โลกวิกฤต “โควิด-19” ฉุดหุ้นไทย งัดเซอร์กิตเบรกเกอร์ประคองพัลวัน จับตาจีดีพีปีนี้…ยืนแดนลบ!!

กว่า 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2563) แล้วที่ ไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดรุนแรงจากประเทศจีนจนกระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ล่าสุดยังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง และยังไม่มีวี่แววว่าจะพบจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดหรือไต่ลงสู่จุดจบได้อย่างไร

เมื่อไตรมาสแรกของปี 2563 โดนโควิด-19 เล่นงานและมีแนวโน้มว่าโรคระบาดดังกล่าวจะกินเวลาไปทั้งครึ่งแรกของปี จึงหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกจะต้องหยุดชะงักไปด้วย ส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจเลี่ยงได้

ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประเมินความรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอลงมาอยู่ที่ 1.8% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3% ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่เหลือแค่ -0.3% จากคาดการณ์ 1.8%

โรคระบาดฉุดทรุดทั่วหน้า

Advertisement

โรคระบาดครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบหนักและแรงกับภาคการท่องเที่ยวโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนด้วย ตลาดหุ้นไทยผันผวนหนัก ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดลงตอบรับความกังวลผลกระทบของโรคระบาด และจากข่าวแง่ลบที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จากวันที่ 1 มกราคม 2563 อยู่ที่ระดับ 1,595.82 จุด ร่วงมาอยู่ที่ระดับ 1,128.91 จุดในวันที่ 13 มีนาคม ปรับลดลงกว่า 466.91 จุด ยังไม่รวมการย่อตัวลงระหว่างวันที่หลุดระดับ 1,000 จุดเรียบร้อย

สาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วง มาจากความกังวลของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้น เพื่อลดความเสี่ยง จนตลาดหลักทรัพย์ต้องใช้มาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวกรณี (เซอร์กิตเบรกเกอร์) 2 ครั้งภายในสัปดาห์เดียว ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์หุ้นไทย

มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ จะใช้ในกรณีที่สภาวะการซื้อขายมีความผันผวนรุนแรง ราคาหลักทรัพย์โดยรวมเปลี่ยนแปลงลดลงมาก เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว

มีหลักเกณฑ์คือ 1.หากดัชนีหุ้นไทยมีการเปลี่ยนแปลงลดลงถึง 10% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที 2.หากดัชนีหุ้นไทยมีการเปลี่ยนแปลงลดลงถึง 20% (ลดลงอีก 10%) ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

หลังจากการทำงานครั้งที่ 2 ของมาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวกรณีแล้ว ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้ทำการซื้อขายต่อไป จนถึงเวลาปิดทำการตามปกติโดยไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีก ซึ่งหากระยะเวลาในรอบการซื้อขายที่มาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวทำงานนั้นเหลือไม่ถึง 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ให้หยุดพักการซื้อขายเพียงระยะเวลาที่เหลือในรอบการซื้อขายนั้น แล้วเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตามปกติในรอบการซื้อขายถัดไป อย่างไรก็ตาม อาจมีบางช่วงเวลาที่หลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศ อาจเปิดทำการซื้อขายไม่ตรงกันกับหลักทรัพย์อื่นๆ เนื่องจากไม่มีช่วงเวลาพักการซื้อขายระหว่างวัน

หุ้นทำจุดต่ำสุดใหม่ต่อเนื่อง

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยถือว่าไม่หยุดที่จะทำลายสถิติจุดต่ำสุดเดิม และสร้างสถิติจุดต่ำสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง วันที่ 9 มีนาคม 2563 ดัชนีปิดตลาดลบกว่า 108.06 จุด สร้างจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี ตอบรับความกังวลของทั้งโควิด-19 และราคาน้ำมันดิบโลกที่เรียกได้ว่าทิ้งดิ่งหนักสุดในรอบปี แม้แต่ตอนเกิดเหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ราคาน้ำมันยังไม่ทรุดแรงเหมือนปัจจุบัน

ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2563 ดัชนีหุ้นไทยปรับลดระดับลงอีกครั้งอย่างร้อนแรง เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ออกประกาศให้เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการระบาดระดับโลก จึงสร้างความโกลาหลเพิ่มมากขึ้น โดยดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 1,114.91 จุด ปรับลดลง 134.98 จุด หรือ 10.80% ซึ่งระหว่างวันยังทำจุดติดลบมากสุดกว่า 154.52 จุด ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องงัดมาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์มาใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี

ก่อนที่วันศุกร์ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเปิดได้ไม่กี่นาที ดัชนีก็ทิ้งตัวปรับลดลงกว่า 111.52 จุด หรือ 10% ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องรีบใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์อีกครั้ง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยทิ้งตัวตั้งแต่เปิดตลาดมาจากการที่นักลงทุนอยู่ในภาวะตื่นตระหนก (แพนิก) ตามดัชนีในตลาดต่างประเทศที่ปรับลดลง โดยเฉพาะดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ที่ปรับลดลงกว่า 2,000 จุด หากรวมการปรับตัวลงของดาวโจนส์ 2 วัน จะลดลงกว่า 15% ไม่แตกต่างจากตลาดหุ้นอื่นในเอเชียที่ปรับลดลงกว่า 10% เกือบทุกตลาด

ส่วนในภาคบ่ายของวันเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการปรับเกณฑ์การขายหุ้นโดยไม่มีในมือ (ชอร์ตเซล) ออกมา ซึ่งช่วยให้นักลงทุนเบาใจขึ้นและมองว่าตลาดเริ่มมีการเคลื่อนไหวแล้ว จึงสนับสนุนให้ดัชนีปรับตัวขึ้น และปิดบวกเล็กๆ 14 จุด แต่ระหว่างวันดัชนีบวกมากสุด 49.25 จุด ลบมากสุด 145.83 จุด ซึ่งถือเป็นวันที่ดัชนีสูญเสีย “จำนวนจุด” มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และไม่มีครั้งใดนับตั้งแต่มีตลาดหุ้นไทยมา ที่จะลบเป็นจำนวนจุดมากเท่าหรือมากกว่าวันนี้

จากสถิติที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการเปิดซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทย มีการปรับตัวลดลงแตะระดับ 100 จุดภายใน 1 วัน มีเพียง 4 ครั้ง เท่านั้น โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2533 ดัชนีปรับตัวลดลง 175 จุด,วันที่ 12 มกราคม 2537 ดัชนีปรับตัวลดลง 117 จุด, วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ดัชนีปรับตัวลดลง 108 จุด และครั้งล่าสุดคือวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ดัชนีปรับตัวลดลง 108.63 จุด

ส่วนการใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ ถูกใช้ครั้งแรกในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เวลา 11.26 น. ซึ่งขณะนั้นดัชนีปรับลดลงกว่า 74.06 จุด หรือ 10.14% เนื่องจากในช่วงเย็นวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้าและออกของเงินตราต่างประเทศ (แคปปิตอล คอนโทรล) โดยให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ต้องกันเงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศไว้ 30% เพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท

ส่วนครั้งที่ 2 ใช้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 เวลา 14.35 น. โดยดัชนีปรับลดลง 50.08 จุด หรือ 10.02% จากผลกระทบวิกฤตการเงินโลก หรือที่ต่างชาติเรียกว่าวิกฤตซับไพรม์ ส่วนไทยจะเรียกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะเริ่มต้นวิกฤตมาจากสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกา และครั้งที่ 3 เกิดขึ้นวันที่ 27 ตุลาคม 2551 เวลา 16.04 น. ดัชนีปรับลดลง 43.29 จุด หรือ 10.00% ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

จากที่ตลาดกระแทกลงมาอย่างหนักหน่วง บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ระบุว่า หากวิเคราะห์สถิติในอดีต พบว่าหลังจากใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ทั้ง 3 ครั้ง ดัชนีจะฟื้นขึ้นต่อเนื่องทุกครั้ง โดยเฉพาะ 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 10.3% โดย 1 สัปดาห์หลังจากใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ในเดือนธันวาคม 2549 ดัชนีเพิ่มขึ้น 10.7% ต้นเดือนตุลาคม 2551 ดัชนีเพิ่มขึ้น 4.3% ส่วนปลายเดือนตุลาคม 2551 ดัชนีเพิ่มขึ้น 15.9%

ปัจจุบันตลาดปรับฐานลงมาแล้วกว่า 29% ถือเป็นการลดลงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และเป็นการปรับลดลงที่มากกว่าคาดการณ์ไว้ สะท้อนให้เห็นว่ามีแรงขายจากความกังวลผสมเข้าไปพอสมควร ทำให้เชื่อว่าหากปัจจัยกดดันต่างๆ เริ่มคลี่คลาย รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมา น่าจะช่วยให้ตลาดยังมีความหวังฟื้นตัวดังสถิติในอดีตได้

คืนชีพกองทุนพยุงหุ้น

หลังจากหุ้นไทยเทกระจาดในสัปดาห์เดียวหลายร้อยจุด รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ หามาตรการออกมาช่วยเหลือตลาดหุ้นไทยทันที โดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประสานกับ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เร่งจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพทางตลาดทุน หรือกองทุนพยุงหุ้น เพื่อดูแลตลาดทุนไทยจากภาวะที่ตลาดหุ้นไม่ปกติ สถานการณ์รุนแรง เพราะหุ้นสหรัฐและยุโรปตกอย่างรุนแรง แม้ตลาดทุนไทยจะมีพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่ในช่วงที่ทั่วโลกตื่นตระหนก ไทยจะต้องดูแลตลาดทุนให้ดีที่สุด

ติงควรตั้งกองทุนช่วยชาวบ้านก่อน

ผลตอบรับจากไอเดียนี้ นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า กระแสข่าวตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพทางตลาดทุน หรือ “กองทุนพยุงหุ้น” เพื่อแก้ปัญหาความผันผวนในตลาดหุ้น หากจะตั้งขึ้นจริง รัฐบาลควรตั้งกองทุนพยุงชีวิตจากพิษเศรษฐกิจตามกฎหมายขึ้นด้วย เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาคนตกงาน เตะฝุ่นและดูดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ธุรกิจปิดกิจการ ซ้ำเติมด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาหนี้สินภาคธุรกิจขนาดเล็ก และหนี้สินภาคครัวเรือนลุกลามไปทั่ว เกิดวิกฤตหนี้ วิกฤตชีวิต จนมีคนฆ่าตัวตายเป็นจำนวนไม่น้อย บางครอบครัวตัดสินใจจบชีวิตพร้อมกัน นำความทุกข์และความเวทนาต่อญาติและประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าว หลายกรณีถ้ามีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแบบทันท่วงที อาจช่วยชีวิตพี่น้องไทยที่หมดหนทางเหล่านั้นได้

“อยากเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนพยุงชีวิตจากพิษเศรษฐกิจ และเปิดสายด่วนต่อชีวิตเพื่อให้คำแนะนำ ปรึกษา และช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินสำหรับประชาชนที่ประสบปัญหาการเงินเข้าขั้นวิกฤต และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เพื่อแสดงว่ายังห่วงใยพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ ขั้นแรกอาจจัดสรรงบประมาณตั้งกองทุน 10,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย อาจช่วยเหลือไม่ได้ทุกราย แต่ก็ดีที่ยังได้ทำ หากพยุงหุ้นได้ ก็ควรพยุงชีวิตของพี่น้องที่ทุกข์ยากด้วย ควรทำมากกว่า นอกจากจะดีในทางธุรกิจ ยังได้บุญด้วย มาตรการช่วยเหลือทางการเงินควรช่วยคนทุกระดับอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม”

หุ้นร่วง-ทองร่วง ลงทุนไม่ปลอดภัย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัปดาห์ที่ตลาดหุ้นร้อนระอุจนเกินไป เพราะทองคำยังปรับราคาลงต่อเนื่อง วันที่ 9 มีนาคม ปรับลดลงแล้วกว่า 2,050 บาท หลังจากปรับขึ้นมากว่า 3,800 บาท เทียบราคาวันที่ 1 มกราคม 2563 กับวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์ทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนและคนส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อมั่นในการลงทุน เพราะแม้แต่ทองคำที่เคยเป็นแหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัยสูง (เซฟเฮฟเว่น) ยังสร้างความเชื่อใจให้นักลงทุนไม่ได้

แนวโน้มลงลึก น่าจะขึ้นได้

ความเห็นจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ ระบุว่า การที่ดัชนีจะปรับขึ้นได้ในระยะยาว จะต้องเห็นสัญญาณของการควบคุมโควิด-19 ได้ ไม่ต้องเอาจบเพราะมองว่าปี 2563 ไม่น่าจะจบได้ เอาแค่คุมได้แบบหาจุดสูงสุดไม่เจอแล้ว ราคาหุ้นน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปได้ ทั้งนี้ อยากให้เกิดการแพร่กระจายแบบถึงจุดสูงสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดนผลกระทบไตรมาส 1 ก็แย่แล้ว หากโดนไตรมาส 2 ด้วยจะยิ่งแย่เข้าไปอีก

โดยแนวโน้มจากนี้น่าจะลากไปจนไตรมาส 2 เนื่องจากจะจบเดือนมีนาคมแล้ว แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่งเร่งตัวขึ้น และยังหาจุดสูงสุดไม่เจอ หากเป็นแบบนี้ การฟื้นตัวอย่างจริงจังในแง่เศรษฐกิจคงเป็นช่วงไตรมาส 3/2563 แต่ในแง่ของตลาดหุ้นอาจฟื้นตัวได้เร็วกว่านั้น หากมีข่าวดีเข้ามาสนับสนุนต่อเนื่อง

“จากต้นปี 2563 คาดการณ์ว่าดัชนีหุ้นไทยจะปรับขึ้นไปสูงสุดได้ที่ 1,720 จุด แต่ตอนนี้โอกาสปรับตัวลดลง (ดาวน์ไซด์) มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ประเมินแบบชัดเจน เบื้องต้นคาดว่ากรอบดัชนีใหม่ของทั้งปีนี้ คงอยู่ในโซน 1,400 จุด บวกหรือลบเล็กน้อยเท่านั้น” วิจิตรระบุ

ส่วนจะมีโอกาสที่หุ้นหลุดระดับ 900 จุดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยลบ กำไรของ บจ.ไทย หากลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการไว้ก็น่ากังวลมากพอสมควร แต่ปัจจุบันในระดับ 950 จุด ภาพรวมน่าจะตอบรับปัจจัยลบไปมากแล้วในระดับหนึ่ง ทำให้สัญญาณของโอกาสที่ดัชนีจะปรับลดลงหลุด 900 จุด เป็นไปได้ยากมากพอสมควร แต่จะเห็นโอกาสในการดีดตัวขึ้น (รีบาวด์) มากกว่า เพราะแนวโน้มจากนี้น่าจะเป็นขาดีดตัวขึ้นก่อนมากกว่า

ผันผวนจนกว่าคุมไวรัสได้

ด้าน ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า ตลาดหุ้นไทยจนถึงเดือนปลายมีนาคม 2563 ยังคงผันผวนต่อเนื่อง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยุโรปและสหรัฐยังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง รวมถึงในประเทศเองพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเช่นกัน ทำให้กดดันตลาดหุ้นไทยสูงมาก หากประกาศเข้าระยะที่ 3 เชื่อว่าอาจควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสได้บ้าง เพราะจะมีเครื่องมือหรือสรรพกำลังต่างๆ เข้าควบคุมโรคไม่ให้ระบาด

อีกประเด็นที่อยากให้จับตา คือ ปัญหาภัยแล้งในเดือนเมษายนนี้ และปัญหาเศรษฐกิจ จะสร้างแรงกดดันตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง สมมุติฐานว่าภายในเดือนมีนาคมนี้ สามารถควบคุมโรคระบาดได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้มากในอัตราเร่ง สถานการณ์จะคลายตัวได้จริงในเดือนพฤษภาคม 2563 ประเมินว่าดัชนีน่าจะเคลื่อนไหวไต่ระดับขึ้นจนถึง 1,350-1,400 จุดได้ เพราะก่อนหน้านั้นดัชนีเคยยืนอยู่ในระดับนี้

แต่หากสถานการณ์ปรับดูดีขึ้นมาก มีการค้นพบวัคซีนใช้รักษาคนได้จริง และยับยั้งการแพร่ระบาดในทั่วโลกได้ โอกาสที่ดัชนีจะไต่ระดับสูงขึ้นและเร็วมากกว่าที่ประเมินไว้ก็น่าจะเป็นไปได้ โดยจุดก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ดัชนีหุ้นไทยเคยอยู่ในระดับ 1,500 จุด ทำให้โอกาสที่จะกลับไปก็มีอยู่ อ้างอิงจากตลาดหุ้นจีน ที่สามารถควบคุมโรคได้แล้ว แม้จะยังไม่มีการค้นพบวัคซีน แต่พอคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว ดัชนีหุ้นก็กลับขึ้นไปยืนอยู่ในระดับเดิม และเหนือระดับเดิมด้วยซ้ำ เมื่อสถานการณ์คลายตัว

มาลุ้นกันว่าหุ้นไทยจะสร้างสถิติจุดต่ำสุดใหม่อีกหรือไม่ และเมื่อไหร่นักลงทุนจะยิ้มได้สักที เพราะเราทุกคนต่างทราบดีว่า การมาของ โควิด-19ครั้งนี้ ได้ทำให้โลกทั้งใบหยุดหมุน เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงัน เศรษฐกิจไทยล้มทั้งยืน…

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image