ส่องกองทุนใหม่ SSF น่าซื้อแค่ไหน? เป้าหมายจูงใจวัยทำงานออมเงิน ลดภาระงบดูแลสังคมสูงอายุ

หลังจากลุ้นกันมานาน ในที่สุดก็มีข่าวดี คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวให้กระทรวงการคลังตั้ง กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF) กองทุนดังกล่าวมาทำหน้าที่แทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) ซึ่งจะหมดอายุลดหย่อนภาษีในสิ้นปี 2562 นี้

เดิมทีก่อนที่ LTF จะหมดอายุ กลุ่มผู้จัดการกองทุนในตลาดหุ้น เรียกร้องให้กระทรวงการคลัง ต่ออายุ LTF เหมือนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา หรือออกกองทุนใหม่ที่คล้ายๆ กัน แต่กระทรวงการคลังยืนยันว่า LTF หมดหน้าที่ เพราะการแจ้งเกิด LTF มีจุดประสงค์เพื่อพยุงและผลักดันตลาดหุ้นให้เติบโตเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ล่าสุดตลาดหุ้นเติบโตได้ดีแล้ว

ทั้งนี้ กองทุน LTF สามารถนำเงินที่จ่ายซื้อหน่วยลงทุนมาลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ก่อนหน้านี้ให้ถือ 5 ปีปฏิทิน (3 ปีชนปี) จึงขายได้ ต่อมาเมื่อ 2 ปีก่อน ปรับเกณฑ์ใหม่ให้ถือยาวขึ้นเป็น 7 ปีปฏิทิน (5 ปีชนปี)

การแจ้งเกิดกองทุนใหม่ SSF นอกเหนือจากทดแทนกองทุน LTF แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือ กระทรวงการคลัง ต้องการสนับสนุนให้มีการออมสำหรับมนุษย์เงินเดือน เพราะไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น หากรัฐสนับสนุนให้มีการออม จะช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐบาลในอนาคตที่นำมาใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุ

Advertisement

ในปี 2568 ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ เพราะมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีเกิน 20% ของจำนวนประชากร รัฐต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3.62 แสนล้านบาทในการดูแล และภาระจะเพิ่มเป็น 4.78 แสนล้านบาทในปี 2578 ซึ่งเป็นปีที่มีจำนวนผู้สูงอายุในระดับสูงสุด 30.8% ของจำนวนประชากร คิดเป็นจำนวน 20.3 ล้านคน เพิ่มสูงจากปีงบประมาณ 2560 ที่รัฐจัดสรรงบประมาณ 2.46 แสนล้านบาท ดูแลผู้สูงอายุ 11.7 ล้านคน คิดเป็น 17.12% ของจำนวนประชากร

หากไม่มีกองทุนใหม่ เกรงว่ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) อาจไม่จูงใจเพียงพอให้คนวัยทำงานเก็บเงิน เพราะ RMF ต้องใช้เวลาออมนานถึงอายุ 55 ปี จึงจะสามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ ซึ่งมองว่ายาวนานเกินไป

⦁คุ้มหรือไม่ลงทุนSSF
เมื่อนำกองทุน SSF เปรียบเทียบกับ LTF แน่นอนกองทุน SSF คงสู้ไม่ได้ เพราะแค่การถือครองถึง 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ หรือ 12 ปีปฏิทิน ทำให้คนที่ซื้อต้องคิดหนัก เพราะคนไทยน้อยคนนักที่จะลงทุนยาวๆ แต่ถ้านำไปเปรียบเทียบกับกองทุน RMF ซึ่งกำหนดให้ถือยาวถึงอายุ 55 ปี คงทำให้กลุ่มคนที่อายุน้อยๆ วัยทำงานอายุ 20-30 ปี กลับหันมามอง และศึกษากันใหม่ว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

Advertisement

การลงทุนเพื่อการเกษียณ สำหรับคนศึกษามาอย่างดีอาจมีการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เช่น ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกัน ลงทุนในหุ้น กองทุนตราสารหนี้สลากออมทรัพย์ของธนาคารรัฐ ให้เลือกลงทุนหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ลงทุนกับ SSF ทำให้จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามฐานรายได้ เช่น กลุ่มคนรายได้ไม่สูงอยู่ในฐานภาษี 5% หากนำเงินลงทุน 1 แสนบาทได้เงินคืนภาษีหลายพันบาท ถ้าฐานภาษีสูงขึ้น เช่น 20-30% เงินคืนภาษีเป็นหมื่นบาท ซึ่งเงินคืนภาษีดังกล่าวถือเป็นดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่ายให้ล่วงหน้า และหลังจากนั้นต้องมาลุ้นว่ากองทุนที่ซื้อไปนั้นสร้างผลกำไรเท่าไหร่

ทั้งนี้ อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง หากเลือกกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนไม่เก่ง บริหารไม่ดี ผลกำไรไม่ดีเงินต้นอาจหายไปด้วย ถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องศึกษาให้ดีในระดับหนึ่ง เพราะบางครั้งอาจเห็นการขาดทุนระดับ 20-30% หรือถ้าซื้อ 1 แสนบาท เงินต้นอาจเหลือแค่ 7-8 หมื่นบาท และอาจต้องถือยาวไปจนกว่าเงินต้นกลับมา หากไม่อยากขายขาดทุน

แต่ถ้าซื้อกองทุนที่ผู้จัดการบริหารเก่งๆ เงินที่ลงทุนไปอาจจะงอกเงย 20-30% หรือบางครั้งอาจได้ถึง 50% และ 100% เช่น ซื้อ 1 แสนบาท อาจได้กำไรเพิ่มขึ้นมา 2 หมื่นบาท 5 หมื่นบาท หรือ 1 แสนบาท ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับกองทุน LTF บางกอง มาแล้ว เพราะ LTF เน้นลงทุนในหุ้น ในช่วงที่ตลาดหุ้นทำกำไรดี คนที่ถือ LTF ไว้ถึงกับยิ้มออก จึงทำให้ LTF เป็นกองทุนที่ได้รับความสนใจของมนุษย์เงินเดือนค่อนข้างมาก

หากไม่มีตัวเลือกอื่นในการลงทุน และยังคิดไม่ออกว่าในปีหน้าจะเก็บเงินอย่างไร การนำเงินไปลงทุน SSF เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะได้ลดหย่อนภาษี และยังลุ้นกับผลกำไรที่อาจจะได้เพิ่มขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ดีกว่าการนำเงินฝากไว้ในธนาคารซึ่งได้รับดอกเบี้ยไม่กี่สตางค์

มีการประเมินว่าการที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ถือครอง 10 ปี เพราะต้องการให้กองทุนเติบโต สร้างผลกำไรให้กับผู้ลงทุน จะได้ไม่มีปัญหาขาดทุนเหมือนกองทุน LTF บางกอง เพราะ LTF กำหนดให้ถือสั้นแค่ 3 ปี (ของเดิม) และ 5 ปี (ล่าสุด)

ส่วนกองทุน SSF จะทำกำไรหวือหวาเหมือนกองทุน LTF ได้หรือไม่ คงต้องบอกว่ามีโอกาส และมีโอกาสขาดทุนได้เหมือนกัน โดยผู้ซื้อต้องศึกษาเรื่องการลงทุนของบรรดาผู้จัดการกองทุนต่างๆ ที่จะนำมาเสนอขายในช่วงปี 2553 เพราะ SSF เปิดโอกาสให้ลงทุนหลากหลาย ต่างจาก LTF เน้นลงทุนเฉพาะหุ้น

⦁เปิดเงื่อนไขSSF
ตามมติ ครม.ที่ออกมา สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน SSF กำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท และเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ คือ กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาทในแต่ละปีภาษี

ในข้อนี้จะแตกต่างจากกองทุน LTF กำหนดให้ซื้อไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมินและซื้อสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ทำให้คนที่มีเงินเดือนน้อยๆ ได้ประโยชน์สามารถออมเงินเพิ่มเท่าตัว เช่น เคยซื้อได้ 5 หมื่นบาท เพิ่มเป็นกว่า 1 แสนบาท แต่คนเงินเดือนสูงเคยซื้อเต็มเพดาน 5 แสนบาทจะลดลงกว่าเท่าตัว เพราะกองทุน SSF กำหนดให้ซื้อสูดสุดเหลือเพียง 2 แสนบาทเท่านั้น

กองทุน SSF ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ทั้งหุ้น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน ลงทุนทองคำ น้ำมัน แล้วแต่การจัดสรรของผู้จัดการกองทุน ส่วนกองทุน LTF เน้นลงทุนสามัญของบริษัท จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ดังนั้นจะมีกองทุนให้เลือกซื้อหลากหลายตามความต้องการของผู้ซื้อว่าจะต้องการเสี่ยงมากเพื่อผลตอบแทนสูง หรือเสี่ยงน้อยเพื่อรักษาเงินต้นไว้

ทั้งนี้ กองทุน SSF ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง ซึ่งในข้อนี้กระทรวงการคลังนำมาแก้ปัญหา กองทุน RMF กำหนดให้ลงทุนทุกปี และสามารถเว้นได้เพียง 1 ปีในปีที่ 2 ต้องกลับมาซื้อใหม่

ผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ สำหรับเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

กระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุน SSF ได้สิทธิประโยชน์ภาษีในช่วง 2563-2567 หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะมาประเมินผลว่าควรจะต่ออายุให้อีกหรือไม่ หรือต้องมีการปรับเงื่อนไขอะไรใหม่ เพื่อให้กองทุนเดินหน้าต่อไป

⦁ปรับเกณฑ์RMF
ที่ผ่านมาถ้าเปรียบเทียบกองทุน LTF กับกองทุน RMF กองทุน RMF จะได้รับความสนใจน้อยกว่า เนื่องจากมีเงื่อนไขจุกจิกมาก ทำให้คนที่เพิ่งเริ่มลงทุน หรือเพิ่งศึกษาการลงทุนการออมใหม่ๆ ไม่ค่อยอยากทำความเข้าใจ เช่น ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เว้นได้แค่ 1 ปีต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมิน หรือขั้นต่ำ 5 พันบาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่ากัน แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน

ล่าสุดในคราวเดียวกันกับที่อนุมัติกองทุน SSF ครม.มีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF ประกอบด้วย ปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF เป็นไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน โดยกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ คือ กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ

ยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF ดังนั้นสามารถซื้อแค่บาทเดียวก็เข้าเงื่อนไขนี้แล้ว เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนยังต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จึงจะสามารถขายกองทุนได้ แบบไม่ผิดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี โดยสามารถขายได้ทั้งกองที่ซื้อมา ทั้งในส่วนที่ซื้อเมื่อ 10 ปีก่อน ซื้อเมื่อ 5 ปี และซื้อเมื่อ 1-2 ปี โดยไม่ต้องแยกขายเป็นปีๆ เหมือนกองทุน LTF

⦁หนุนรายได้ต่ำออมเงินเพิ่ม
การปรับเกณฑ์กองทุน RMF ครั้งนี้ให้นับวงเงินซื้อสูงสุด 5 แสนบาท รวมกับกองทุน SSF และกองทุนอื่นๆ เกี่ยวกับออมเพื่อการเกษียณ เท่ากับว่ากระทรวงการคลังกำหนดให้ซื้อกองทุนลงทุนระยะยาวเพื่อเกษียณเพียง 5 แสนบาท จากเดิม สามารถลงทุนถึง 1 ล้านบาท โดยวงเงิน 5 แสนบาท เป็นผลการศึกษามาพบว่าคนไทยซื้อกองทุน RMF และ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 2-3 แสนบาทต่อปี

ขณะนี้มีคนใช้สิทธิในการคืนภาษีจาก LTF ปีละ 4 แสนรายคิดเป็นเงินภาษีที่ขอคืน 1 หมื่นล้านบาท และใช้สิทธิ RMF ประมาณ 2 แสนราย คิดเป็นเงินภาษีที่ขอคืน 6 พันล้านบาท

กระทรวงการคลังประเมินว่าการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กองทุน SSF และปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกองทุน RMF จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท

สิ่งที่กระทรวงการคลังอยากเห็นคือ การออมระยะยาวของประชาชนเพิ่มขึ้น หากมีการซื้อกองทุน RMF และกองทุน SSF เต็มเพดานที่กำหนด ผู้ที่มีรายได้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท 5 หมื่นบาท และ 1 แสนบาท จะมีเงินออมระยะยาวเพิ่มขึ้นจากเดิมได้ถึงปีละ 1.08 แสนบาท 3.6 แสนบาท และ 5 แสนบาท ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มรายได้ต่ำถึงปานกลางสามารถออมเงินเพิ่มอีกเท่าตัว จากการปรับสัดส่วนการลงทุน 30% ของรายได้พึงประเมิน

ส่วนคนเงินเดือนเกินกว่า 1 แสนบาทจะออมโดยใช้สิทธิประโยชน์ภาษีลดลงครึ่งหนึ่ง ต้องหันไปพึ่งพาการออมในรูปแบบอื่นๆ แทน

⦁ชี้SSFเป็นmini RMF
ความเห็นจากนักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีเงินได้ ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแทกซ์ อินคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (iTax) ให้ความเห็นว่า ไม่อยากให้ไปมองว่ากองทุน SSF มาแทน LTF เพราะถ้าไปเปรียบเทียบกันกองทุน SSF ซื้อยากกว่า ความน่าสนใจน้อยกว่า

ทั้งนี้ อยากให้คิดว่ากองทุน LTF จะหมดอายุแล้วในปีนี้ ส่วนกองทุน SSF ถือเป็น mini RMF ซื้อง่ายกว่าเดิม และการถือครองสั้นกว่ากองทุน RMF ไม่ต้องลงทุนทุกปี น่าจะทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาซื้อกองทุน SSF มากขึ้น จากเดิมคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยสนใจซื้อกองทุน RMF เท่าใดนัก

กองทุน SSF ยังสามารถลงทุนหลากหลายเหมือนกองทุน RMF กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางน่าจะมีแรงจูงใจออมเพิ่มขึ้นเพราะถือสั้นพอๆ กับประกันชีวิตลดหย่อนภาษีทั่วไป

ทั้งนี้ กลุ่มที่กระทบมากคือผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็ม 1 ล้านบาท ซึ่งต้องมีรายได้ต่อปีมากกว่า 3.3 ล้านบาท หรือมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 2.77 แสนบาท แม้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนจำนวนไม่มาก แต่มีกำลังซื้อสูง เมื่อเงินจากกลุ่มนี้หายไป กระทบต่อภาพรวมของทุนพอสมควร ดังนั้นจึงประเมินไม่ยากว่าเงินลงทุนจากการซื้อกองทุน SSF ไม่น่าจะเท่ากับกองทุน LTF

⦁เอกชนผิดหวังกองทุนใหม่
ภาคเอกชนให้ความเห็นถึงกองทุนใหม่ไว้หลากหลาย โดย ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แสดงความผิดหวังกับกองทุน SSF มองว่ากระทรวงการคลังไม่เห็นถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น โดยไม่เห็นด้วยกับการเอาวงเงินลดหย่อนรวมกันและกำหนดเพดาน 5 แสนบาท จากเดิมให้ถึง 1 ล้านบาท เพราะจะทำให้คนรายได้ปานกลางที่มีศักยภาพในการออมสูง อาจเลือกออมน้อยลง ทำให้เงินออมรวมของทั้งระบบไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร

ไพบูลย์ ชื่นชมที่กระทรวงการคลังขยายวงเงินลงทุนสูงสุดในกองทุน SSF และ RMF ให้ถึง 30% ของรายได้พึงประเมิน ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ออมเงินมากขึ้น ถือเป็นเรื่องดี เพราะวินัยการออมต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน

ส่วนการที่ไม่บังคับให้กองทุน SSF ลงทุนในหุ้น ไม่น่าจะตอบโจทย์สังคมสูงวัย ที่ต้องทำให้ทุกคนมีรายได้พอใช้หลังเกษียณ เนื่องจากคนไทยยังมีความรู้เรื่องลงทุนน้อย และมีแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทเสี่ยงต่ำ จะทำให้ผลตอบแทนจะต่ำ อาจทำให้รายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอ

ด้าน วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง ให้ความเห็นว่า กองทุน SSF ออกมาเพื่อช่วยคนในกลุ่มชนชั้นกลางที่มีรายได้ไม่สูงมาก ส่วนของกลุ่มชนชั้นล่างคงไม่ได้ช่วยอะไร เนื่องจากรายได้ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีมากเท่าที่ควร และส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอที่นำมาออม คนรุ่นใหม่เพิ่งจบรายได้น้อย และส่วนมากมีหนี้เยอะ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีเม็ดเงินจากกองทุน LTF รวมเกือบ 4 แสนล้านบาท โดย LTF ทำให้มีไหลเข้าตลาดหุ้น 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ เมื่อไม่มีกองทุน LTF แล้วจะทำให้การออมระยะยาวหดตัวไปด้วยหรือไม่ เพราะผู้ออมเคยได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีถึง 1 ล้านบาท แต่ของใหม่ตั้งเพดานไว้ที่ 5 แสนบาท ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถจูงใจนักลงทุนใหม่ๆ ให้เข้ามาเพิ่มมากขึ้นได้หรือไม่

⦁เม็ดเงินหดเหลือ2-3หมื่นล.
ส่วน ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยว่า หากเทียบกองทุน SSF กับกองทุน LTF ต้องบอกว่าไม่ได้ดีเท่าเดิม แต่ก็ดีกว่าไม่มีกองทุนออมระยะยาวที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

กองทุน SSF ทำให้คนที่มีรายได้ในระดับไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้น ในการซื้อกองทุนเต็มเพดาน 2 แสนบาทเพราะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสูงมาก

ส่วนผู้ที่มีรายได้สูง ต้องหาช่องทางอื่นในการลดหย่อนภาษีแทน โดยคาดว่าเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาในตลาดทุนจะน้อยลงกว่าเดิมเหลือเพียง 2-3 หมื่นล้านบาท จากปกติ 6 หมื่นล้านบาท เม็ดเงินจะไม่หายไปเลย เพราะคนที่จำเป็นต้องซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี อย่างไรก็ต้องซื้อ

ทั้งนี้ กองทุน SSF ทำให้สัดส่วนเงินลงทุนในหุ้นน้อยลง เพราะตามเงื่อนไขแล้วไม่ได้จำกัดรูปแบบหรือประเภทในการลงทุน ทำให้อาจจะมีการโยกเงินลงทุนไปอยู่ในตราสารหนี้แทน ถือว่าดีเนื่องจากนักลงทุนบางรายไม่ได้ต้องการความเสี่ยง จึงเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย เพื่อออมเงินในระยะยาว หากเทียบกับกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (PV) ก็ไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ 100% ส่วนใหญ่ก็แบ่งเป็นตราสารหนี้ 50% ตราสารทุนอีก 50% ดังนั้นมองว่าการมีกองทุน SSF ถือว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง

หลังจากนี้ในปี 2563 คงต้องติดตามว่ากองทุนใหม่ SSF รับความน่าสนใจแค่ไหน และตอบโจทย์การแก้ปัญหาการออมของประเทศ เพื่อลดภาระสังคมผู้สูงวัย คุ้มค่ากับเงินภาษี 1.4 หมื่นล้านบาท ที่ต้องคืนให้ผู้ซื้อกองทุน SSF และกองทุน RMF หรือไม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image