5โครงสร้างพื้นฐานไม่คลอด ‘อีอีซี’ สะดุดความหวังกระตุ้น ศก.ริบหรี่ จับตา รบ.ตู่เคลียร์ปัญหาฟื้นเชื่อมั่น

ดูเหมือนสารพัดเครื่องมือเศรษฐกิจไทยที่ “รัฐบาลตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วาดหวังจะเริ่มเสื่อมมนตร์ไปเรื่อยๆ เพราะเครื่องมืออย่างการส่งออกก็แทบสิ้นหวังเมื่อต้องเผชิญกับมหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึงวันนี้คาดเดาไม่ได้ว่าจะดีหรือแย่ จนประเมินว่าส่งออกปีนี้ติดลบแน่ จะมากหรือน้อยเท่านั้น กอปรกับสถานการณ์ค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่ายืนหนึ่งในภูมิภาค ก็ยิ่งซ้ำเติมการส่งออก และพบว่าผลจากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า แม้ต้นทุนนำเข้าจะถูก แต่กลุ่มผู้นำเข้าก็ไม่ได้ดีใจนัก เพราะรายได้จากการส่งออกลดลงฮวบ ทุนในกระเป๋ามีน้อยการลงทุนผ่านการนำเข้าวัตถุดิบ หรือซื้อเครื่องจักรแม้ต้นทุนถูก ก็อาจสร้างภาระมากกว่า

ขณะนี้จึงเหลือเครื่องมือที่พึ่งพาจริงๆ ไม่กี่ด้าน อาทิ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้าน แต่ก็เป็นมาตรการระยะสั้น รายได้ภาคท่องเที่ยวแต่ก็ผูกโยงกับกำลังซื้อในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดก็วนกลับไปหาภาคส่งออกที่ไม่ดีและกระทบภาคอื่นๆ เป็นงูกินหาง

⦁อีอีซี3ปียังไม่ถึงไหน
ดังนั้นเครื่องมือสุดท้ายที่ภาครัฐหวังพึ่งพาจึงเป็นการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ ยิ่งเวลานี้ผลจากเทรดวอร์ทำให้บริษัทต่างชาตินับร้อยที่ลงทุนในจีนต้องการหาพื้นที่ลงทุนใหม่ๆ และไทยก็ต้องการดึงบริษัทลงทุนดังกล่าว ล่าสุดได้ออกแพคเกจไทยแลนด์ พลัส เพื่อกระตุ้นลงทุน พร้อมชูความพร้อมพื้นที่ลงทุนอย่างเขตพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โปรเจ็กต์ครั้งประวัติการณ์ที่หวังนำพาเศรษฐกิจไทยก้าวข้ามกับดักความยากจน

แต่ดูเหมือนว่าเกือบ 3 ปีของอีอีซี (2560-62) แม้จะมีองค์ประกอบด้านกฎหมายเสร็จสมบูรณ์ประกาศใช้ตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2561 แต่จนถึงวันนี้ องค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ 5 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญวงเงินลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) กำลังฟันฝ่าอุปสรรครายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ยังไม่มีโครงการใดสามารถลงนามสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนผู้ชนะประมูลได้เลย

Advertisement

ความล่าช้าที่เลื่อนกรอบเวลาชัดเจนโครงการจากปลายปี 2561 มาเป็นต้นปี 2562 ขยับมาเป็นกลางปี 2562 และขยับมาเป็นภายในเดือนกันยายน 2562 ตอนนี้ได้แต่ลุ้นว่าจะมีโครงการใดเกิดขึ้นภายในปี 2562 หรือไม่ ซึ่งผลกระทบจาก 5 โครงสร้างพื้นฐานที่เจอโรคเลื่อนส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดึงบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกเข้ามาลงทุนในอีอีซี เพราะนักลงทุนเหล่านั้นมีเงื่อนไขการลงทุนคือ ต้องการเห็นความชัดเจนจากโครงสร้างพื้นฐานก่อน ตัวเลขลงทุนในอีอีซีที่เปิดเผยในปัจจุบันจึงเป็นเพียงปลาซิวปลาสร้อยประกอบภาพการลงทุนว่ายังดีอยู่

⦁ไฮสปีดซีพียืดเยื้อสุด
จาก 5 โครงสร้างพื้นฐานจะพบว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ประกอบด้วย ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา (ไฮสปีด) วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท มีปัญหาการเจรจาก่อนจะลงนามกับกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ยืดเยื้อที่สุด เพราะโครงการนี้ได้ผู้ชนะคือกลุ่มซีพี ที่เสนอต่ำสุดวงเงิน 117,227 ล้านบาท ตั้งแต่ปลายปี 2561 และกำหนดลงนามสัญญากับรัฐบาลภายในเดือนมกราคม 2562 แต่ด้วยรายละเอียดที่ยิบย่อยและสำคัญต่อทั้งรัฐและเอกชน เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศกับการลงทุนลักษณะนี้จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เรียบร้อยจนมีกระแสข่าว “ล่ม” อยู่เป็นระยะๆ

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการ 2 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคลียร์ปัญหาทั้งหมดให้เร็วที่สุด จึงเป็นที่มาของการประชุมนัดพิเศษ ระหว่าง “อนุทิน-ศักดิ์สยาม-คณะกรรมการคัดเลือก-คณะอีอีซี” ที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลาต่อมา โดยขีดเส้นให้กลุ่มซีพีต้องเซ็นสัญญา 15 ตุลาคมนี้

“ถ้าไม่เซ็นจะถูกริบเงินค้ำประกันซอง 2,000 ล้านบาท ถูกขึ้นบัญชีดำทั้งกลุ่ม เพราะเป็นผู้ทิ้งงานโครงการรัฐ และจะเรียกกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ รายที่ 2 วงเงิน 1.69 แสนล้านบาท เกินจากกรอบที่ ครม.อนุมัติไว้ 1.19 แสนล้านบาท เป็นจำนวน 4.99 หมื่นล้านบาท มาเจรจาทันที และกลุ่มซีพีจะต้องจ่ายส่วนต่างที่เกินตรงนี้แทนด้วย ทุกอย่างต้องเคลียร์ให้เสร็จก่อนวันที่ 7 พฤศจิกายน เพราะเป็นวันสุดท้ายของทีโออาร์โครงการนี้” ศักดิ์สยามระบุ

⦁ปมสัญญาแนบท้าย
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากกลุ่มซีพีชี้แจงว่า สาเหตุที่กลุ่มซีพีไม่ลงนามได้ภายในเดือนกันยายน เพราะไม่เคยตกลงกับคณะกรรมการคัดเลือกที่กำหนดให้การลงนามต้องเสร็จเพื่อเริ่มลงทุนจริงวันที่ 7 พฤศจิกายน เป็นทางคณะกรรมการคัดเลือกนำโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่กำหนดเอง นอกจากนี้ตามข้อตกลงสัญญาแนบท้าย โดยเฉพาะตัวร่างเอกสารหมายเลข 6 (แผนการส่งมอบพื้นที่) ทาง รฟท.รับจะเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด 100% ให้กับกลุ่มซีพี

นอกจากรายงานข่าวจากแวดวงธนาคารยังชี้ว่า ธนาคารที่ตกลงจะให้กลุ่มซีพีกู้เพื่อการลงทุนครั้งนี้ ได้กำหนดให้ซีพีหาผู้ค้ำประกันเป็นหน่วยงานรัฐ แต่ยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดระบุจะช่วยเหลือ และไม่มีแนวทางแก้ไขให้ ทำให้กลุ่มซีพีต้องพยายามหาแหล่งเงินใหม่ อาจเป็นแหล่งเงินจากต่างประเทศแทน

⦁ลุ้นกพอ.เคาะรถไฟซีพี
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจึงมีการหารือกับกลุ่มซีพีอีกครั้ง แต่ได้รับการเปิดเผยว่า ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ เนื่องจากกลุ่มซีพียังยืนยันที่จะให้ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด ซึ่ง รฟท.ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นในวันที่ 30 กันยายนนี้ รฟท.จะนำเสนอรายละเอียดผลการหารือทั้งหมด รวมทั้งยืนยันเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (อาร์เอฟพี) ซึ่งเปรียบเสมือนเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ไปให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานพิจารณา

และยืนยันว่า หลังจากนี้ รฟท.จะไม่มีการหารือกับกลุ่มซีพีอีก เพราะมีการหารือร่วมกันมานานมากแล้วจนหลายเรื่องได้ข้อสรุปหมดแล้ว เหลือเพียงเรื่องส่งมอบพื้นที่ ซึ่งยืนยันว่าในโครงการขนาดใหญ่ที่ รฟท.ดำเนินการมาก็ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้พร้อมกันทั้งหมดในครั้งเดียว โดยจะเสนอให้ดำเนินการตามอาร์เอฟพีด้วย ดังนั้นขั้นตอนต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของ กพอ.จะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนจะลงนามได้ทันวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ตามกรอบเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางกลุ่มซีพีจะยอมเซ็นหรือไม่เช่นกัน

⦁ศาลให้‘เอ็นซีพี’ชิงแหลมฉบังเฟส3
ขณะที่อีก 4 โครงการ พบว่ามีหนึ่งโครงการคือ โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท กลับมายุ่งเหยิงอีกครั้ง หลังปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการแหลมฉบังเฟส 3 เพิกถอนหนังสือที่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (ประกอบด้วย บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัทนทลิน จำกัด, บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน), บริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited) ไม่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอในซอง 2 (คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ) ทำให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาซองของกิจการร่วมค้า จีพีซี (ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited ต้องกลับมาพิจารณาซองของเอ็นซีพีด้วย โดย กทท.จะรายงาน กพอ.เพื่อให้กำหนดแนวทางการดำเนินการหลังจากมีคำพิพากษา

“การพิจารณาแนวทางหลังจากนี้เป็นอำนาจของ กพอ.เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการคัดเลือกได้ดำเนินการตามที่อาร์เอฟพีกำหนดแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นอำนาจการตัดสินใจที่ทาง กพอ.จะพิจารณา ต้องรอดูก่อนว่าฝ่ายกฎหมายของทาง กพอ.จะมีความเห็นอย่างไร แต่ยืนยันว่าทำตามกระบวนการถูกต้องทุกอย่างแล้วและทั้งหมดเป็นดุลยพินิจของศาล” ผู้บริหาร กทท.ระบุ

⦁อีก3โครงการกระบวนการปกติ
ด้านโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท ใกล้ได้ผู้ชนะเต็มที จากคู่ชิง กลุ่มกิจการร่วมค้า บีบีเอส นำโดย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.การบินกรุงเทพ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และกลุ่มแกรนด์คอร์โซเตียม นำโดย บมจ.แกรนด์แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ และมี บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น กับ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ส่วนกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร นำโดย กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และพันธมิตรอีก 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ และ บจ.Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide จากประเทศเยอรมนี ที่ร่วมด้วยแต่ยื่นซองประมูลช้าและศาลปกครองกลางยกฟ้องคดีตัดสิทธิเปิดซองซีพีชิงประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภา ทำให้เวลานี้กองทัพเรืออยู่ระหว่างเดินหน้าเปิดซองประมูลจาก 2 รายข้างต้น

ที่คืบหน้ามากที่สุดเห็นจะเป็นโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท ที่กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ เทอร์มินอล (เครือ ปตท.) ชนะประมูล รายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ใกล้เสร็จสิ้น คาดว่าจะลงนามได้กลางเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่เอ็มอาร์โอยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งมีการกำหนดให้เป็นโครงการสุดท้ายที่จะมีการลงนามสัญญาอยู่แล้ว

⦁กังวลเชื่อมั่นแต่อีอีซียันโครงการพุ่ง
จากความล่าช้าของ 5 โครงการ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลต่อความเชื่อมั่น โดยเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ย้ำว่า ภาครัฐต้องเร่งโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี เพราะได้ประกาศกับนักลงทุนระหว่างที่ไปชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) ซึ่งนักลงทุนเหล่านั้นก็รออยู่ ก่อนตัดสินใจมาลงทุนไทย

ขณะที่เอกชนรายหนึ่งแสดงความเห็นต่อความล่าช้าของอีอีซีว่า การที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่เซ็นสัญญาและร่างผังเมืองรวมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฉบับใหม่ยังไม่ประกาศใช้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม สำนักงานอีอีซีได้เปิดตัวเลขการลงทุนในพื้นที่ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นผู้รวบรวม พบว่า การขอรับการส่งเสริม ในปี 2561 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 396 โครงการ ลดลง 7% จากปี 2560 ในขณะที่มูลค่าเงินลงทุน 6.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 144% จากปี 2560 และในครึ่งปีแรก 2562 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 226 โครงการ เพิ่มขึ้น 39% จากครึ่งปีแรก 2561 ในขณะที่มูลค่าเงินลงทุน 1.18 แสนล้านบาท ลดลง 38% จากครึ่งปีแรก 2561

ขณะที่การออกบัตรส่งเสริม ในปี 2561 มีการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน 394 โครงการ เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2560 และมีมูลค่าเงินลงทุน 3.72 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2560 ในครึ่งปีแรก 2562 มีการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน 168 โครงการ ลดลง 4% จากครึ่งปีแรก 2561 ในขณะที่มูลค่าเงินลงทุน 9.87 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากครึ่งปีแรก 2561

⦁กนง.หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่2.8%
แม้ตัวเลขอีอีซีจะดูเติบโตสร้างความมั่นใจได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อกลไกหลักอย่างโครงสร้างพื้นฐานยังลูกผีลูกคน ก็ยากที่จะเชื่อว่าอีอีซีในตอนนี้มีแรงดึงดูดจริงๆ เรื่องนี้รัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหา เพราะล่าสุดสัญญาณเศรษฐกิจไทยถดถอยลงเรื่อยๆ อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุม กนง.ครั้งที่ 6/2562 ว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 เสียงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จึงได้ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลงที่ 2.8% จากเดิมคาด 3.3% ขณะที่การส่งออกคาดติดลบ 1% จากเดิมคาด 0% การส่งออกที่ลดลงเริ่มส่งผลต่อการลงทุนเอกชนรวมทั้งการจ้างงานที่ลดลง ส่วนปี 2563 คาดจีดีพีขยายตัว 3.3% ส่งออกขยายตัว 1.7% แรงหนุนจากการส่งออกลงทุนรัฐและเอกชนรวมทั้งการอุปโภคภาครัฐและเอกชนที่เป็นแรงหนุน

⦁เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง
ขณะที่ภาคธนาคารยังประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปี 2562 ว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในโซนแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะหลุดต่ำกว่า 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และน่าจะมีความเป็นไปได้ยากมากที่จะอ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ล่าสุดธนาคารกสิกรไทยยังคงมีเป้าหมายค่าเงินบาทที่ระดับ 30.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมองว่าการใช้นโยบายทางการเงินในการเข้ามาช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เริ่มมีข้อจำกัดและเริ่มใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน เห็นได้จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา มีส่วนช่วยทำให้เงินบาทปรับอ่อนค่าได้แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น แล้วก็กลับมาอยู่ในโซนแข็งค่าเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าภายในปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง

ธนาคารกสิกรยังให้ข้อมูลว่า สิ้นเดือนกันยายนนี้ ธนาคารจะมีการทบทวนตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าจะโตได้ในกรอบ 2.7-2.9% เพราะต้องยอมรับว่าตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เดิมคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3.1% นอกจากนี้ยังพบว่าขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเหลือ 1.38% จากเดิม 2% และแม้ภาคการบริโภคจะดีขึ้นจากมาตรการของรัฐที่ออกมา แต่ก็เป็นเพียงการประคับประคอง เนื่อง

จากปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว
จากปัจจัยลบสารพัดที่กดดันเศรษฐกิจไทย เวลานี้จึงมีเพียงภาคการลงทุนที่แรงดึงดูดสำคัญคือความเชื่อมั่น หากรัฐบาลประกาศเดินหน้าอีอีซี เชิญชวนต่างชาติ บริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุน แต่ไม่สามารถผลักดันโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ได้ ความเชื่อมั่นก็ลดลง เวลานี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเรียกความเชื่อมั่นอีอีซีให้กลับมาบูมเหมือนช่วงแรกได้หรือไม่!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image