รัฐอัดยาแรงสู้ ‘โควิด-19’ แจกเงิน-แพคเกจชุดใหญ่ รับมือภาวะ ศก.ถดถอย

การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการชุดใหญ่เพื่อบรรเทาและเยียวยา ประชาชนและผู้ประกอบการจากผลกระทบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และเตรียมนำเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 10 มีนาคมนี้

ครม.เศษฐกิจที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะใช้เวลาถกมาตรการเกือบ 3 ชั่วโมง ไฮไลต์สำคัญคือ การแจกเงินให้ประชาชนคนละ 2 พันบาท เป็นเวลา 2 เดือน ทยอยจ่ายเดือนละ 1 พันบาท เริ่มในเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีกลุ่มจะได้รับเงิน ประกอบด้วยผู้มีรายได้น้อย อาชีพอิสระ และเกษตรกร คาดว่าจะมีจำนวนถึง 20 ล้านคน วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท

ขณะนี้ผู้ที่จะได้รับเงินแน่ๆ อยู่ที่ 10 ล้านคน แบ่งเป็นอาชีพอิสระกว่า 5 ล้านคน เกษตรกรกว่า 4 ล้านคน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลจากการลงทะเบียนคนจน ส่วนที่เหลือจะเป็นแรงงานนอกระบบมีจำนวนสูงถึง 17 ล้านคน เกษตรกรตามฐานข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์มีบัญชี 8 ล้านบัญชี เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนนำฐานข้อมูลต่างๆ มาคัดกรองผู้รับเงินเหลือแค่ 1 สิทธิ

อัดชุดใหญ่14มาตรการ

Advertisement

มาตรการแจกเงินเป็น 1 ใน 14 มาตรการ บรรเทาและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 โดยแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มประชาชน ซึ่งในกลุ่มประชาชนการแจกเงินเป็นมาตรการสำคัญ

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบกอบการมีความช่วยเหลือทางการเงิน 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) 1.5 แสนล้านบาท รัฐจะขอยืมเงินจากธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในอัตรา 0.01% ต่อปี เพื่อให้ธนาคารต่างๆ นำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในอัตรา 2% ต่อปีเป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องชดเชยภาระดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน 2.พักชำระเงินต้น ผ่อนภาระดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ของแบงก์รัฐ 3.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ 4.มาตรการสินเชื่อจากกองทุนประกันสังคมวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมนำเงินไปเสริมสภาพคล่องรักษาการจ้างงาน คิดดอกเบี้ยเพียง 3% ต่อปีเป็นระยะเวลา 3 ปี

นอกจากนี้ความช่วยเหลือด้านภาษี 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการคืนสภาพคล่อง ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย 2.มาตรการภาษีลดภาระดอกเบี้ย ด้วยการให้เอสเอ็มอีนำรายจ่ายดอกเบี้ยจากการกู้ซอฟท์โลนมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ 3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้เอสเอ็มอีนำรายจ่ายค่าจ้างพนักงานมาหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า เป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม 4.กระทรวงการคลังจะเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภายในประเทศ ถ้ายื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตคืนภายใน 15 วัน ยื่นกับกรมสรรพากรคืนภายใน 45 วัน

Advertisement

ลดนำส่งประกันสังคม-น้ำ-ไฟ

แนวทางช่วยเหลืออื่นมีทั้งช่วยผู้ประกอบการและประชาชน 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ลดค่าธรรมเนียม หรือค่าตอบแทนที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้ภาครัฐ 2.ลดหรือเลื่อนจ่ายค่าน้ำค่าไฟ 2-3 เดือน ให้กับผู้ประกอบการ 3.ลดเงินสมทบประกันสังคมลง 0.1% ของค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือน จากต้องเสีย 5% จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องมากขึ้น และในส่วนของลูกจ้างมีเงินเหลือเพื่อดำรงชีพมากชึ้นจากอัตราจ่ายสูงสุด 750 บาทต่อเดือนจะเหลือเพียง 15 บาทต่อเดือน

4.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบ 2563 เพื่อเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณออกมาให้มากที่สุด 5.สร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้มนุษย์เงินเดือนสามารถซื้อกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) เพิ่มขึ้น1-3 แสนบาทจากเดิมกำหนดเพดาน SSF เพียง 2 แสนบาทเท่านั้น โดยให้ซื้อถึงเดือนมิถุนายน เพื่อช่วยตลาดหุ้นที่ปรับลดลงกว่า 200 จุดในช่วงที่ผ่านมา จากเดิมกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)กำหนดเพดานการซื้อถึง 5 แสนบาทต่อปี ทำให้ในอดีตช่วงที่หุ้นตกมากๆ จะมีเงินจาก LTF มาช่วยประคองตลาดหุ้นไว้

หวัง3แสนล.เข้าสู่ระบบศก.

มาตรการโควิด-19 ที่กำลังออกมาจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท มาจากสินเชื่อ 2 แสนล้านบาท เงินที่รัฐแจกให้ 4 หมื่นล้านบาท และจากเงินลดนำส่งประกันสังคม พักชำระหนี้เงินต้น ยืดการจ่ายหนี้

ทั้งนี้ คาดว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินแจกประชาชน 10-20 ล้านคนวงเงินประมาณ 2-4 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นการชดเชย เช่น ซอฟท์โลนจากธนาคารออมสินวงเงิน 1.5 แสนล้าน รัฐบาลต้องไปชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสินประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินที่ต้องสูญเสียจากมาตรการภาษี ลดค่าธรมเนียม ค่าน้ำ ค่าไฟ

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงผลกระทบไวรัสโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดพีค (สูงสุด) ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว แต่กระทบทุกภาคส่วน ทั้งการผลิต การบริการ จึงเป็นที่มาของมาตรการชุดที่ 1 หลังจากนี้จะประเมินว่าสถานการณ์ว่าขาดตรงไหน เพื่อออกมาตรการชุด 2 ชุด 3 ต่อไป

“สมคิด” สั่งการให้กระทรวงการคลังหารือสำนักงบประมาณ จัดตั้งกองเงินขึ้นมากองหนึ่งเพื่อดูแลผลกระทบกับแรงงาน เช่น ฝึกอบรมผู้ตกงาน ซึ่งกระทรวงการคลังสามารถจัดตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียนในลักษณะเดียวกับกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท ใช้สำหรับบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย การตั้งกองทุนเพื่อให้การดำเนินการถาวรและต่อเนื่อง

แกะรอยแจกไม่ยั้ง1แสนล.

หากย้อนไปดูมาตรการแจกเงินภายหลังเลือกตั้ง โดยรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 มีการแจกเงินให้ประชาชนไปกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 มีมติแจกเงินกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ 14.6 ล้านราย เป็นเงิน 1.89 หมื่นล้านบาท เช่น ผู้มีบัตรทุกรายได้เงินเพิ่ม 500 บาทต่อเดือน ผู้สูงอายุรับเงินช่วยเหลือ 500 บาทต่อเดือน เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด-6 ปี 300 บาทต่อเดือน

หลังจากนั้นแจกเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี เพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกไร่ละ 500 บาท มีเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือ 4.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นเงิน 2.58 หมื่นล้านบาท พอมาถึงช่วงเก็บเกี่ยวให้ค่าเกี่ยวข้าวไร่ละ 500 บาท มีเกษตรกรได้รับเงิน 3.26 ล้านครัวเรือน คิดเป็นเงินกว่า 1.83 หมื่นล้านบาท

ต่อมาแจกเงินชิมช้อปใช้ทั้ง 3 เฟสให้ผู้ลงทะเบียนกว่า 11 ล้านคน ทั้งแจกคนละ 1 พันบาทเข้ากระเป๋า 1 และคืนเงินจากการใช้จ่ายกระเป๋า 2 โดยตั้งงบประมาณไว้ 2 หมื่นล้านบาท

เมื่อรวมกับการแจกเงินครั้งนี้อีก 2-4 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ แจกเงินให้ประชาชนกว่า 1-1.2 แสนล้านบาท มีประชาชนได้รับผลประโยชน์กว่า 50 ล้านคน โดยมีกลุ่มได้เงินซ้ำๆ เช่น เกษตรกรชาวนาได้รับแจกเกือบทุกครั้ง

ชงมาตรการอุ้มศก.ทุกเดือน

เมื่อไปดูมาตรการด้านเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังนำเสนอ ครม.หลังเลือกตั้งพบว่าเสนอมาตรการเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เกือบทุกเดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 เป็นต้นมาจนถึงเดือนมีนาคม 2563 มีมาตรการถูกนำเสนอ ครม.ถึง 9 มาตรการรวมวงเงินให้ความช่วยเหลือถึง 1 ล้านล้านบาท

เริ่มด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 วงเงิน 3 แสนล้านบาท เน้นแจกเงินคนจน เกษตรกร ชิมช้อปใช้เฟส 1 หนุนการลงทุนเอกชน แจกเงินช่วยค่าปลูกข้าว มาตรกรกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 วงเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท เน้นชิมช้อปใช้เฟส 2 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี วงเงินสนับสนุน 1 แสนล้านบาท แจกเงินกองทุนหมู่บ้าน ช่วยเค่าเก็บเกี่ยวบ้านดีมีดาวน์

หลังจากนั้นในปี 2563 เป็นมาตรการช่วยรายกลุ่ม เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเอสเอ็มอี 1.5 แสนล้านบาท มาตรการกระตุ้นลงทุนเอกชน 1.1 แสนล้านบาท มาตรการช่วยท่องเที่ยว 1.23 แสนล้านบาท ขยายเวลายื่นภาษีบุคคลธรรมดาถึงเดือนมิถุนายน จากกำหนดเดิมยื่นภายในเดือนมีนาคม หักลดหย่อนภาษีอบรมสัมมนา 2 เท่า หักลดหย่อนปรับปรุงโรงแรม 1.5 เท่า

แม้จะมีการเสนอมาตรการทุกเดือนเพื่อดูแลเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2562 ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ส่งผลให้การส่งออกของไทยติดลบ เมื่อผสมโรงกับปัญหาภัยแล้ง งบประมาณล่าช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจที่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะโต 4% ถูกหั่นลงทุกไตรมาส จนสุดท้ายตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาในปี 2562 เหลือโตเพียง 2.4% โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายตัว 1.6% ต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส

สถานการไวรัสโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ในปี 2563 จะต่ำกว่า 1% ซึ่งต่ำกว่าไตรมาส 4 ของปีที่ผ่าน

ต้องเผชิญโควิด-19ยาว9เดือน

ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจมีการประเมินสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขา ครม.เศรษฐกิจ ให้ข้อมูลว่า ก่อนหนี้รัฐบาลประเมินความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 จะจบใน 3 เดือน และจะใช้เวลาฟื้นตัวอีก 3 เดือน แต่ล่าสุดประเมินใหม่คาดว่าสถานการณ์ระบาดไวรัสจะจบได้ภายใน 6 เดือน และจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ซึ่งใช้เวลาในการฟื้นตัว 3 เดือน เท่ากับว่าใช้เวลาอีก 9 เดือนทุกอย่างจะดีขึ้น

ขณะนี้โควิด-19 ลุกลามไปหลายประเทศ ทั้งเกาหลี อิหร่าน อิตาลี ส่วนจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยไหมนั้น ยังตอบชัดไม่ได้ แต่มองว่ามีความเสี่ยงของเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ทำใจว่าตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมกราคมจะต่ำกว่าที่คาดการไว้มาก รัฐบาลก็ทำใจแล้วว่าไตรมาส 1 ปีนี้จะไม่ดี แต่หลังจากนี้หวังว่าไตรมาส 2 จะฟื้นตัวจากการใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งเป็นผลจากงบประมาณประจำปีสามารถเบิกจ่ายอย่างเต็มที่

จีดีพีปีนี้อาจโตแค่0.2%

จากความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สศช.ประเมินแนวโน้มจีดีพีไทยปีนี้ไว้ที่ 1.5-2.5% หรือมีค่ากลาง 2% อย่างไรตามจากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะเห็นแนวโน้มเติบโตในกรอบต่ำ 1.5% ค่อนข้างมาก

ฝั่งเอกชน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เพิ่งประกาศตัวเลขจีดีพีปีนี้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม มองว่าเศรษฐกิจปีนี้โตได้เพียง 0.5% จากประมาณการเดิม 2.7% ถือว่าเป็นการปรับลดค่อนข้างมาก และเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในฝั่งสำนักพยากรณ์ของไทย จากก่อนหน้านี้ไม่กี่วันสำนักพยากรณ์ต่างชาติ ธนาคารซิตี้กรุ๊ป ของสหรัฐ ประเมินจีดีพีไทยปีนี้เหลือเพียง 0.2% จากเดิมประเมินไว้ 2.2% ถือเป็นตัวเลขจีดีพีที่ต่ำสุดในขณะนี้

เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขจีดีพีปีนี้ 0.5% นำมาตรการรัฐใส่ไว้ในการคำนวณแล้ว 3 หมื่นล้านบาท เป็นเงินที่รัฐบาลแจกให้ประชาชนโดยตรง โดยจะไม่นับสินเชื่อ มาตรการทางด้านภาษี เพราะมาตรการดังกล่าวนั้นจะไม่มีผลหากผู้ประกอบการขาดทุนและไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้เสียภาษี ส่วนเรื่องสินเชื่อแม้จะมีตัวเลขหลายแสนล้านบาท แต่ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ผู้ประกอบการไม่อยากสร้างหนี้ด้วยการกู้เงิน ดังนั้นมาตรการเห็นผลที่สุดคือการแจกเงิน จึงเห็นด้วยกับรัฐบาลว่าควรจะเร่งแจกเงินในช่วงนี้ แม้มาตรการนี้จะมีกระแสคัดค้านจากคนหลายกลุ่มค่อนข้างมากก็ตาม ถ้าใช้มาตรการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง อาจจะใช้เวลาซึ่งจะไม่ทันการณ์

เชาว์ให้มุมมองต่อว่า เศรษฐกิจในปีนี้ไม่เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เศรษฐกิจปีนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือ เหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ในจีน ส่งกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการดูแลเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าในปีนี้การท่องเที่ยว ลบ 20% เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวหายไป 4 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 2.4% ของจีดีพี

ครึ่งปีแรกเข้าสู่ภาวะติดลบ

สิ่งที่หลายฝ่ายเป็นกังวลคือเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือมีภาวะเศรษฐกิจติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสหรือไม่ ในมุมมองของเอกชนมองว่ากำลังเกิดขึ้นแล้ว เพราะจีดีพีไตรมาส 4 ปีที่แล้วลดลงจากไตรมาส 3 และในไตรมาส 1 ปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากไตรมาส 4

เชาว์กล่าวว่า เศรษฐกิจถดถอยหรือไม่คงขึ้นอยู่มุมมอง ในส่วนของกสิกรไทยมองว่าครึ่งปีแรกปีนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ ลบ 2% หลังจากนั้นจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคงต้องมีอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการแจกเงิน ยิ่งมากยิ่งดี เพราะตรงนี้มีผลต่อจีดีพีทันที ถือเป็นเม็ดเงินใหม่ที่ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจ

หลังจากนี้ รัฐบาลต้องประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดว่ามาตรการชุดที่ 1 ได้ผลดีแค่ไหน และต้องเร่งออกมาตรการชุดที่ 2 ชุด 3 ตามออกมาโดยเร็วถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษหนีไม่พ้นภาคท่องเที่ยว รวมถึงหาแนวทางการดูแลผู้ประกอบการที่ยังขนาดสภาพคล่อง แม้ในปี 2562 จีดีพีโต 2.4% แต่ภาคธุรกิจ และเอสเอ็มอียังกังวลว่าจะยืนต่อไหวหรือไม่

ในปีนี้ผลกระทบโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดไปเกือบหมดส่งผลให้ผู้ประกอบขาดสภาพคล่องรุนแรงและกำลังรอการช่วยเหลือของรัฐ มาตรการที่กำลังจะออกมาน่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ทั้งหมด เพราะเมื่อธุรกิจปิดกิจการไปแล้วจะใช้มาตรการลดหย่อนภาษีได้อย่างไร ส่วนการลดเงินประกันสังคมหากเป็นคนตกงานไม่ได้รับประโยชน์ที่รัฐจะให้

แนะรัฐรับมือศก.ถดถอย

ในฝั่งของนักวิชาการ อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอแนะให้ ธปท.เรียกประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นกรณีพิเศษเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยแรงๆ และมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม เพราะเศรษฐกิจไทยเสี่ยงภาวะถดถอย

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิคแล้ว เพราะช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกหดตัวเกือบ 2% การลดลงของภาคการผลิต การใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ และการนำไปสู่การลดลงของการจ้างงาน

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค 4 ครั้งในปี 2540-2541 (เกิดวิกฤตการณ์การเงิน), ปี 2551-52, ปี 2556 และปี 2557 โดยเหตุการณ์ในช่วงปี 2540-2541 เกิดภาวะถดถอยรุนแรงสุดจนถึงขั้นเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจขณะนั้นติดลบสี่ไตรมาสติดต่อกัน

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยบรรเทาความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประชาชนและสถานประกอบการขนาดกลางขนาดเล็กได้บ้าง แต่มาตรการส่วนใหญ่ยังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คาดว่าจะช่วยเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.015-0.030% ช่วยไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวหรือติดลบเกิน 2%

การแจกเงินมีความจำเป็นต้องทำในสถานการณ์ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจค้าปลีก แต่ให้ระวังฐานะการเงินการคลังหากใช้มาตรการแบบนี้บ่อยและประชาชนจะเสพติดประชานิยมและการแจกเงินไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระยะยาว

จากนี้ไปคงต้องติดตามยาขนานใหญ่ของรัฐบาลว่าจะสู้กับพิษร้ายโควิด-19 ได้แค่ไหน ยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีจุดจบแบบไหน สถานการณ์เกิดขึ้นเกินกว่าที่ใครจะคาดการณ์ได้

สุดท้ายต้องติดตามการแจกเงินที่รัฐบาลชุดนี้ใช้บ่อยจะกลายเป็นยาเสพติดมากกว่ายาลดไข้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image