จับตา แคท-ทีโอที ขอเอี่ยวประมูล 5จี

จูงมือกันเข้ารับเอกสารประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์เพื่อรองรับ “5G” เรียบร้อยแล้ว สำหรับรัฐวิสาหกิจในกิจการโทรคมนาคม 2 ราย ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ท่ามกลางเสียงทัดทานจาก 3 ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมภาคเอกชน ที่เห็นว่ารัฐวิสาหกิจไม่ควรเข้ามาร่วมวงกับการประมูลนี้ เพราะจะก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน

“2 รัฐวิสาหกิจ” ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวกัน ในอนาคตที่ต้องควบรวมกิจการเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที การลงชิงชัยครั้งนี้จึงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องประมูลคนละย่านความถี่ ทั้งนี้ เพื่อต่อลมหายใจให้หลังปี 2568 เมื่อคลื่นความถี่ที่ให้บริการในปัจจุบันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจะมีคลื่นความถี่ในการให้บริการต่อไป

“แคท” ภายใต้การนำของ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ล่าสุดติด 1 ใน 10 รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุดในปีงบประมาณ 2563 มูลค่า 3,891 ล้านบาท

ทั้งนี้ พ.อ.สรรพชัย ระบุว่า แผนการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทคาดว่ากำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 400 ล้านบาท เนื่องจากปี 2563 บริษัทจะไม่มีรายได้พิเศษจากการยุติข้อพิพาทเสาโทรคมนาคมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เหมือนปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรพิเศษเข้ามาเพิ่มเติม ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น

Advertisement

ขณะที่รายได้ในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 39,600 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 27,000 ล้านบาท มาจากรายได้จากการเป็นพันธมิตรกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการ 4G จำนวน 20,000 ล้านบาท รายได้จากบริการโทรศัพท์มือถือแบรนด์ มาย บาย แคท จำนวน 2,000 ล้านบาท และรายได้จากการให้เช่าเสาโทรคมนาคม 5,000 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 2,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธุรกิจโมบายและธุรกิจบรอดแบนด์ในปี 2563 บริษัทโฟกัสที่รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายมากกว่าจำนวนลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยพยายามทำให้มีรายได้ต่อเดือนให้สูงขึ้น จากปัจจุบันธุรกิจโมบาย ลูกค้าระบบรายเดือน เฉพาะบริการอยู่ที่ 500 บาทต่อเดือน และลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่กว่า 100 บาทต่อเดือน ส่วนธุรกิจบรอดแบนด์ ลูกค้ากลุ่มลูกค้าทั่วไปมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 400-500 บาทต่อเดือน และลูกค้าองค์กรอยู่ที่ 1,100 บาท

ส่วนรายได้จากธุรกิจดาต้าคอมอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท ทรงตัวจากปี 2562, รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (ไอดีดี) 1,100 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท, รายได้จากธุรกิจไอที เซอร์วิส 2,700 ล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นรายได้จากดิจิทัล เซอร์วิส 1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 850 ล้านบาท เนื่องจากจะมีรายได้จากการให้บริการคลาวด์ภาครัฐ (จีดีซีซี) เข้ามาตั้งแต่ปี 2563 ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี และรายได้อื่นๆ 2,500 ล้านบาท

Advertisement

ฟาก “ทีโอที” โดย น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เผยว่า ในปี 2563 บริษัทเดินหน้าสู่องค์กรดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลเต็มรูปแบบภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ามีรายได้จากธุรกิจดิจิทัลไม่น้อยกว่า 30% ของรายได้จากการดำเนินการของบริษัทเอง มีสัดส่วนพนักงานดิจิทัลประมาณ 30% ของพนักงานทั้งหมด เพื่อให้บริษัทก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจดิจิทัลของประเทศ นอกจากนี้บริษัทยังเน้นให้องค์กรอยู่รอดจากการทำธุรกิจด้วยตนเอง โดยสร้างการเติบโตจากบริการดิจิทัล ตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีข้างหน้าบริษัทจะมีรายได้จากการดำเนินการของบริษัทเอง 40% และรายได้จากพันธมิตร 60%

ขณะเดียวกัน ในปี 2563 บริษัทเตรียมพร้อมเพื่อสนับสนุนและรองรับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้แก่ โครงการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือโครงการเน็ตประชารัฐ โดยให้บริการต่อเนื่องครอบคลุมการบริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงข่ายเน็ตประชารัฐ, โครงการขยายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและการปรับปรุงโครงข่ายที่เป็นเทคโนโลยีเดิมให้มีประสิทธิภาพด้วยเคเบิลใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออฟติก) ไปยังโรงเรียน โรงพยาบาลของรัฐที่ยังไม่มีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และขยายความจุอินเตอร์เน็ตให้กับโรงพยาบาล เพื่อรองรับการตรวจรักษาทางไกล

รวมถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยบริษัทเตรียมแผนงานรองรับภายใต้โครงการ อาทิ แผนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี, แผนโครงสร้างพื้นฐานรองรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G, แผนสมาร์ทซิตี้ แพลตฟอร์ม, แผนปรับปรุงสื่อสัญญาณ, แผนพัฒนาและยกระดับโครงข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูงภายในพื้นที่อีอีซี และแผนเครือข่ายท้องถิ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมแผนงานด้านบริการโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลเพื่อรองรับโครงการดังกล่าว และโครงการพัฒนาโครงข่าย 5G โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาสู่ 5G โดยการแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายเป็นวงกว้าง โดยการนำคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัทมาพัฒนา

“ในอนาคตบริษัทมีแผนการลงทุนที่มุ่งตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ และขยายการให้บริการบรอดแบนด์ทั้งทางสายและไร้สาย รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณรองรับประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท”น.อ.สมศักดิ์ กล่าว

คงต้องติดตามว่า ศึกการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ “แคท-ทีโอที” จะได้คลื่นความถี่ไปครองหรือไม่ และหากการควบรวมกิจการเกิดขึ้นตามที่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ว่าจ่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่รอมร่อ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที คงต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อสู้ศึก 5G กับภาคเอกชนอย่างเข้มข้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image