‘ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร’ ‘เอ็มดี’ คนใหม่ ไปรษณีย์ไทย

นับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ‘ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร’ ได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ในวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ในไปรษณีย์ไทยนี้ ถือเป็นบุคคลภายนอกที่เข้ารับตำแหน่งเช่นเดียวกับตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

รวมระยะเวลา 7 ปี ในตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม ของ ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร ในฐานะผู้ร่วมผลักดันกับ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ในการบุกเบิก และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม มีผลงานโดดเด่น อาทิ หัวหน้าคณะทำงานประมูลเบอร์มือถือสวย หัวหน้าคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 5จี และการจัดสรรคลื่นย่าน 700, 900, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ทำรายได้เข้ารัฐมากกว่า 5 แสนล้านบาท

และหัวหน้าโครงการลงทะเบียนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (2 แชะอัตลักษณ์) รวมถึงการกดดอกจันเพื่อเช็กสิทธิ หรือยกเลิกบริการต่างๆ การออกระเบียบอนุญาตอุปกรณ์อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) และพัฒนาอุปกรณ์ตรวจสอบสายสื่อสาร ในรูปแบบตัวครอบที่มีอุปกรณ์ RFID เพื่อป้องกันกรณีมีการละเมิดนำสายสื่อสารมาพาดเพิ่มโดยไม่ได้ขออนุญาต

‘ก่อกิจ’ ระบุว่า นอกจากการทำความเข้าใจกับพนักงาน ฝ่ายบริหาร โครงสร้างองค์กร และแผนการบริหารงาน รวมถึงกลยุทธ์ต่างๆ ในการทำงานที่ต้องเร่งดำเนินการแล้ว การรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากไปรษณีย์ไทยมีที่ทำการ รวมกว่า 1,500 แห่ง เช่น ศูนย์ไปรษณีย์, ศูนย์รับฝากไปรษณีย์, ที่ทำการรับ-จ่าย, ที่ทำการรับฝาก, ที่ทำการไปรษณีย์สาขา และที่ทำการไปรษณีย์รถยนต์ เป็นต้น มีฝ่ายกองแพทย์กับสุขภาวะประจำสาขาอยู่แล้ว

Advertisement

แต่ปัญหา คือ เจลล้างมือแอลกอฮอล์ขาดตลาด ทำให้ต้องปรับแผนในการทำความสะอาด ต้องเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง ทั้งจุดที่ให้บริการลูกค้า อาทิ ประตู เครื่องกดบัตรคิว เก้าอี้ เคาน์เตอร์ให้บริการ และพื้นที่ในส่วนของการจัดการไปรษณียภัณฑ์ และไม่ควรปิดบังหากมีบุคลากรผู้ปฏิบัติงานติดเชื้อต้องปิดให้บริการในที่ทำการนั้น เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ

ส่วนที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตที่เป็นของเอกชน มีการหารือถึงข้อสัญญาว่า จะสามารถขอความร่วมมือในการปิดที่ทำการชั่วคราวได้หรือไม่

ขณะที่ บุรุษไปรษณีย์ ผู้ทำหน้าที่ส่งจดหมายและพัสดุ ต้องสัมผัสกับผู้รับโดยตรง ต้องมีมาตรการในการดูแลและป้องกัน แม้ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่เข้าสู่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 คือมีผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มที่เพิ่มจำนวนขึ้นนี้ ไม่ได้มีประวัติเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง และไม่สามารถสืบค้นได้ว่า ผู้ป่วยติดเชื้อมาจากใคร แต่หน้าที่ของไปรษณีย์ไทย คือต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ในการเข้ามาใช้บริการภายในที่ทำการไปรษณีย์ด้วยความปลอดภัย ต้องสร้างความตระหนัก ไม่ใช่ตระหนก
ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจจะเดินหน้าไม่ได้

‘ผมทำงานกับ กสทช. ผมทำนำหน้าตลอด เพราะหน้าที่การกำกับดูแล ต้องนำหน้าและทำงานรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำงานกับเลขาธิการ กสทช. ที่ทำงานแบบไม่มีเบรก ทำให้เราต้องวิ่ง เมื่อวิ่งขาก็ต้องแข็งแรง ข้อดีตรงนี้จะสามารถนำมาปรับใช้กับไปรษณีย์ไทยได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น เราต้องรับมือรวดเร็ว รวมถึงการจัดการกับข่าวลือ ข่าวปลอม ที่ต้องเร่งหาความจริงและชี้แจงให้เร็วที่สุด’ ก่อกิจระบุ

ส่วนแผนในการทำงานนั้น ตั้งเป้าภายใน 1 เดือนครึ่งนี้ จะเสนอแผนงานเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยเน้นการทำงานให้ตรงกับพันธกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นั่นคือ การขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดิจิทัลอีโคโนมี แอนด์ โซไซตี้ ใช้ดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และบริการทางสังคม เข้าใจดีว่า ธุรกิจต้องมีการแข่งขัน และมีแผนธุรกิจเพื่อให้รายได้และกำไรไม่ลดลงไปมากกว่านี้ มีการใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลเป็นแต้มต่อในการทำงาน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการให้บริการภาคสังคมเพื่อประชาชนในบางบริการที่เอกชนก็ไม่สามารถทำได้ ก็เป็นหน้าที่ของไปรษณีย์ด้วย

ดังนั้น ไปรษณีย์ ต้องเป็นฟันเฟืองสำคัญในการให้บริการประชาชน เช่น การส่งยาโรคความดัน เบาหวาน จากโรงพยาบาล ไปยังร้านขายยา ตามนโยบายของรัฐบาลที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยสามารถไปรับยาตามร้านขายยาได้ เป็นการลดภาระการเข้ามารับยาที่โรงพยาบาล เป็นต้น ต้องมาวางแผนว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้บริการกับประชาชนได้มากที่สุด

“ไปรษณีย์ เป็นองค์กรที่ท้าทาย เพราะมีมิติของการให้บริการภาคสังคม บางบริการต้นทุนไม่ได้ ส่งไกล แต่คิดแพงไม่ได้ เอกชนไม่ทำ แต่ไปรษณีย์ต้องทำ เพราะเป็นบริการสังคม ขณะที่ด้านการแข่งขันมิติของการส่งพัสดุ ต้องแข่งกับเอกชนก็ต้องวางแผนด้วย แต่จากประสบการณ์ที่ทำงาน กสทช. มีการทำงานที่นำหน้าเอกชนมาโดยตลอด เชื่อว่าจะสามารถนำประสบการณ์มาปรับใช้ในการบริหารจัดการไปรษณีย์ได้ โดยประสบการณ์จาก กสทช.จะช่วยเติมเต็มไปรษณีย์ได้

ส่วนเรื่องการทำงานใน กสทช.นั้น ถึงเวลาต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นต่อไปเข้ามาทำงาน” ก่อกิจเผย

ทั้งนี้ ‘ก่อกิจ’ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท Master of Business Administration University of New Haven ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ทำงานกว่า 30 ปี มีความรู้ความชำนาญในหลากหลายด้าน เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image