กสทช.ลุยเน็ตฟรี-อัพสปีด หนุน ‘WFH’ เต็มสูบ

“เวิร์กฟรอมโฮม” หรือ WFH หรือการทำงานจากที่บ้าน เป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลผุดขึ้น เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

จากมาตรการดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่าการใช้งานดาต้าของคนไทยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2563 จากข้อมูลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) 3 ราย รวม 93.2 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 11.14% โดยเดือนกุมภาพันธ์มีการใช้งานอยู่ที่ 715,509 เทราไบต์ ขณะที่เดือนมีนาคมอยู่ที่ 795,236 เทราไบต์

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส มียอดการใช้งานดาต้าเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 358,000 เทราไบต์ ขณะที่เดือนมีนาคมอยู่ที่ 402,000 เทราไบต์ เพิ่มขึ้น 12.29% ส่วนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มียอดการใช้งานดาต้าเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 300,000 เทราไบต์ ขณะที่เดือนมีนาคมอยู่ที่ 330,000 เทราไบต์ เพิ่มขึ้น 10% และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มียอดการใช้งานดาต้าเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 57,509 เทราไบต์ ขณะที่เดือนมีนาคมอยู่ที่ 63,236 เทราไบต์ เพิ่มขึ้น 9.95%

ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการดังกล่าวของรัฐบาล รวมถึงช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และ กสทช. จึงปิ๊งไอเดียลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเตอร์เน็ต

Advertisement

โดยแรกเริ่มแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ให้ประชาชนใช้งานอินเตอร์มือถือเพิ่มฟรี 10 กิกะไบต์ ต่อคน ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยจะสนับสนุนประมาณ 50 ล้านเลขหมาย ใช้เม็ดเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 3,500 ล้านบาท ให้หักจากเงินที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) มีหน้าที่จะต้องชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใบอนุญาตที่ กสทช. กำหนด จนกว่าจะครบจำนวน และให้ กสทช. นำเงินส่วนที่เหลือส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

และ 2.อัพสปีดอินเตอร์เน็ตบ้านเป็น 100 เมกะบิต ฟรี 3 เดือน โดยใช้เงินประมาณ 730 ล้านบาท ซึ่ง กสทช.จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินที่ต้องนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน

แต่ยังไม่ทันได้เข้า ครม. ก็มีเรื่องให้ต้องดึงกลับ เนื่องจากการใช้เม็ดเงินงบประมาณที่ต้องหักจากเงินที่โอเปอเรเตอร์มีหน้าที่จะต้องชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใบอนุญาตที่ กสทช.กำหนด จนกว่าจะครบจำนวน และให้ กสทช.นำเงินส่วนที่เหลือส่งเป็นรายได้แผ่นดินนั้น ไม่สามารถทำได้

Advertisement

ทำให้ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอีเอส) มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นวาระเร่งด่วน และมีมติให้ใช้งบประมาณจากกองทุน กทปส. 3,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชน 2 ส่วน

1.ให้ประชาชนใช้งานอินเตอร์มือถือเพิ่มฟรี 10 กิกะไบต์ เป็นเวลา 30 วัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ ทั้งนี้ จะให้เฉพาะผู้ใช้โปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตไม่เกิน 10 กิกะไบต์ โดยจะสมทบเพิ่มให้อีก 10 กิกะไบต์ และแพคเกจอินเตอร์เน็ตแบบไม่จำกัด (อันลิมิเต็ด) จะไม่ได้รับการสนับสนุน

และ 2.อัพสปีดอินเตอร์เน็ตบ้านเป็น 100 เมกะบิต โดยผู้ใช้บริการจะได้รับ 1 คน ต่อ 1 สิทธิ สำหรับบ้านใดที่ใช้สายทองแดง ผู้ให้บริการจะอัพสปีดให้เต็มความสามารถของอุปกรณ์ สำหรับบ้านที่ใช้อินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ ที่มีความเร็วอินเตอร์เน็ตไม่ถึง 100 เมกะบิต จะอัพสปีดให้เป็น 100 เมกะบิต ทันที เป็นเวลา 30 วัน

การรับสิทธิเพิ่มอินเตอร์เน็ตมือถือฟรี กสทช. ได้จัดทำเทคนิคการกดรับสิทธิอย่างไรให้ใช้งานได้นานที่สุด โดยให้ประชาชนกด *165*1 ตามด้วยเครื่องหมาย # และกดโทรออก เพื่อตรวจสอบโปรโมชั่นใช้งานอยู่ปัจจุบัน

จากนั้นกด *165*2 ตามด้วยเครื่องหมาย # และกดโทรออก เพื่อตรวจสอบยอดใช้งาน วันคงเหลือ และยอดเงินคงเหลือ

ทั้งนี้ หากโปรโมชั่นที่ใช้งานอยู่สิ้นสุดเมื่อใด ควรกดรับสิทธิอินเตอร์เน็ตเพิ่มฟรีในวันถัดไป โดยกด *170* ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักเครื่องหมาย # และกดโทรออก

จากนั้นจะได้รับเอสเอ็มเอสยืนยันการรับสิทธิ โดยประชาชนสามารถกดรับสิทธิวันใดก็ได้ ระหว่างวันที่ 10-30 เมษายน 2563 ซึ่งสามารถใช้งานได้ 30 วันหลังจากลงทะเบียนรับสิทธิ

โดยยอดผู้ได้รับสิทธิเพิ่มอินเตอร์เน็ตมือถือฟรี วันแรก มีจำนวน 3.03 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น เลขหมายในระบบเติมเงิน (พรีเพด) 2.01 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 66.24% และเลขหมายในระบบรายเดือน (โพสต์เพด) 1.02 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 33.76% ขณะที่ยอดผู้ได้รับสิทธิ 2 วัน อยู่ที่ 7 ล้านเลขหมาย

“สุเทพ เตมานุวัตร์” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ระบุว่า เจตนารมณ์ของการให้บริการอินเตอร์เน็ตเพิ่มฟรีของรัฐบาล และ กสทช. เพื่อต้องการสนับสนุนให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ โดยหวังว่าหลังจากประชาชนได้รับอินเตอร์เน็ตเพิ่มฟรีแล้ว จะใช้ทรัพยากรนี้เพื่ออยู่บ้านกัน เพื่อให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่าทรัพยากรด้านโทรคมนาคม หรือคลื่นความถี่มีอยู่อย่างจำกัด หากได้รับอินเตอร์เน็ตเพิ่มฟรีแล้วอยากให้พี่น้องประชาชนใช้อย่างประหยัดและรอบคอบ เพราะถึงแม้โอเปอเรเตอร์จะเสริมศักยภาพ แต่หากทุกคนยังระดมใช้งานอย่างไม่บันยะบันยังก็จะเกิดการติดขัดได้

ขณะที่ “สืบศักดิ์ สืบภักดี” นักวิชาการด้านโทรคมนาคม และเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า มาตรการนี้จะช่วยให้ผู้เวิร์กฟรอมโฮม หรือเรียนออนไลน์ได้อยู่บ้านอย่างเบาใจ เรื่องค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ต แต่ขณะเดียวกัน อยากฝากให้ทุกคนพึงระลึกเสมอว่าเครือข่ายการสื่อสารมีความสำคัญมาก

ดังนั้น ควรแบ่งปันทรัพยากรโครงข่ายซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้เครือข่ายโทรคมนาคมสื่อสารได้ไม่ขาดตอน

และในฐานะประชาชนผู้ใช้บริการ อยากให้ใช้เครือข่ายสื่อสาร หรือใช้งานดาต้า ได้รับจากมาตรการนี้อย่างมีสติ คือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เครือข่ายมีความหนาแน่นจนเกินไป หรืออาจทำให้ผู้ใช้บริการคนอื่นไม่สามารถใช้งานได้ เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ อาจมีผู้ใช้บริการที่ต้องการใช้งานเครือข่ายด้วยเหตุจำเป็นเร่งด่วนหรือเรื่องสำคัญ

“ได้เพิ่มอินเตอร์เน็ตมาฟรี ก็ไม่ใช่ว่าจะเอาดาต้าฟรีไปถลุงเล่น ดูหนัง ดูสตรีมมิ่งจนกว่าจะหมด ไม่จำเป็นต้องใช้ให้หมดก็ได้ เอาไว้ใช้งานเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ในการเวิร์กฟรอมโฮม หรือการเรียนออนไลน์” สืบศักดิ์ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image