รู้ทัน “กรรโชกทรัพย์” ละเมิดลิขสิทธิ์

เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ในสิ่งของและบริการต่างๆ ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ ทั้งไม่ละเมิดของคนอื่น และปกป้องสิทธิไม่ให้ใครมาละเมิด สำหรับประเทศไทยก็ยังเป็นปัญหาพยายามแก้ไขกันอยู่

สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (EUIPO) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เปิดเผยอันดับประเทศที่มีการละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์มากที่สุด 10 ประเทศ ไทยติดอยู่อันดับ 8 ของประเทศที่มีการละเมิดและปลอมแปลงลิขสิทธิ์มากที่สุด รวมถึงยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

ล่าสุดได้เกิดประเด็นดราม่าขึ้น เด็กสาววัย 15 ปี ที่ จ.นครราชสีมา ได้รับการว่าจ้างให้ทำกระทงลายการ์ตูนที่มีลิขสิทธิ์ เมื่อถึงเวลาส่งมอบสินค้ากลับถูกผู้ว่าจ้างอ้างตัวเป็นตัวแทนบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนเอาผิดเด็กหญิงฐานละเมิดลิขสิทธิ์ เรียกค่าเสียหาย 50,000 บาท แลกกับการไม่เอาความ กระทั่งเป็นข่าวใหญ่โต

กลับกลายเป็นว่า ผู้อ้างเป็นตัวแทนบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์จัดฉากเพื่อล่อซื้อ เพื่อขู่กรรโชกเรียกทรัพย์ เมื่อสืบสาวราวเรื่องลึกลงไป มีผู้ถูกกระทำลักษณะดังกล่าวร่วม 40 ราย

Advertisement

ทำท่า “โจทก์” จะกลายเป็น “จำเลย” เสียเอง

เรื่องนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาถือใกล้ตัวมากๆ แต่ยังความไม่เข้าใจอยู่มากเช่นกัน จนหลายคนต้องเดือดร้อนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา และที่ปรึกษากฎหมายของสมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ ระบุว่า การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษทางอาญาทั้งโทษจำคุกและปรับ อีกทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย

Advertisement

สำหรับโทษทางอาญาจะเกิดขึ้นจากกรณีการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และหากทำเพื่อการค้าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือได้รับโทษทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะดำเนินคดีกับผู้ผลิตหรือแหล่งผลิตขนาดใหญ่ หากเป็นประชาชนทั่วไปมักจะส่งหนังสือเพื่อตักเตือนก่อน จะไม่มีการจับกุมเพื่อดำเนินคดีในทันที โดยเฉพาะหากเป็นการกระทำครั้งแรก

การเอาผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถทำได้ทั้งเจ้าของสิทธิโดยตรง และตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หากการกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และผลกำไรจากงานที่มีลิขสิทธิ์ จะถูกดำเนินคดีเอาผิดในทุกกรณี ยกเว้นเป็นการล่อจับในรูปแบบการชี้นำให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น เนื่องจากศาลจะไม่รับพิจารณาในลักษณะดังกล่าว

หากผู้ฟ้องร้องเป็นผู้บอกหรือจูงใจให้บุคคลใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ศาลจะพิจารณาว่าเป็นการได้พยานหลักฐานมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะอาจมีเจตนาไม่สุจริตใจ จึงไปบอกให้ผู้อื่นกระทำผิดกฎหมาย

เมื่อนำตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มาประกอบการพิจารณาร่วมกับกรณีของเด็กหญิงวัย 15 ปีคนดังกล่าว จะบ่งชี้ว่าเป็นการล่อจับ ซึ่งศาลจะไม่รับพิจารณาหรือยกฟ้องเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันมีการกระทำในรูปแบบดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เพราะยังมีช่องโหว่ทางกฎหมายใช้ฉกฉวยผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เนื่องจากคดีด้านลิขสิทธิ์เป็นคดีที่ยอมความกันได้ นำไปสู่การเรียกค่าเสียหายเพื่่อยอมความ

มีข้อแนะนำว่า หากผู้กระทำความผิดไม่มีเจตนา และปฏิเสธความผิดทั้งหมดแล้วสู้คดี น่าจะเป็นผลบวกกับผู้ถูกกล่าวหา เพราะหากสามารถพิสูจน์ว่าผู้ร้องไม่ได้รับมอบอำนาจจากเข้าของลิขสิทธิ์ หรือมีการส่งเสริมให้กระทำความผิด เช่น ลักษณะการล่อซื้อ ก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องกลับได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการตรวจสอบก่อนให้มีความชัดเจนด้วยเช่นกัน

ด้าน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า หลักการในการเข้าจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไปด้วยเสมอ หากเจ้าของลิขสิทธิ์ไปจับกุมเองจะผิดในข้อหากรรโชกทรัพย์ทันที ขอแนะนำว่าถ้ามีผู้อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ชุดละเมิดลิขสิทธิ์เข้าจับกุมเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ตรวจสอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงหรือไม่ ให้ขอดูบัตรเจ้าหน้าที่ หากอ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ต้องขอดูบัตรด้วย ถ้าเป็นผู้รับมอบอำนาจก็ดูชื่อว่าตรงกับเอกสารผู้รับมอบอำนาจหรือไม่ แต่หากถูกเรียกทรัพย์สินเงินทองให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่นั้นๆ เข้าดำเนินการได้ ปัจจุบันมีผู้ที่อ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผู้รับมอบอำนาจไปกรรโชกทรัพย์ประชาชนจำนวนมาก ถ้าตำรวจตรวจสอบแล้วว่าไม่ใช่ตัวจริงก็ต้องถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 โทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พ.ต.อ.จักรกริช เสรีบุตร ผกก.1 บก.ปอศ. ให้รายละเอียดขั้นตอนการจับกุมคดีละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มเติมว่า ก่อนการดำเนินการจับกุม เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก่อน หากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจมาแสดง พร้อมด้วยหลักฐานยืนยันสิทธิของผู้มอบอำนาจ โดยต้องนำตัวอย่างสิ่งของหรือสินค้า หรือที่เป็นภาพถ่าย ตามที่กล่าวอ้างว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์มาเป็นหลักฐานให้พนักงานสอบสวนด้วย

เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปตรวจสอบร่วมกับเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้รับมอบอำนาจ หากพบการกระทำความผิดก็ทำการจับกุม โดยกรณีที่สถานที่จับกุมเป็นที่รโหฐาน หรือเป็นโกดังเก็บสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ จำเป็นที่ชุดจับกุมต้องมีหมายค้นเพื่อขอตรวจสอบ การเข้าตรวจค้นหรือจับกุมต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยทุกครั้ง เพื่อความโปร่งใส ต้องแสดงตัวว่ามาจากหน่วยงานใด รวมทั้งแสดงเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนตามขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจ ใบบันทึกการแจ้งความ หนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับแนะนำว่ามากับเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทใด และมาจับลิขสิทธิ์ประเภทใด

ผู้ถูกกล่าวหาสามารถขอดูเอกสารเกี่ยวกับรายละเอียดของบริษัทลิขสิทธิ์ หรือผู้เสียหายที่อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจ มีข้อสังเกตง่ายๆ ว่า หากไม่มีการแสดงตนก่อนและเข้ามาในลักษณะข่มขู่ บังคับไม่ให้ถ่ายภาพและคลิป ให้สันนิษฐานไว้เลยว่าอาจเป็นพวกมิจฉาชีพแฝงตัวมา

ข้อสำคัญเมื่อมีการเข้านำจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือจะต้องเชิญตัวไปสถานีตำรวจท้องที่ที่รับเรื่องแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งจะยอมความหรือไม่ ก็ต้องกระทำต่อหน้าพนักงานสอบสวน จะไม่นำตัวไปสถานที่อื่น หรือบริเวณอื่นๆ เพื่อเจรจาเรียกค่าเสียหาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image