รีวิวหุ้นไทยปี’62 เตี้ยลงสาละวันเตี้ยลง เจอมรสุมใน-นอกประเทศ ลุ้นปีหนูทอง…กระทิงดุ

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน จะเห็นว่าจากดัชนีระดับ 1,614.80 จุด ปรับลดลงอย่างรวดเร็วสู่ระดับ 1,551.82 จุด และหากนับตั้งแต่วันที่ 1-20 ธันวาคม 2562 ปรับลดลงแล้วกว่า 126.73 จุด และในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยก็มีการปรับตัวลงติดต่อกันกว่า 10 วันทำการ ซึ่งถือว่าปรับลดลงติดต่อกันมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยลบก็เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกขึ้น เพราะเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง เอสแอนด์พี ได้มีการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยจากระดับ “มีเสถียรภาพ” เป็น “เชิงบวก” โดยเอสแอนด์พีได้ออกมาเปิดเผยว่า สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยที่มีเสถียรภาพมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง ประกอบกับตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ ฐานะการเงินระหว่างประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง และการใช้นโยบายการเงิน-การคลังอย่างเหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เอสแอนด์พีปรับมุมมองขึ้นในครั้งนี้ ส่วนแนวโน้มข้างหน้าต้องขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และสถานการณ์การเมืองในอนาคต!!

ปัจจัยดังกล่าวทำให้หุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 วัน ก่อนจะเคลื่อนไหวผันผวน ปรับขึ้นและลงสลับกันเล็กน้อย ต่อมามีปัจจัยเชิงบวก ในเรื่องของข้อตกลงการค้าสหรัฐและจีน เฟส 1 ที่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ รวมทั้งมีการยกเลิกภาษีการนำเข้าสินค้าระหว่างกันและกันด้วย จึงถือเป็นปัจจัยที่ดีมาก น่าจะช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับระดับขึ้นมาได้ แต่ก็ยังเป็นภาพของการปรับขึ้นและลงสลับผันผวนต่อไปจนมาถึงระดับปัจจุบัน

ย้อนดูระดับสูงสุดที่โบรกคาดไว้

Advertisement

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2562 จะเห็นว่านักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลายสำนัก ได้ออกมาคาดการณ์ระดับสูงสุดดัชนีหุ้นไทยว่า จะสามารถปรับขึ้นไปถึงระดับตั้งแต่ 1,740-2,000 จุด เรียกได้ว่ามองมุมบวกกันแทบทุกสำนัก อาทิ บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่าดัชนีเป้าหมายสูงสุดจะอยู่ที่ 1,743 จุด ภายใต้ปัจจัยปัญหาการเมืองโลก ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ส่วนความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สะท้อนไปแล้วในบางส่วน แต่ยังไม่หมด จึงคาดว่าจะมีผลต่อทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และราคาทองคำ

ส่วนบริษัท หลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส คาดการณ์ว่า ดัชนีหุ้นไทยปี 2562 จะขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1,795 จุด โดยกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) จะเติบโต 3.3% ส่วนเงินทุนต่างประเทศมีโอกาสกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นช่วงครึ่งปีแรก หลังจากการเลือกตั้งมีความชัดเจนขึ้น ส่วนผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ได้สะท้อนผ่านการปรับฐานของตลาดหุ้นโลกหลายแห่งไปมากพอสมควรแล้ว จึงเชื่อว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 2562 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทยเป็นสัดส่วน 50% จากเดิม 40%

บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ ตั้งเป้าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปี 2562 ที่ระดับ 1,760 จุด ภายใต้พีอี 14 เท่า (อัตราส่วนทางการเงิน ที่จะแสดงถึงอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ ที่ได้จากการนำราคาหุ้นมาเทียบกับกำไรต่อหุ้น) โดยคาดว่ากำไรต่อหุ้นปี 2562 จะอยู่ที่ 126 บาท ซึ่งดัชนีมีโอกาสปรับตัวขึ้นจากระดับปัจจุบันกว่า 13.5% และคาดว่าในกรณีเลวร้ายสุด อาจจะลดต่ำแตะระดับที่ 1,500 จุด พีอี 13 เท่า กำไรต่อหุ้นลดลงเหลือ 116 บาท โดยบอกว่าราคาน่าสนใจในการเข้าลงทุน พร้อมแนะนำให้เน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่จ่ายเงินปันผลสูง คาดว่าจะกลับมาเป็นปีที่ดีของตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ภายใต้การคลายตัวของ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สงครามการค้า เงินดอลลาร์สหรัฐลดการแข็งค่าหรือกลับมาอ่อนลงในปี และราคาน้ำมันกลับสู่จุดสมดุล

ขณะที่บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะทำจุดสูงสุดอยู่ที่ 1,850 จุด ปัจจัยบวกหลักๆ มาจากการเติบโตของภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม บจ.ขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มีการกระจายลงทุนหลากหลาย คาดว่ากำไรจะเติบโตได้ระดับถึง 10% ไม่แตกต่างจากบริษัท หลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ที่คาดว่า ดัชนีหุ้นไทยจะทำจุดสูงสุดจะอยู่ที่ 1,817 จุด กำไร บจ.เติบโต 7.2% ปัจจัยบวกจากหุ้นขนาดใหญ่ คาดว่าจะมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล ที่จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มโรงไฟฟ้าหลายแห่งที่จะเริ่มรับรู้กำลังการผลิตส่วนใหญ่แบบเต็มปี และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จะได้ประโยชน์จากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ปิดท้ายของบริษัท หลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ ย้ำเป้าดัชนีหุ้นไทยจะขึ้นไปแตะระดับ 2,000 จุด โดยตลาดหุ้นไทยจะเป็นประเทศเป้าหมายกลุ่มบน ที่มีเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้ามา เพราะมีระดับพีอีที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค และให้ผลตอบแทนดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ขณะที่กำไร บจ.ไทย จะเติบโตได้ถึง 10% เพราะเชื่อว่าจะได้อานิสงส์จากการลงทุนของภาครัฐ

เจอปัจจัยลบสกัดร่วงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยกลับเจอวิกฤตหลายเรื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะปัจจัยหลักอย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่มีผลกระทบทำให้ตลาดหุ้นผันผวนหนักมาก ทั้งยังเจอปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยการเมืองไทย ที่หลายฝ่ายมองว่าหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ภาพรวมจะเริ่มปรับดีขึ้น แต่เมื่อเกิดการเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้กว่า 3 เดือน ทำให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนชะลอตัวลง เนื่องจากยังไม่มีความมั่นใจกับเหตุการณ์ในอนาคต จนทำให้เศรษฐกิจถูกแช่แข็งเกือบ 1 ไตรมาส

เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จ ก็เจอกับการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีความล่าช้ากว่าที่ควร ถือว่ารัฐบาลชุดนี้ใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลนานกว่าทุกชุดที่ผ่านมา แต่พอมีรัฐบาลแล้วไม่ได้ช่วยลดความกังวลให้กับนักลงทุนหรือคนส่วนใหญ่มากนัก เนื่องจากเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทำให้อำนาจในการลงมติเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณและโครงการใหญ่ ไม่คล่องตัวมากเท่าที่ควร จนเริ่มเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้ากว่ากำหนด สร้างช่องว่างในการชะลอการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนให้ใหญ่มากขึ้นอีก และยังย้ำภาพเสถียรภาพของรัฐบาลที่ดูจะไม่ได้มีมากเท่าที่ควร เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์สภาล่มถึง 2 ครั้ง ก็สร้างความกังวลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการลงถนนชุมนุมแสดงจุดยืนทางการเมือง หรือแฟลชม็อบ ทุกปัจจัยต่างทำให้การเดินทางของดัชนีหุ้นไทยปี 2562 ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยทำจุดสูงสุดกว่า 1,750 จุด ก็ทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากตอนแรกที่คาดว่าจะพุ่งแตะ 2,000 จุด ก็ลดลงจนเกาะระดับ 1,600 จุดไม่ไหวแล้ว ส่วนโค้งสุดท้ายนี้นักวิเคราะห์หลายเสียงก็ออกมายอมรับว่า ดัชนีหุ้นไทยปีนี้คงไม่สามารถยืนเหนือระดับ 1,600 จุดได้แน่นอน

มองโค้งสุดท้ายผันผวนไม่เลิก

ฝ่ายวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562 ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยขึ้นกับ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่แม้จะบรรลุข้อตกลงเฟส 1 ได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาร่วมกันได้ จึงยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก และหากยังยืดเยื้อต่อไป จะเป็นประเด็นที่กดดันดัชนีหุ้นไทยและตลาดหุ้นอื่นทั่วโลกอยู่ 2.การถอนตัวออกจากยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิท) ที่ความคืบหน้าล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ (สภาสามัญชน) ได้ลงมติเห็นชอบข้อตกลงเบร็กซิทของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นก้าวแรกที่เปิดทางให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ระหว่างหาเสียงว่า จะนำพาสหราชอาณาจักรถอนตัวจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 มกราคม หลังจากคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้ง โดยหลังจากนี้หากอังกฤษถอนตัวออกจากยุโรปได้สำเร็จ ก็ยังจำเป็นต้องหาทางบรรลุข้อตกลงการค้าใหม่กับสหภาพยุโรปอีกครั้ง ซึ่งจอห์นสันเคยบอกว่า อยากเห็นอังกฤษเห็นพ้องข้อตกลงการค้าใหม่ โดยที่ไม่ต้องเข้าร่วมในกฎระเบียบต่างๆ ของยุโรปเพิ่มเติม

และ 3.เรื่องเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ยังไม่จบลง รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่โตไม่ได้ตามปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น เพราะภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากการค้าโลกชะลอตัวอย่างหนัก แม้ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวมากขึ้น แต่หากเทียบกับปี 2561 ก็ยังถือว่าไม่ได้ดีมากกว่ากันนัก

สอดคล้องกับ มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มองว่า ดัชนีหุ้นไทยไตรมาส 4 ปี 2562 ประเมินค่อนข้างยาก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักคือ ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำไร บจ. คาดว่าจะผันผวนต่อ เป็นภาพลบสลับบวกไปจนหมดปี เนื่องจากขณะนี้ก็ใกล้ถึงช่วงวันหยุดยาวแล้ว นักลงทุนต่างเร่งขายสุทธิ เพื่อปิดพอร์ตลงทุน และเตรียมดูทิศทางในปี 2563 เพื่อเข้าลงทุนใหม่อีกครั้ง

ในส่วนของสงครามการค้า บล.เคทีบีมองว่า เริ่มกดดันตลาดแบบผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังไม่ได้คลายตัวไปซะทีเดียว สำหรับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ คาดว่ามีโอกาสน้อยที่จะกลับมาซื้อสุทธิในหุ้นไทย เพราะตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลง และไม่แปลกใจที่ต่างชาติจะขายหุ้นไทยต่อเนื่อง และขณะนี้ยังคงสถานะขายสุทธิอยู่ เนื่องจากหุ้นไทยถือว่าไม่ได้มีราคาที่ถูกแล้ว เพราะพีอีอยู่ที่ 16 เท่า จึงไม่จูงใจให้เข้ามาซื้อ เพราะช่วงที่ต่างชาติเข้ามาซื้อในต้นปีที่ผ่านมา พีอีหุ้นไทยอยู่ที่ 14-15 เท่า เท่านั้น รวมทั้งกลุ่มหุ้นชั้นดีของไทย ไม่ว่าจะกลุ่มน้ำมัน ปิโตรเคมี ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มโรงไฟฟ้า หรือค้าปลีก ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปมากแล้ว ทำให้มีโอกาสปรับตัวขึ้น (อัพไซด์) จำกัด แต่หากมีเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุน ก็เชื่อว่าจะเป็นนักลงทุนเก็งกำไร (ฮอตมันนี่)ระยะสั้นเท่านั้น

ปี”63 ดูดีขึ้น

โดยภาพรวมตลาดหุ้นในช่วงปี 2562 ถือว่ามีปัจจัยรบกวนเข้ามามากมาย แม้จะเริ่มคลี่คลายได้บ้าง แต่ก็มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบเพิ่มเติมตลอดเวลา ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มเปลี่ยนมุมมองและคาดการณ์ว่า ในปี 2563 ภาพรวมตลาดหุ้นไทยน่าจะฟื้นตัวและดีกว่าปีนี้

บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย มองว่า ปี 2563 คาดดัชนีหุ้นไทยจะสามารถขึ้นไปเหนือ 1,680 จุดได้ หลังจากสถานการณ์ในต่างประเทศที่เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะสงครามการค้าคาดว่าจะมีการตกลงกันได้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มองว่าในปีหน้าจะออกมาสอดคล้องกันตามที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งความหวังไว้ ไม่มีทางที่รัฐบาลจะปล่อยให้เศรษฐกิจอ่อนแอลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก อยู่ในสถานะนิ่งแล้ว คาดว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาสู่ 1.00% ได้ เพื่อดึงเศรษฐกิจจากที่ชะลอตัวไม่ให้ลงไปตํ่ากว่านี้ ทั้งนี้ หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยจริง อาจจะส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดลงไปมากพอแล้ว จึงยังต้องมีความระมัดระวังในการลงทุนอยู่

ด้านบริษัท หลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ มองว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทย ปี 2563 มีมุมมองเชิงบวก หลัง กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งด้านการบริโภค การท่องเที่ยว รวมถึงงบประมาณปี 2563 ที่คาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายได้ต้นปี จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโต ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจ โดยคาดว่ากรอบดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ 1,600-1,800 จุด ส่วนกลยุทธ์ที่แนะนำในการลงทุนคือ แนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยเน้นหุ้นที่มีเงินปันผล ราคาไม่แพงและกำไรสุทธิยังคงเติบโตได้ เพื่อลดความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น กลุ่มค้าปลีก การแพทย์ นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมทั้งเริ่มทยอยเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มวัฏจักร เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี หลังจากมูลค่าหุ้นลดลงมาสะท้อนความเสี่ยงไปพอสมควรแล้ว

ส่วนบริษัท หลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส มองว่า ยังคงเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยในปี 2562 ที่ระดับ 1,655 จุด โดยคาดว่ากำไร บจ. ได้ผ่านจุดตํ่าสุดในไตรมาส 2 มาแล้ว และไตรมาส 4 จะเป็นช่วงจุดสูงสุดของหลายธุรกิจ อีกทั้งประเทศไทยอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต) ประเทศ ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงน่าสนใจ และมีโอกาสเห็นเงินทุนโยกเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น คงต้องรอดูว่าจะสามารถปิดสิ้นปีได้ที่ระดับเท่าใด

ถึงตอนนี้ปัจจัยบวกที่จะหนุนตลาดหุ้นนับจากนี้เบื้องต้นยังมองไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากนัก เพราะคาดว่ายังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2562 ชนิดที่ว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเลยทีเดียว แต่จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์สำนักต่างๆ ก็อาจได้ลุ้นปัจจัยบวกสงครามการค้า และเบร็กซิท ที่ส่งผลตรงต่อเศรษฐกิจโลก

ท่ามกลางภาวะตลาดที่ผันผวนอย่างต่อเนื่อง และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ต้องมาดูกันว่า ดัชนีหุ้นจะสามารถไต่ระดับได้ไกลถึงไหน แล้วจะมีปัจจัยใดเข้ามาฉุดร่วงอีกหรือไม่ หรือรัฐบาลชุดนี้จะมีทีเด็ดจนทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาหวือหวารับปีหนูทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image