราคาพลังงานในประเทศ

Advertisement

⦁ก.พลังงานยืนยันไทยรับมือได้
จากสถานการณ์ดังกล่าว แม้จะมีสมมุติฐาน 2 ส่วนที่ต้องติดตาม แต่ในทางจิตวิทยา เมื่อเกิดเหตุการณ์ย่อมสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคชาวไทย ทั้งกลุ่มผู้ใช้รถ และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่กังวลว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะขยับตัวสูงขึ้น ทำให้กระทรวงพลังงานเปิดแถลงข่าวด่วนในวันจันทร์ที่ 16 กันยายน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ คลายความกังวลลง โดย สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กรณีซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน เหตุการณ์ดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนไม่ให้เกิดความวิตกกังวล

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานยังระบุว่า กระทรวงได้เตรียมการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง (ซัพพลาย) ให้เพียงพอต่อสถานการณ์ โดยประเมินจากตัวเลขที่ไทยมีการนำเข้าจากประเทศซาอุฯ 170,000 บาเรลล์ต่อวัน หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์และส่งออกได้ตามปกติในเร็ววัน กระทรวงจะใช้วิธีกระจายการนำเข้าจากแหล่งอื่นได้ อาทิ แหล่งน้ำมันจากชั้นหินดินดานของสหรัฐ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกา และโอมาน

⦁บานปลายไทยมีสำรองถึง50วัน
ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานยังรายงานข้อมูลว่า ปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 3,366 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,193 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,848 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่า 50 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนมีประมาณ 131 ล้านกิโลกรัม สำรองได้มากกว่า 20 วัน แต่หากรวมการใช้แอลพีจี ของภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งแล้วจะทำให้จำนวนวันสำรองที่ใช้แอลพีจี ได้ประมาณ 12 วัน

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานยังย้ำชัดว่า หากมีความจำเป็นต้องดูแลราคาน้ำมันที่ผันผวนจากเหตุการณ์ถล่มโรงกลั่นซาอุฯ ไทยยังมีกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสถานะเงินสดหมุนเวียนประมาณ 39,400 ล้านบาท สามารถใช้ในการดูแลรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับขึ้น 1 บาท จะต้องใช้เงินกองทุนดูแลประมาณ 1,500 ล้านบาท

⦁ทุก1เหรียญขายปลีกขยับ20ส.ต.
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นทุก 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันของไทยปรับขึ้นประมาณ 20 สตางค์ ซึ่งจากทิศทางราคาน้ำมันของเช้าวันที่ 16 กันยายน 2562 ปรับขึ้นไป 12% คิดเป็นราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นประมาณ 6-7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยเปิดตลาดในช่วงเช้าราคาปรับขึ้นไปทะลุระดับ 71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ระหว่างวันราคากลับเคลื่อนไหวปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถือเป็นภาวะที่ยังผันผวนต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์ที่ลูกผีลูกคนช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงพลังงานจัดทีมติดตามว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลกระทบเร็วและรุนแรงมากน้อยแค่ไหนต่อราคาน้ำมันดิบและราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ โดยเฉพาะภายใน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ เนื่องจากต้องประเมินว่าสถานการณ์สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้แค่ไหน ซัพพลายกลับคืนมาระดับใด สามารถชดเชยในส่วนที่สูญเสียไปจากโรงกลั่นที่เกิดเหตุได้เท่าไร และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

⦁เอกชนหวั่นต้นทุนสินค้าพุ่งฉุดกำลังซื้อ
ถือเป็นเรื่องร้อนที่ไม่เพียงภาครัฐที่ตื่นตัว ฟากเอกชนก็ตระหนก โดยในการแถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นห่วงว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยขยับ และส่งผลต่อราคาสินค้าที่มีต้นทุนด้านพลังงานขยับตาม จนฉุดกำลังซื้อและซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่เวลานี้ยังชะลอตัวจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทแข็งค่า และสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เช่นเดียวกับ บวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท. อดีตผู้บริหารกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เหตุดังกล่าวส่งผลต่อการผลิตน้ำมันดิบหายไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของซาอุฯ และคิดเป็นกำลังการผลิตในสัดส่วน 5% ของโลกที่ปัจจุบันซาอุฯมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดอยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุการณ์ทำให้ราราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับขึ้นไปที่ 69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากก่อนเกิดเหตุระเบิดอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันจะปรับขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์จะยืดเยื้อต่อไปแค่ไหน หากยืดเยื้อไปถึงเข้าสู่ฤดูหนาวจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในระยะต่อไป

รองประธาน ส.อ.ท.ยังชี้ว่า แม้ประเทศอิหร่านมีกำลังผลิตที่สามารถชดเชยการผลิตของซาอุฯได้ แต่อิหร่านถูกสหรัฐคว่ำบาตรทำให้มีปัญหาเรื่องการส่งออก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบต่อโลกนั้นมีมาก แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก เนื่องจากหลายประเทศมีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่ในระดับหนึ่ง รวมทั้งไทยที่โรงกลั่นสำรองน้ำมันไว้ 6% ตามกฎหมาย รวมกับน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง น้ำมันสำเร็จรูปในคลังน้ำมัน ทำให้ไทยมีน้ำมันสำรองใช้ได้ประมาณ 50 กว่าวันโดยไม่เกิดปัญหาใดๆ และไทยสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายประเทศในตะวันออกกลางซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก (โอเปค) ที่มีกำลังการผลิตเพียงพอต่อความต้องการ ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะซาอุฯประเทศเดียว จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก

ยังวิเคราะห์อีกว่า ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นทุก 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท เป็นต้นทุนนำเข้าของไทยที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผลกระทบตรงต่อประชาชน คือ ราคาขายปลีกน้ำมันที่อาจปรับสูง โดยเฉพาะดีเซลอาจขยับสูงถึง 30 บาทต่อลิตรได้หากราคาโลกยืนระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะดูแลอย่างไร นอกจากนี้ ต้องติดตามผลกระทบทางอ้อมต่อสินค้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิง อาจกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย หรือจีพีดี ในระยะยาว

⦁การบินไทยจับตาใกล้ชิด
ไม่เพียงภาคผลิตตื่นตระหนก ฟากการบิน ก็จับตาเรื่องนี้ใกล้ชิดเช่นกัน โดย สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากเหตุการณ์ซาอุดีอาระเบีย ต้องดูเรื่องต้นทุนการบิน จึงต้องจับตาดูราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด ขณะนี้การบินไทยได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ระดับหนึ่ง หากราคาน้ำมันสูงขึ้นจากล่าสุดอยู่ที่ 66 เหรียญ อาจต้องพิจารณาต้นทุนใหม่ทั้งหมด และหากราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง ซึ่งบวกรวมอยู่ในราคาตั๋วค่าโดยสาร ซึ่งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการบินไทยเท่านั้น แต่กระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั้งหมด จึงต้องดูภาพรวมของอุตสาหกรรมและคู่แข่งด้วยว่าจะปรับขึ้นราคาหรือไม่ อย่างไร ดังนั้นต้องมอนิเตอร์ทั้งหมด ถ้าต้นทุนขึ้น แต่คู่แข่งไม่ขึ้น การบินไทยก็ขึ้นไม่ได้ต้องทนกันไป แต่ถ้าการบินไทยขึ้นราคาตั๋วก่อน บริษัทอื่นคงขึ้นตาม

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่าสถานการณ์ไม่น่ายืดเยื้อนาน และกระทบเงินเฟ้อไม่เกิน 0.01% และกรอบเงินเฟ้อทั้งปีไม่หลุด 0.7-1.3%

⦁ควักเงินตรึงราคาช่วยปชช.
เพื่อความตื่นตระหนกฟากกระทรวงพลังงานก็ไม่นิ่งนอนใจ สนธิรัตน์ตัดสินใจเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นัดพิเศษทันที เพื่อออกมาตรการรับมืออย่างทันท่วงที และมีมติเห็นชอบปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มน้ำมันเบนซิน 1.00 บาทต่อลิตร และกลุ่มดีเซลลง 0.60 บาทต่อลิตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน เพื่อทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมติดังกล่าวจะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 813 ล้านบาทต่อเดือน หรือมีรายรับเหลือ 400 ล้านบาท จากรายรับเดิม 1,200 ล้านบาท การอุดหนุนดังกล่าว กบง.คาดว่าจะใช้อุดหนุนตลอดไตรมาส 4/2562 หรืออุดหนุนจนถึงสิ้นปีนี้ และคาดใช้เงินอุดหนุน 2,400-2,500 ล้านบาท จากฐานะกองทุนน้ำมัน 39,402 ล้านบาท

ที่ประชุม กบง.ให้เหตุผลการควักเงินอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลว่า เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศซาอุดีอาระเบียที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบของโลกพุ่งสูงขึ้น คาดว่าไตรมาส 4 ของปีนี้จะอยู่ระดับ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือเฉลี่ย 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เชื่อว่าจะไม่ถึง 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

⦁จับตาสหรัฐปล่อยสำรองเข้าตลาด
กบง.ประเมินอีกว่า ผลจากค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ต้นทุนนำเข้าน้ำมันของไทยลดลงแม้ราคาตลาดโลกจะพุ่ง นอกจากนี้ กระทรวงจะติดตามสถานการณ์ทิศทางราคาน้ำมัน เพราะท่ามกลางการผลิตจากประเทศซาอุฯที่มีปัญหา แต่สหรัฐพร้อมปล่อยปริมาณน้ำมันสำรองออกสู่ตลาดเป็นปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่เปลี่ยนแปลงมาก หากสถานการณ์คลี่คลาย กองทุนน้ำมันจะมีค่าใช้จ่ายน้อยลง หรือหากมีปัจจัยอื่นทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะพิจารณาอีกครั้ง เพราะต้องประเมินความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นช่วงฤดูหนาวปีนี้ด้วย

ที่ประชุมยังรับทราบมาตรการด้านการจัดหา ที่กระจายการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงจากแหล่งอื่นได้ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ประเทศโอมาน เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากซาอุฯประมาณ 170,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งดูจากการบริหารจัดการปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศกับความต้องการใช้ ณ ช่วงเกิดวิกฤตการณ์ ที่มีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือและปริมาณสำรองของประเทศรวม 6,407 ล้านลิตร เพียงพอใช้ได้ 54 วัน และปริมาณก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับการใช้ในภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง เพียงพอใช้ 12 วัน หากสถานการณ์เกิน 12 วันกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จะจัดสรรแอลพีจีให้ภาคครัวเรือนเป็นลำดับแรก

⦁ระยะสั้นโล่งราคาน้ำมันโลกลด
แม้ตอนนี้สนธิรัตน์ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ซาอุดีอาระเบียกลับมาผลิตน้ำมันได้แล้ว 50% ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกเฉลี่ย 5% ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในไทยลดความตึงเครียดลงด้วย คาดกลับสู่สถานการณ์ปกติเร็วๆ นี้ ประกอบกับปัจจุบันมีมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ตรึงราคาขายปลีกโดยอุดหนุนเบนซิน 1 บาทต่อลิตร และอุดหนุนดีเซล 60 สตางค์ต่อลิตรอยู่ รวมถึงรัฐบาลซาอุดีอาระเบียกลับมาผลิตน้ำมันได้ถึง 50% พร้อมประกาศกลับมาปกติ 100% ในเดือนพฤศจิกายน

แต่หลายฝ่ายยังไม่โล่งใจ 100% คงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าเหตุการณ์จะพลิกกลับมารุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ เพราะราคาน้ำมันยังแกว่ง สัญญาณกระทรวงพลังงานการออกตัวตั้งโต๊ะแถลงแผนรับมือแต่หัววัน ขณะที่หลายฝ่ายกังวลลึกๆ อาจซ้ำรอยสงครามการค้าสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ที่แรกๆ มองว่าไม่ยืดเยื้อและกระทบน้อยๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image