ลุ้นไทยจบโควิดเร็ว เดินหน้าฟื้นฟู ศก. แรงงาน 7 ล้านคนเลิกเคว้ง-มีอาชีพมั่นคง

แม้ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการจากภาครัฐ ถึงมาตรการ “คลายล็อกดาวน์” ของไทย หลังผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของไทยลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 10 กว่าคน

แต่สัญญาณต่างๆ ที่ออกมาจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการแถลงจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ที่ระบุว่า เรื่องการต่อหรือไม่ต่อการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายนนั้น เป็นเรื่องต้องตัดสินใจในระดับสูงสุดของ ศบค. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.

พร้อมระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 เมษายนนี้ จะประกาศการออกกฎใหญ่ของประเทศ ส่วนการผ่อนคลายเป็นเรื่องของจังหวัดที่จะตามมา

ลุ้นคลายล็อกดาวน์บางธุรกิจ

Advertisement

ขณะนี้หลายฝ่ายจึงคาดการณ์รัฐบาลน่าจะเห็นการคลายล็อกดาวน์ให้บางกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทั้งร้านอาหารขนาดเล็กให้นั่งทานได้ ตลาดสำคัญต่างๆ และร้านตัดผมรายย่อย

ย้อนเหตุการณ์ช่วงปลายเดือนมีนาคม ไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทะยานขึ้นหลักร้อยคน บวกกับเริ่มมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น ในช่วงปลายเดือนมีนาคมรัฐบาลจึงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้เกิดล็อกดาวน์ในทุกภาคส่วนเพื่อควบคุมการแพร่เชื้อไวรัส พร้อมการรณรงค์ให้อยู่บ้าน

ผลจากการล็อกดาวน์ นำมาซึ่งประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในการสั่งปิดธุรกิจที่มีความเสี่ยง ปรากฏการณ์ตกงานนับล้านคนเกิดขึ้นทันที โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจร้านอาหาร

Advertisement

กกร.คาดตกงาน7ล้านคน

ตัวเลขตกงานยังคงหลากหลาย เพราะแรงงานนอกระบบของไทยมีจำนวนมาก แต่ทุกฝ่ายฟันธงตรงกันว่าหลายล้านคนแน่นอน ล่าสุด ครม.ยังเห็นชอบหลักการขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการ ผู้ประกอบการอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน จากเดิม 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน

ขณะที่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดข้อมูลว่า จากจำนวนแรงงานทั้งหมดของประเทศทุกภาคส่วน ประมาณ 38 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานตกงานประมาณ 7.1 ล้านคน ภายใต้โควิด-19 ที่จบภายในเดือนมิถุนายนนี้

แบ่งเป็นธุรกิจบันเทิง คาดว่าจะตกงาน 8 หมื่นคน ร้านอาหาร 3.75 แสนคน สปาและร้านนวดทั้งในและนอกระบบประมาณ 2.4 แสนคนโรงแรม 9.8 แสนคน ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน ภาคอสังหาริมทรัพย์ 7.7 หมื่นคน ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน และสิ่งทอ 2 แสนคน

นอกจากนี้ หอการค้ายังประเมินว่าจะมีตัวเลขคนตกงานทั้งในและนอกระบบประกันสังคมประมาณ 7 ล้านคน แต่หากปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อออกไป 2-3 เดือน จะมีคนตกงานประมาณ 10 ล้านคน

อีไอซีประเมินตกงานสูง

ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินวิกฤตแรงงานปีนี้ว่า เสี่ยงตกงานเป็นประวัติการณ์ ซ้ำเติมความเปราะบางภาคครัวเรือน

โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤตที่ยังไม่รู้จุดจบแน่ชัด จากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในเกือบทุกสาขาธุรกิจ มีความรุนแรงเป็นพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว

วิกฤตดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานซึ่งมีสัญญาณความอ่อนแอมาตั้งแต่ในช่วงก่อนหน้า โดยกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้างเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นคนส่วนมากถึง 62% ของแรงงานไทย และมีความอ่อนไหวสูงต่อสภาวะเศรษฐกิจ

อีไอซียังประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ถือเป็นระดับที่สูงกว่าทุกวิกฤตการณ์ในอดีตของไทย เพราะผลกระทบครั้งนี้กินวงกว้างกว่าและมีการหยุดชะงักฉับพลันของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเกษตรอาจไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซับคนตกงานจากภาคอื่นๆ ได้เหมือนในอดีตเพราะประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน

นอกจากนี้ จะมีแรงงานอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ตกงาน แต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้จะลดลงอย่างมาก หรือไม่มีรายได้เลยในบางช่วง คาดว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะเป็นไปอย่างช้าๆ และผลจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ แต่ยังไม่มียารักษาและวัคซีน ความเสี่ยงในตลาดแรงงานมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องไปยังคุณภาพชีวิตของภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบางอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยครัวเรือนไทยประมาณ 60% มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายเกิน 3 เดือน

ภาคผลิต-เกษตรจ่อตกงานด้วย

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย รายงานว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2563 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลัก 14 คลัสเตอร์ มีมูลค่าส่งออกติดลบต่อ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม เหล็ก เครื่องสำอาง หากโควิด-19 ทั่วโลกยังยืดเยื้อไปอีก 1-2 เดือนข้างหน้า จะส่งผลกระทบให้กิจการใน 14 คลัสเตอร์ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี อาจปิดตัวลง สิ่งที่ตามมาคือการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งภาคผลิตมีแรงงานในระบบประมาณ 6.1 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังกังวลว่าแรงงานในภาคการเกษตรอีก 9 ล้านครัวเรือน หรือราว 12 ล้านคน อาจเป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงตกงานเช่นกัน แต่สาเหตุหลักมาจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในปี 2563 บวกกับได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ติดลบจากโควิด-19 โดยสินค้าเกษตรที่เกี่ยวพันกับการส่งออก อาทิ ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ซึ่งล่าสุดรัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรด้วยการแจกเงิน รูปแบบคล้ายกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน

ออกกม.4ฉบับ-ส่งจม.หาเจ้าสัว

สถานการณ์ตึงเครียดข้างต้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือหลักคือ มาตรการทางการเงิน เพื่อใช้เยียวยาเร่งด่วน รัฐบาลจึงตัดสินใจออกกฎหมาย 4 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อดูแลเอสเอ็มอี วงเงิน 5 แสนล้านบาท พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเพื่ออุ้มธนบัตรเอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2563

นอกจากนี้ รัฐบาลยังตัดสินใจตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบ่งเป็น 5 คณะ คือ 1.คณะทำงานการปรับปรุงและพัฒนาเงื่อนไขการปล่อยซอฟต์โลนที่จะปล่อยให้กับภาคเอกชน 2.คณะทำงานในการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะการกลับมาดำเนินและเปิดธุรกิจของสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้บางธุรกิจสามารถดำเนินการได้ก่อนหากสถานการณ์คลี่คลาย รวมถึงดูความต่อเนื่องของระบบขนส่งและธุรกิจต่างๆ

3.คณะทำงานเพื่อเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน 4.คณะทำงานเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งการเข้าถึงสินเชื่อ และการจ้างงาน โดยเน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (ไมโครเอสเอ็มอี) และ 5.คณะทำงานเรื่องการวางแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ซึ่งทั้ง 5 คณะต่างมีมาตรการต่างๆ ออกมา ส่งต่อให้รัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการ หนึ่งในข้อเสนอที่ประชาชนรอคอย คือ การเปิดบางธุรกิจ เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ที่ตึงเครียดในเวลานี้ หรือมาตรการขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 1% ให้กับเอสเอ็มอี เพื่อให้มีสภาพคล่อง ประคองการจ้างงานต่อไป และมาตรการเยียวยาเกษตรกรโดยด่วน

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจและสังคมให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังส่งจดหมายถึงมหาเศรษฐีไทย 20 อันดับแรก เพื่อชวนให้ร่วมกอบกู้ประเทศด้วยกัน

อัด4แสนล้านฟื้นฟูศก.ฐานราก

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการคลายล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาในปัจจุบันที่จำเป็น แต่ยังรวมถึงมาตรการรองรับหลังจากนี้ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่บอบช้ำอย่างหนัก การกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ มีการย้ายฐานไปอยู่ที่ภูมิลำเนาเดิม

ประเด็นนี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กระทรวงการคลังเตรียมทำแผนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการปลดล็อกดาวน์ ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ฐานราก (โลคอล อีโคโนมี) ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท อยู่แล้ว หลังพบว่าไทยถือเป็นประเทศอันดับต้นของโลกที่เตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังการติดเชื้อลดลงมาก และน่าจะจบภายในเร็วๆ นี้

โดยแนวคิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก รองนายกรัฐมนตรี ต้องการใช้กลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอี ดี แบงก์ เข้ามาดูแล

“เพราะเศรษฐกิจฐานรากเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่การส่งออก การท่องเที่ยวคงไม่ฟื้นในเร็วๆ นี้ หากหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาโตเช่นอดีตคงยาก ถ้าสหรัฐและยุโรปยังพบการติดเชื้อจำนวนมากเช่นนี้อยู่ ดังนั้น การบริโภคภายในประเทศและการใช้จ่ายภาครัฐจึงสำคัญมาก เพราะแรงงานจะกลับมาสู่โรงงานทั้งหมดไม่ได้ ต้องสนับสนุนให้พวกเขาเข้าไปสู่การผลิตภาคการเกษตรที่ยกระดับคุณภาพไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป นี่คือทางรอดที่จะหล่อเลี้ยงสังคมไทยให้ข้ามผ่านจุดนี้ไปได้ ต้องระเบิดจากภายใน” รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ

ด้าน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงความเห็นว่า โลกเปลี่ยนแปลงไป ทุกประเทศเน้นปกป้องอุตสาหกรรมตัวเอง ประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้หันมาให้ความสำคัญเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น

กระทรวงศก.เดินหน้าฟื้นฟู

อย่างไรก็ตาม สำรวจข้อมูลจากหลายกระทรวง พบว่าเริ่มเดินหน้าวางโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก สร้างงานจ้างงานแล้ว

หนึ่งในนั้นคือ กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ล่าสุด ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 และภัยแล้งวงเงินรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยจะขอสนับสนุนจากงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เงินดังกล่าวเพื่อใช้ด้านเพิ่มประสิทธิภาพ บริหารจัดการและการตลาดตามโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการช่วยเหลือเอสเอ็มอี

ขณะเดียวกัน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอี ดี แบงก์ ยังเตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอีแบ่งเป็นมาตรการหลัก คือ ที่เกี่ยวข้องกับการพักชำระหนี้ และเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยผ่อนปรน 34,500 ล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการลงทุนขยายปรับปรุงกิจการ 24,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงยังเตรียมจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาแหล่งน้ำและจ้างงาน อาทิ จัดหาแหล่งน้ำและช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จัดหาแหล่งน้ำขุมเหมืองเพื่อกระตุ้นการจ้างงานในพื้นที่

ขณะที่ กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำโครงการเพื่อกระตุ้นการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอนุรักษ์ ประหยัดพลังงาน เบื้องต้นได้เตรียมงบประมาณ 40 ล้านบาท โดยไม่ได้ของบประมาณจากรัฐเพิ่ม งบส่วนนี้สำหรับการจ้างงานประมาณ 350 คน ระยะเวลา 6 เดือน (เมษายน-กันยายน 2563)

ทั้งนี้ คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยังปรับลดเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานลงเหลือ 5,600 ล้านบาท จากเดิมวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มการจ้างงาน เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาล ส่วนงบที่เหลืออีกประมาณ 4,400 ล้านบาท มองว่าอาจใช้ไม่ทันปีนี้ เบื้องต้นจึงนำไปรวมกับงบประมาณปี 2564 เพื่อรักษาเสถียรภาพของกองทุนฯ

โดยเป้าหมายการใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นการจ้างงาน ผ่านโครงการพลังงานที่ชุมชนมีส่วนร่วม เกิดประโยชน์ร่วม โดยจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เสนอโครงการด้านพลังงาน พร้อมจัดตั้งอาสาสมัครพลังงาน ให้ทำงานร่วมกับพลังงานจังหวัด โดยจะเปิดให้ยื่นเสนอโครงการภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และอนุมัติเงินในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้

ขณะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เตรียมใช้งบประมาณปี 2563 ในการจ้างงาน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ในภาวะแล้ง ตามมติ วงเงินรวม 4,050 ล้านบาท สามารถจ้างงานได้ 58,300 คน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจ้างงานกับกรมชลฯ จะได้ค่าจ้างวันละ 377 บาทต่อคน

ด้าน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเสนอของบประมาณจากงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเช่นกัน ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลในการของบประมาณ เพื่อมาใช้ในมาตรการซ่อมและสร้างแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงถนน และสะพานต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวในประเทศที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง ให้เกิดความประทับใจ หลังจากรัฐบาลได้ปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์ และอนุญาตให้สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้แล้ว รวมถึงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง

ส.อ.ท.ชู”เมด อิน ไทยแลนด์”กู้ศก.

จะเห็นว่า หากไทยไม่กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทย อาจไม่ทันการณ์ เพราะกรณีที่ไทยและทุกประเทศยุติโควิด-19 ได้ แต่เวลานั้นทั้งภาคส่งออก และการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องมือสร้างรายได้หลักของประเทศ ก็อาจใช้การไม่ได้ เพราะทุกประเทศบอบช้ำ ต่างต้องการเวลาฟื้นฟูตนเองเช่นกัน ขณะเดียวกันยังมีแนวโน้มสูงว่าการค้าการลงทุนของโลกจะเปลี่ยนไป ประเทศพัฒนาแล้วจะพึ่งพาตนเองมากขึ้นอาจย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่

อีกกรณีที่น่าจับตามากที่สุด คือ กรณีไทยจบ แต่ประเทศอื่นไม่จบ ประเด็นนี้ไทยต้องฟื้นฟูตัวเอง การหวังส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างชาติยิ่งเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ

เรื่องนี้ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า นอกจากมาตรการช่วยเหลือโดยด่วนที่ภาครัฐต้องใส่เข้าไป ทั้งการดูแลประชาชนที่ตกงาน ดูแลเอสเอ็มอีผ่านมาตรการทางการเงิน ภาษี เพื่อให้ธุรกิจประคองการจ้างงานต่อไป ระยะข้างหน้ามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ในมุมของ ส.อ.ท.อยากเสนอให้รัฐสนับสนุนสินค้ามาตรฐานที่ผลิตในประเทศไทย (เมด อิน ไทยแลนด์) นำร่องในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ หากภาครัฐนำร่อง ประชาชนจะเกิดความเชื่อมั่น

ขณะเดียวกันอยากให้รณรงค์ไปถึงสินค้าในชีวิตประจำวันอื่นๆ เพราะการบริโภคในประเทศจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่วนภาคการส่งออกก็ต้องมุ่งตลาดใหม่ๆ ควบคู่กับสินค้าส่งออกที่มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อให้ขายได้ราคาสูงขึ้น ขณะที่ภาคท่องเที่ยวต้องมุ่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพราะมูลค่าสูง และไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ

นับถอยหลังโควิด-19 จบ ไทยจะเข้าสู่ “นิว นอร์มอล” คือ สภาพเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมปกติ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤต เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก ถือเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจช่วยอย่างมาก เพราะความร่วมมือนี้คือเดิมพันสำคัญที่จะชุบชีวิตแรงงาน 7 ล้านคนที่เคยขวัญผวา ให้กลับมามีอาชีพที่มั่นคงอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image