ตั้ง ‘สมคิด’ ขับเคลื่อนการค้า-ลงทุน โจทย์หินดันเศรษฐกิจไทยปี’63 พ้นเหว

จับสัญญาณชีพเศรษฐกิจไทยปี 2563 ดูท่าจะมีอาการหนัก ความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโต (จีดีพี) เกินระดับ 3% เริ่มเป็นไปได้ยาก เพราะยังไม่พ้นเดือนมกราคม ก็เผชิญกับปัจจัยลบเพียบ โดยเฉพาะปัจจัยในประเทศ

⦁นานาปัจจัยใน-นอกรุมเร้าศก.
ทั้งปัญหาภัยแล้ง ส่งสัญญาณเตือนภัยมาตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบันเริ่มเห็นผลกระทบวงกว้าง หน่วยงานเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนต่างประเมินสถานการณ์แล้งของไทยปีนี้ จะวิกฤต บางหน่วยระบุว่าวิกฤตหนักรอบ 40 ปี บางหน่วยก็ในรอบ 60 ปี และยังประเมินว่าภัยแล้งครั้งนี้กระทบจีดีพีเติบโตต่ำกว่า 2.8% ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หลายฝ่ายจึงจับจ้องแนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐว่าจะเดินไปทิศทางใด จะได้เห็นมาตรการแก้ปัญหาและป้องกันอย่างจริงจังหรือไม่ เพราะภัยแล้งคือปัญหาที่วนกลับมาเล่นงานประเทศไทยทุกปีสลับกับปัญหาน้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเงินบาทแข็งและผันผวน สาเหตุจากเงินทุนสำรองของไทยแข็งแกร่งและเศรษฐกิจโลก ขณะที่คงเฝ้าติดตามปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน ล่าสุดแม้ท่าทีคลี่คลาย แต่ยังมีปัจจัยสงครามการค้าในประเทศอื่นๆ ปัจจัยอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) และปัจจัยความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศ ประเดิมต้นปีคู่สหรัฐกับอิหร่าน รวมถึงสถานการณ์โลกร้อน ขยายความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ปัญหาไฟป่าในออสเตรเลีย

ปัจจัยร้อนทั่วโลกล่าสุด คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งกำลังลามไปทั่วโลก รวมถึงในไทยเจอผู้ติดเชื้อแล้ว หากไทยรับมือไม่อยู่อาจกระทบการท่องเที่ยวในไทยตลอดปีได้

Advertisement

อีกเรื่องร้อนรุ่ม คือสถานการณ์งบประมาณปี 2563 ที่ส่อเค้าสะดุดยาวจากพฤติกรรมนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล อาจกระทบเงินรายจ่ายงบประมาณ 2563 ความหวังสำคัญของรัฐบาลต้องล่าช้าออกไป โดยเฉพาะอาจกระเทือนด้านลงทุนเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ จากเดิมกำหนดเงินเข้าระบบเดือนกุมภาพันธ์ อาจล่าช้าออกไปอีกไม่รู้กี่เดือน ทำให้รัฐบาลต้องเร่งหาทางออกโดยเร็ว!!

⦁จับตาขุนคลังเร่งหาทางออก
ปัญหางบประมาณ 2563 ที่อาจล่าช้า อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวได้เพียง ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร หากงบประมาณปี 2563 ล่าช้ากว่ากำหนดเดิม ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้เร่งหาทางออก ดังนั้น ปัญหางบประมาณของไทยคงไปไม่ถึงจุดชัตดาวน์หรือไม่มีงบบริหารประเทศ

พร้อมยืนยันว่า สามารถจ่ายเงินเดือนข้าราชการ และลูกจ้างได้ตามปกติ ไม่หยุดชะงัก เพราะตาม พ.ร.บ.งบประมาณสามารถจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างโดยใช้งบพลาง ด้วยการอิงกรอบงบประมาณปี 2562 ไปพลางๆ ก่อน ส่วนแนวทางจะขอขยายงบพลาง เดิมกำหนดไว้ 50% ของงบประมาณปี 2562 เป็น 75% เรื่องนี้ไม่เกิน 2 สัปดาห์น่าจะชัดเจน

Advertisement

⦁ม.หอค้าไทยหั่นจีดีพีต่ำกว่า2.8%
ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โชว์ผลศึกษาแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ว่าอาจโตต่ำกว่า 2.8% หากงบประมาณ 2563 ล่าช้า และกรณีเกิดปัญหาทางการเมือง อาทิ ยุบสภาผู้แทน จนส่งผลกระทบต่องบประมาณ 2563 นำมาใช้ไม่ได้ ส่วนการจัดทำงบประมาณปี 2564 ทำได้ต้องรอรัฐบาลใหม่ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยหนักและเหนื่อย อาจส่งผลให้ปีนี้โตต่ำกว่า 2.5% ได้

อีกทั้งประเมินว่าหากงบประมาณ ประกาศใช้เดือนกุมภาพันธ์ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวปลายไตรมาส 2 หรือเมษายน-มิถุนายน 2563 แต่เมื่องบประมาณล่าช้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องล่าช้าออกไปอีก 1 ไตรมาส และเห็นผลช่วงไตรมาส 3 ถือว่าช้ามาก โดยระบุภาคเอกชนฝากความหวังไว้ที่เทรดวอร์คลี่คลาย ท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ภัยแล้งไม่รุนแรง ราคาสินค้าเกษตรฟื้นตัว ก็จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดต่ำได้

⦁‘บิ๊กตู่’เซ็นตั้ง‘สมคิด’คุมการค้า-ลงทุน
ท่ามกลางปัจจัยร้อนรุมเร้า ที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ครั้งแรก ที่ จ.นราธิวาส 21 มกราคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน โดยมอบหมาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนการลงทุนและการค้า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ตำแหน่งนี้ไม่ต่างกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเลยทีเดียว!!

ทีมโฆษกรัฐบาลชี้แจงการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ว่า เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจยังเปราะบางจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ทำให้การขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศมีความสำคัญ ทั้งการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยต้องขับเคลื่อนต่อเนื่องตลอดปี 2563-2564 คณะกรรมการนี้จะกำหนดแนวทางหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ด้านการคลัง การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งมาตรการการร่วมทุน และมาตรการเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ส่วนรองประธานจาก 5

รัฐมนตรีกระทรวงด้านเศรษฐกิจ คือ คลัง พาณิชย์ พลังงาน ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอุตสาหกรรม
และกรรมการประกอบด้วย กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปลัดกระทรวงต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รองเลขาธิการ สศช. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

ภายหลังแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน เริ่มงานทันที โดยเรียกประชุมนัดแรก 23 มกราคม โดยประธานการประชุม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าได้เร่งรัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการในปี 2563

⦁หักค่าใช้จ่ายเครื่องจักรนำเข้าเพิ่ม
ประเด็นแรก กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการกระตุ้นการลงทุนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เป็นมาตรการทางภาษีที่จะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นกับภาคเอกชนที่มีการลงทุนในการนำเข้าเครื่องจักรการผลิตและสินค้าทุน โดยให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 2.5 เท่า จากสูงสุด 2 เท่า คาดว่าจะจูงใจให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนได้ 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังยกเว้นอากรขาเข้านำเข้าเครื่องจักร เป็นระยะเวลา 1 ปีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2563 กระทรวงการคลัง ระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะมีผลย้อนหลังสำหรับการลงทุนตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 คาดว่าจะสูญเสียรายได้จากภาษี 9,000 ล้านบาท แต่จะมีเม็ดเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท เทียบกับมาตรการหักค่าใช้จ่าย 2 เท่า มีเม็ดเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจากสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการนำไปซื้อเครื่องจักรวงเงินรวม 1.2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) 5 พันล้านบาท สินเชื่อจากธนาคารออมสิน 1.5 หมื่นล้านบาท สินเชื่อจากเอ็กซิมแบงก์สำหรับการลงทุนในอีอีซี 2 หมื่นล้านบาท สินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 2 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย 6 หมื่นล้านบาท

มาตรการนี้จะออกมาควบคู่กับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอเร็วๆ นี้ เน้นการลงทุนในประเทศ อาทิ การมีแพคเกจส่งเสริมบริษัทขนาดใหญ่ลงทุนในชนบท การให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมจัดทำเกณฑ์การอนุมัติการใช้เงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันวงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถอนุมัติให้กับบริษัทเป้าหมายที่เข้ามาลงทุนได้

⦁สั่งลุยเปิดเจรจา‘ซีพีทีพีพี’
อีกประเด็นที่รัฐบาลเดินหน้าเต็มที่ คือ การเจรจาการค้า จึงมีคำสั่งในที่ประชุมให้เร่งรัดการเจรจาการค้า 3 กรอบสำคัญในปีนี้ คือ กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดสรุปการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี และจะมีการตั้งกองทุนเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

รวมทั้งจะเร่งรัดการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และเอฟทีเอไทย-ฮ่องกง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยต้องเร่งรัดในการเจรจาเพื่อสร้างโอกาสในการค้าของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งความหวังให้เป็นเครื่องมือช่วยพยุงการส่งออกไทยไม่ให้ติดลบซ้ำซาก!!

⦁เร่งโครงการน้ำ-ไฟฟ้า-รถ
ประเด็นต่อมา คือ แผนเร่งรัดการลงทุน 7 แผนหลัก ประกอบด้วย การเร่งรัดการลงทุนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็กปี 2563 วงเงิน 10,000 ล้านบาท การเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยกระทรวงพลังงานประเมินว่าจะมีมูลค่าการลงทุน 70,000 ล้านบาท โดยปี 2563 รับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) วงเงิน 122,000 ล้านบาท การเร่งรัดโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) อู่ตะเภา วงเงิน 10,588 ล้านบาท โดยจะทำขอบเขตและรายละเอียดงาน (ทีโออาร์) ใหม่ภายใน 1-2 เดือน เพื่อให้ผู้ยื่นซองประมูลไม่จำกัดเฉพาะแอร์บัส-การบินไทย
รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเตรียมจัดงานซีอีโอ ฟอรั่ม เพื่อระดมความเห็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจหาแนวทางเร่งรัดลงทุนและจัดลำดับโครงการที่จะลงทุน โดยเฉพาะบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่มีงบลงทุนปี 2563 วงเงิน 69,310 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีงบลงทุนปี 2563 วงเงิน 39,000 ล้านบาท และปี 2564 มีงบลงทุน 40,000 ล้านบาท

⦁หวังเบิกจ่ายรสก.-เครือ1.1แสนล้านบาท
โดยเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 โดยเชิญผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ 19 แห่ง รวมถึงผู้บริหารบริษัทในเครือเพื่อรับนโยบาย ในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกำหนดเป้าหมายให้ไตรมาสแรกปี 2563 ต้องมีการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ถึง 110,000 ล้านบาท เป็นของรัฐวิสาหกิจ 45,000 ล้านบาท และบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจอีก 65,000 ล้านบาท พร้อมขอความร่วมมือรัฐวิสาหกิจเร่งลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย หวังผลักดันให้การลงทุนภาครัฐเป็นตัวนำเพื่อให้เอกชนลงทุนตาม

ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่า ปี 2563 รัฐวิสาหกิจ มีกรอบลงทุน 345,141 ล้านบาท โดยเป็นกรอบการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 199,978 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 145,163 ล้านบาท มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าบางปะกงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และโครงการแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฉบับที่ 12 ปี 2560-2564 ของการไฟฟ้านครหลวง

⦁ถกขับเคลื่อน5จีให้บริการเร็วสุด
นอกจากนี้ ยังเร่งรัดเมืองอัจฉริยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะทำทีโออาร์ภายใน 1-2 เดือน และเร่งรัดการประมูล 5จี กำหนดประมูล 16 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่องเร่งรัดการประมูล 5จี นั้นวันที่ 27 มกราคม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะนั่งเป็นประธานประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย 5จี ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย 5จี ของประเทศด้วยตนเอง เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางการขับเคลื่อนยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร อาทิ การลงทุน และการต่อยอดการใช้งาน

เรื่องนี้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุการประชุมครั้งนี้ เพราะรัฐบาลต้องการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน กำหนดแนวทางขับเคลื่อน เพื่อให้การประมูล 5จี มีส่วนในการผลักดันเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยคาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจปี 2563 จากการขับเคลื่อน 5จี มีมูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของจีดีพี 17,328,000 ล้านบาท กระจายในทุกระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและการเงิน ภาคโทรคมนาคม ภาคบริการสาธารณะ ภาคขนส่ง ภาคการศึกษา ภาคการแพทย์
หากทุกอย่างตามแผนปี 2564 คาดว่า 5จี จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 332,619 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 476,062 ล้านบาทในปี 2565

นอกจากนี้ เลขาธิการ กสทช.ยังเตรียมเสนอจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี ระดับชาติ ในทุกภาคส่วน มีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยเร็ว และยืนยันไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการประมูลคลื่นความถี่!!

⦁เอกชนหนุนกระตุ้นลงทุนเครื่องจักร
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นถึงคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน และข้อเสนอใช้มาตรการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ ให้ผู้ประกอบการหักค่าใช้จ่ายสำหรับรายการลงทุนเครื่องจักร 2.5 เท่า ยกเว้นอากรขาเข้านำเข้าเครื่องจักร 1 ปี และสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษซื้อเครื่องจักรวงเงินรวม 1.2 แสนล้านบาท นั้นว่า ทั้ง 3 มาตรการถือว่าสร้างแรงจูงใจให้กับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนซื้อเพื่อปรับปรุงและอัพเกรดเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต ให้มีความทันสมัยมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้นและช่วยลดต้นทุนการผลิตลดลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้
โดยสามารถใช้โอกาสนี้ในการลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร เพราะช่วยลดต้นทุนธุรกิจลงได้และยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ ซึ่งสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าระดับ 30.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แม้มีแรงกดดันภาคการส่งออก แต่เป็นประโยชน์ต่อการนำเข้าใช้เงินลดลง ทั้งผลจากค่าเงินและมาตรการที่รัฐช่วยเหลือจะทำให้การลงทุนของธุรกิจใช้เงินลดลง และยังสามารถหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้อีก คาดว่าจะทำให้เห็นการลงทุนคึกคักมากขึ้นในระยะต่อไป

⦁แนะเปิดตลาดใหม่ให้เอสเอ็มอี
“ขณะที่แนวทางด้านการลงทุนและการค้า อีกเรื่องต้องเร่งดำเนินการ เพราะการลงทุนภาครัฐจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชน หลายโครงการมีความสำคัญ ทั้งโครงการรถไฟฟ้า โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีต้องทำให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว และได้ผู้ลงทุนครบทั้ง 5 โครงการ รวมทั้งการลงทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างงาน โดยทราบว่าบีโอไออยู่ระหว่างจัดทำมาตรการกระตุ้นการลงทุนเอสเอ็มอีเพิ่มเติม ทำให้เอสเอ็มอีกำลังติดตามเรื่องนี้อยู่”

ขณะที่การค้านั้นอยากให้เร่งเจรจาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่จะเปิดตลาดใหม่ให้กับไทย อยากให้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนเอสเอ็มอีในการบุกตลาดใหม่ อาทิ อินเดีย เพราะยังมีโอกาสอย่างมาก ด้านการประมูล 5จี นั้นแน่นอน เอกชนอยากให้เกิด แต่เพราะการใช้งาน 5จี โดยหลักจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ในภาคของผู้ใช้บริการทั่วไปนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการดูแล กำหนดค่าใช้จ่ายค่าบริการแบบมีเพดาน เพื่อป้องกันผู้เข้าประมูลใช้โอกาสนี้กำหนดราคาค่าบริการสูงเกินจริง หลังจากต้องจ่ายเงินประมูลในราคาสูง

⦁เสนอรัฐกระตุ้นผ่านค่าไฟ-ค่าโอน
ประธาน ส.อ.ท.ยังเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก อาทิ ขอให้รัฐบาลมีมาตรการลดค่าใช้จ่าย ลดค่าไฟเฉพาะเอสเอ็มอีและบ้านครัวเรือน อัตรา 0.50-1.00 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 1 ปี เร่งรัดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดการจ่ายเงินประกันสังคมลง 50% เป็นเวลา 1 ปี

รวมทั้งลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท เหลือ 0.01% เป็นเวลา 1 ปี เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ คือ หัวใจสำคัญช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง ทั้งหมดจะส่งผลต่อเศรษฐกิจให้ขยายตัวขึ้นได้

ถ้าได้รวมพลังทั้งรัฐและเอกชน น่าติดตามว่าแผนกระตุ้นการค้าการลงทุนข้างต้น เมื่อทำได้จริงจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตท่ามกลางอุปสรรคร้อนได้สำเร็จหรือไม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image