ต่อลมหายใจ…ธุรกิจเอสเอ็มอี รัฐมือเป็นระวิง ทุ่มแสนล้านช่วย เปิดเกมหั่นดอกเบี้ยรอบใหม่

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีอยู่กว่า 3 ล้านราย ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการจ้างงานสูงถึง 85% ของการจ้างงานธุรกิจทั้งหมด

ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจรายเล็กรายน้อยอยู่ในท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวลง จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ล่าสุดมีความเสี่ยงเพิ่มเข้ามาจากสถานการณ์ความขัดแย้งของสหรัฐและอิหร่าน ที่ทวีความตึงเครียดในตะวันออกกลาง อาจกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันให้ผันผวนและราคาสูงขึ้นอีกครั้งได้

และด้วยสภาพธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็กย่อมรองรับความผันผวนได้น้อย จึงได้รับผลกระทบก่อน!!

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อยอดขายของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งยอดขายที่ลดลงย่อมหมายถึงสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจลดลงไปด้วย ยังไม่รวมผลกระทบที่เอสเอ็มอีได้รับจากการแข่งขันอีก ทั้งการแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ในประเทศ และการแข่งขันจากต่างประเทศซึ่งเข้ามาผ่านการขยายตัวในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ ทำให้เริ่มเห็นผลกระทบที่สะท้อนออกมาผ่านคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอี
ทำให้ผู้กุมบังเหียนทางเศรษฐกิจประเทศวิตกว่าปล่อยไว้นานกว่านี้ ภาวะหนี้เสียและตกงานเพิ่มจะพุ่งพรวด!!

Advertisement

⦁Q1บาทแข็งค่าแตะ29บาท/ดอลล์
ผู้ประกอบการตกอกตกใจกันยกใหญ่ หลังจากที่ช่วงปิดตลาดวันทำการสุดท้ายสิ้นปี 2562 ค่าบาทลงไปอยู่ต่ำกว่าระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นระดับจิตวิทยาของผู้ประกอบการ โดยค่าเงินบาทปิดที่ 29.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ามากสุดในรอบปีและแข็งค่ามากสุดทำสถิติ 6 ปี 9 เดือน แถมเงินบาทครองแชมป์แข็งค่าที่สุดในเอเชียและแข็งค่าเป็นอันดับที่ 4 ของโลก อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาชี้แจงว่า ขออย่าได้ตกใจกับความผันผวนระยะสั้นของอัตราแลกเปลี่ยนเพราะผลจากการเร่งทำธุรกรรมก่อนสิ้นปีของผู้ประกอบการบางรายในสภาวะที่ตลาดมีสภาพคล่องต่ำ ความต้องการซื้อและขายเงินตราต่างประเทศจึงไม่สมดุล โดย ธปท.จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอ้างอิง (THBREF) ของวันที่ 30 ธันวาคม อยู่ที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเปิดตลาดวันทำการแรก วันที่ 2 มกราคม ค่าเงินบาทเปิดที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันเคลื่อนไหวอ่อนค่าในระดับ 30.20-30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การที่ ธปท.ส่งสัญญาณเข้าดูแลเงินบาทอย่างใกล้ชิดเพราะเงินบาทแข็งค่ากว่าปัจจัยพื้นฐาน และ ธปท.กำลังจะมีมาตรการให้เงินทุนไหลออกเพิ่มเติมในช่วง 1-2 เดือนนี้ จากที่ทำไปแล้วในช่วงปลายปีก่อน ทั้งการยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ การปรับปรุงกฎเกณฑ์บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ และการผ่อนคลายเงื่อนไขให้บริษัทประกันภัยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งสหรัฐและอิหร่านที่กดดันให้ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมีผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงเนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันกว่า 11% ของจีดีพี หากราคาน้ำมันยิ่งสูงขึ้นจะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนไม่มองว่าค่าบาทเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเหมือนในอดีต

ขณะที่มุมมองของ ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองว่า ไตรมาสแรก 2563 ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าเนื่องจากมีปัจจัยเฉพาะจากไฮซีซั่นการท่องเที่ยวหนุนดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น และยังมีแรงหนุนจากการที่ผู้ส่งออกจะมาแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐเป็นบาท อาจเห็นค่าเงินบาทช่วงไตรมาสแรกระดับ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ แม้ว่าอาจจะดูแข็งค่ามากหากเทียบปัจจุบัน เพราะมีปัจจัยหนุนอ่อนค่าแต่หากเทียบกับช่วงปลายปี 2562 ที่แข็งค่าระดับ 29.80-29.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่ามีความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวจากปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทย คาดว่าค่าเงินบาทสิ้นปี 2563 จะอยู่ที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

⦁เอสเอ็มอีปรับตัวรับตลาดแข่งขันรุนแรง
นอกจากปัจจัยค่าเงินบาทกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ได้สะท้อนอีกมุมมอง ด้วยสภาธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นกิจการขนาดเล็กมักจะมีปัญหาสภาพคล่อง แต่อีกปัญหาสำคัญคือความแข็งแกร่งธุรกิจที่ไม่เท่ากับรายใหญ่ รวมทั้งความรู้ความสามารถในการผลิต การขาย รวมทั้งสภาพการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง หากการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปแล้วธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ปรับตัวจะอยู่ยาก แต่เรื่องการปรับตัวก็ยากเช่นกัน เพราะความเคยชิน หากถามธุรกิจเอสเอ็มอีต่างจังหวัดบางรายที่เปิดร้านค้าขายเขาอาจรู้สึกว่ายอดขายลดลง แต่ลูกค้าส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ แต่เอสเอ็มอีอาจยังไม่รู้หรือไม่ตระหนักถึง เขาอาจคิดว่าเศรษฐกิจไม่ดีเท่านั้น ซึ่งผลกระทบเศรษฐกิจมีส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะลูกค้ายังซื้อสินค้าอยู่ แต่เปลี่ยนไปซื้อร้านอื่น หรือไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น เพราะปัจจุบันสามารถซื้อขายผ่านออนไลน์ได้ทั่วโลก จากที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ในประเทศ ปัจจุบันต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในต่างประเทศด้วย

“สมัยที่ค่าเงินบาท 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เราส่งออกโตมากกว่า 10% แต่วันนี้ค่าเงินบาท 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งออกกลับติดลบ หากเทียบกับวันนี้ค่าเงินบาทถือว่าอ่อนหากเทียบกับในอดีต แต่ในอดีตเราขายสินค้าได้เพราะเราเป็นผู้ขายหลัก ประเทศอื่นอย่างเวียดนาม จีน ยังไม่มีสินค้าออกมาขาย แต่ประเทศเหล่านี้ผลิตสินค้าได้และขายในราคาถูก คู่ค้าที่เคยซื้อ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ที่ซื้อเราเป็นหลักก็ไปซื้อคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาตนเอง เอสเอ็มอีต้องยกระดับ จะบอกว่าบาทแข็งกระทบยอดขาย ยอดขายไม่ดีจากเศรษฐกิจถูกเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามาช่วยเอสเอ็มอีและสนับสนุนให้ปรับตัว แต่ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีแต่ละรายเองด้วย” ปรีดี ระบุ

⦁เอ็นพีแอลแตะ3%สูงสุดรอบ8ปี
แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวประกอบกับปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น หากเป็นธุรกิจรายใหญ่อาจยังพอประคองตัวได้บ้าง แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีอาจสะดุด และซ้ำเติมธุรกิจเอสเอ็มอีที่แย่อยู่แล้วให้ย่ำแย่ลงไปอีก สะท้อนจากคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีแนวโน้มด้อยลง หากพิจารณาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยข้อมูลล่าสุดจากรายงานผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2562 ของ ธปท.พบว่า สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.01% ซึ่งสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อกลับมาแตะระดับ 3% อีกครั้งในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่กลางปี 2554 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ 2.95% โดยยอดเอ็นพีแอลคงค้างเพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้านบาท มาจากลูกหนี้รายใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเอสเอ็มอีเป็นสำคัญ ทำให้มียอดคงค้างเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.69 แสนล้านบาท จำนวนนี้เป็นเอ็นพีแอลสินเชื่อธุรกิจถึง 72% ของเอ็นพีแอลรวม ขณะที่เอ็นพีแอลสินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 28% ของเอ็นพีแอลรวม

หากพิจารณาเฉพาะสินเชื่อธุรกิจสัดส่วน 72% ของเอ็นพีแอลรวม พบว่าเอ็นพีแอลสินเชื่อธุรกิจอยู่ที่ 3.10% แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 3.05% และไตรมาส 1 ปี 2562 ที่ 3.01% และพิจารณาลึกลงไปตามขนาดธุรกิจ พบว่าเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นทุกขนาดธุรกิจทั้งธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจรายใหญ่ โดยเอ็นพีแอลธุรกิจขนาดใหญ่ (สัดส่วน 12% ของเอ็นพีแอลสินเชื่อธุรกิจ) ณ สิ้นปี 2560 และ 2561 ที่อยู่ที่ 1.71% และ 1.66% ตามลำดับ โดยสิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 1.69% ทรงตัวในระดับเดียวกับไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ส่วนไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ 1.56%

ในส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี สัดส่วนกว่า 60% ของเอ็นพีแอลสินเชื่อธุรกิจ ในไตรมาส 3 ปี 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.75% จากไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 4.52% และไตรมาส 1 ปี 2562 ที่ 4.68% โดยเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 และ 2561 ที่อยู่ที่ 4.51% และ 4.56% ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กมีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางชัดเจนขึ้น โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะกีดกันทางการค้าเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น

⦁ยกช่วยเอสเอ็มอีเป็นวาระชาติ
ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ภาครัฐและเอกชนร่วมกันถกเพื่อแก้ไขปัญหาเอสเอ็มอี โดยสรุปออกมาเป็นมาตรการและนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกของปี 2563 เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ยกระดับการดูแลกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามโครงการ ต่อเสริม เติมทุน เอสเอ็มอี สร้างไทย และให้รายงานความคืบหน้าทุก 2 เดือน สำหรับโครงการต่อเสริม เติมทุน เอสเอ็มอี สร้างไทย เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะหากเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องจะส่งผลต่อธุรกิจ ส่งผลต่อการชำระคืนหนี้จนอาจนำมาซึ่งปัญหาหนี้เสีย หรือกลายเป็นเอ็นพีแอลซึ่งจะทำให้ธุรกิจสะดุดและกระทบห่วงโซ่ซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องได้ทั้งการจ้างงานชะลอลง จะส่งผลต่อรายได้ลูกจ้าง มีผลต่อการบริโภค ลุกลามเป็นลูกโซ่ ขณะเดียวกันฟากของผู้ให้สินเชื่ออย่างธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินของรัฐเองก็ต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ยิ่งหากเป็นเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลแล้วยิ่งปล่อยสินเชื่อยาก

⦁รัฐบาลเน้นอุ้ม3กลุ่มหลัก
รายละเอียดมาตรการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีตามที่กระทรวงการคลังเสนอภายใต้โครงการ “ต่อเสริม เติมทุน เอสเอ็มอี สร้างไทย” โดยแบ่งการช่วยเหลือ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ต้องการสภาพคล่อง โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะขยายการค้ำประกันเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 40% วงเงิน 60,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ธนาคารออมสินยังดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าวผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยขยายระยะเวลาโครงการไปจนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2563 พร้อมให้สินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีที่นอกเหนือจาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายอีกด้วย นอกจากนี้ ธนาคารออมสินให้สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ วงเงิน 50,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีกู้เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่เดิม

2.กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ บสย.จะขยายระยะเวลาการค้ำประกัน และชะลอมาตรการต่างๆ ที่จะดำเนินการ เพื่อไม่ให้เอสเอ็มอีหยุดชะงักการดำเนินธุรกิจ และ 3.กลุ่มขาดเงินทุนหมุนเวียน โดยกลุ่มนี้มีทั้งธนาคารออมสิน กรุงไทย และเอสเอ็มอีแบงก์ ดูแลร่วมกัน โดยออมสินและกรุงไทยเร่งรัดปล่อยสินเชื่อ แล้วให้ บสย.ช่วยค้ำประกัน ขยายวงเงินจาก 50,000 ล้านบาท เป็น 60,000 ล้านบาท ครอบคลุมสินเชื่อธุรกิจใหม่รายย่อย ซึ่งกองทุนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยังให้สินเชื่อเอสเอ็มอีรายย่อยวงเงิน 5,000 ล้านบาท ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนไปจนถึง 18 ธันวาคม 2563

ธปท.ยังปรับปรุงแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ให้ธนาคารพาณิชย์ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อให้มีการเร่งติดตามดูแลลูกหนี้เอสเอ็มอี รวมถึงพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้โดยเร็วตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณของการมีปัญหาในการชำระหนี้หรือในเชิงป้องกันเพื่อให้ลูกหนี้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีผลระหว่าง 1 มกราคม 2563-31 ธันวาคม 2564 หรือระยะ 2 ปี ด้านสรรพากรมีมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอนหรือขายทรัพย์สินจาก 2% เหลือ 0.01% สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

⦁สั่งแบงก์รัฐนำลดดอกหั่นต้นทุน
มาตรการที่ออกมาเพื่อดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีให้เดินหน้าต่อไปได้ในระยะต่อไปยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกันอาจต้องมีมาตรการเสริมช่วยลดต้นทุน ซึ่งส่วนหนึ่งคือต้นทุนด้านดอกเบี้ย รายงานข่าวระบุว่า มาตรการที่รัฐอาจจะหยิบยกขึ้นมาดำเนินการ คือการให้สถาบันการเงินของรัฐนำร่องลดดอกเบี้ยลงอีก ในส่วนดอกเบี้ยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเอสเอ็มอีรวมทั้งรายย่อย เพื่อเป็นการลดดอกเบี้ยนำตลาด ซึ่งการแข่งขันในตลาดจะทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ยังคาดหวังแรงกระเพื่อมถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท.ด้วย ว่าถึงเวลาที่ต้องพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง และควรเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้เพื่อช่วยพยุงธุรกิจ ประชาชน และเศรษฐกิจโดยรวม เพราะไม่สามารถสั่งการได้โดยตรง ด้วย กนง.มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน

ก่อนหน้านี้ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและประธาน กนง.ระบุว่า ดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง ซึ่งค่าเงินบาทก็เหมือนการเป็นไข้ซึ่งเป็นอาการภายนอก แก้ได้ด้วยมาตรการทางการเงินก็จริง หากมีการอักเสบภายในเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประเทศเกินดุลเดินสะพัดสูง ทำให้ค่าเงินบาทแข็งก็ต้องการการแก้ไขมากกว่ายาแก้ไข้ ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยการลงทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการลงทุนจะทำได้ง่ายกว่าในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง

⦁ลุ้นมติ!กนง.นัดแรก5ก.พ.
ต่อกรณีดังกล่าว เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีอาจจะต้องพิจารณาในหลายปัจจัยเพราะแต่ละธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเผชิญโจทย์ที่ไม่เหมือนกัน บางรายอาจจะได้รับผลดีจากค่าบาท บางรายได้รับผลกระทบ บางรายขายสินค้าได้ บางรายขายสินค้าไม่ได้ ส่วนการที่ธนาคารพาณิชย์นำลดดอกเบี้ยลงก่อนจะส่งผลต่อดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น การพิจารณาและตัดสินใจต้องมีการประเมินและให้น้ำหนักปัจจัยต่างๆ ทั้งนี้ ในส่วนความจำเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะพิจารณาจากข้อมูลรอบด้าน เพราะหาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะมีผลกระทบกว้าง ทั้งต่อผู้กู้เงินและผู้ฝากเงิน มีผลต่อดอกเบี้ยในตลาดการเงิน อาจมีผลช่วยค่าเงินบาทบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะเงินบาทแข็งค่าจากปัจจัยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง

ฟาก พลายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระและอดีตกรรมการ กนง.กล่าวว่า หาก กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสามารถทำได้ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกนี้แม้ว่าการลดดอกเบี้ยในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำอาจไม่มีผลกระตุ้นมากนัก แต่เป็นการลดเพื่อสร้างบรรยากาศเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เข้าไปผสมโรงกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะออกมา ส่งต่อค่าเงินบาท รวมทั้งเพื่อให้มีการส่งผ่านไปยังสถาบันการเงินทำให้ต้นทุนธุรกิจ ต้นทุนของประชาชนในการกู้ยืมลดลง ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ธปท.อาจต้องเข้าไปแทรกแซงหรือใช้มาตรการพิเศษเพื่อช่วยลดผลกระทบในส่วนภาครัฐเร่งผลักดันการลงทุนโครงการต่างๆ ให้ออกมา อย่างโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่มีการประมูลไปแล้ว แต่ยังไม่เริ่มดำเนินการ หากดำเนินการโครงการต่างๆ เหล่านี้หรือโครงการลงทุนที่ค้างอยู่จะช่วยการนำเข้าลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้

สำหรับการประชุม กนง.นัดแรกในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดว่า กนง.จะติดตามดูตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมปี 2562 และแนวโน้มปี 2563 ก่อน จึงยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้อีก 1 ครั้ง ลง 0.25% ไปอยู่ที่ 1.00% ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ครั้งใหม่ แต่จะช้าหรือเร็วยังต้องลุ้น

ต้องติดตามมาตรการที่ออกมาจะมีผลมากน้อยเพียงใด ช่วยพยุงธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นแรงสำคัญหนึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หรือไม่ เมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และคาดว่าขั้นตอนจากนี้จะดำเนินการได้แล้วเสร็จและเบิกจ่ายงบประมาณได้ตั้งแต่กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีก็มีส่วนสำคัญได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image