เปิดวิกฤตท่องเที่ยวไทย “ฝุ่นพิษ-โคโรนา” เล่นงานหนัก เสี่ยง นทท.วืดเป้า-รายได้สูญ!!

โบกมือลาเดือนมกราคม 2563 ไปด้วยความทุลักทุเล เพราะเพียงแค่เข้าเดือนแรกของปีพุทธศักราชใหม่ ก็มีเหตุการณ์หนักหนาสาหัส ผ่านเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง จนสร้างความวิตกกังวลไปทั่วทุกมุมโลก อาจส่งผลต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจ จากที่ปีนี้หลายฝ่ายตั้งความหวังสูงมากว่าจะต้องดีกว่าปี 2562 อย่างแน่นอน แต่ประเมินจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนแรกของปีแล้ว คงมีอาการร้อนๆ หนาวๆ หลายคนคงภาวนาไม่ให้ปีหนูทองสุดสดใส กลายเป็นหนูไฟหม่นหมองแทน

เหตุการณ์ร้อนตั้งแต่ม.ค.63

เพราะสัปดาห์แรกของต้นปี เกิดข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและอิหร่าน มีการโจมตีกองทัพอิหร่านโดยสหรัฐ เกิดการสูญเสียขึ้น ต่อมาอิหร่านโต้กลับด้วยการยิงขีปนาวุธใส่เครื่องบินสัญชาติยูเครน จนทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งลำ เมื่อเหตุการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ก็สร้างความกังวลให้กับทั่วโลก ว่าการโจมตีระหว่างสหรัฐและอิหร่าน จะก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งใหม่ขึ้นหรือไม่ จนสุดท้ายประธานาธิบดีสหรัฐส่งสัญญาณออกมาว่า จะไม่มีการโจมตีอิหร่านเพิ่มเติม แต่หันมาใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระหว่างกันแทน ทำให้ความกังวลจะลดลง แต่ไม่ได้คลายตัวทั้งหมด เพราะข้อพิพาทระหว่างกันยังอยู่ และพร้อมที่จะกลับมาสร้างความหนักใจรอบใหม่ได้ในทุกวัน

ส่งไม้ต่อให้วิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย เผาผลาญทำลายบ้านเรือนนับพันหลัง มีผู้เสียชีวิต 25 ราย คร่าชีวิตสัตว์ป่าน้อยใหญ่กว่า 480 ล้านตัว บางชนิดสูญพันธุ์ พื้นที่ป่า 25 ล้านเอเคอร์เสียหาย ส่งผลให้โลกขยับเข้าใกล้การสูญพันธุ์อีกครั้ง โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ภูเขาไฟประเทศฟิลิปปินส์ปะทุ, แผ่นดินไหวในประเทศตุรกี มีผู้เสียชีวิต 22 ราย, น้ำท่วมในประเทศบราซิล เนื่องจากเกิดฝนถล่มหนักสุดในรอบกว่า 100 ปี มีผู้เสียชีวิต 45 ราย, ฝูงตั๊กแตนนับแสนล้านตัวถล่มกลุ่มประเทศแอฟริกา เหตุเพราะอากาศโลกแปรปรวน แพร่กระจายหลายประเทศ โดยแอฟริกายังเผชิญโรคร้าย เมื่อวันที่ 24 มกราคม มีการยืนยันแล้วว่า ประเทศไนจีเรียมีผู้ป่วยไข้ลาสซา 195 ราย เสียชีวิต 29 ราย มีสัตว์ฟันแทะเป็นพาหะนำโรค เกิดการระบาดในวงกว้างทั้งในไนจีเรียและประเทศใกล้เคียง

ฝุ่นจิ๋ว-ไวรัสจัดหนักไทย

ส่วนประเทศไทย เริ่มต้นด้วยปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปริมาณมากขึ้น จนอยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2562 หลายพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน คาดว่าปัญหานี้จะยาวนานจนถึงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563

ตามมาด้วยเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่แพร่ระบาดมากจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยพบผู้ติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวของคนจีน ล่าสุดการระบาดของเชื้อไวรัสทวีความรุนแรงขึ้น และยังไม่มีแนวโน้มควบคุมได้ วันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประกาศให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพทั่วโลก หลายประเทศประกาศปิดประเทศ ไม่อนุญาตให้คนจีนเดินทางเข้าประเทศตนเอง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส ซึ่งถือเป็นการป้องกันประชาชนในประเทศเหล่านั้นด้วย อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง รัสเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย ไต้หวัน สหรัฐ

คณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติของจีนได้ออกมาเผยยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อยู่ที่ 304 ราย เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้45 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ทั้งหมดอยู่ในมณฑลหูเป่ย์ ต้นต่อการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว ขณะที่ผู้ติดเชื้อไวรัสทั่วประเทศจีน ได้รับการยืนยันเพิ่มขึ้นอีก 2,590 คน ทำให้ยอดสะสมของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในจีนขณะนี้อยู่ที่ 14,380 คน โดยเฉพาะในมณฑลหูเป่ย์ จำนวนผู้เสียชีวิตนับจนสิ้นสุดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยู่ที่ 294 ราย ได้รับการยืนยันผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,921 คน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในมณฑลหูเป่ย์ทั้งหมดอยู่ที่ 9,074 คน

ฉุดท่องเที่ยวไทยลงแรง

ทำให้ภาคการท่องเที่ยว ความหวังการสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทย เป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากฝุ่นพิษที่เข้าขั้นวิกฤต นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพประชาชน ยังส่งผลทางอ้อมกับภาคการท่องเที่ยวด้วย เพราะเทรนด์การเดินทางในปัจจุบัน เน้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทำให้ประเทศไทยอาจถูกมองข้ามจากนักท่องเที่ยวได้ ขณะเดียวกันยังส่งผลกับการท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากหากค่าฝุ่นที่รุนแรง ทำให้ประชาชนตื่นตัวกับผลกระทบ ชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ หรือหากไม่จำเป็นจะไม่ออกเดินทาง

เมื่อเจอกับปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับภาคการท่องเที่ยวหนักขึ้น อาจทำให้เป้าหมายรายได้จากภาคการท่องเที่ยวในปี 2563 ไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ โดยวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของสาธารณรัฐประชาชนจีนออกประกาศด่วนตามคำสั่งของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพื่อหยุดการระบาดของโรคปอดอักเสบสายพันธุ์ใหม่ ระบุคำสั่งให้บริษัทนำเที่ยวทั่วประเทศจีน หยุดดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยว หยุดขายตั๋วเครื่องบินและโรงแรม ส่วนทัวร์ที่เดินทางออกไปแล้ว ขอให้ดำเนินการให้เรียบร้อย พร้อมระมัดระวังและคำนึงถึงสถานการณ์สุขภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละคน ซึ่งคำสั่งนี้มีขึ้นก่อนวันตรุษจีน (25 มกราคม) ถือเป็นการดำเนินมาตรการเฉพาะกิจขั้นเด็ดขาด เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจรุนแรงเท่าโรคซาร์สเมื่อปี 2546

เอกชนกลัวเสียหายหนัก

ปัญหาดังกล่าว วิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า แม้รัฐบาลจีนมีคำสั่งให้บริษัทนำเที่ยวหยุดจัดทัวร์นำนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกไปทั่วโลก แต่พวกที่เดินทางออกไปเยี่ยมญาติ เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที) หรือมาทำธุรกิจ รวมทั้งเดินทางด้วยตัวเองยังทำได้ แต่หากเป็นผู้ประกอบการทัวร์รัฐบาลจีนสั่งห้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งก็หวังว่าจะมีระยะเวลาแค่ 1-2 เดือนที่ทางการจีนจะสามารถควบคุมได้ ขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปในช่วง 2 เดือนนี้ประมาณ 1.2-1.3 ล้านคนทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปประมาณ 48,000-52,000 ล้านบาท

ในช่วงปกติจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยเฉลี่ยเดือนละ 900,000 คน แต่หากคำสั่งนี้มีระยะเวลา 2 เดือน ปกติจะมีชาวจีนมาไทย 1.8 ล้านคน ครึ่งหนึ่งคือ 900,000 คน มากับบริษัททัวร์ ก็เท่ากับว่าส่วนนี้จะไม่มีเลย ส่วนอีกครึ่งที่เดินทางมาเอง ไม่ว่าจะมาเยี่ยมญาติ มาเที่ยวกันเอง หรือเป็นนักศึกษา ก็คงหายไปส่วนหนึ่ง โดยรวมคาดว่าจะหายไป 70% ของ 1.8 ล้านคนในช่วง 2 เดือนนี้ หรือประมาณ 1.2-1.3ล้านคน ซึ่งปกติหากเข้ามาเที่ยวไทยจะสร้างรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยรายละ 40,000 บาทต่อคน สำหรับผู้ประกอบการบริษัทท่องเที่ยวของไทย ต้องปรับตัวเพิ่ม ด้วยการพุ่งเป้าหาตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาเซียน ซีแอลเอ็มวี ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม รวมไปถึง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะต้องเป็นหัวหอกในการนำทัพไปทำตลาดเหล่านี้อย่างหนักต่อไป

วอนรัฐช่วย-ฟื้นความเชื่อมั่น

ก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ แสดงความเห็นว่า มาตรการเยียวยาที่ต้องการให้ภาครัฐช่วย เป็นมาตรการด้านการเงินต่างๆ เบื้องต้นการที่ธนาคารพาณิชย์ออกมาให้การช่วยเหลือเอกชนภาคท่องเที่ยว ผ่านมาตรการผ่อนผันการชำระหนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก และเข้ามาอย่างทันท่วงที ซึ่งต้องมาประเมินอีกครั้งว่า การที่ธนาคารให้พักชำระเงินต้น และชำระดอกเบี้ยก่อนนั้น หากรายได้ไม่เพียงพอจริง จะต้องทำอย่างไรต่อไป เพราะภาคท่องเที่ยว ใช้แรงงานคนในการบริการจำนวนมาก การใช้เงินจึงต้องคำนึงถึงพนักงานก่อน หากไม่มีแม้แต่เงินเดือนให้ลูกน้อง แล้วเงินจ่ายดอกเบี้ยจะทำอย่างไร จะสามารถพักชำระได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยหรือไม่ โดยเข้าใจว่าธนาคารเพิ่งฉีดยาเข็มแรกให้ คงรอประเมินผลก่อน จึงจะอัดฉีดยาเข็มต่อๆ ไปเพิ่มเติม

“ภาครัฐต้องเข้ามาสำรวจว่า ผลกระทบของไวรัสทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่ ในภาคการท่องเที่ยวทุกด้าน ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เพราะหากเจอผลกระทบหนัก จนต้องปิดตัวไปก่อน ก็จะยากในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เบื้องต้นจะส่งผลกระทบหนักในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย เนื่องจากบรรยากาศการท่องเที่ยว แม้ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ภายใน 1-2 วันนี้แต่บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูให้กลับมาดีเหมือนเดิม อย่างน้อย 1-2 เดือน ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาดีกว่าเดิม” ก้องศักดิ์ระบุ

รัฐผุดมาตรการเยียวยา

จากเสียงสะท้อนดังกล่าว ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าหากคำสั่งยุติการทำทัวร์ออกต่างประเทศของทางการจีนใช้ระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่ช่วงตรุษจีนจนถึงเดือนเมษายนนี้ ททท.ประเมินเบื้องต้นว่า ตลาดจีนเที่ยวไทยจะหายไปกว่า 1.89 ล้านคน คิดเป็น 70% ของคาดการณ์เดิม 2.7 ล้านคน ในช่วง 3 เดือนดังกล่าว ทำให้ ททท.ต้องปรับเปลี่ยนแผนการทำตลาดหลายชั้นจากที่เคยวางไว้ เดิม ททท.ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 ไว้ที่ 40.78 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.5% จากปี 2562 ต้องสร้างรายได้ 2.03 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% แต่เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ต้องการให้จีดีพีของไทยปีนี้ขยายตัว 3-4% ททท.จึงต้องปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 41.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นอีก 1.02 ล้านคนจากเป้าหมายเดิม เพื่อสร้างรายได้ 2.22 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้ตั้งเป้าเป็นนักท่องเที่ยวจีน 12 ล้านคน รายได้นักท่องเที่ยวจีนมาไทย 5.8-6 แสนล้านบาท

ล่าสุด ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้เห็นชอบในมาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 แบ่งเป็น มาตรการระยะเร่งด่วน ได้แก่ 1.การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและยืดระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้หรือดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 2.การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน 3.การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงของอากาศยาน 4.การสนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการจัดประชุมสัมมนาต่างจังหวัดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และ 5.การหาตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น

สำหรับมาตรการระยะยาว เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ การปรับปรุงบริการ การอำนวยความสะดวกการเดินทางเข้าประเทศไทย, การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพ และการบริการด้านการท่องเที่ยว, การสนับสนุนเที่ยวบินเช่าเหมาลำสำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ใช้จ่ายสูง และขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืน นำร่องเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

รวมถึงรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ไขโรคอุบัติใหม่ขึ้น โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีหน้าที่พิจารณามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ทั้งการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมป้องกัน ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ของโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อม และการยกระดับการท่องเที่ยวของไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ยังหารือถึงแนวคิดการทำประกันให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้ความคุ้มครองกรณีการเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยที่ประชุมเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ได้เลวร้ายเทียบเท่ากับกรณีโรคซาร์ส ดังนั้นจึงยังไม่พิจารณา

เล็งออกมาตรการช่วยเพิ่ม

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ ให้ข้อมูลว่า กระทรวงการคลังจะช่วยดูผลกระทบของสายการบิน โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ขอให้ทำใจว่าปัญหาไวรัสจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวช่วง 3-6 เดือนแรกของปีแน่นอน โดยกระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ 3 เรื่อง คือ 1.วงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในช่วง 3-4 เดือน จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ 2.มาตรการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เดินทางไปจัดสัมมนาในต่างจังหวัด และนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนได้ 2 เท่า และ 3.มาตรการด้านภาษีน้ำมัน ช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน มั่นใจว่าจะไม่กระทบกับการจัดเก็บรายได้ที่ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี และ 4.ยืดเวลายื่นแบบภาษีเงินได้ออกไป เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในช่วงที่ได้รับผลกระทบท่องเที่ยว ทั้งหมดจะต้องมีการเสนอ ครม.และหารืออีกครั้ง

“หลังจากนี้ ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจน่าจะหารือถึงแนวทางดูแลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาอีก 2 ครั้ง อาจมีมาตรการคล้ายคลึงกับมาตรการไทยเที่ยวไทย มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว และการปลดล็อกแนวทางการช่วยเหลือต่างๆ ตามมาในระยะต่อไป แต่หากสถานการณ์ยังรุนแรง และลุกลาม นายกรัฐมนตรีจะตั้งคณะกรรมการดูแลด้านการท่องเที่ยว โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดทำหน้าที่เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นรองประธาน มีภาคเอกชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หารือเพื่อกำหนดแนวทางในการรับมือสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้น” เลขานุการ ครม.เศรษฐกิจระบุ

จากมาตรการที่ภาครัฐงัดออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการครั้งนี้ ดูเหมือนจะตรงจุดกับที่เอกชนต้องการไม่มากก็น้อย เพราะเน้นเยียวยาด้านการเงินก่อนเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าภาคการท่องเที่ยวตีคู่กับความเชื่อมั่น ประเด็นนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐและเอกชนต้องทุ่มเทนับจากนี้เพื่อชี้ชะตาว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะเดินหน้าโกยรายได้หรือนั่งตบยุงจากวิกฤตที่เกิดขึ้น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image