งบ ’63 ล่าช้า-เบิกจ่ายสะดุด วิบากกรรมเศรษฐกิจไทย Q1ส่อแววหลุด 1% แย่สุดรอบ5ปี

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกรอบเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 และผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ทำให้เกิดความชัดเจนว่าอีกไม่นานงบประมาณภาครัฐจะสามารถนำมาใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่โมฆะ และให้

สภาโหวตวาระ 2 และ 3 ใหม่ ทำให้สภาใช้ความระมัดระวังในการพิจารณามากเป็นพิเศษเพื่อกันข้อผิดพลาดทางกฎหมาย ไม่ให้เกิดขึ้นเหมือนกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันเมื่อคราวประชุมเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ครั้งล่าสุดสภาโหวตงบซ้ำ 2 รอบ หลังจากพบว่าสมาชิกสภาไม่ครบองค์ประชุมในการลงมติ มาตรา 6

ลุ้นมี.ค.สตาร์ตงบ63

Advertisement

จากนี้เหลือกระบวนการอีกไม่กี่ขั้นตอน ประเมินกันว่าอย่างเร็วสุดในเดือนมีนาคม หรืออย่างช้าสุดเดือนเมษายน งบประมาณ 2563 ประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีข้อกำหนดให้ใช้จ่ายถึงวันที่ 30 กันยายนของทุกปี และเริ่มปีงบประมาณใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม ดังนั้นจะเหลือเวลาใช้จ่ายงบอีก 6-7 เดือนเท่านั้น งบที่ไม่ถูกใช้จ่าย และไม่มีการผูกพันในสัญญาต้องถูกพับ(ยกเลิก)ไป

แม้ว่าสำนักงบประมาณ แก้ปัญหางบ 2563 ยังเบิกจ่ายไม่ได้ในวันที่ 1 ตุลาคม ด้วยการเสนอ ครม.ใช้งบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน โดยในช่วงแรกเสนอให้ใช้ได้กึ่งหนึ่งหรือ 50% และขยายเพิ่มเป็น 75% หลังเกิดปัญหาเสียบบัตรแทนกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไม่มีเงินงบประมาณใช้จ่ายหรือชัตดาวน์งบแบบในอเมริกา โดยงบพลางสามารถเบิกจ่ายสำหรับงบประจำ อาทิ เงินเดือนข้าราชการ และโครงการลงทุนเก่าที่มีการลงนามสัญญาผูกพันงบไว้แล้ว แต่การเบิกจ่ายภาพรวมยังน้อยมาก

Advertisement

พบว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม-มกราคม) มีการเบิกจ่ายงบไปเพียง 9.21 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายในส่วนงบประจำคือ เงินเดือนข้าราชการ กว่า 8.87 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายในส่วนงบลงทุน ไปเพียง 3.4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 5% ของวงเงินงบลงทุนในปี 2563 กว่า 6.55 แสนล้านบาท

ดังนั้น วงเงินงบประมาณเหลืออยู่กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ต้องเบิกจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท สูงกว่าการเบิกจ่ายเฉลี่ยในช่วงปกติเท่าตัว เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบในระดับ 100% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลอยากเห็น

งบชะงักรอรัฐบาลใหม่

กระบวนการในการจัดทำงบประมาณเริ่มล่วงหน้าก่อน 1 ปี โดยการทำงบประมาณ 2563 เริ่มจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการกำหนดแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561

หลังจากนั้นดำเนินการตามปฏิทิน อาทิ กันยายนถึงกลางเดือนธันวาคม 2561 ให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เสนอคำของบประมาณเบื้องต้น

ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณาและจัดทำข้อเสนอเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบ 2563 ให้สอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อนำเสนอต่อ ครม.วันที่ 4 ธันวาคม 2561

หลังจากนั้น 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สศช. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประชุมเพื่อกำหนดกรอบรายรับ รายจ่าย ในช่วงเดือนธันวาคม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาŽ นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม จากนั้นนำเสนอกรอบงบประมาณต่อ ครม.เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562

จากนั้นให้หน่วยงานราชการเสนอกรอบงบประมาณ เพื่อให้สำนักงบประมาณจัดทำรายละเอียดงบนำเสนอ ครม.เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ซึ่งกระบวนการงบประมาณหยุดชะงักในวันที่ 30 เมษายน เพราะ ครม.รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยากให้รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 มาทำหน้าที่นี้แทน

เดิมคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลไม่ล่าช้า งบประมาณน่าจะบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งช้ากว่ากำหนดเดิมต้องบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไปเพียง 3 เดือนเท่านั้น

แต่ผลจากการเลือกตั้งเสียงพรรคพลังประชารัฐไม่ชนะขาด ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีปัญหาไม่ลงตัว เพราะต้องดึงพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมเป็นรัฐบาล

ถึง 19 พรรค ส่งผลให้กว่าจะมีรัฐบาลใหม่รอถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2562 ส่งให้การจัดทำงบประมาณ 2563 ต้องล่าช้าออกไปอีก 1-2 เดือน จากที่ประเมินว่าจะเริ่มบังคับใช้ 1 มกราคม 2563

ตามปฏิทินปกติหากไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ สำนักงบประมาณต้องกลับมารับฟังความคิดเห็น และนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบ 2563 ต่อ ครม.ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เพื่อนำเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา กำหนดเดิมจะต้องเสนอสภา วันที่ 13 มิถุนายน 2562 และ

คาดว่าจะผ่านวาระ 2-3 วันที่ 29 สิงหาคม 2562 หลังจากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่าง พ.ร.บ.งบ63 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย วันที่ 5 กันยายน 2562 เพื่อประกาศบังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2562

ป่วนส.ส.เสียบบัตรแทน

กระบวนการงบประมาณหลังมีรัฐบาลใหม่เดินตามปฏิทินที่สำนักงบประมาณเสนอไว้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 จนกระทั่งเข้าสู่วาระพิจารณาของสภาวาระ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 8-11 มกราคม 2563 ซึ่งสภาโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563

แต่การโหวตดังกล่าวเกิดปัญหา ส.ส.ของพรรครัฐบาลคือพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน จึงมีข้อกังวลว่างบประมาณ63 จะโมฆะหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีเสียบบัตรแทนกันในการพิจารณางบประมาณ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะมาแล้ว

ในช่วงนั้นฝั่งรัฐบาลวิ่งวุ่นหาทางออกเตรียมพร้อมไว้ หวั่นเกรงว่างบประมาณอาจต้องล่าช้าไปอีกหลายเดือน

จนเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่าขั้นตอนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าไม่โมฆะ และให้โหวตใหม่วาระ 2-3

หลังจากนั้นสภาประชุมเพื่อโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 อีกครั้งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ และส่งต่อวุฒิสภา ซึ่งก็นัดประชุมเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ต่อทันทีวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และลงมติเห็นชอบร่างแบบเร่งด่วนใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 ชั่วโมง 10 นาทีเท่านั้น

วิษณุ เครืองามŽ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังวุฒิสภาโหวตงบ 2563 ผ่านว่า เป็นความโล่งอกและยินดีของทุกคนทุกฝ่ายไม่ใช่แต่เพียงรัฐบาล รวมถึงประชาชนผู้ประกอบการ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่เกรงว่าจะไม่ได้รับเงิน หลังกฎหมายผ่านสภาแล้ว ตามขั้นตอนของกฎหมายเมื่อวุติสภาพิจารณาแล้วต้องทิ้งไว้ 3 วัน ก่อนเสนอมาที่รัฐบาลและรัฐบาลมีเวลาอีก 5 วัน เพื่อตรวจสอบ จากนั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

เมื่อโปรดเกล้าฯแล้วก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่างบจะเริ่มใช้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้

เปิดรายละเอียดใช้จ่าย

เดิมรัฐบาล คสช.กำหนดวงเงินงบประมาณ 2563 ไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท โดยมีการประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีและรายได้ของรัฐบาลไว้ที่ 2.75 ล้านล้านบาท

เมื่อมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาŽ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นัดหารือเรื่องงบประมาณ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 สรุปกรอบรายจ่ายเท่าเดิม 3.2 ล้านล้านบาท แต่ขาดดุลเพิ่มเป็น 4.69 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้รัฐหายไป 1.9 หมื่นล้านบาท จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะประมูล แล้วเปิดประมูลไม่ได้ ส่งผลให้รายได้รัฐคาดว่าเก็บได้เหลือเพียง 2.73 ล้านล้านบาท

งบประมาณ 2563 กำหนดไว้ 3.2 ล้านล้าน แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.39 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 74.8% ของวงเงินงบประมาณ ส่วนรายจ่ายลงทุน 6.55 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.5% ของวงเงินงบประมาณ เงินชดใช้เงินคงคลัง 6.27 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1.9% ของวงเงินงบประมาณ วงเงินชำระคืนต้นเงินกู้ 8.91 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 2.8% ของวงเงินงบประมาณ

รายละเอียดการใช้จ่าย อาทิ งบกลาง 5.18 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 16.2% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งงบกลางนำมาใช้ อาทิ จ่ายเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินช่วยเหลือข้าราชการ เงินค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ โดยในงบกลางมีวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.2% ของวงเงินงบประมาณ สำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น

นอกจากนี้ยังมีงบประมาณรายจ่ายส่วนราชการ 1.13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 35.4% ของวงเงินงบประมาณ งบรายจ่ายบูรณาการ 2.35 แสนล้านบาท

หรือ 7.3% ของวงเงินงบประมาณ นำไปใช้ในเรื่องสำคัญ อาทิ แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดน ภาคใต้

ยาเสพติด สร้างรายได้ท่องเที่ยว พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 7.77 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 24.3% ของวงเงินงบประมาณ ไม่รวมค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กำหนดไว้ในงบกลาง 4.15 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 2.02 แสนล้านบาท งบชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 1.82 แสนล้านบาท

งบล่าช้าฉุดศก.ซึม

ในสมมุติฐานของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ในเอกสารงบประมาณ คาดว่าจะขยายตัว 3-4% ช่วงจัดทำงบประมาณ 2563 อยู่ในช่วงปลายปี 2561 เศรษฐกิจไทยช่วงนั้นมีแนวโน้มดีมาก เพราะเติบโตดีมาตลอด ตัวเลขจริงในปี 2562-2563 อาจโตไม่ถึง 3% ต่ำสุด

ในรอบ 5-6 ปี นับจากปี 2557 ที่มีปัญหาการเมือง

โดยเศรฐกิจย้อนหลังในปี 2561 โต 4.1%, ในปี 2560 โต 4.0%, ปี 2559 โต 3.4%

ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ออกบทวิเคราะห์ งบบรัฐสะดุด ฉุดเศรษฐกิจไทย‚ส่องปัญหางบประมาณ หลังศาลตัดสินว่า ความล่าช้าของงบประมาณ ส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐใน 4 เดือนแรกหดตัว 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนหดตัว 68% ต่ำสุดในรอบ 12 ปี คาดว่าการบิกจ่ายงบประมาณจะเข้าสู่ภาวะปกติในอีก 1-2 เดือน แต่จะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลหวังไว้

การเบิกจ่ายงบลงทุน 4 เดือนแรกของปีงบทำได้เพียง 3.4 หมื่นล้านบาทต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 คิดเป็นการหดตัวลงกว่า 70% จากระดับเฉลี่ย 1.1 แสนล้านบาทในรอบ 3 ปี การหดตัวการลงทุนภาครัฐในอัตราสูง สะท้อนถึงความไม่พร้อมของหน่วยงานราชการในการเบิกจ่ายโครงการลงทุนต่อเนื่องภายใต้กรอบงบประมาณเดิม

หากมองลึกลงไปถึงการเบิกจ่ายงบที่จัดสรรให้จังหวัดเพื่อการลงทุน พบว่าหดตัวถึง 80% ลดลงมากกว่าการใช้จ่ายของหน่วยราชการส่วนกลาง สะท้อนให้เห็นว่าความล่าช้าของงบประมาณส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจในต่างจังหวัด อันเป็นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้รับผลกระทบหนักกว่าในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่

ไตรมาสแรกอาจไม่ถึง 1%

จากปัญหางบประมาณ และผลกระทบของไวรัสโควิด-19 มีผลต่อการท่องเที่ยวไทย ทำให้หลายสำนักคาดการณ์มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจโตแค่ในระดับ 2% และมีบางสำนักเริ่มมองต่ำกว่า 2% บ้างแล้ว

ดอน นาครทรรพŽ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า หากปัญหาไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 เท่ากับที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไป 5 ล้านคน และรายได้หายไป 2.5 แสนล้านบาท จะกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเป็นอย่างมาก

ไทยมีขนาดจีดีพี 16 ล้านล้านบาท ดังนั้น เมื่อรายได้หายไป 2.5 แสนล้านบาทจะทำให้จีดีพีหายไป 1.5% ถ้านำลบกับจีดีพีที่ ธปท.ประเมินไว้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่าจะโต 2.8% ทำให้จีดีพีปีนี้โตเพียง 1.3% และมีแนวโน้มไตรมาสแรกปีนี้จะโตไม่ถึง 1% ซึ่ง ธปท.จะประเมินตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ในเดือนมีนาคมนี้

ความหวั่นกังวลต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์Ž รองนายกรัฐมนตรี ต้องนัดประชุมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงการคลัง เอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการมาช่วยเหลือเศรษฐกิจเป็นการด่วน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้ทำให้ตัวเลขไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขยายตัวไม่ถึง 2% และในไตรมาสที่ 1 ปีนี้อาจขยายตัวไม่ถึง 1% ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยรายไตรมาสจะขยายตัวมากกว่า 1% มาตลอด โดยช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ถึง 1% เกิดขึ้นในปี 2557 ช่วงเหตุประท้วงทางการเมืองจนเกิดรัฐประหาร คสช.เข้ามาบริหารประเทศ เศรษฐกิจปีนั้นขยายตัวได้ 0.7% เศรษฐกิจรายไตรมาสต่ำสุดคือไตรมาส 1 โตเพียง 0.5%

มีความหวังว่างบประมาณปี 2563 กำลังออกมาเป็นหนึ่งพลังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในปี 2563 ไม่ให้ทรุดต่ำดิ่งลงเหว เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ดึงงบกลาง-กู้เพิ่มอุ้มศก.

แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมามากมาย แต่ยังไม่เพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว อุตตม สาวนายนŽ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ถ้างบประมาณ 2563 ประกาศใช้ทำให้มีเงินงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจอีกมาก เฉพาะแค่งบประจำและงบลงทุน จะเร่งอัดฉีดช่วง 3 เดือนแรกของการใช้งบ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท

ส่วนงบกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีเม็ดเงินจากงบกลางสำหรับรายจ่ายฉุกเฉินและจำเป็นได้มาใช้เพิ่มเติม

ลวรณ แสงสนิทŽ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า กระทรวงการคลังกำลังเตรียมมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหางบล่าช้า ไวรัสโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง หากมีความจำเป็นสามารถใช้เงินจากงบกลาง 1 แสนล้านบาทเพิ่มเติมได้

โดยโครงการสามารถใช้งบกลางได้ เช่น มาตรการเยียวยาและช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ชิมช้อปใช้ 4 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

หากรัฐบาลต้องการจะเพิ่มการลงทุนในระบบเศรษฐกิจสามารถนำโครงการที่ถูกตีตกไปในงบประมาณ 2563 และมีความน่าสนใจ หรือโครงการลงทุนในปี 2564 ที่มีความพร้อมมาลงทุนในปี 2563 ด้วยการให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กู้เพิ่มเติมเพื่อใช้ในโครงการลงทุนใหม่ๆ ของรัฐบาล ควบคู่กับการเบิกจ่ายเงินลงทุนของรัฐบาลกว่า 6.55 แสนล้านบาทได้

ด้าน แพตริเซีย มงคลวนิชŽ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.เตรียมพร้อมกู้เงินเพื่อมาลงทุนเพิ่มเติมจากงบประมาณ 2536 ไว้แล้ว สามารถกู้ถึง 10% ของงบประมาณรายจ่าย ถ้าอิงงบประมาณ 2563 สามารถกู้ได้สูงถึง 3.2 แสนล้านบาท แต่คิดว่าคงไม่มีโครงการที่จะมาใช้เงินถึงระดับดังกล่าว เพราะการกู้เงินกำหนดเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการทันที ขณะนี้ สบน.กำลังพิจารณาว่ามีโครงการใดบ้าง หลังจากนั้นเสนอให้รัฐบาลพิจารณา

เพิ่งเริ่มต้นของปีไปเพียงแค่เดือนเศษ ปัญหาเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามาทำเอารัฐบาลตั้งรับแทบไม่ทัน ปัญหางบประมาณที่เกิดขึ้นมาจากการเมืองและจากคนของรัฐบาลที่เป็นต้นตอของปัญหา ดังนั้นเวลาที่เหลือจนกว่าจะหมดปีอีก 10-11 เดือน คงมีเวลาให้รัฐบาลเตรียมตัวตั้งรับให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นคงเป็นอย่างที่

ประเมินว่าเศรษกิจไทยปีนี้เลวร้ายสุดในรอบ 5-6 ปี

เป็นความเลวร้าย ในเงื้อมมือของการเมือง และคนของพรรคร่วมรัฐบาลทำให้เกิดขึ้นมา…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image