ส่องเศรษฐกิจภาคการเกษตร หวั่นโควิด -19 ควบแล้ง แรงคูณสอง สะกิดรัฐถึงเวลางัดมาตรการลดภัย

แรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ สำหรับการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ที่ยังสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย และทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพราะกินเวลามากว่า 3 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีท่าทีว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่รัฐบาลไทยงัดทุกมาตรการที่จะช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของโรค และลดผลกระทบภาคธุรกิจ

สำรวจเสาหลักพยุงเศรษฐกิจไทยพบว่า ภาคส่งออกและภาคผลิตที่มีสัดส่วนประมาณ 40% ต่อจีดีพี เจอปัญหาสะสมมาตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐ-จีน กดดันเศรษฐกิจโลก จนส่งออกติดตามมาถึงวันนี้ ขณะที่ภาคบริการในนั้นก็มีการท่องเที่ยวและค้าปลีก ซึ่งมีสัดส่วน 50% ต่อจีดีพี เจอผลกระทบหนักสุดในขณะนี้จากพิษโควิด-19

ดังนั้น จึงเหลือภาคเกษตร แม้มีสัดส่วนประมาณ 10% แต่มีจำนวนคนที่เกี่ยวข้องมากที่สุด จะเป็นอย่างไร ที่วิตกว่าหลายมาตรการที่รัฐออกมาใช้ลดการแพร่ระบาดโควิด-19 จะกลายมาเป็นผลลบต่อภาคเกษตรกรเมื่อคนออกนอกบ้านลดลง และช่องทางขายผ่านห้างหายไป เป็นต้น ขณะที่ปัญหาภัยแล้งเริ่มคุกคามเกษตรกร จากผลผลิตเสียหาย ต้นทุนเพิ่มแต่รายได้ลดลง ที่หลายฝ่ายตั้งข้อกังขาว่ารัฐทำอะไรแล้วบ้าง

ชี้ภัยแล้งปี”63เข้าขั้นวิกฤตรุนแรง

Advertisement

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกมาประเมินผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 ว่าอาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.10-0.11% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้ ยังต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้งโดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และระยะเวลาการเกิดภัยแล้งที่อาจลากยาวไปในช่วงแล้งนอกฤดูกาล จนไปกระทบต่อภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้ให้อยู่ในภาวะวิกฤตมากขึ้น

ผนวกกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ทางการจีนประกาศปิดด่านขนส่งสินค้าสำคัญต่อเนื่องจากการหยุดตามปกติในเทศกาลตรุษจีนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ รวมทั้งเส้นทางการค้าผ่านแดนจากเวียดนามไปจีนก็หยุดดำเนินการชั่วคราวเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรค ทำให้ผู้นำเข้าผลไม้ต้องยกเลิกหรือชะลอคำสั่งซื้อผลไม้ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยส่งออกผลไม้สดซึ่งมีระยะเวลาการขนส่งและจัดเก็บจำกัดเป็นหลัก

เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกผลไม้ทั้งหมดของไทย เดือนมกราคม 2563 ที่ปรับตัวลดลงกว่า 46.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพิจารณาอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผลกระทบดังกล่าวอาจฉุดรั้งการส่งออกผลไม้ไปจีนทั้งปี 2563 ให้อยู่ที่ระดับ 45,500-48,100 ล้านบาท หดตัวในช่วง -30 ถึง -25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภายใต้สมมุติฐานที่การระบาดของโรคอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ภายใน 3-4 เดือน นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่เริ่มมีการระบาดของไวรัส ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกผลไม้ของไทยทั้งปี 2563 น่าจะหดตัวในช่วง -24 ถึง -21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 86,300-88,900 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยจำเป็นต้องพิจารณาแผนการตลาดรองรับผลผลิตที่จะทยอยออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นแผนการแปรรูปผลไม้หรือจัดหาตลาดอื่นเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในระยะสั้น

นอกจากผลไม้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ยังเป็นพืชฤดูแล้งที่ได้รับผลกระทบจากผลผลิตเสียหายหนักที่สุด ซึ่งอาจช่วยผลักดันราคาพืชฤดูแล้งกลุ่มนี้ให้ปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ด้วยแรงฉุดด้านผลผลิตที่ลดลง จะเป็นปัจจัยฉุดรายได้เกษตรกรในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ของปี 2563 ให้หดตัวอยู่ในกรอบ 0.5-1% นอกจากภัยแล้งจะกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศแล้วยังส่งผลต่อเนื่องถึงภาคการส่งออกที่อาจขาดแคลนผลผลิตเพื่อการส่งออก ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ความต้องการในตลาดโลกชะลอตัวลงอีกด้วย

แล้งโจมตีชาวสวนกระทบผลผลิต

ขณะที่เกษตรกรและชาวสวนผลไม้เริ่มได้รับความเดือดร้อนจากจำนวนน้ำที่ลดลงแล้ว แม้ช่วงนี้ได้รับอานิสงส์จากพายุฝนฟ้าคะนองแต่ก็เป็นผลดีในช่วงระยะสั้นเท่านั้น ส่งผลทำให้มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยออกมาประท้วงการบริหารจัดสรรน้ำของทางจังหวัด โดยย้ำถึงความจำเป็นในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่ต้องการน้ำจำนวนมากในการขยายเนื้อและพู หากไม่สามารถเพิ่มการระบายน้ำได้ก็เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิต เกษตรกรบางรายต้องใช้ทุกกลยุทธ์ เช่น เจาะบ่อบาดาลเพื่อหาน้ำมาเลี้ยงต้นทุเรียน เป็นต้น

นอกจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ต้องเผชิญแล้ว สิ่งที่ชาวสวนผลไม้ต้องเจอในช่วงนี้อีก คือปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในบางประเทศ รวมทั้งยังกระทบต่อธุรกิจบุฟเฟต์ผลไม้ โดยปกติจะมีการจัดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แต่ด้วยข้อกำหนดของรัฐบาลที่ไม่ให้มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก อาจส่งผลทำให้ผู้ประกอบได้รับความเสียหายจากมาตรการนี้อีกด้วย ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็เริ่มมีการปรับตัวมากขึ้น แต่จะต้องพึ่งหน่วยงานภาครัฐในการเข้าไปให้ความรู้เพิ่ม เพื่อเป็นการช่วยเหลือในช่วงวิกฤตต่อไป

กรมชลยืนยันน้ำเพียงพอ

ด้านกรมชลประทานยังคงดำเนินการตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศ หรือระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเมษายน 2563 ตามเดิม โดยปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 13,006 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 73% ของแผนเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 3,509 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 78% ของแผน มั่นใจว่ายังมีเพียงพอจนสิ้นสุดฤดูแล้ง รวมถึงยังไม่กระทบกับสวนผลไม้ แต่ที่ใดที่ประสบปัญหาสามารถแจ้งขอน้ำได้ที่กรมชลประทานประจำท้องที่ได้เลย ทางกรมจะมีการจัดสรรน้ำไปให้ตามสมควร

ส่วนกรณีการช่วยเหลือในการดับไฟป่า ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่าไม่ได้นำน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคไปดับไฟแต่อย่างใด แต่ทางกรมได้ช่วยเหลือในเรื่องของอุปกรณ์ และให้เจ้าหน้าที่ไปสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อไปช่วยเหลือในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งหลังจากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองก็สามารถช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ และไม่ได้ทำให้ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงขึ้น หรือรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ โดยในปีนี้ถือว่าแห้งแล้งน้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะยังมีน้ำไหลเข้ามาเติมในเขื่อน และกรมจะดูแลไม่ให้น้ำหมดหน้าตักอย่างแน่นอน

รัฐอัดเงินช่วยแล้งควบโควิด-19

ฟากรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามมาตรการเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้ง โดยใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบกลาง รายการเงิน สำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 17,310.4509 ล้านบาท

ในส่วนของกระทรวงเกษตรได้รับการจัดสรรกรอบวงเงิน 2,924.5250 ล้านบาท จำแนกเป็น โควิด-19 จำนวน 45.0372 ล้านบาท และภัยแล้ง จำนวน 2,879.4878 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากกรอบวงเงินงบประมาณดังกล่าว หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563

เร่งหาทางรอดผลไม้ไทย

หลังจากรัฐบาลมีงบประมาณออกมาช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงสนามช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเสียที โดยจากการสำรวจของคณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออกได้วิเคราะห์สถานการณ์การผลิตไม้ผล ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผลผลิตในปี 2563 คือทุเรียน 584,712 ตัน โดยออกสู่ตลาดมากในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 มังคุด 201,741 ตัน ออกสู่ตลาดมากเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 และเงาะ 220,946 ตัน ออกสู่ตลาดมากเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563

ทั้งนี้ ในภาวะปกติหากไม่มีผลกระทบไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะส่งออกทุเรียน 409,298 ตัน มังคุด 121,045 ตัน และเงาะ 15,466 ตัน ปริมาณรวม 545,809 ตัน แต่หากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีการวิเคราะห์ว่าจะส่งออกทุเรียนได้ 350,827 ตัน มังคุด 108,940 ตัน และเงาะ 1,767 ตัน ปริมาณรวม 461,534 ตัน จึงมีส่วนต่างของผลผลิตที่ส่งออกไม่ได้ครบตามภาวะปกติ ดังนี้ ทุเรียน 58,471 ตัน มังคุด 12,105 ตัน และเงาะ 13,699 ตัน รวมทั้งสิ้น 84,275 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องบริหารจัดการในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ส่งออกตลาดจีนไม่ได้

งัด2มาตรการช่วยเกษตร

กระทรวงเกษตรได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน โดยได้ข้อสรุป 2 มาตรการคือ มาตรการช่วยเหลือในการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตร และมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งในแต่ละมาตรการจะมีโครงการย่อยและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรร่วมเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เตรียม 9 แนวทางผลักดันผลไม้กระจายในไทยและต่างประเทศ

ลุ้นไปโรดโชว์ในตลาดจีน

สำหรับรายละเอียดการช่วยเหลือของมาตรการที่ 1 จะช่วยเหลือในการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตร มีโครงการย่อย อาทิ 1.โครงการประสานใจเกษตรกรไทยสู่พี่น้องชาวจีนสู้วิกฤตโควิด-19 ส่งมอบผลไม้ไทยให้พี่น้องชาวจีน ช่วงวันที่ 25 เมษายน ถึง 10 พฤษภาคม 2563

หากสถานการณ์แพร่ระบาดสงบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรพร้อมเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านการเกษตร และทูตพาณิชย์ จะเดินทางไปจัดโรดโชว์ และส่งมอบผลไม้ด้วยตนเองเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค เป้าหมายทุเรียน 20 ตัน และมังคุด 20 ตัน

คุมท่องเที่ยวบุฟเฟต์ผลไม้

โครงการสินค้าเกษตรไทยปลอดภัยจากโควิด-19 ขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ให้เข้มงวดเกี่ยวกับสุขอนามัยของแรงงาน สำหรับผู้ประกอบการชาวสวนผลไม้ให้ระมัดระวังการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในลักษณะบุฟเฟต์ผลไม้ และมอบหมายคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ติดตามผลการปฏิบัติการควบคุมโรคระบาดในพื้นที่อย่างเข้มงวด และรายงานต่อฟรุต บอร์ด เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าเกษตรไทย

เร่งศึกษากฎส่งออกพร้อมรับตลาดใหม่

ปิดท้ายด้วยโครงการหาตลาดใหม่สินค้าเกษตรเพิ่มเติม ได้แก่ การจัดแคมเปญ นิทรรศการ และโรดโชว์ในประเทศต่างๆ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมจัดกิจกรรมในระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน ณ ประเทศออสเตรเลีย ตุรกี จีน และญี่ปุ่น โดยเจรจากับประเทศตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ตุรกี อินโดนีเซีย รัสเซีย อาร์เจนตินา อินเดีย เกาหลี ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมความพร้อม

นอกจากนี้ได้เร่งศึกษากฎระเบียบการส่งออกผลไม้ไปประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพ การเจรจาข้อจำกัดกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (เอ็นทีบี) สุขอนามัยพืช สุขอนามัยสัตว์ มาตรฐานสินค้า รวมทั้งขอให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการตรวจสอบรับรองมาตรฐานจีเอพี โดยมีเป้าหมายการตรวจรับรอง 70,000 แปลง และจีเอ็มพีโรงคัดบรรจุ 180 โรง

เตรียมผ่อนหนี้ให้เกษตรกร

อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการที่ 2 การช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ ได้แก่ มาตรการช่วยลดภาระทางการเงิน ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ขอความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับเกษตรกร

โดยบอร์ด ธ.ก.ส.ได้พิจารณาอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร คือให้ปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้โดยปลอดการชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี ระยะเวลาการดำเนินมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563-31 ธันวาคม 2564 และสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกร สถาบันเกษตร และผู้ประกอบการเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องดำเนินธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้กระทรวงเกษตรได้เตรียมพร้อมรับมือทั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน และภายหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เบาบางลงก็พร้อมทำการค้าในต่างประเทศเพื่อเรียกความมั่นใจในคุณภาพของผลไม้ และทุกผลิตภัณฑ์ของไทยทันที

เอกชนรับแล้งกระทบภาคการผลิต

ด้านมุมของเอกชน ในเรื่องของผลกระทบจากภัยแล้ง วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้มีการสำรวจข้อมูลจากสมาชิก พบว่า ในปีนี้ผลไม้ที่ได้รับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการแปรรูปที่สุดคือ สับปะรด คาดว่าปีนี้มีผลผลิตลดลง 20% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีผลผลิตเข้าโรงงานในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 จำนวน 569,710 ตัน ลดลง เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีผลผลิตเข้าโรงงานกว่า 695,330 ตัน ส่งผลให้ราคาปัจจุบันเริ่มขยับตัวขึ้นจาก 8.5 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ 12.4 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากยังมีความต้องการวัตถุดิบในการผลิตสับปะรดกระป๋องอยู่

ขณะที่การส่งออก ราคาสินค้าเริ่มขยับราคารับซื้อขึ้น เนื่องจากตลาดเริ่มรับรู้แล้วว่าผลผลิตในประเทศไทยและคู่แข่งเริ่มมีน้อย เพราะภัยธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิดที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นต้น ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ด้วยราคาขายสับปะรดของไทยที่ยังสูงและผลผลิตน้อย ทำให้ปีนี้ไทยอาจเสียแชมป์การส่งออกสับปะรดไปตลาดยุโรปให้กับคู่แข่ง ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ อาทิ เงาะ ยังได้รับผลตอบรับดีและมีแนวโน้มว่าปีนี้เงาะจะไม่ขาดตลาด แต่ทางสมาชิกสมาคมยังมีความกังวลในเรื่องของการระบาดของโรคหนอนกระทู้ที่เกิดจากความร้อน จึงอยากให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลเพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหายต่อไป

หนุนซื้อ-ขายผ่านระบบออนไลน์

ส่วนมาตรการที่รัฐบาลออกมาเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้มีการชุมนุมของคนหมู่มากนั้น มองว่าส่งผลกระทบกับธุรกิจบุฟเฟต์ผลไม้เต็มๆ ถึงแม้จะยังไม่มีการออกมาห้ามอย่างจริงจัง แต่ข้อกำหนดดังกล่าวก็ส่งผลให้ประชาชนหวั่นวิตก และไม่กล้าออกไปใช้บริการในที่สุด

จากปัญหาดังกล่าว อยากเสนอให้รัฐบาลสร้างความเข้าใจและสร้างความชัดเจนให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนให้มีการขายผ่านช่องทางออนไลน์แทนการขายผ่านกระทรวงหรือหน่วยงานของรัฐ ที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ และปลอดภัยต่อผู้บริโภคในช่วงนี้ เชื่อว่าหากมีการบริหารจัดการระบบขนส่งได้ดีจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรอย่างแน่นอน

สำหรับภาพรวมการทำงานของรัฐบาล เชื่อว่าภาครัฐก็ทำอย่างเต็มความสามารถ ถึงแม้จะดูเหมือนว่าให้น้ำหนักกับการจัดการกับไวรัสโควิด-19 มากกว่าปัญหาภัยแล้งก็ตาม แต่ในมุมมองของภาคเอกชนเข้าใจได้ว่าเรื่องไวรัสเป็นเรื่องที่มีผลต่อความรู้สึกประชาชน จึงต้องรีบคลี่คลายปัญหานี้โดยเร็ว

ไม่ว่ารัฐจะให้น้ำหนักการช่วยเหลือภัยแล้ง หรือโควิด-19 เท่ากันหรือมากกว่ากัน คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดแบบหลีกหนีไม่ได้ คือประชาชน ฉะนั้น ทุกการช่วยเหลือของรัฐควรคิดถึงผลที่จะตกสู่ประชาชนเสมอ คงต้องตามต่อไปว่ามาตรการที่ภาครัฐโหมออกมารับฤดูผลผลิตออกมาล้นตลาดในอีก 1 เดือนข้างหน้านี้ จะช่วยเหลือเกษตรกรได้จริงหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image