ส่องโค้งสุดท้ายเศรษฐกิจปี62 มาตรการรัฐสิ้นมนต์ขลัง? อัดฉีดไม่ยั้งก้าวไม่พ้นปากเหว3%

เข้าไตรมาส 4 ของปี 2562 มาเพียงสัปดาห์เดียว แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้ว่าจะพลิกกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง หวังผลจากการอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้ทั้งรัฐและเอกชนหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงต่อเนื่องแทบทุกเดือน หลายภาคส่วนมองตรงกันว่าทั้งปี 2562 จีดีพีขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% และต่ำกว่าปี 2561 ที่ขยายตัว 4.1%

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเร่งออกแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท หวังให้เงินดังกล่าวมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจปีนี้ให้โต 3%

มาตรการมีทั้งแจกเงินให้กลุ่มคนจนถือบัตรสวัสดิการ 14.6 ล้านคน วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ล่าสุดมาตรการชิม ช้อป ใช้ เป้าหมาย 10 ล้านคน คาดหวังให้เกิดการใช้จ่าย 6 หมื่นล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและอีกหลายมาตรการ อาทิ มาตรการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2562/63 มีเกษตรกรเป้า

หมาย 4.31 ล้านครัวเรือน วงเงินกว่า 2.48 หมื่นล้านบาท ล่าสุดจ่ายเงินไปแล้ว 50-60% มาตรการสินเชื่อจากแบงก์รัฐ เพื่อช่วยเหลือภัยแล้ง น้ำท่วม ช่วยเหลือเอสเอ็มอี คนตัวเล็ก อีกกว่า 2 แสนล้านบาท ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเช่นเดียวกัน

Advertisement

ลุยต่อชิมช้อปใช้เฟส2

หลังจากชิม ช้อป ใช้ ในเฟสแรกเกิดกระแสฟีเวอร์ ประชาชนแห่ลงทะเบียนตามเป้าหมายวันละ 1 ล้านคน จนครบ 10 ล้านคน โดยการลงทะเบียนในแต่ละวันหมดเกลี้ยงและทำสถิติเร็วสุดเพียงเวลา 2-3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

ชิมช้อปใช้สร้างกระแส และถูกพูดถึงในแง่มุมต่างๆ จากสังคมในวงกว้าง ทำให้รัฐบาลในฐานะเจ้าของโครงการเป็นปลื้ม และจากกระแสชิมช้อปใช้ที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นพ้องตีเหล็กต้องช่วงร้อน!! สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการชิมช้อปใช้เฟส 2 ต่อทันที หากไม่มีอะไรมีสะดุดน่าจะนำเสนอประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ตุลาคมนี้ เห็นชอบ เพื่อให้รับกระแสยังคงอยู่

Advertisement

นอกจากผลทางด้านเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลยังหวังผลทางการเมือง ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังหารือและระดมสมอง เพื่อดูว่าจะชิมช้อปใช้เฟส 2 เป็นอย่างไร รัฐบาลอยากให้ขยายไปอีก 10 ล้านคน แต่ทางฝั่งกระทรวงการคลังกลัวว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะไม่ถึง เพราะเท่าที่ประเมินพบว่าผู้ที่มีกำลัง สามารถใช้จ่ายเงินเพื่อท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากเงินที่รัฐบาลแจกให้นั้นมีจำนวน 10 ล้านคนเท่านั้น ถ้าขยายเพิ่มอีก 10 ล้านคนอาจมากไปดังนั้นต้องประเมินว่าในจำนวน 10 ล้านคน ที่ลงทะเบียนในเฟสแรกนั้นมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มเติม หรือเรียกว่ากระเป๋า 2 นอกเหนือจากเงิน 1,000 บาท หรือกระเป๋า 1 ที่รัฐบาลแจกให้เท่าไหร่

ตัวเลขการใช้จ่ายเงินช่วงสัปดาห์แรก พบว่ามีผู้ใช้จ่ายเงินจาก ชิมช้อปใช้เพียง 1.25 ล้านราย ยอดใช้จ่าย 1,144 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายกระเป๋า 1 จำนวน 1,131 ล้านบาท และมีผู้ใช้จ่ายกระเป๋า 2 จำนวน 4,604 ราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 13.1 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 2,845 บาท

ถ้าดูจำนวนคน และจำนวนเงินไม่มากเมื่อเทียบกับคน 10 ล้านคน ที่มาลงทะเบียน ซึ่งรัฐบาลต้องการให้มีการใช้จ่ายทั้งกระเป๋า 1 และกระเป๋า 2 รวมกันไม่น้อยกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจปลายปี 0.2%

หวังผลเศรษฐกิจไตรมาส4ฟื้นตัว

ขณะนี้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ซึ่งจะประกาศโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่มีการคาดการว่าภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ไม่แตกต่างจากไตรมาส 2 ซึ่งเติบโตเพียง 2.3% เป็นอัตราเติบโตต่ำสุดรอบ 19 ไตรมาส นับจากไตรมาส 4 ปี 2557 โดยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ต่ำกว่าไตรมาส 1 ที่เติบโต 2.8%

หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจใน 3 ไตรมาสเฉลี่ยไม่น่าจะเกิน 2.5% ดังนั้นการก้าวไปถึง 3% ในปีนี้คงยาก!!

โจทย์ใหม่ของรัฐบาลช่วงนี้ จึงกลับมาดูว่าจะทำอย่างไรให้ต่ำกว่า 3% น้อยที่สุด ซึ่งชิมช้อปใช้เฟส 2 เป็นความหวังของรัฐบาลที่จะมาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไตรมาส 4 ให้กลับคืนมา

นายสมคิดให้ความเห็นว่า อยากให้ขยายชิมช้อปใช้ออกไปถึงปลายปี จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 เพราะต้องการให้การท่องเที่ยวเป็นตัวหลักของเศรษฐกิจไตรมาส 4 นอกจากนี้อยากกระตุ้นการสัมมนา และการประชุม ที่จะมีแผนจัดช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า ให้เปลี่ยนมาจัดในช่วงปลายปีนี้ทั้งหมด โดยให้ไปจัดยังแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้ มอบให้ไปคิดเรื่องชิมช้อปใช้เฟส 2 เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจฐานราก และเชื่อมโยงกับโครงการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือ 100 บาทเที่ยวทั่วไทย กับเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก

จากการประชุมร่วมระหว่างนายสมคิดกับกระทวงการคลัง และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) และธนาคารออมสิน เสนอให้ดึงลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคาร ที่มีร้านค้าชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชนกว่า 1 แสนราย ให้มาอยู่ในชิมช้อปใช้ด้วย จากขณะนี้มีร้านค้า ร้านธงฟ้า ร้านโอท็อป โรงแรม โฮมสเตย์ ร้านอาหาร อยู่ในชิมช้อปใช้เฟสแรกประมาณ 1.7 แสนแห่ง

ซึ่งนายสมคิดวางหลักการให้ ชิมช้อปใช้เฟส 2 ไม่ใช่แค่การกระตุ้น แต่ต้องให้เศรษฐกิจฐานรากได้ประโยชน์ ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับร้านค้าชุมชน แหล่งท่องเที่ยวชุมชน

ชู”ประชารัฐสร้างไทย”ดูแลฐานราก

ยังคิดต่อชูเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน ทีมสมคิด ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ผุดโครงการ “ประชารัฐสร้างไทย” เปิดตัวแนวคิดก่อนเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา แนวคิดโครงการนี้เป็นการรวบรวมการทำงานของหน่วยงานต่างๆ นอกเหนือจาก 3 กระทรวงข้างต้น ได้ดึง ธ.ก.ส ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้มาร่วมกันช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วย

เรื่องนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง กล่าวว่า ประชารัฐสร้างไทยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความยั่งยืน เป็นการพัฒนาแบบองค์รวม คือทุกหน่วยงานช่วยกัน เช่น ธ.ก.ส. ออมสิน สนับสนุนเงินทุน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมธนารักษ์ และปั๊มน้ำมัน ปตท. จัดสรรพื้นที่สร้างเป็นตลาดเพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชน ททท.เข้าไปช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สภาเกษตรกรฯ ธ.ก.ส.ช่วยพัฒนาภาคเกษตร การพัฒนาทำแบบครบวงจรในรูปแบบเดียวกับการพัฒนาของญี่ปุ่น อิตาลี เตรียมเปิดกิจกรรมนำร่องแรกกับชุมชนในเขตภาคเหนือ ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะมองว่าเมื่อเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งจากภายใน เวลามีปัญหาจากเศรษฐกิจโลก ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมาก ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาส่งออกเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา กระทบต่อการส่งออกของไทย ทำให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ลุ้นปี”62ส่งออกไทยไม่ติดลบ

เสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างการส่งออกของไทยยังไม่สดใส ตลอด 8 เดือนแรกปีนี้ ติดลบสะสมถึง 2.2% จากการได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน ลุกลามไปถึงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาการเมืองโลกอย่างตะวันออกกลาง ได้กระทบต่อความเชื่อมั่นและคำสั่งซื้อลดลง ผสมกับปัญหาเงินบาทไทยแข็งค่าต่อเนื่อง กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา กระทบต่อการส่งออกเรื่อยมา ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงจากสงครามการค้ายืดเยื้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ยังเป็นปัจจัยกดดันส่งออกที่เหลือของปีนี้ แม้กระทรวงพาณิชย์ยังเสียงแข็งคงเป้าส่งออกทั้งปีไว้ 3% ไม่ฟังเสียงภาคเอกชนต่างออกมาลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปีนี้ติดลบทั้งสิ้น ตั้งแต่ลบ 1% ถึง ลบ 2% หากเป็นดั่งที่เอกชนคาดไว้ถือว่าส่งออกไทยกลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 4 ปี นับจากปี 2558 ติดลบ 5.8% ก่อนกลับมาเป็นบวกถึงปี 2561 ขยายตัว 6.9%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนเร่งขยายตลาดใหม่ รักษาตลาดเดิม ฟื้นฟูตลาดเก่า และผลักดันการค้าชายแดน เพราะหากดันส่งออกได้เฉลี่ยต่อเดือน 21,000 เหรียญสหรัฐ ตัวเลขส่งออกทั้งปีจะเป็น 0% หากจะขยายตัว 3% ต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 23,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอมรับว่าคงทำได้ยาก ล่าสุดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ลบหนักถึง 4% และมีมูลค่า 21,915 ล้านเหรียญสหรัฐ

เอกชนหั่นจีดีพีเหลือ 2.7-3%

เมื่อมาดูตัวเลขคาดการณ์จีดีพี ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อต้นเดือนตุลาคมได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 2.7-3.0% จากเดิม 2.9-3.3% โดยภาคเอกชนมองสาเหตุเรื่อง ความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยืดเยื้อ กรณีเบร็กซิทของอังกฤษ และทิศทางเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกปีนี้อยู่ที่ ลบ2.0% ถึง 0.0% จากเดิม ลบ 1.0% ถึง 1.0%

แม้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน อาทิ มาตรการชิมช้อปใช้ มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย แต่คาดว่าแรงบวกของมาตรการในประเทศ เทียบกับตัวเลขส่งออกที่หดหายไป จะไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด!!

และประเมิน ชิมช้อปใช้เฟสแรกจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1-0.2% ต่ำกว่าที่ภาครัฐมองไว้ว่าจะมีเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านบาท

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร. กล่าวว่า ภาคเอกชนคาดหวังที่จะเห็นมาตรการเสริมจากภาครัฐเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการเร่งผลักดันกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อรับมือกับความท้าทาย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ

แต่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการขยายมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 ทันที เสนอให้เว้นระยะและประเมินความคุ้มค่าของมาตรการเฟสแรกก่อนว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงใด ซึ่งรัฐควรต้องระมัดระวังการใช้มาตรการติดต่อกัน อีกทั้งปลายปีประชาชนมีการใช้จ่าย และผู้ประกอบการมีการจัดโปรโมชั่นอยู่แล้ว งบประมาณที่จะใช้และมาตรการที่รัฐนำมาใช้ควรใช้เฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจซึมจะได้ผลสูงสุดกว่า

จับตา 3 หน่วยงานหั่นจีดีพี

ในส่วนหน่วยงานภาครัฐ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และ สศช. มีมุมมองต่อตัวเลขเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากของเอกชน ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ เหลือ 2.8% จากเดิม 3.3% และปรับลดจีดีพีในปี 2563 เหลือ 3.3% จากคาดการณ์เดิม 3.7% ส่วนการส่งออก กนง.คาดว่า -1.0% จากคาดการณ์เดิม 0% และในปี 2563 คาดว่าส่งออกจะขยายตัว 1.7% จากคาดการณ์เดิม 4.3%

จับตาต่อว่า ปลายเดือนตุลาคมนี้เป็นรอบของการปรับจีดีพีของกระทรวงการคลัง จากที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ว่าเศรษฐกิจจะโต 3% ส่งออก -0.9% มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง ส่วน สศช.ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อเดือนสิงหาคมว่าจีดีพีจะโต 3% และส่งออกติดลบ 1.2% โดย รอบของ สศช.ประเมินภาวะเศรษฐกิจและประกาศตัวเลขคาดการณ์ พร้อมกับตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 3 ในเดือนพฤศจิกายน โดยคาดว่าผลของมาตรการกระตุ้นที่ออกมาคงยังไม่แรงพอที่จะสู้กับการส่งออกลดลง จากคาดการณ์ของรัฐและเอกชนทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้คงไม่สามารถยืนได้ในระดับ 3%

เกาะติดงบประมาณปี”63

อีกเรื่องต้องติดตามเพราะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่แพ้เรื่องอื่น คือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เพื่อให้สามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร์ภายในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ตามปฏิทินงบประมาณคาดว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ล่าช้าจากกว่ากำหนด 4 เดือน จากปกติแต่ละปีเริ่มใช้งบประมาณในวันที่ 1 ตุลาคม

อย่างไรก็ตาม เกิดกระแสหนาหูว่าฝ่ายค้านอาจเล่นแง่ คว่ำ พ.ร.บ.งบประมาณ เพื่อบีบให้รัฐบาลรับผิดชอบด้วยการลาออก ด้วยเสียงของรัฐบาลที่ปริ่มน้ำ ดังนั้น พ.ร.บ.งบประมาณอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จะส่งผลให้งบประมาณที่ล่าช้าอยู่แล้ว อาจล่าช้าออกไปอีก

แม้ว่ากฎหมายงบประมาณของไทยจะสามารถใช้งบประมาณปีที่ผ่านมาพลางไปก่อนได้หากงบประมาณปีใหม่บังคับใช้ไม่ทันกำหนด แต่มีเงื่อนไขคือใช้ได้ 50% ของวงเงินงบประมาณของปีก่อน ในปีงบ 2562 กำหนดงบประมาณรายจ่ายไว้ 3 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ามีงบใช้ในปี 2563 ในกรณีที่งบยังไม่ประกาศบังคับใช้เพียง 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือต้องเป็นรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ รายจ่ายงบลงทุนที่ผูกพันไว้แล้ว ส่วนรายจ่ายลงทุนใหม่ๆ จะไม่สามารถใช้ได้จนกว่างบประมาณจะมีผลบังคับใช้

ขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลกังวลเรื่องดังกล่าวพอสมควร ถ้ามีการเล่นแง่เรื่องงบประมาณ ทำให้งบประมาณล่าช้าไปกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2563

เรื่องงบประมาณถือเป็นเดิมพันของรัฐบาลชุดนี้ เพราะถ้ามีปัญหาขึ้นมา หมายถึงเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าอาจทรุดต่อเนื่อง จากเดิมรัฐบาลเคยคาดหวังไว้ว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะดีขึ้น และอาจเห็นตัวเลขการเติบโต 4% อีกครั้ง คงเป็นได้แค่ฝันเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image