ชาวประมงรวมพล ร้องรัฐบาล ‘เยียวยา’

รายงานประมงรวมพลรบครั้งสุดท้ายทุบหม้อข้าวสู้ไม่เกี่ยวการเมืองเดือดร้อนล้วนๆ

หลังจากเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2558 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปหรืออียู ได้แจ้งว่าที่ประชุมได้ลงมติภาคทัณฑ์หรือให้ใบเหลืองประเทศไทย ผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก

เพื่อแจ้งเตือนไทยอย่างเป็นทางการต่อกรณียังไม่มีมาตรการเพียงพอตามกฎระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม หรือกฎระเบียบ (ไอยูยู)
ต่อมารัฐบาลไทยได้แก้ไขปัญหาไอยูยู โดยออกกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 จนมีผลทั้งในด้านกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) การตรวจสอบย้อนกลับ

การแก้ปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบกับชาวประมงจำนวนมาก โดยชาวประมงมองว่าการบังคับใช้กฎหมายประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม จึงเกิดความไม่เป็นธรรม และสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวประมง

Advertisement

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การพิจารณากฎหมายด้วยการนำเอากฎระเบียบของอียูมาออกกฎหมายไทย ทั้งที่การทำประมงของอียูกับเอเชียต่างกัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติอย่างรุนแรง

ชาวประมงที่ประกอบอาชีพสุจริตได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง หลายครอบครัวประสบกับปัญหาหนี้สิน บุตรหลานต้องพักการศึกษา กิจการล้มละลายและถูกดำเนินคดีโดยไม่ได้กระทำความผิด เป็นต้น นอกจากนี้ โทษปรับชาวประมงไทย ยังถือว่าแพงที่สุดในโลกสูงสุดปรับ 30 ล้านต่อแรงงาน 1 คน หากมีแรงงาน 40 คน ต้องถูกปรับ 1,200 ล้านบาท ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำกัน มีแต่คนไม่ปกติที่ออกกฎหมายแบบนี้

นายมงคลกล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวประมงเป็นคนดี ไม่อยากสร้างเงื่อนไขยอมมาโดยตลอด มีการเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนอย่างลูกที่ดี ภาครัฐก็รับปากจะเข้ามาช่วยเหลือ มาถึงวันนี้ เกือบ 5 ปีชาวประมงก็ได้แต่รอและรอมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมงอย่างเป็นรูปธรรม เหมือนถูกหลอก จนทำให้ธุรกิจภาคประมงพังเสียหายไปหลายแสนล้านบาทแล้ว ชาวประมงเดือดร้อนหนักมากขึ้นทุกวัน ชาวประมงจำนวนมากต้องเลิกอาชีพการทำประมง ในอดีตมีเรือประมงพาณิชย์ขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไปกว่า 20,000 ลำ ปัจจุบันเหลือ 10,600 ลำ และก็ยังไม่สามารถออกเรือทำประมงอีกกว่า 2,000 ลำ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งยังต้องหวาดกลัวกับกฎหมายต่างๆ

Advertisement

“ความทุกข์ระทมของชาวประมงทั่วประเทศที่อดทนไว้ จึงระเบิดออกมาในครั้งนี้ โดยไม่มีนัยยะทางการเมืองใดๆ เป็นความเดือดร้อนของชาวประมงล้วนๆ ผมในฐานะประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จึงร่วมหารือกับสมาคมอวนล้อมจับประเทศไทย และสมาชิกเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขความเดือดร้อนของชาวประมง” นายมงคลกล่าว

นายมงคลกล่าวว่า สมาคมประชุมกันมีมติ 3 ประเด็น 1.ให้องค์กรสมาชิก ชาวประมงและต่อเนื่องใน 22 จังหวัดชาวฝั่งทะเลทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 1,000 คน ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง 11 เรื่อง ได้แก่ 1.1.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดหยุดออกกฎหมายกฎระเบียบประกาศคำสั่งต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงมาเพิ่มเติมขึ้นอีก ยกเว้นการออกกฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ที่ผ่อนคลายปัญหาให้กับชาวประมง, 1.2.ขอให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเร่งด่วนในช่วงที่มีการประชุมสภานิติบัญญัตินี้

1.3.ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลมีการตั้งงบประมาณจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในการนำเรือประมงออกนอกระบบ, 1.4.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับชาวประมงโดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562, 1.5.ขอให้กรมประมง กรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมายมาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงโดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562

1.6.ขอให้ยกเลิก แก้ไข กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ส่งผลกระทบให้กับชาวประมงที่เป็นอยู่โดยเร็ว, 1.7.เรือประมงที่มีขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอสไม่ควรมีนโยบายให้ติด VMS, 1.8.ขอให้หยุดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศโดยทันที ด้วยเหตุผลไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 92 ซึ่งการนำเข้าสัตว์น้ำจะต้องมีการตรวจสอบว่าสัตว์น้ำเหล่านั้นได้มาชอบโดยกฎหมายหรือไม่ ตามมาตรา 92 วรรคสองและวรรคสาม จึงทำให้สินค้าประมงจากต่างประเทศมาถล่มตลาดสินค้าสัตว์น้ำของชาวประมงไทยที่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดมีต้นทุนสูงกว่า ราคาจึงตกต่ำ ดังนั้นจึงต้องแก้ไขกฎระเบียบกรมประมงเดิมที่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเข้าสัตว์น้ำได้เสรีมีมาตรการปกป้องสินค้าระดับน้ำภายในประเทศ

1.9.ขอให้พิจารณาเพิ่มวันทำประมงให้กับพี่น้องชาวประมงทั่วประเทศโดยเร่งด่วนเพราะทำให้เกิดปัญหาประกอบอาชีพขาดทุนมา 4-5 ปีแล้ว เนื่องจากมีการกำหนดให้ทำการประมงได้ไม่ทั้งปีแต่ต้องมีรายจ่ายค่าจ้างแรงงานตลอดทั้งปี, 1.10.ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมง ในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมัน บังคับให้ชาวประมงต้องจ่ายเงินผ่านบัตร ฟรีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งจะทำให้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงเพิ่มขึ้นทันที และ 1.11.ขอให้มีการทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงกรณีที่ถูกบังคับใช้กฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรมโดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาผู้ได้รับผลกระทบด้วย

นายมงคลกล่าวว่า สมาชิกองค์กรประมงจะยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 22 จังหวัดในวันที่ 6 ธันวาคม เวลา 14.00 น. 2.หากไม่ได้รับการตอบสนองชาวประมงทั่วประเทศ 10,000 คน จะชุมนุมสาธารณะที่หน้าทำเนียบรัฐบาลหรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวม 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป และอาจจะเคลื่อนไปที่รัฐสภาและกระทรวงแรงงาน และ 3.หากภาครัฐยังนิ่งเฉยที่ประชุมมีมติให้ตนพร้อมแกนนำอีก 8 คน ประกอบด้วยนายภูเบศ จันทนิมิ, นายชินชัย สถิรยากร, นายบุญชู แพใหญ่, นายกำจร มงคลตรีลักษณ์, นายภักดี ชนม์ทวี, นายสมทรัพย์ จิตตะธัม, นายศราวุธ โถวสกุล, และนายพิชัย แซ่ลิ้ม รวมเป็น 9 คน ตัดสินใจพิจารณาการเคลื่อนไหว การยกระดับการชุมนุม และขับเคลื่อนในข้อเรียกร้องดังกล่าว หากไม่เป็นผลให้จอดเรือหยุดออกทำประมงหาปลาและหยุดการซื้อขายสัตว์น้ำทั่วประเทศ พร้อมประสานกิจการต่อเนื่อง อู่ คานเรือ ร้านค้า ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประมง ให้หยุดธุรกรรมทั้งหมด

นายมงคลกล่าวว่า ส่วนกรณีภาครัฐอ้างถึงความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำนั้น ชาวประมงต้องการให้มีความยั่งยืนอยู่แล้ว เพราะนั่นคืออาชีพของชาวประมงเอง แต่รัฐบาลคำนึงความยั่งยืนของทรัพยากรแต่ชาวประมงทั้งประเทศล้มละลาย ไม่เป็นธรรมกับชาวประมง ความยั่งยืนนั้นชาวประมงต้องอยู่ได้ด้วย ดังนั้น ครั้งนี้จึงถือเป็นการรบครั้งสุดท้าย ด้วยการทุบหม้อข้าวสู้ไม่มีถอย
หากภาครัฐไม่ยอมแก้ปัญหาตามคำเรียกร้อง เตรียมจอดเรือหยุดการซื้อขายสัตว์น้ำทั่วประเทศ และขอให้รัฐบาลซื้อเรือประมงพร้อมเครื่องยนต์และเครื่องมือประมงไปให้หมดทั้งประเทศ
เพราะไม่สามารถทำการประมงได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image