เดิมพันกนง.หั่นดอกเบี้ย ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ2020 จีดีพีโตแค่2%ก็ดีแล้ว?

หลังมีมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% และให้มีผลทันที หวังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดเศรษฐกิจไทย จากผลกระทบงบประมาณปี 2563 ล่าช้า และผลจากการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ทำให้ภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจนอาจต้องลดบทบาทพระเอกเศรษฐกิจในปี 2563

ทำให้ล่าสุดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1% ทำสถิติต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ใช้ดอกเบี้ยนโยบายเมื่อปี 2543 กนง.ให้เหตุผลการลดดอกเบี้ย เพื่อดูแลศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคม 2562 กนง.ประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้จะโต 2.8% ต่ำกว่าระดับศักยภาพควรจะโต 4-5% ค่อนมากขึ้น

ฉะนั้นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หนีไม่พ้นเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ภัยแล้งอากาศปรวนแปร การส่งออกสินค้า มีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น มติของคณะกรรมการ กนง.ทั้ง 7 คนจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันให้ลดดอกเบี้ยลง แม้จะเพิ่งลดดอกเบี้ยไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ก็ตาม

นโยบายการเงินประสานการคลัง

Advertisement

การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินกับการคลังไปด้วยกัน!!

ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบจากงบประมาณล่าช้า ด้วยการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้นำค่าใช้จ่ายในการลงทุนเครื่องจักรมาลดหย่อนภาษี 2.5 เท่า เป็นอัตรา

ที่ไม่เคยให้มาก่อน ซึ่งหวังไว้ว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเอกชนในปีนี้ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

Advertisement

นอกจากนี้ มีมาตรการภาษีช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยว ลดผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ด้วยการปรับลดภาษีน้ำมันเครื่องบินภายในประเทศ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศให้หักค่าใช้จ่าย 2 เท่า รวมถึงยังมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม หักค่าใช้จ่าย 1.5 เท่า

รวมถึงยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 1.23 แสนล้านบาท และขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม 9-12 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มาตรการออกมาคงยังไม่เพียงพอ เพราะมีการเรียกร้องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ต้องการวงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท มีทั้งสินเชื่อ ลดดอกเบี้ย ยืดหนี้เพิ่ม โดยจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างเอกชน กระทรวงการท่องเที่ยวและ

กีฬา เพื่อสรุปแนวทางเยียวยาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ มีอะไรเพิ่มจากที่เตรียมไว้หรือลดลง ลุ้นกันต่อไป

เศรษกิจไทยส่อแววต่ำกว่า2%

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้หลายสำนักด้านพยากรณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ เรียงแถวหั่นประมาณการตัวเลขจีดีพี บางสำนักชี้แนวโน้มต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าในปี 2562 คาดว่า

จะโต 2.5%

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์เคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะโตได้เพียง 1.7-2.1% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมคาดไว้ 2.7% เพราะมองผลเสียหายจากไวรัสโคโรนา กระทบต่อภาคการ

ท่องเที่ยวและส่งออกไทย สูญรวม 1.5 แสนล้านบาท จากความล่าช้าของงบประมาณ 2563 ทำให้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐหายไป 6.6 หมื่นล้าน ส่วนภัยแล้งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านบาท แม้จะมีมาตรการด้านเศรษฐกิจออกมาช่วย ก็ยังไม่สามารถชดเชยปัจจัยเสี่ยง 3 ตัวข้างต้นได้หมด คาดว่าจะชดเชยผลกระทบ 0.2%

ส่วนการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เห็นชอบหั่นเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจเหลือ 2.0-2.5% จากเดิม 2.5-3.0% แต่ยังคงกรอบอัตราการเติบโตส่งออกไว้ที่ ลบ 2.0 ถึง 0.0% และเงินเฟ้อคงเดิม 0.8-1.5%

ด้านสำนักเอกชนอื่นๆ มองเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 2.1-2.3% ถือว่าต่ำกว่าหน่วยงานภาครัฐ อย่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองโต 2.8% โดยที่ต้องติดตามคือการแถลงตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจไตรมาส 4/2562 ตัวเลขทั้งปี 2562 รวมถึงคาดว่าจะปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจปีนี้ใหม่

จากปลายปี 2562 คาดไว้ 2.6% สำหรับปี 2562 และขยายตัวช่วง 2.7-3.7% ในปี 2563 ซึ่งยังไม่รวมผลการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาและงบประมาณปี 2563 ล่าช้ากว่าเดิม

ตุนมาตรการกระตุ้นเพียบ

ผลจากปัจจัยลบที่กระหน่ำเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปี เมื่อครั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีสัมมนาครั้งล่าสุด กล่าวถึงเศรษฐกิจปี 2563 ตอนหนึ่งว่า “ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตในระดับ 2% ถือว่าขยายตัวเมื่อเทียบกับสิงคโปร์โตไม่ถึง 1% เยอรมัน 1% จะถึงหรือไม่ยังไม่รู้ และการที่เศรษฐกิจไทยยังสามารถโตกว่า 2% ถือว่าดีแล้ว และไม่ได้อยู่ในภาวะหดตัว ฉะนั้นคนไทยไม่ควรไปตื่นตระหนกกับไวรัสโคโรนา เพราะที่ผ่านมาไทยเจอมรสุมทางเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้งทั้งต้มยำกุ้ง โรคซาร์ส หวัดนกฆ่าสัตว์เป็นล้านตัว ยังผ่านมาได้ ช่วงปีที่ผ่านไทยเจอมรสุมการเมือง สงครามการค้า ค่าเงินบาท ที่ขณะนี้เริ่มดีขึ้น ตอนที่รัฐบาลนี้เข้ามาเศรษฐกิจโตไม่ถึง 1% แต่รัฐบาลเข้ามาทำจนโตถึง 4.8% ถ้าจะโตในระดับดังกล่าวอีกครั้งต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยใหม่ เพราะเศรษฐกิจไทยล้าสมัย ไม่สมดุล ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทั้งในเรื่องการพยุงเศรษฐกิจด้วยการออกมาตรการกระตุ้น และปฎิรูปโครางสร้างเศรษฐกิจ ผลักดันอีอีซี ให้เกิดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย”

ดังนั้นจึงได้เห็น รองฯ สมคิด สั่งให้กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการดูแลเศรษฐกิจ และให้นำออกมาเป็นระยะ ซึ่ง อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับลูกทันที พร้อมระบุว่า แม้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นมาหลายชุด เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจ

ทั้งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ดูแลผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้ง มาตรการดูแลผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายกลาง และเอสเอ็มอี มาตรการกระตุ้นการลงทุนเอกชน มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการดูแลสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมาตรการออกมามีทั้งกระตุ้น และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

“หลังจากนี้พร้อมออกมาตรการมาดูแลเพิ่มเติม ซึ่งมาตรการที่กระทรวงเตรียมไว้มีทั้งมาตรการภาษี มาตรการดูแลภาคการท่องเที่ยว ชิมช้อปใช้เฟส 4 มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยงบประมาณ 2563 ไม่โมฆะ คาดว่างบประกาศบังคับในเดือนมีนาคม จะทำให้รัฐบาลมีเม็ดเงินมาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม”

สอดคล้องกับความเห็นของ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าพร้อมใช้นโยบายการเงินทั้งดอกเบี้ยนโยบาย และเครื่องมืออื่นๆ เข้าไปดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ธปท.ถือเป็นธนาคารกลางแรกของโลกที่ลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน แม้ว่าสถานการณ์ยังไม่ถึงจุดพีค การลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด เพื่อต้องการดำเนินนโยบายแบบตั้งรับ (Take Action) โดยมองสถานการณ์ออกเป็นสมมุติฐานหลากหลายรูปแบบ เพราะหากไม่ตั้งรับให้ดี เมื่อเกิดสถานการณ์ที่แย่และกว้างมากขึ้นจะแก้ไขยากขึ้น

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโตตามศักยภาพ 3.5-4% เป็นเหตุผลที่ช่วงเวลาดังกล่าว ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยมากเกินไป

ดอกเบี้ยไทยถึงระดับติดลบ

การลดของ กนง. ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ ทยอยประกาศลดดอกเบี้ยตามมา เมื่อไปไล่ดูดอกเบี้ยเงินฝาก ล่าสุดพบว่า บางธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ในกลุ่มนิติบุคคล กลุ่มสถาบิน กองทุน เพียง 0.10% ต่อปี ทำให้เกิดความกังวลว่าหาก กนง.ลดดอกเบี้ยอีกครั้ง อาจมีปัญหาดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ หมายถึงธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมกับผู้มาฝากเงิน เหมือนในยุโรปบางประเทศที่คิด

ค่าธรรมเนียมกับผู้ฝากเงินรายใหญ่ หลังธนาคารกลางของประเทศดังกล่าว ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นฝันร้ายต่อประชาชนที่ออมเงินด้วยการฝากธนาคาร

ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะเกิดสถานการณ์ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ติดลบในไทย แต่จะเห็นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในระดับ 0.00% หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะเรื่องดอกเบี้ยเป็นกลไกที่ต้องพิจารณาในหลายองค์ประกอบ และในแต่ละธนาคารมีกลยุทธ์ในการบริหารแตกต่างกัน ต้องดูการแข่งขันในตลาด ที่ผ่านมาธนาคารต่างๆ พยายามดูแลไม่ลดดอกเบี้ยออมทรัพย์สำหรับประชาชน

ทั้งนี้ หลัง กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง ธนาคารพาณิชย์ พยายาม ดูแลประชาชนผู้ฝากเงิน และผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ทำให้ลดดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) และลดดอกเบี้ยเงินฝากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ นิติบุคคลลง โดยไม่ลดดอกเบี้ยในกลุ่มประชาชนทั่วไป

ในส่วนธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารแรกประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% แต่ในส่วนเงินฝากปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.10-0.12% และเงินฝากประจำลง

0.05-0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา

สร้าง’กระสุนด้าน’ไม่ช่วยศก.

มุมมองของการปรับลดดอกเบี้ย ด้าน ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า การตัดสินใจลดนโยบายดอกเบี้ยของ กนง. แสดงให้

เห็นว่าเศรษฐกิจไทยต้องได้รับการกระตุ้นโดยด่วน

“กนง.ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลังจากนี้ต้องติดตามดูว่าคนจะใช้เงินหรือไม่ ถ้าดอกเบี้ยลดลงแล้ว คนไม่ใช้เงินก็ถือว่ากระสุนด้าน เพราะคนไม่มั่นใจไม่กล้ารูดบัตรเครดิต ไม่กล้าใช้เงินก็จะกลายเป็นกระสุนด้านในเชิงการกระตุ้น แต่การลดดอกเบี้ยมีประโยชน์ในเชิงรักษาสภาพคล่องของภาคธุรกิจ เพราะลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น”

ด้านความหนักหนาของเศรษฐกิจ สะท้อนจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของเดือนมกราคม 2563 พบว่าต่ำสุดเกือบทุกตัว โดยความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เริ่มจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ต่ำสุดในรอบ 69 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ต่ำสุดในรอบ 220 เดือน หรือ 18 ปี 4 เดือน นับจากตุลาคม 2544 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ต่ำสุดในรอบ 67 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมต่ำสุดรอบ 69 นับจากเดือนจากพฤษภาคม 2557

ที่น่าวิตกคือดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 243 เดือน หรือ 20 ปี 3 เดือน นับจากเดือนพฤศจิกายน 2542 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต ต่ำสุดรอบ 68 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำในปัจจุบันต่ำสุดในรอบ 217 เดือน หรือ 18 ปี 1 เดือนนับจากเดือนมกราคม 2545

ดังนั้นเมื่อไม่มั่นใจภาพรวม ประชาชนก็ระมัดระวังใช้จ่ายในเรื่องใกล้ตัว ดูจากผลสำรวจภาวการณ์ใช้จ่ายของผู้บริโภค ทั้งการซื้อบ้าน ซื้อรถ ลงทุนเพิ่ม และไปท่องเที่ยว ลดลงทุกรายการ เช่นเดียวกับกับภาวการณ์ทางสังคมของผู้บริโภค อยู่ในภาวะต่ำมากๆ ทั้งสิ้น

ทั้งด้านความสุขในการดำเนินชีวิต ภาวะค่าครองชีพปัญหายาเสพติด และสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะดัชนีภาวะค่าครองชีพอยู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 164 เดือน หรือ 13 ปี 8 เดือนนับจากทำการสำรวจเมื่อพฤษภาคม 2549

ประชาชนเขียมฉุดยอดซื้อขาย

อีกเรื่องที่ชี้ว่าสภาพเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร ดูได้จากผลการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนในแต่ละเทศกาลตั้งแต่ปีใหม่ ตรุษจีน จนถึงมาฆบูชา อัตราใช้จ่ายทำสถิติต่ำลงทั้งสิ้น รวมถึงมองอนาคตใช้จ่ายวันวาเลนไทน์ ตรงกับ 14 กุมภาพันธ์นี้ ก็พบว่าแม้มีมูลค่า 3,246 ล้านบาท แต่ติดลบ 1.23% ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งแรกที่มีการติดลบต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน

นอกจากนี้ ผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในไทย พบว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (diffusion Index:DI) ที่มีการเปรียบเทียบสภาพธุรกิจทุกรอบ 6 เดือน พบว่า ค่าดีไอครึ่งปีหลัง 2562 ดีขึ้นจากครึ่งปีแรก 2562 แต่ยังมีค่าติดลบ 18 จากที่ค่าติดลบ 38 เพราะยังกังวลต่อปัจจัยลบในหลายเรื่อง ได้แก่ ต้องแข่งขันกันรุนแรงขึ้น ต้นทุนเพิ่มจากค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้น รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศไทยซบเซา ที่เป็นครั้งแรกที่

อันดับดีดขึ้นจากอยู่อันดับปลายๆ ที่ 10 ขึ้นพรวดมาอยู่อันดับ 3 เป็นครั้งแรก ซึ่งสะท้อนว่าเอกชนต่างชาติเริ่มกังวลมากขึ้นต่อความต้องการในประเทศไทยอยู่ระดับตกต่ำมาก พร้อมเสนอให้รัฐบาลไทยเร่งดูแล

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) ระบุว่า “เป็นห่วงกำลังซื้อในประเทศ เพราะไวรัสโคโรนาจะมีผลทันทีต่อภาคท่องเที่ยวของไทย และการส่งออก

ที่ยังไม่ฟื้นตัวนักจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน (เทรดวอร์) ซึ่งเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วย 2 เสาหลัก หากจำนวนนักท่องเที่ยวหายไปนานๆ ส่งออกไม่ดีขึ้น รายได้เข้าประเทศได้รับผลกระทบ กำลังซื้อภายในก็จะหายไป ย่อมกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

เอกชนหวังสถานการณ์จะดีขึ้น

จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย ระบุว่า การลดดอกเบี้ย กนง. และงบประมาณ 2563 ไม่โมฆะ สร้างผลดีด้านจิตวิทยาต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจผ่อนคลายมากขึ้น การลดดอกเบี้ย ช่วยสกัดเงินที่ไหลเข้า ทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่ามากเกินไป ล่าสุดเงินบาทอยู่ระดับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นระดับที่รับได้ แต่ถ้าได้เห็นเกือบ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐน่าจะดีกว่านี้

“มีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจนับจากนี้จะปรับตัวดีขึ้น เพราะเงินจากงบประมาณ 2563 จะมีส่วนอัดฉีดเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ถ้ารวมกับงบประมาณ 2564 จะเริ่มเบิกจ่ายในไตรมาสสุดท้ายของปีปฏิทิน คือเริ่มเบิกจ่ายในเดือนตุลาคมได้จริง เป็นเดือนเริ่มต้นของปีงบประมาณใหม่ จะทำให้มีเงินก้อนใหญ่เบิกจ่ายในปลายปี อย่างไรก็ตาม มีเรื่องต้องติดตามคือผลจากไวรัสโคโรนาจบเร็วแค่ไหน ปัญหาภัยแล้งในปีนี้จะกระทบต่อสินค้าเกษตรมากน้อยแค่ไหน”

จิตร์ระบุอีกว่า ในไตรมาสแรกปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจคงไม่ดีกว่าไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระทบทั้งจากงบประมาณ และไวรัสโคโรนา สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาทแม้รัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นลงทุนเอกชน แต่คงไม่สามารถชดเชยความเสียหายเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

สอดคล้องกับ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่าการลดดอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นมากสุดในขณะนี้ จะมีผลเชิงบวก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยมีผลดีต่อค่าเงินบาท เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงค่อนข้างมาก บางประเทศติดลบ ถ้าไทยไม่ลดลดดอกเบี้ยเลย ก็เท่ากับว่าพยายามยืนแข็งไว้อยู่ประเทศเดียว จะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในไทยเพิ่มขึ้น แต่เมื่อลดดอกเบี้ยช่วยผ่อนคลายปัญหาค่าเงินได้มาก

จากมุมบวกและมุมลบต่อการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด ที่เป็นไปคาดหรือผิดคาดกันบ้าง จากนี้ต้องติดตามตัวเลขจีดีพีทั้งปีนี้สุดท้ายแล้วจะปิดเท่าไหร่ ซ้ำรอยปี 2562 อีกครั้งไหม ที่ต้นปีประเมินไว้กว่า 4% แต่สุดท้ายเหลือ 2.5%

คงต้องช่วยกันภาวนาให้ประเทศไทยสามารถฝ่ามรสุมต่างๆ ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเข้าวินขยายตัวได้กว่า 2% ตามเป้าหมายที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” กำหนดไว้ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image