“โควิด-19” วิกฤต ศก.รอบใหม่ หนักกว่าต้มยำกุ้ง-แรงกว่าปี’52 “ไทยไม่ทิ้งกัน” รับมือไหวแค่ไหน?

สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 กำลังระบาดหนักในไทยรวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลกมานานกว่า 2 เดือน ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจทั่วโลก สายการบินหยุดให้บริการ การท่องเที่ยว การส่งออก การผลิตสินค้าหยุดชะงัก สร้างวิกฤตต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ล่าสุด คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุอย่างเป็นทางการแล้วว่า โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย กลายเป็นวิกฤตโลกรอบใหม่ เลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2552 (แฮมเบอร์เกอร์)

ไอเอ็มเอฟเตรียมกองทุนสนับสนุนด้านการเงินช่วยประเทศตลาดเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (81 ล้านล้านบาท)

ขณะนี้กว่า 80 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ ร้องขอความช่วยเหลือมายังไอเอ็มเอฟแล้ว สถานการณ์ในขณะนี้ยังประเมินยากว่าจะจบอย่างไร เพราะตัวเลขผู้ติดไวรัสทั่วโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

สหรัฐ-ยุโรปอัดคิวอี

จากวิกฤตไวรัสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นขนานใหญ่เพื่อดูแลเศรษฐกิจโลกไม่ให้บอบช้ำไปกว่าที่ควรจะเป็น

ทั้ง 2 แบงก์ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

Advertisement

ทางอีซีบีมีแผนเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่ม 1.2 แสนล้านยูโร หรือเกือบ 4 ล้านล้านบาทช่วงปีนี้ เป็นมาตรการเพิ่มจากคิวอีก่อนหน้านี้ที่จะซื้อพันธบัตร 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน พร้อมกันนี้อีซีบีจัดสรรเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจทั่วยุโรป

ด้านเฟดปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0% และประกาศเข้าแทรกแซงตลาดการเงินครั้งใหญ่ด้วยมาตรการคิวอีแบบไม่จำกัดวงเงิน พร้อมกันนี้ ยังเพิ่มวงเงินถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ภาคธุรกิจ

ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เตรียมจะใช้มาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพแก่ตลาดการเงิน คาดว่าจะเป็นไปทิศทางเดียวกับเฟด และอีซีบี

หลายชาติโปรยเงินแจก

นอกเหนือจากมาตรการด้านคิวอีของสหรัฐและยุโรปแล้ว ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม สหรัฐออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีเม็ดเงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

มาตรการของสหรัฐนอกจากโครงการเงินกู้สำหรับภาคธุรกิจช่วยเอสเอ็มอี ช่วยเหลือโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข มาตรการด้านภาษี การขยายสิทธิประโยชน์ผู้ว่างงานแล้ว ยังเตรียมแจกเงินให้กับชาวอเมริกันครอบครัวละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (9.7 หมื่นบาท) คาดว่าจะใช้งบประมาณในส่วนนี้ราว 2.9 แสนดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนประเทศสิงคโปร์แจกเงินสดให้ประชาชนทุกคน อายุ 21 ปีขึ้นไป ระหว่าง 100-300 ดอลลาร์สิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ (ประมาณ 3,000-7,000 บาท) รวมถึงให้เงินเพิ่มอีก 100 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรอายุไม่เกิน 20 ปี และมอบบัตรช้อปปิ้งให้ชาวสิงคโปร์ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อนำไปซื้อสินค้าตามซุปเปอร์มาร์เก็ต

ด้านฮ่องกง แจกเงินให้กับคนในประเทศ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (40,500 บาท)

“เราไม่ทิ้งกัน”ช่วยคนไทย

ในส่วนของไทยก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมีนาคม มีแนวคิดแจกเงินให้แรงงาน 20 ล้านคน คนละ 2 พันบาท รวมเป็นเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่มีเสียงคัดค้านมาก จึงล้มความคิดไป

ล่าสุด รัฐบาลไทยเคาะแจกเงินให้กลุ่มคนตกงานเดือนละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงินคนละ 1.5 หมื่นบาท มีเป้าหมาย 3 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้เงิน 4.5 หมื่นล้านบาท

เริ่มลงทะเบียนรับเงินวันแรก 28 มีนาคม www.เราไม่ทิ้งกัน.com เกิดปัญหาตั้งแต่วินาทีแรก มีคนมารอลงทะเบียนหน้าเว็บไซต์กว่า 2.2 ล้านคน และในช่วง 5 นาทีแรกของการลงทะเบียนมีผู้เข้ามาลงทะเบียนมากถึง 20 ล้านคน ส่งผลให้ระบบล่มชั่วคราวประมาณ 1-2 ชั่วโมง ผ่านไปกว่า 12 ชั่วโมงแรก ตัวเลขการลงทะเบียนสูงกว่า 10 ล้านคน

ก่อนหน้าที่จะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ชาวบ้านในต่างจังหวัดจำนวนมากเดินทางไปยังสาขาของธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะมีข่าวลือ และบอกกันปากต่อปากว่าต้องไปเปิดบัญชีเพื่อรับเงิน จนทำให้ทั้ง 3 ธนาคารรวมถึงธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งต้องปิดสาขาวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม-อาทิตย์ที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนธนาคารออมสินแจ้งปิดสาขาทั่วประเทศถึงวันที่ 30 มีนาคม เพราะกังวลว่าประชาชนเดินทางมายังสาขาเพื่อลงทะเบียน ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

จากปรากฏการณ์ลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” ทำให้เห็นว่ามีคนต้องการเงินดังกล่าวจำนวนมาก มีทั้งคนตกงานจริงๆ และคนที่หวังว่าจะได้เงิน

แม้กระทรวงการคลังจะให้ข่าวว่าไม่ต้องรีบมาลงทะเบียน เพราะถ้าเข้าเกณฑ์ได้ทั้งหมด และพร้อมจะเสนอขอ ครม.เพิ่มงบประมาณเยียวยามากกว่าที่เตรียมไว้ หากต้องช่วยเหลือประชาชนมากกว่า 3 ล้านคน แต่ประชาชนไม่วางใจจึงแห่มาลงทะเบียนในวันแรกอย่างล้นหลาม

หลังจากนี้คงต้องรอดูการคัดกรองจากกระทรวงการคลังว่าการใช้ระบบเอไอเข้ามาช่วยคัดกรอง เชื่อมข้อมูลกับหลายหน่วยงาน เช่น ประกันสังคม กระทรวงมหาดไทย จะสามารถคัดกรองคนผู้ที่สมควรได้รับเงินได้มากน้อยแค่ไหน

ชุดมาตรการสู้พิษโควิด-19

นอกเหนือจากการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคม หน่วยงานด้านการเงินนำโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ร่วมกันออกมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชน เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการดูแลตลาดหุ้น ตราสารหนี้ จากพิษโควิด-19 มากมายหลายมาตรการ

มาตรการสำคัญคือการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 0.75% ต่อปีนอกจากนี้ ธปท.ขอความร่วมมือไปยังแบงก์พาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งพักหนี้เงินต้น ลดดอกเบี้ย ลดเงินงวด เพื่อผ่อนภาระของประชาชนและผู้ประกอบการ

รวมถึง ธปท.ร่วมมือกับเอกชนออกมาตรการดูแลตลาดตราสารหนี้ทั้งระบบ อัดฉีดสภาพคล่อง รวม 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตลาดเงิน ตลาดทุนไทย

ล่าสุด เมื่อ 24 มีนาคม 2563 ครม.เห็นชอบชุดมาตรการบรรเทาและเยียวยาระยะที่ 2 รวม 15 มาตรการ มีมาตรการเด่นๆ นอกเหนือจากลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน เช่น ปล่อยกู้ให้คนตกงาน ดอกเบี้ยพิเศษผ่านจากธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท, เลื่อนชำระภาษีบุคคลธรรมดาถึง 31 สิงหาคม จากเดิมมีนาคม, เลื่อนชำระภาษีนิติบุคคลถึงเดือนกันยายน, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยเอสเอ็มอีดอกเบี้ยพิเศษ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

มาตรการระยะที่ 2 ออกมาหลังจากมาตรการชุดแรกผ่าน ครม.ไม่ถึงเดือน โดยการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 10 มีนาคม เห็นชอบชุดมาตรการบรรเทาและเยียวยาชุดแรก 14-15 มาตรการ ซึ่งความช่วยเหลือเด่นๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 1.5 แสนล้านบาท, พักชำระเงินต้น ผ่อนภาระดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ของแบงก์รัฐ, สินเชื่อจากกองทุนประกันสังคมวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท, ลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายลงเหลือ 1.5% จากเดิม 3%, ให้มนุษย์เงินเดือนซื้อกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) เพิ่มอีก 2 แสนบาท, ตั้งกองทุน 2 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ, ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตหน้ากากอนามัย 6 เดือน

รวมแล้วมาตรการทั้ง 2 ชุด น่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

ทรุดหนักกว่าต้มยำกุ้ง

แม้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย แต่ กนง.ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ติดลบ 5.3% ถือว่าเป็นระดับคาดการณ์ต่ำที่สุดกว่าทุกสำนัก ต่ำกว่าเอกชนมองต่ำสุดคือติดลบ 3% และต่ำสุดในรอบหลายสิบปี นับจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540-2541

การหั่นจีดีพีลบมากขนาดนั้น เพราะ กนง.มองว่าโควิด-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงินเศรษฐกิจ และสังคม คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวก 3% ในปี 2564

ระดับจีดีพีคาดการณ์ติดลบ 5.3% ทำเอา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นั่งไม่ติดเก้าอี้ เรียกประชุมหน่วยงานด้านการเงินทั้งให้เตรียมพร้อมมาตรการชุดที่ 3 ต่อทันที โดยยอมรับว่าสถานการณ์ในไทยขณะนี้หนักว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งจีดีพีไทยติดลบกว่า 10% ดังนั้น การที่ กนง.ประเมินลบ 5.3% จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ

วิกฤตต้มยำกุ้ง คนที่มีสตางค์เจ็บมาก แต่เกษตรกรดี ท้องถิ่นยังไปได้ สวนทางกับขณะนี้ทั้งคนจนและคนรวยได้รับผลกระทบ ซึ่งปัญหาครั้งนี้มันหนัก ติดลบทั้งโลก หากจีดีพีไทยจะลบคงหนีไม่ได้

ดังนั้น จึงเร่งรัดให้กระทรวงการคลังออกชุดมาตรการระยะที่ 3 ช่วงเดือนเมษายน นอกจากมาช่วยรับมือโควิด-19 แล้วยังต้องมารับมือปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า โดยมาตรการจะเน้นการดูแลเศรษฐกิจระดับฐานราก ดูแลประชาชนในต่างจังหวัดให้มีงานทำ หลังจากโควิด-19 มีการปิดสถานที่ทั้งห้าง ร้านอาหาร ผับ บาร์ ส่งผลให้ประชาชนเดินทางกลับต่างจังหวัดจำนวนมาก แทบทำให้ กทม.เป็นเมืองร้าง

งัด พ.ร.ก.กู้เงินพยุง ศก.

เมื่อหันกลับมาดูเงินในกระเป๋ารัฐที่จะนำมาดูแลเศรษฐกิจอาจไม่น่าเพียงพอกับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลสั่งการให้กระทรวงการคลังเตรียมพร้อม พ.ร.ก.กู้เงิน คาดว่าจะมีการกู้เงินรอบแรกไม่ต่ำกว่า 2-5 แสนล้านบาท

ทั้งสมคิดและ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ประสานเสียงยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะฐานะทางการคลังยังแข็งแกร่ง ขณะนี้ระดับหนี้ต่อจีดีพีเพียง 41-42% ยังต่ำ กรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดหนี้ต่อจีดีพีไว้ 60% ดังนั้น ยังมีช่องว่างในการกู้เงินในระดับ 1-2 ล้านล้านบาท แบบสบายๆ แต่การกู้เงินต้องยึดตามกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จะกู้เงินมาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย กู้มาเพื่อใช้หาเสียงให้พรรคการเมืองเหมือนในอดีตนั้นคงไม่ได้

อุตตมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกู้เงินว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมการเรื่องการกู้เงินเพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจ ตัวเลขการกู้เงิน 2 แสนล้านบาทนั้น ในหลักการทำได้ไม่มีปัญหา แต่ขอให้รอตัวเลขที่ชัดๆ อีกครั้งว่าจะกู้เท่าไร เพราะต้องดูว่าจะเอาเงินไปทำอะไรบ้างก่อนจึงจะกำหนดวงเงินได้

ด้าน บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงินให้ความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงินว่า รัฐบาลควรกู้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท และไม่ควรเกิน 1.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของจีดีพี โดยนำเงินไปใช้ในด้านสาธารณสุข ถ้ายังหยุดไวรัสไม่ได้ก็ไม่มีทางเปิดเศรษฐกิจใหม่ได้ ต้องนำเงินมาช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนช่วยเหลือธุรกิจที่ถูกรัฐสั่งปิด รวมถึงนำเงินไปดูแลสภาพคล่องและช่วยเหลือให้ตลาดการเงินยังดำรงอยู่ได้

ข้อเสนอแนะกู้เงิน 1-1.7 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของจีดีพี เป็นระดับเดียวกับสิงคโปร์และสหรัฐประกาศใช้เงิน 10% ของจีพีดีในการดูแลเศรษฐกิจ

บรรยงมองว่าไทยมีวินัยทางการคลัง มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำแค่ 42% ดังนั้น จึงมีศักยภาพในการกู้เงินในระดับมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

โมเดลซาร์สชี้มิ.ย.ปกติ

ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย จากการประเมินของ ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 3.5-4 แสนล้านบาทต่อเดือน หรือตลอด 3-4 เดือน ผลกระทบจะไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาท-1 ล้านล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าจะยาวนานแค่ไหน

หากนำการแพร่ระบาดโรคซาร์สในปี 2546 มาเทียบเคียงกับโควิด-19 พบว่าซาร์สสามารถหยุดการแพร่ระบาดภายใน 4 เดือน รวมถึงสถิติจากประเทศจีนสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใน 2 เดือน ทำให้มีความหวังว่าไทยหยุดการแพร่ไวรัสได้ใน 4 เดือน

ไทยมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยมาตั้งแต่หลังตรุษจีน ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 เดือน เมื่อดูจากสถิติการติดเชื้อในไทย ตัวเลขล่าสุดเริ่มลดลงจากสูงสุดวันละ 188 คน ดังนั้น ลุ้นกันว่าอีก 2 เดือนข้างหน้าหยุดการแพร่ระบาดได้ไหม

หวังว่าในเดือนเมษายนสถิติการติดเชื้อลดลง และดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม ทำให้ในเดือนมิถุนายน กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ จากขณะนี้รัฐประกาศปิดเมืองถึงวันที่ 30 เมษายน เพื่อหยุดการแพร่เชื้อในไทย

แม้หยุดแพร่เชื้อในไทยได้แล้วต้องติดตามว่าทั่วโลกเป็นอย่างไร หากยังไม่สามารถหยุดได้ในเวลา 4 เดือนเหมือนไทย เศรษฐกิจไทยอาจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่นัก เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาจากภายในประเทศทั้งการส่งออก และท่องเที่ยวต่างชาติ

สิ่งสำคัญของมาตรการเศรษฐกิจคือ อันดับแรกต้องดูแลกลุ่มคนที่เดือดร้อน หลังจากนั้นต้องอัดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยวให้คนไทยเที่ยวไทย ที่สำคัญต้องเร่งการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจในระยะยาว

วัดฝีมือรัฐฝ่าวิกฤต

ความเห็นจากเอกชน โดย อิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มองว่าวิกฤตในไทยขณะนี้แตกต่างจากปีวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 เพราะขณะนี้รัฐบาลมีเครื่องมือดูแลเศรษฐกิจมาก หนี้ต่อจีดีพีต่ำ สามารถกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจเต็มที่

นอกจากนี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับสูง ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ธปท.รายงานตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 2.19 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยกว่า 7 ล้านล้านบาท ส่วนสถาบันการเงินของไทยแข็งแกร่ง กลับด้านจากปี 2540 ที่สถาบันการเงินไทยอ่อนแอ เงินภาครัฐไม่มี จึงต้องพึ่งพาไอเอ็มเอฟ

ทำให้ในปีนี้ไทยมีเครื่องมือทางการเงินมาดูแลเศรษฐกิจอีกมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือนโยบายการดูแลเศรษฐกิจต้องให้ตรงจุด เพราะผลกระทบเกิดขึ้นอยู่ในวงกว้าง ต้องโฟกัสให้ถูกจะดูแลอย่างไร นโยบายของรัฐเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า

ด้าน กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะมาตรการระยะสั้นคือ ต้องชะลอการเลิกจ้าง และประคับประคองผู้ถูกเลิกจ้างด้วยการสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ และเสนอให้ตั้งกองทุน (อาจจะร่วมกับเอกชนด้วย) ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปจ่ายค่าแรง

รวมถึงต้องการให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจ ถ้าวิกฤตโควิด-19 ผ่านไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการกลับมาดำเนินการของภาคธุรกิจ ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในระยะยาว

กลินท์แนะต่อว่า ภาครัฐควรต้องรักษาระบบการเงินด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่ามีเงินทุนในระบบแบบไม่จำกัด ซึ่งภาคเอกชนพร้อมร่วมมือกับรัฐ เพื่อช่วยให้ไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้

เมื่อเงินไม่ใช่ปัญหา และเอกชนพร้อมร่วมมือ ดังนั้น จากนี้ไปต้องวัดฝีมือทีมเศรษฐกิจและรัฐบาลชุดนี้ ว่าจะออกมาตรการมาดูแลเศรษฐกิจ ตรงจุด โดนใจ ช่วยคนในชาติ ทำให้เศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image