แนะ 3 วิธี ไทยเข้าสู่ 5G เร็วที่สุด

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

โลกปัจจุบันถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเทคโนโลยีได้พัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมากมาย รวมถึงพัฒนาให้ทุกอย่างง่ายดายและสะดวกมากขึ้น ทำให้การเข้ามาของโครงข่าย 5G จึงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสนใจ และตื่นตัวเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ที่จะเกิดขึ้นจากนี้กันทั้งโลก

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรเร่งเข้าสู่ 5G เพราะระบบ 3G และ 4G ช้ามากแล้ว โดยปัจจุบันการจัดสรรคลื่นความถี่ อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งไม่ควรให้ล่าช้า กสทช.ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่

หาก 5G เข้ามาในประเทศไทย จะส่งผลทำให้หุ้นกลุ่มสื่อสารปรับลดระดับลงก่อน เพราะนักลงทุนมีประสบการณ์ที่เลวร้ายกับการประมูลคลื่น 4G ซึ่งปัจจัยที่กลัวเป็นเรื่องของราคาคลื่นจะสูงเกินไปหรือไม่

ดังนั้น ในช่วงแรก เมื่อตลาดมั่นใจว่าจะเกิดการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อรับรอง 5G เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนลดสัดส่วนการถือครองหุ้นกลุ่มสื่อสารลง เพื่อรอดูว่าการประมูลคลื่น 5G เกิดขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร จุดที่จะเป็นตัวบอกคือ วันปิดรับใบสมัคร หากปิดรับสมัครแล้วมีผู้มายื่น 3 ราย ซึ่งเป็นรายใหญ่เจ้าตลาดในประเทศไทย เชื่อว่าราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารจะกลับมาปรับขึ้น เพราะแน่นอน 3 ยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดคงไม่แข่งกันจนตายกันไปข้าง เนื่องจากแต่ละรายมีคลื่นกันจำนวนมากอยู่แล้ว

Advertisement

คำถามที่ว่า ทำไมประเทศไทยต้องรีบเข้าสู่ยุค 5G คำตอบคือ ไม่ว่าจะเป็นตัว 5G 6G หรือ 7G ก็เป็นเรื่องของการพัฒนาของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่คงเคยได้ยินว่าประเทศไทยค่อนข้างที่จะล้าหลังในเรื่องของความสามารถในการผลิต ทั้งภาคของอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ทำให้การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งในแง่ของภาคการผลิตและภาคการเกษตร และช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สรุปว่าทำไมต้องเร่งทำ 5G ในประเทศไทย ก็เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐ การเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคสังคม รวมถึงเป็นการใช้ทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุน 5G อย่างเต็มที่ และควรผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้อย่างเร็วที่สุด

วิธีการเข้าสู่ 5G ให้เร็วที่สุด สามารถแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.คลื่นความถี่ ที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นคนกำหนดเอง แต่มีการกำหนดตามสากล โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ให้สามารถนำคลื่นความถี่ส่วนใดมาใช้งานได้บ้าง ซึ่งการใช้งาน 5G ช่วงแรก จะใช้คลื่นแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ คลื่นต่ำ คลื่นกลาง คลื่นสูง โดยคลื่นต่ำก็คือ คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีการจัดสรรในช่วงกลางปี 2562 ส่วนคลื่นกลางเป็นคลื่น 2,000 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช.อยู่ระหว่างทวงคืนจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สำหรับคลื่นสูง จะเป็นคลื่น 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งได้รับคืนจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เรียบร้อยแล้ว

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

ดังนั้น คลื่นความถี่จึงอยู่ที่การเจรจาระหว่าง กสทช.และ อสมท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่ อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ด้วย ทำให้มีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับผู่ถือหุ้นรายย่อยที่จะต้องดูแล แน่นอนว่าหากจะมีการนำคลื่นคืน ก็จะต้องมีการชดเชยให้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องมูลค่าการชดเชยดังกล่าว ที่ฝั่งซื้อและฝั่งขายจะสวนทางกัน ฝั่งซื้อต้องการซื้อราคาต่ำ และฝั่งขายต้องการขายราคาสูง หากที่สุดคุยกันไม่รู้เรื่องก็ต้องจบที่ศาลปกครองสูงสุด ทำให้เป็นเกมที่ต้องติดตามกันต่อไป โดยเกมนี้จะเป็นหมากสำคัญที่กำหนดว่า การประมูล 5G จะเกิดขึ้น ได้เร็วตามที่ กสทช.กำหนดไว้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ได้หรือไม่

“จึงเป็นเหตุผลที่ กสทช. ต้องการดันให้การประมูลคลื่น 5G เป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งคณะทำงานคลื่นขึ้นมา เพื่อเพิ่มความสามารถในการตามคลื่นความถี่คืน เพราะคลื่นเหล่านี้ถูกครอบครอง ทั้งรัฐวิสาหกิจ และกรม กองทหารต่างๆ ทำให้หากสามารถเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในคณะทำงานได้ ก็น่าจะง่ายในการเรียกคืนคลื่นความถี่เหล่านั้นได้”

2.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนของโครงข่าย ซึ่งขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้ได้รับอนุญาต โดยเชื่อว่าหากเกิดการประมูลคลื่น 5G ขึ้น จะเห็นผู้เล่นรายเก่าที่มีศักยภาพเพียงพอในการเข้ามาประมูลคลื่น เพราะผู้เล่มรายเก่ามีฐานลูกค้าขนาดใหญ่อยู่แล้ว มีโครงข่าย 2G 3G 4G ที่ครอบคลุมจำนวนประชากรกว่า 90-95% ดังนั้นด้วยโครงข่ายดังกล่าว จึงเป็นพื้นฐานที่สามารถต่อยอดไปยัง 5G ได้ง่ายมากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้าตลาดค่อนข้างจำกัด เพราะภาพรวมตลาดค่อนข้างเต็ม โดยอัตราการเข้าถึงมีกว่า 140% ของจำนวนประชากร รวมถึงการเข้ามาประมูลและได้คลื่น 5G เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ทำให้ความคุ้มค่าในการลงทุนต่ำ โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการรายเก่าจะพิจารณา ก็จะเป็นในส่วนของราคาการประมูลคลื่นที่สูงหรือไม่ โดยหากได้มาในราคาที่สูง ก็จะลงทุนในโครงข่ายได้น้อยลง แต่หากประมูลได้ในราคาที่สมเหตุสมผล ก็สามารถลงทุนในโครงข่ายได้มากขึ้น จึงขึ้นอยู่กับ กสทช.ว่า อยากได้เงินเร็ว แต่การกระจายตัวของ 5G ช้า หรือได้เงินในช่วงแรกน้อย แต่การกระจายตัวของ 5G เร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องกำหนดออกมา

และ 3.ความพร้อมของผู้ใช้งาน โดยผู้ใช้งาน 5G อาจจะแตกต่างจาก 3G 4G เพราะตลาด 3G 4G เป็นตลาดของผู้บริโภค ส่วนตลาด 5G นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริโภคแล้ว ยังมีความสามารถที่จะใช้ในกลุ่มของอุตสาหกรรมและการเกษตร อาทิ ความหน่วงต่ำ ความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้จำนวนมาก และการจัดสรรทรัพยากรโครงข่าย เพื่อที่จะให้บริการในแอพพลิเคชั่น หรือผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการที่ออกแบบมา เพื่อใช้เป็นวิธีการแก้ปัญหา ตอบสนองต่อความต้องทางธุรกิจเฉพาะด้าน (โซลูชั่น) ที่แตกต่างกัน ซึ่งความสามารถเหล่านี้ไม่มีใน 3G หรือ 4G

โดยหากปลดอุปสรรคทางด้านการกำกับดูแล แล้วปล่อยให้กลไกการตลาดทำงาน เพื่อให้ดีมานด์และซัพพลายวิ่งไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น โดยที่รัฐไม่เข้าไปเป็นอุปสรรคด้วยการตั้งราคาคลื่นไว้สูงๆ หรือจะดีมาก หากสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ลงทุนได้

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

 

ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการเข้ามาของ 5G มีหลายส่วน ได้แก่ ผู้ผลิตอุปกรณ์ เพราะก่อนที่ 5G จะเข้ามาได้ ต้องลงทุนในอุปกรณ์ก่อน ทำให้ผู้ประกอบการ อาทิ หัวเว่ย อีริคสัน จะได้ประโยชน์ในทันที ผู้ขายโทรศัพท์มือถือ ที่จะต้องเปลี่ยนมือถือให้รองรับการใช้งานระบบ 5G อุตสาหกรรม ที่จะต้องมีการลงทุนในอุปกรณ์

ที่เกี่ยวข้องกับ 5G อุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การมีรถยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อระบบได้ ก่อนจะไปถึงรถยนต์ไร้คนขับ อุตสาหกรรมขนส่ง ที่การขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าจะเปลี่ยนรูปแบบไป หากมีรถยนต์ไร้คนขับเข้ามา ส่วนในแง่ของอุตสาหกรรมการผลิต โรงงานที่เป็นอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ จะลดต้นทุนและของเสียที่จะตามมา รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตร ที่จะเห็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง หรือ “เกษตรอัจฉริยะ” ได้มากขึ้น

ราคาประมูลคลื่น จากเดิม 3G 4G จะแบ่งจ่าย 4 ปี แต่ล่าสุดการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ กสทช.ได้ถอยให้เป็นแบ่งจ่าย 10 ปี และอาจจะมีการบวกเพิ่มให้อีก 3 ปี ทำให้ในแง่ของผู้ประกอบการ กระแสเงินสดจะไม่ตึงตัวมากจนเกินไป ในส่วนของราคา หากดูในคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่เพิ่งจัดสรรไป จะเห็นว่าภาครัฐได้เงินจากการประมูลเพียง 50,000 ล้านบาท แต่ตัวประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ รัฐได้เงินกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท

ถือว่าราคาคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ได้เป็นตัวปรับเปลี่ยนราคาคลื่นใหม่เรียบร้อยแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image