ตีแผ่ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล.สู้โควิด-19 มรดกหนี้ถึง “ลูก-หลาน” คุ้มค่าเพียงใด?

หลังราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือคุ้นหูในชื่อ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา

ขณะนี้กระทรวงการคลังเริ่มกู้เงินก้อนแรกด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 1.2 แสนล้านบาท และหากรวมกับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ 5 หมื่นล้านบาท ขายให้ประชาชนทั่วไปเริ่มวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ รวมแล้วมีการกู้เงินรอบแรก 1.7 แสนล้านบาท เงินทั้งหมดนำไปใช้จ่ายเยียวยาเกษตรกรและกลุ่มอาชีพอิสระ

เปิดไส้ในพ.ร.ก.กู้เงิน

ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท กำหนดระยะเวลาลงนามสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 หรืออีกกว่า 1 ปีข้างหน้า

Advertisement

เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กำหนดให้นำไปใช้ใน 3 เรื่องสำคัญ คือ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19), เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบโควิด-19 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

กำหนดการใช้เงินในแต่ละด้าน ประกอบด้วย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท, การช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการ 5.5 แสนล้านบาท, การฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท

ในส่วนการเยียวยา ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคาะวงเงินใช้ไปแล้ว 3.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เยียวยาอาชีพอิสระไม่เกิน 2.4 แสนล้านบาท และเยียวยาเกษตรกร 1.5 แสนล้านบาท

Advertisement

รวมถึงเตรียมใช้เงินเพิ่มในกลุ่มเก็บตก และกลุ่มเปราะบาง ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท เช่น เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนไร้บ้าน คนชายขอบ คนไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต กลุ่มตกหล่นเครือข่ายทางวัฒนธรรม เช่น ลิเก ลำตัด กระทรวงวัฒนธรรมบุคลากร และกลุ่มตกหล่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกีฬา เช่น นักกีฬา นักมวย

หากต้องการใช้งบเยียวยา ต้องผ่านคณะเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน หลังจากนั้น ต้องเสนอผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีเลขาฯสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน ก่อนนำเสนอ ครม. และส่งเรื่องมายังกระทรวงการคลังเพื่อกู้เงิน

ฟื้นฟู4แสนล.เน้นฐานราก

ส่วนของการฟื้นฟู มีลำดับขั้นตอนการใช้เงิน เป็นไปในแนวทางเดียวกับการเยียวยา หน่วยงานต่างๆ ต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการฟื้นฟู หลังจากนั้นเข้าคณะกลั่นกรอง ก่อนนำเสนอ ครม. และส่งเรื่องมาให้คลังกู้เงิน

ทั้งนี้ ในการฟื้นฟูมีกรอบ 4 ด้าน คือ โครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์, โครงการพัฒนาและเพิ่มแหล่งน้ำในชนบท เพื่อช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร, ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน โดยอาศัยช่วงนักท่องเที่ยวลดลงในการซ่อมแซม บำรุง ให้มีความพร้อมรองรับแหล่งท่องเที่ยวหลังโควิด-19, โครงการเกี่ยวกับการฝึกและพัฒนาอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น

ในสัปดาห์นี้น่าจะมีโครงการฟื้นฟูแรกเสนอของบไปยัง ครม. เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งวงหารือกับบริหารกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสรุปแนวทางเยียวยาเกษตรกรมีข้อเสนอตั้งกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรวงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท

สมคิดตั้งเป้าหมายการใช้งบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทว่า ต้องการให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คนในท้องถิ่นมีงาน มีอาชีพ และรายได้ ขณะนี้คนตกงานใน กทม.กลับไปต่างจังหวัดหลายล้านคน หากสามารถสร้างงานในชนบท ทำให้คนเหล่านั้นไม่ต้องดิ้นรนเดินทางมาหางานทำใน กทม.หรือในเมืองใหญ่

โควิด-19 กระทบกับเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 2 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เงินและงบประมาณจากก้อนดังกล่าว อัดฉีดและดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ

ถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งจะทำให้ไทยสามารถรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ดีขึ้น

สบน.กางแผนกู้เงิน

แผนกู้ยืมเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลกำหนดกู้เงินตามความจำเป็นในการใช้เงิน อาจไม่ต้องกู้ทั้งหมด 1 ล้านล้านบาทก็ได้ หากโควิด-19 จบได้เร็ว และในการกู้เงินต้องกู้ตามโครงการผ่าน ครม.แล้วเท่านั้น

เบื้องต้นคาดว่าในปีงบ 2563 ซึ่งสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ จะกู้เงิน 6 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาท จะกู้ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2563-30 กันยายน 2564

สำหรับแหล่งเงินกู้หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่าไทยจะไปกู้ต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งเป็นเงินกู้ที่คนไทยหลายคนไม่อยากได้

ในเรื่องนี้ แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่า การกู้เงินครั้งนี้เน้นกู้ในประเทศ 80% และกู้ต่างประเทศไม่เกิน 20% เงินกู้ต่างประเทศไม่มีไอเอ็มเอฟ และหากจะกู้ต่างประเทศ มีแนวทางออกพันธบัตรไปขายให้กับสถาบันใน 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป ล่าสุดมีนักลงทุนต่างชาติสอบถามเข้ามาพอสมควร

สำหรับเครื่องมือในการกู้เงินนั้น สบน.จะใช้ทุกรูปแบบทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้นมีกู้เงินจากธนาคาร เช่น เงินกู้ทั่วไป ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) และตั๋วเงินคลัง (ทีบิว) ส่วนระยะยาวเช่น การออกพันธบัตรออมทรัพย์ ออกพันธบัตรรัฐบาลอายุต่างๆ เช่น 3 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี 30 ปี หรือ 50 ปี

การจะใช้เครื่องมือใดกู้เงินต้องประเมินกับสภาพตลาด เช่น ในช่วงนี้ตลาดพันบัตรมีความเปราะบางทั่วโลกรวมถึงไทย เกิดการขายทิ้งเพื่อถือเงินสดไว้ ดังนั้น สบน.ต้องระมัดระวัง จะไปออกพันธบัตรไม่น่าจะเหมาะสม ทำให้การกู้เงินในช่วงแรก 1.2 แสนล้านบาทใช้วิธีออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ให้สถาบันการเงินแข่งขันเสนอดอกเบี้ย พบว่าสถาบันการเงินให้ความสนใจค่อนข้างมาก รอบแรกกู้ 7 หมื่นล้านบาท สถาบันการเงินเสนอเงินกู้มามากกว่า 1.5 เท่า และรอบ 2 กู้ 5 หมื่นล้านบาท เสนอวงเงินกู้เข้ามากว่า 1.8 เท่า

เมื่อตลาดเริ่มดีขึ้น สบน.จึงออกพันบัตรออมทรัพย์ขายให้ประชาชน 5 หมื่นล้านบาท

คนไทยแบกหนี้ 8 ล้านล.

จากสถานะหนี้คงค้าง จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พบว่ารัฐบาลไทยมีหนี้กว่า 7 ล้านล้านบาทคิดเป็น 41.28% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

เมื่อต้องกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านทำให้หนี้ประเทศพุ่งไปถึง 8 ล้านล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 57.96% ของจีดีพีในปี 2564 ต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดหนี้ไว้ไม่ควรเกิน 60% ของจีดีพี เพียงไม่กี่จุด

มีความเป็นห่วงว่าหากเกิดวิกฤต หรือโควิด-19 ลากยาวกินเวลาไปอีก 6-9 เดือน อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประเมินไว้ ทำให้ไม่มีเงินมารับมือ

ในเรื่องนี้ ผู้อำนวยการ สบน.ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาไทยเป็นเด็กดีมาตลอด รักษากรอบวินัยการเงินการคลังไว้อย่างดี ผลของการเป็นเด็กดีทำให้สามารถกู้เงินมาดูแลโควิด-19 ถึง 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามวงเงิน 1 ล้านล้านบาทเป็นแค่กรอบวางไว้ อาจจะกู้ไม่ถึงก็ได้ หากโควิด-19 จบได้เร็ว

อย่างไรก็ตาม หากโควิด-19 ยาวนานจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่า 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลสามารถออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม กรอบหนี้ 60% ของจีดีพีสามารถปรับได้ ประเทศอื่นนั้นมีหนี้ทะลุ 100% ไปนานแล้ว

ไทยจะมีการทบทวนกรอบหนี้ทุก 3 ปี และรอบที่จะถึง ครบกำหนดในปี 2564 โดยกรอบหนี้ตามมาตรฐานประเทศประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแนะนำโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ไม่ควรเกิน 77% ของจีดีพี

ดังนั้น หากไทยมีหนี้เกิน 60% ต่อจีดีพี ในช่วงวิกฤต ถือว่าไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย

หนี้ของไทยขณะนี้นับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจด้วย หากตัดรัฐวิสาหกิจออก เหลือหนี้เฉพาะหน่วยงานราชการเพียง 35% เท่านั้น

ใช้หนี้ชั่วลูกชั่วหลาน

หลายฝ่ายมีความเป็นกังวลกับการใช้หนี้ 1 ล้านล้านบาท วัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้ความเห็นเรื่องหนี้ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2558-2563 รัฐบาลประยุทธ์กู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวม 2.662 ล้านล้านบาท ล่าสุดออก พ.ร.ก.กู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท รวมแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก่อหนี้ 3.662 ล้านล้านบาท ยังไม่นับรวมที่จะต้องกู้มาชดเชยงบประมาณปี 2564 คาดว่าไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท เท่ากับตั้งแต่ยึดอำนาจจนถึงปีงบประมาณ 2564 กู้เงินรวม 4 ล้านล้านบาท

“วัฒนา” ชี้ให้ถึงการชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2563 รวม 6 ปี มีการชำระต้นเงินกู้ 292,235 ล้านบาท หรือเฉลี่ยมีการชำระหนี้ต้นเงินกู้ประมาณปีละ 48,705 ล้านบาท ดังนั้น หนี้จำนวน 4 ล้านล้านบาทที่ พล.อ.ประยุทธ์ก่อขึ้นจะใช้เวลาชำระประมาณ 80 ปี หรือสองชั่วชีวิตคน

เมื่อไปดูกฎหมายเกี่ยวข้องกับการชำระหนี้พบว่า มีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ (เงินต้น) ไว้ที่ 2.5-3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ในปีงบ 2563 มีการจัดสรรงบประมาณชำระเงินต้น 8.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ถูกเรียกคืนเพื่อนำไปใส่ไว้ใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณ เพื่อนำไปสู้กับโควิด-19 วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ทำให้เหลืองบชำระหนี้เพียง 5.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนแค่ 1.65% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เท่านั้น ต่ำกว่ากฎหมายกำหนดไว้

มีการประเมินคร่าวๆ จากผู้บริหารกระทรวงการคลังว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถ้าได้รับจัดสรรให้ชำระหนี้ปีละ 3% หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ใช้เวลา 30 ปี หนี้ดังกล่าวจึงจะหมด

อย่างไรก็ตาม แผนการชำระหนี้คงไปคาดหวังว่าจะได้รับจัดสรรงบประมาณปีละ 2-3% คงยาก เพราะในอดีตไทยมีการชำระหนี้ปีละแค่ 1-2% เท่านั้น แม้แต่ปีล่าสุดงบการชำระหนี้ยังต่ำกว่ากฎหมาย

งบชำระหนี้ยังไม่รวมดอกเบี้ย ในแต่ละปีต้องจ่ายเต็มจำนวนกว่า 2 แสนล้านบาท ล่าสุดหนี้ของไทยกว่า 7 ล้านล้านบาท (ยังไม่รวม พ.ร.ก.) มีต้นทุน (ดอกเบี้ย) เฉลี่ยกว่า 3%

ถ้าใช้ดอกเบี้ยของหนี้ที่ผ่านมา หารเฉลี่ยเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นดอกเบี้ยคนไทยต้องควักจ่ายเพิ่มปีละ 3 หมื่นล้านบาท

หวั่นทุจริตทำเงินกู้สูญเปล่า

ผู้เชี่ยวชาญด้านการคลัง และการกู้เงินที่จะให้ความเห็นเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ดีที่สุดคนหนึ่ง คงหนีไม่พ้น สมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“สมหมาย” ให้ความเห็นว่า การกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 เป็นสิ่งจำเป็น เพราะประเทศทั่วโลกกระทบหมด แต่มองว่าการใช้เงินต้องมีประสิทธิภาพ และไม่เห็นความจำเป็นจะต้องกู้มากถึง 1 ล้านล้านบาท

สามารถกู้แค่งบเยียวยา 6 แสนล้านบาท ส่วนงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทให้ยกเลิกและไปใช้ในงบประมาณปกติ ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบ การเบิกจ่ายที่ดีกว่า โดยมีความเป็นห่วงเรื่องการใช้งบฟื้นฟูว่าจะเป็นช่องทางการทุจริตของนักการเมือง

ขณะนี้งบประมาณฟื้นฟูยังไม่ชัดเจนว่าอะไรบ้าง และงบประมาณ 2564 เริ่มจัดทำและบังคับใช้ในอีกไม่กี่เดือน ดังนั้น การใช้งบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท จึงซ้ำซ้อนกับงบประมาณปกติ

เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สินก้อนมหึมา เป็นภาระของลูกหลานต้องมาชดใช้หนี้ไปอีกไม่น้อยกว่า 30 ปี ดังนั้น หากการใช้เงินกู้ก้อนนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้มีการหาผลประโยชน์โดยนักการเมืองและข้าราชการ จะเป็นตราบาปของผู้คิดโครงการ

อยากให้ติดตามการใช้เงินก้อนหนี้ แม้รัฐบาลกำหนดให้ใช้เงินไปในการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในต่างจังหวัด สร้างความเข้มแข็งในชุมชน สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ เป็นเพียงกรอบวงเงินกว้างๆ

ในการกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจถือว่าสำคัญ เพราะผลกระทบโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ หดตัวต่ำกว่าปี 2562 ถึง -18% การที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐ และเอกชนมองว่า -5% หรือ -10% เป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป

อย่างไรก็ตาม การกู้มาใช้จำนวนมาก ต้องคำนึงถึงภาระหนี้ต่อจีดีพีด้วย แม้ขณะนี้หนี้ต่ำเพียง 41.28% แต่การกู้เงินทำให้หนี้ประเทศสูงขึ้น แม้ยังไม่ถึง 60% แต่สัดส่วนหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 55% จะก็มีผลเสียต่อเครดิตประเทศทันที

เครดิตประเทศ มีผลต่อการกู้เงิน และการลงทุนต่างชาติ นักลงทุนต่างชาติที่มีความรู้ ความชำนาญเคยนำเงินมาลงทุนตราสารหนี้ ลงทุนในหุ้น จะขาดความชื่อถือไทย เมื่อไทยมีหนี้สูงขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยเหมือนคนมีโรคประจำตัว เลี้ยงตัวยังได้ไม่ดี ยังไม่แข็งแรงพอ

ดังนั้น ไม่ควรไปเปรียบเทียบหนี้ของไทยกับประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีหนี้ต่อจีดีพีกว่า 100% เพราะประเทศดังกล่าวเหมือนนักกีฬาโอลิมปิก มีความแข็งแกร่งกว่าไทยมาก

กูรูชี้สู้ไม่ถึงโควิดรอบ2

ด้าน สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง หนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ให้ความเห็นถึง พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทว่า เงินกู้ในจำนวนนี้เพียงพอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะควบคุมโควิด-19 ไม่ให้เกิดการระบาดระลอก 2 ได้ดีมากน้อยแค่ใด

เมื่อควบคุมโควิด-19 ได้แล้ว เม็ดเงินจะต้องนำไปใช้กับมาตรการที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งมากขึ้น ยังไม่ต้องถึงขั้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ เอาแค่พยุงเศรษฐกิจไปให้ได้ก่อน

หากเม็ดเงินที่ได้มา ถูกนำไปใช้แต่ไม่ตรงจุด ตรงเป้าหมาย ขาดประสิทธิภาพ หรือล่าช้ากว่าที่ควร อาทิ ธุรกิจหนึ่งกำลังจะไม่รอด หากมีเงินส่วนนี้เข้าไปช่วยก็จะสามารถประคองได้ แต่หากเงินลงไปช้า ธุรกิจดังกล่าวจะเจ๊งไปก่อนแล้ว

หากถามว่าจำนวนเงินเพียงพอหรือไม่ บอกเลยว่ายังไม่เพียงพอ เพราะเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท สามารถช่วยเหลือได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น อย่างเก่งก็ไม่เกิน 6 เดือน

หลังจากนี้ รัฐบาลจะต้องเตรียมเงินอีกส่วน เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อาจใช้เงินจากงบประมาณประจำปีซึ่งจะต้องติดตามดูว่ามีงบประมาณเพียงพอดูแลเศรษฐกิจหรือไม่

เศรษฐกิจไทยขณะนี้เปรียบเหมือนคนป่วยโคม่า กลายเป็นง่อย แต่พอได้ยารักษาผ่านเม็ดเงินกระตุ้นที่เพียงพอ จะทำให้เดินได้แบบไม่มั่นคง จากนี้ไปในช่วงที่ 2 จะต้องรักษาให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งให้ได้ ซึ่งเป็นภารกิจของรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ

เมื่อถามว่าเม็ดเงินกู้ 1 ล้านบาทบาท คุ้มกับการที่ลูกหลานต้องมานั่งใช้หนี้หรือไม่ สมชายมองว่า หากเม็ดเงินดังกล่าวสามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้บ้าง แม้ยังไม่ดีเต็มที่ แต่ก็ช่วยไม่ให้ทรุดไปมาก ถือว่ายังดี เพราะหากไม่ทำอะไรเลย ทุกอย่างจะพังทั้งระบบ แม้ไวรัสจะหมดไปแล้ว แต่เศรษฐกิจอาจยังเจ๊งอยู่

หากสามารถนำเม็ดเงินมาใช้และฟื้นเศรษฐกิจได้บ้าง ถือว่าคุ้มค่าระดับหนึ่ง แต่หากไม่สามารถใช้เงินฟื้นเศรษฐกิจตรงจุด อาจไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ต้องเสียไป

“สมชาย” เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า เอาง่ายๆ จะคุ้มหรือไม่คุ้ม ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงสามารถบริหารได้ตรงเป้าและทันเวลาหรือไม่

จากนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 คงต้องติดตามการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทอย่าได้กะพริบตา เงินก้อนนี้แม้จะมีความสำคัญช่วยเศรษฐกิจในยามวิกฤต แต่เงินก้อนดังกล่าวเป็นภาระหนี้ก้อนใหญ่ที่คนไทยต้องมีผ่อนชำระ

หากปล่อยให้นักการเมือง และรัฐบาลใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โกงกินงบประมาณ ภาระหนักตกไปถึงลูกหลาน ที่ต้องมานั่งใช้หนี้ที่ไม่ได้ก่อ แถมยังต้องผจญกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่เป็นแผลลึก รักษาไม่หายเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image