ส่งออกไทยปี63 “ชวด-ไม่ชวด” บนตาชั่งสงครามค้า-บาทแข็ง วัดฝีมือทีมพาณิชย์ ฝ่าวิกฤต…

เข้าสู่ช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2562 แล้ว คงต้องยอมรับว่ามูลค่าการส่งออกของไทยปี 2562 ทิศทางไปทางติดลบ!! โดยประมาณการล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ติดลบ 2% เนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกให้ชะลอตัวลงทำให้ความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้าลดลง ภาวะการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ยังคงชะลอลงต่อเนื่อง รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับมูลค่าการส่งออกที่ติดลบ ทำสถิติติดลบในรอบ4 ปี นับจากปี 2558 ปีนั้นติดลบถึง 5.6% เป็นเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทย 60-70% ต้องพึ่งพาการส่งออก และการที่มูลค่าการส่งออกติดลบส่งผลต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทำให้ขยายตัวลดลงด้วยคาดเหลือ 2.6%

ลุ้น2เดือนสุดท้ายส่งออกบวก

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่า 207,330 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะเดือนตุลาคม 2562 พบว่ามูลค่าการส่งออก มีมูลค่า 20,758 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.5% เมื่อเทียบกับเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกช่วงไตรมาส 4/2562 หรือไตรมาสสุดท้ายของปี จะยังคงขยายตัวการส่งออกเป็นบวกได้ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่จะมีการเร่งการนำเข้าสินค้ารอบรับความต้องการในช่วงปลายปีและต้นปีหน้า คาดขยายตัว 1% ทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2562 จะติดลบ 1.5-2.0%

Advertisement

ซึ่งประเมิน 20 ธันวาคมนี้ จะชัดเจนอีกครั้ง เมื่อ สนค. กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขมูลค่าการส่งออกเดือนพฤศจิกายน แต่ที่แน่ชัดในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ (สรท.) จะแถลงปรับตัวเลขประมาณการส่งออกทั้งปีอย่างเป็นทางการ รวมถึงทิศทางส่งออกปี 2563 น่าจะเป็นทิ้งทวนปรับลดประมาณของปี 2562 อย่างที่ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้หรือไม่ และสะท้อนภาพถึงแนวโน้มส่งออกในระยะต่อไปด้วยของผู้ส่งออกเองด้วย

รง.ย้ายฐานผลิตหนุนส่งออก

ขณะที่ “ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ข้อมูลว่า การส่งออกที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากแนวโน้มการส่งออกทั่วโลกเริ่มทรงตัว แม้ว่าจะยังติดลบอยู่ ซึ่งมูลค่าการส่งออกเดือนตุลาคมที่ติดลบเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน และปัจจัยช่วงคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ที่ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมติดลบ อย่างไรก็ตาม สินค้าบางหมวดขยายตัวได้ต่อเนื่อง อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐเพื่อทดแทนสินค้าจากจีนจากการย้ายฐานการผลิตมาไทย

Advertisement

ส่วนช่วง 2 เดือนที่เหลือเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ที่ปีก่อนหน้าขยายตัว 0.5% และติดลบ 1.2% ตามลำดับจะปรับดีขึ้น ทั้งนี้ ต้องติดตามปัจจัยสำคัญ คือ การเจรจาสงครามการค้าสหรัฐและจีนในช่วงกลางเดือนธันวาคม หากสามารถบรรลุข้อตกลงได้น่าจะส่งผลดีต่อการค้าโลกและการส้งออกของไทยที่มองว่ามีโอกาสทั้งสองทาง คือ อาจจะติดลบและอาจจะขยายตัวเป็นบวก

“คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2563 ของ ธปท. เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คาดจีดีพีขยายตัว 3.3% อย่างไรก็ดี ธปท.จะมีการทบทวนตัวเลขใหม่ทั้งปี 2562 และ 2563 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ธปท.) ในส่วนที่ 18 ธันวาคมนี้ ต้องติดตามว่าตัวเลขจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ในส่วนการส่งออก ปี 2563 ที่คาดขยายตัว 1.7% ยังไม่ได้รวมประมาณการผลของการเจรจาสงครามการค้า หากสหรัฐและจีนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ แต่หากไม่มีข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันในรอบนี้ อาจจะไม่กระทบประมาณการณ์ของ ธปท. เพราะ ธปท.ยังไม่ได้ใส่สมมุติฐานนี้ลงไปในประมาณการ ส่วนข้อมูลของสภาพัฒน์ที่มองการส่งออกขยายตัวสูงที่ 2.3% คาดว่าจะมีการรวมผลของการเจรจาสงครามการค้ารอบนี้ไปแล้วว่าน่าจะทิศทางที่ผ่อนคลายลง”

ส่งออกโตได้ดีจากฐานต่ำ

มุมมองของ กำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า มูลค่าการส่งออกปีนี้ จะติดลบ 2.5% คาดว่าในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี การขยายตัวของการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนที่การส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนจากภาวะสงครามการค้า ทั้งนี้ แม้ว่าภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงด้านผลการเจรจา โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สหรัฐและจีนมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้นในการเจรจาข้อตกลงการค้า เฟส 1 อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงอย่างเป็นทางการ จึงยังมีความเสี่ยงสูงอยู่พอสมควรว่าจะสามารถตกลงกันได้หรือไม่ ส่วนปี 2563 การส่งออกยังได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อาเซียน-5 และกลุ่มซีแอลเอ็มวีที่มีแนวโน้มชะลอตัว ความเสี่ยงสงครามการค้า และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจะส่งผลโดยตรงต่อรายได้ในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2%

สรท.หั่นตัวเลขส่งออก

ในส่วนของผู้ประกอบการส่งออกสินค้า กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท. ระบุว่า ล่าสุดวันที่ 29 พฤศจิกายน สรท.ได้จัดประชุมเพื่อทบทวนปรับประมาณการเป้าหมายการส่งออกปี 2562 มีโอกาสที่ทั้งปีจะติดลบ 3.0% จากเดิม สรท.คาดไว้จะติดลบ 1.5% ส่วนในปี 2563 คาดมูลค่าส่งออกอยู่ประมาณ 0-1% ถือว่าเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทาย เพราะหากปีนี้ติดลบมาก การที่จะทำให้การส่งออกกลับมาทวงตัวหรือขยายตัวเป็นบวกต้องทำงานหนักพอสมควรเพื่อชดเชยส่วนที่หายไป

สรท. ประเมินว่าความเสี่ยงการส่งออกในปี 2563 ต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้า ผลจากสถานการณ์ประท้วงในฮ่องกง อาจเพิ่มแรงกดดันระหว่างสหรัฐกับจีน หลังจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามอนุมัติกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงซึ่งเป็นการออกกฎหมายสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง จากแรงกดดันทางการค้าจะกลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศได้ เพราะจีนเองน่าจะไม่พอใจที่สหรัฐเข้ามาแทรกแซงการเมืองในประเทศ อาจจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบได้ เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่โลกต้องติดตามว่าเรื่องนี้จะมีเพิ่มสงครามการค้ารุนแรงขึ้นอีกแค่ไหน โดยเฉพาะช่วงกลางเดือนธันวาคมที่สหรัฐและจีนจะมีการเจรจาการค้า ล่มหรือยุติ อีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์ค่าเงินบาทว่าทิศทางแข็งค่าต่อหรืออ่อนตัวอย่างไร

ฮ่องกงเติมเชื้อไฟขัดแย้งมะกัน-จีน

“สถานการณ์ตลาดส่งออกปีนี้ พบว่าการส่งออกไปตลาดสหรัฐเติบโตขึ้นจากเทรดวอร์ แต่ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ชะลอตัวและติดลบเกือบทุกตลาด ซึ่งการเติบโตของตลาดสหรัฐไม่สามารถทดแทนตลาดส่งออกทั้งหมดได้ แต่ข้อดีที่เห็นคือ กระทรวงพาณิชย์พยายามเร่งเปิดตลาดใหม่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อเจรจาเปิดตลาด ผลักดันการจับคู่ธุรกิจ ด้าน “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการเจรจาเพื่อผลักดันเขตการค้าเสรีของไทยและประเทศต่างๆ รวมทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป ที่คืบหน้าและกำลังจะมีการลงนาม หวังว่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้น่าจะมีผลที่เป็นรูปธรรมในปีหน้า จะช่วยหนุนการส่งออกให้มีการขยายตัวได้”

น.ส.กัณญภัคกล่าวต่อว่า ในส่วนความเป็นห่วงสถานการณ์ประท้วงในฮ่องกง สอดคล้องกับ อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มีความเห็นว่า นอกจากปัจจัยสงครามการค้าที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าทั้งสหรัฐและจีนจะยุติการกีดกันทางการค้าแล้ว ต้องติดตามกรณีเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงที่จะเป็นปัจจัยกดดันใหม่ เพราะการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามอนุมัติกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง และหากสหรัฐเข้าไปแทรกแซงโดยใช้การค้าเป็นตัวบีบจีน ยิ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อการค้าโลกและกระทบต่อส่งออกไทย เพิ่มเติมจากผลกระทบสงครามการค้าที่มีอยู่เดิม อาจทำให้การส่งออกปี 2563 ยังน่าเป็นห่วงมากและมีโอกาสส่งออกขยายตัวทรงตัวแค่ 0% รวมถึงปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้การแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกของไทยลดลง

ห่วงบาทปี63แข็งโป๊กทะลุ29บาท

ปัจจัยที่เป็นแรงกดดันต่อภาคการส่งออกที่ผู้ประกอบการส่งออกเป็นกังวล คือ สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง และมีการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแล เพราะจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันด้านราคา และยังทำให้การแปลงรายได้จากการค้าที่ค้าขายเป็นเหรียญสหรัฐกลับมาเป็นเงินบาทได้เงินน้อยลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่าจะยังแข็งค่าต่อเนื่อง กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ยังคาดว่าจะอยู่ที่ 30.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อค่าเงินบาทในปี 2563 คือ สถานการณ์สงครามการค้า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นต้น จะมีผลแรงกดดันทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า 29.75 บาทต่อเหรียญสหรัฐในช่วงกลางปี และสิ้นปีแข็งค่าถึง 29.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วน จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ธปท.ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่งไม่ใช้เรื่องใหม่และผลให้เงินบาทอ่อนค่าเพียงระยะสั้นเท่านั้น ปัจจุบันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 30.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และคาดว่าสิ้นปีค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 30.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2563 คาดอยู่ที่ 28.70-30.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่หนึ่งและไตรมาสที่สี่ ต้องระมัดระวัง การแข็งค่าเร็วของเงินบาท เพราะเงินบาทจะแข็งค่ามากที่สุดในไตรมาสแรกของปีจากแรงซื้อเงินบาทของผู้ประกอบการไทย ขณะที่ท้ายปีต้องระวังช่วงการเลือกตั้งสหรัฐที่เหรียญสหรัฐจะผันผวนสูงจากนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของผู้สมัครแต่ละพรรค

บาทแข็งกระทบแข่งขัน-สูญแสนล.

ประเด็นค่าเงินบาทที่มีโอกาสแข็งค่าไปถึง 28-29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า จะยิ่งส่งผลกระทบในแง่จิตวิทยาต่อผู้ส่งออก ซึ่งเรียกร้องให้ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน เชื่อว่ามีมาตรการที่ดำเนินการได้ เพื่อลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการ เพราะยิ่งบาทแข็งภาคการส่งออกยิ่งไม่มีข่าวดีคาดว่าปี 2563 อาจจะยังติดลบต่อได้

ด้าน วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. ระบุเพิ่มว่า ผู้ประกอบที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือกลุ่มใช้วัตถุดิบในประเทศผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งช่วง 2 ปีที่ผ่านมากว่า 17% ทำให้การส่งออกสูญเสียรายได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าหลายแสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท

และจากการสำรวจมุมมองของเอกชนในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 37 ที่จ.ลำปาง ที่เพิ่งผ่านมา ข้อมูลจาก ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลและเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแล คือ ค่าเงินบาท เพราะหากรัฐบาลปล่อยให้หลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไปถึง 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐในปี 2563 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวและจะทำให้ทุกภาคมีภาวะที่ย่ำแย่ลง

“สิ่งที่เอกชนอยากให้มีการแก้ไข คือ ดูแลเรื่องค่าเงินบาทให้เคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 30.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐหรืออ่อนค่ากว่านั้น โดยเอกชนมองว่ามูลค่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 2% และยังมีความเสี่ยงที่จะติดลบ 3-5% คาดว่าจะส่งผลให้เงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทย 3 แสนล้านบาท อีกทั้งอยากให้รัฐเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณและเร่งการลงทุน หลังจากที่งบประมาณ 2563 ผ่านการอนุมัติ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายโครงการในพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น”

ส่วนอีกมุมมองจาก กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า ปีนี้การส่งออกที่ติดลบผลกระทบจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ไม่สามารถแก้ไขได้ทันที ดังนั้น ควรเปลี่ยนแนวคิดว่าสินค้าอะไรที่ยังขายได้ ตลาดไหนยังเติบโตดี ควรมุ่งขยายในจุดนั้น ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่าอาจเพิ่มการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขาย เพื่อลดกระทบจากการแปลงค่าเงินเหรียญสหรัฐที่อาจผันผวนได้ตลอด

อีกเสียง อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายอนุสรณ์มองว่า ผลกระทบเทรดวอร์อาจรุนแรงขึ้นหากสหรัฐประกาศใช้กฎหมายปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง เพิ่มความเสี่ยงเจรจาการค้าเฟสแรกไร้ข้อสรุป ทั้งนี้ไทยควรเตรียมรับมือความผันผวนในตลาดการเงินโลก ส่งออกปีหน้าอาจมีโอกาสติดลบต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก รัฐบาลต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังเพิ่มเติม หยุดนโยบายการแจกเงิน เพิ่มนโยบายสร้างงานสร้างผลผลิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นนำงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชน สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนเชื่อมั่นในระบบการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรม

หลายเสียงหวังส่งออก63พลิกบวก

แต่อย่างไรก็ตาม หลายเสียงยังหวังว่าปี 2563 ดีกว่า 2562 สศช.ยังมีความหวังว่าการส่งออกจะขยายตัวกลับมาเป็นบวก โดยเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของปี 2563 และจีดีพีปี 2563 ครั้งแรก คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวที่ 2.3% จากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของภาคการส่งออกต่อมาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งนี้ แรงหนุนเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นและมาตรการกระตุ้นภาครัฐทำให้จีดีพีอยู่ในกรอบ 2.7-3.7% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้มีความท้าทายจากความผันผวนและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น จึงยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

หลายความหวังมุ่งไปที่กระทรวงพาณิชย์ เมื่อผันตัวเป็นเซลส์แมนประเทศ ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูง ทูตพาณิชย์ รวมถึงผลักดันเจรจาเอฟทีเอต่างๆ ให้คืบหน้าเพื่อชดเชยการส่งออกปกติ โค้งสุดท้ายปีต้องติดตามผลประชุมของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) กลางเดือนธันวาคมนี้ ที่น่าจะเห็นแผนรับมือและแก้เกมการส่งออก เพื่อดันส่งออกปี 2563 พลิกลบเป็นบวก

ว่ามีอะไรที่จะจุดเครื่องยนต์ส่งออกกลับมามีแรงหนุนสำคัญพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่นั้น ต้องติดตาม!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image