สำรวจสินค้า ‘ตึ๊ง’ จำนำในยุค ‘โควิด’

สำรวจสินค้า ‘ตึ๊ง’ จำนำในยุค ‘โควิด’

สถานการณ์โรคระบาดทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันเป็นวงกว้าง ‘โรงรับจำนำ’ จึงเป็นความหวังของใครหลายคน

นางไรดา กะจิ ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีชาวบ้านเข้ามาใช้บริการมากขึ้น จำนำทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ทำมาหากิน เช่น ครก สากกะเบือ เครื่องปั่นน้ำแข็งใส กีตาร์ไฟฟ้า กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าช่วงหลังนำเครื่องมือทำมาหากินมาจำนำกันมากขึ้น

แม้กระทั่งนำครกหินพร้อมสากกะเบือ มาจำนำไว้ในราคา 200 บาท

นางสาวนูรัยะห์ สาแม ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองเบตง จ.ยะลา กล่าวว่า โดยปกติช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนเป็นช่วที่เงินไหลออกเพราะใกล้เปิดเทอม ทำให้ประชาชนนำทรัพย์สินมาจำนำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 1-2 แสนบาท ปีนี้ต้องมาเจอกับวิกฤต โควิด-19 ทำให้หลายคน หลายอาชีพ เดือดร้อนขาดสภาพคล่อง จึงต้องมาใช้บริการโรงรับจำนำ

Advertisement

ทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นทองคำ และเครื่องมือช่าง แม้กระทั่งจักรยาน ปกติเราจะไม่รับสิ่งของไม่จำเป็น เพราะสถานที่เก็บมีน้อย แต่ปีนี้จำเป็นต้องรับ เพราะชาวบ้านจำเป็นกว่าจริงๆ ต้องช่วยเหลือกัน

นายชยเดช วรรณรัตน์ ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ แห่งที่ 1 (ท่าแพ) กล่าวว่า ส่วนใหญ่จำนำทองรูปพรรณ 95% ที่เหลือเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ หม้อหุงข้าว พัดลม ทีวี โน้ตบุ๊ก และนาฬิกา แต่ไม่รับจำนำมือถือ เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบประเมินราคา ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยเดือนละ 3,000 ราย จากเดิม 2,800 ราย เพิ่มขึ้น 2% ช่วงโควิดระบาดมีผู้มาไถ่ถอนทอง

รูปพรรณเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปขายที่ร้านทอง เนื่องจากราคาปรับเพิ่มเป็นบาทละ 25,000 บาท ส่วนครกทราบมีผู้นำครกไปจำนำที่สถานธนานุบาลเทศบาลตำบลป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ เพียงรายเดียว วงเงิน 200 บาทเท่านั้น

ที่สถานธนานุบาลเทศบาลเมืองชุมแสง หรือโรงรับจำนำในพื้นที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้นำเครื่องรถไถแบบหัวลากมาจำนำกันเป็นจำนวนมาก หลังประสบกับปัญหาภัยแล้งมายาวนานตั้งแต่ปีที่แล้วมาถึงปีนี้ ภายในสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองชุมแสง มีเครื่องรถไถจำนวนเกือบ 100 เครื่อง รวมถึงนำทองรูปพรรณ เครื่องใช้ไฟฟ้า และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อีกจำนวนมาก

นางเปรมจิตต์ ชูเลิศ ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองชุมแสง กล่าวว่า จำนำทองรูปพรรณมากที่สุด รองลงมาก็เป็นเครื่องรถไถ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่บางรายนำสิ่งของที่ไม่รับจำนำมาจำนำ ทางเราก็รับไว้ มีชาวบ้านนำเครื่องนวดไฟฟ้ามาจำนำ รับจำนำในราคา 200 บาท อย่างน้อยก็เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพวกเขาไปก่อน

นางมัณฑนา พรรณขรรค์ ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองมหาสารคาม กล่าวว่า ทรัพย์สินส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เป็นทองคำ นอกจากนั้นจะเป็นเครื่องมือช่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น ทีวี เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องรถไถ ช่วงนี้จะมีผ้าไหม หม้อหุงข้าวก็มีประชาชนนำมาจำนำ

นางภูวะนาศ สวนสวัสดิ์ ผู้จัดการสถานธนานุบาลนครพิษณุโลก 1 กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ มาจำนำ ในราคาระดับหลักร้อยจนถึงพันบาทขึ้นอยู่กับสภาพ ส่วนของที่แปลกสุดที่รับจำนำในช่วงนี้ คือ ครกหินศิลารับจำนำไว้ที่ราคา 300 บาท ล่าสุดยังมีชาวบ้านนำขันทองเหลืองขนาดเล็กมาจำนำ รับจำนำในราคา 300 บาท รับไว้เพราะอยากช่วยเหลือกัน

เป็นที่น่าแปลกใจในช่วงเดือนเมษายนนี้ ประชาชนนำสิ่งของมาจำนำแปลกๆ มีทั้งเครื่องมือประกอบอาชีพ เครื่องมือช่างตัดผม ช่างก่อสร้าง หม้อหุงข้าวไฟฟ้า กระทะก็มี แต่ขณะเดียวกันคนมาไถ่ถอนทองคำออกไปเป็นจำนวนมากสวนทางสินค้าประเภทอื่นๆ เนื่องจากทองคำปรับราคาสูงขึ้น คาดว่าจะนำไปจำหน่ายต่อที่ร้านทองที่สถานธนานุบาล เทศบาลนครพิษณุโลก 1 อำเภอเมืองพิษณุโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทรัพย์สินที่ประชาชนนำมาจำนำประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือประกอบอาชีพและอื่นๆ เช่น สว่านไฟฟ้า จักรเย็บผ้าไฟฟ้า หม้อหุงข้าว ครกหินศิลา ขันเนื้อนวโลหะโบราณ เตารีดไฟฟ้า ฯลฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image