ศก.ไทยโคม่า หนี้เสียรุงรัง หวังโควิดหยุด-งบฟื้นฟู4แสนล.กู้ชีพ

จับชีพจรเศรษฐกิจไทยปีนี้ ส่อแววทรุดหนักเกินจะรับมือไหวซะแล้ว!!

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดล่าสุดเพิ่งมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จากระดับ 0.75% เหลืออยู่ที่ 0.50% ต่อปี ซึ่งระดับดอกเบี้ยที่ 0.50% ถือเป็นจุดต่ำสุดใหม่ นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมา

กนง.ให้เหตุผลของการหั่นดอกเบี้ยครั้งนี้ว่า ประเมินแล้วเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าประมาณการเดิม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ อีกทั้งเสถียรภาพในระบบการเงินยังมีความเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น และทำงานสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาล ในส่วนของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้

ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าที่คาด ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ สาเหตุมาจากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยประเมินว่ามาตรการด้านการเงินการคลังจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้ จึงเป็นที่มาของการลดดอกเบี้ยลงในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดินครั้งนี้

Advertisement

การลดดอกเบี้ยของ กนง.ในครั้งนี้มองว่าช่วยได้บางส่วน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ต้องใช้มาตรการทางด้านการคลังแบบตรงจุด เพื่อให้เห็นผลในทันที แต่มาตรการทางเงินก็มีส่วนช่วยสนับสนุนทางด้านภาระหนี้ได้บ้าง เพราะภาระหนี้ในปัจจุบันดูค่อนข้างเหนื่อย โดยธนาคารพาณิชย์ได้ออกมาช่วยทั้งการผ่อนปรนภาระหนี้ในหลายส่วน อาทิ หนี้ผ่อนบ้าน การผ่อนธุรกิจในระดับดี และธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ทำให้โดยรวมอาจช่วยเรื่องภาระหนี้ได้บ้าง แต่อัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวคงไม่สามารถปลดล็อกได้จริงๆ

ในช่วงไตรมาส 2 ยังมองว่ามีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก 0.25% เพื่อช่วยลดภาระหนี้ของภาคเอกชน ประเมินจากภาพรวมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศอยู่ในระดับต่ำถึงเกือบติดลบกันหมด จึงประเมินว่าไทยคงยืนดอกเบี้ยไว้สูงๆ ไม่ได้แล้ว

⦁โควิด-19หนักกว่าต้มยำกุ้ง
จากสถานการณ์ดังกล่าว ล่าสุดนักธุรกิจชั้นนำของไทยอย่าง “เจ้าสัวบุณยสิทธิ์” หรือ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ออกมาให้ความเห็นว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตที่สร้างผลกระทบและมีความรุนแรงมากกว่าตอนเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ปี 2540 หรือต้มยำกุ้ง เยอะมาก

Advertisement

เพราะวิกฤตต้มยำกุ้งสร้างผลกระทบให้กับบริษัทและผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ แต่โควิด-19 สร้างผลกระทบทั้งในภาคธุรกิจและภาคประชาชน หากควบคุมผลกระทบได้ไม่ดีนักทุกอย่างจะพังหมด ประเมินว่าโควิด-19 น่าจะสร้างผลกระทบมากกว่าต้มยำกุ้งกว่า 10 เท่า

เมื่อโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลกจะทำให้เศรษฐกิจกลับสู่จุดเริ่มต้นใหม่ เป็นการเซตซีโร่ในระบบเศรษฐกิจ จากอดีตที่ผ่านมาเคยมองว่าประเทศสหรัฐเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ สหภาพยุโรป (อียู) เป็นผู้นำด้านวัฒนธรรม หากโควิด-19 จบลง ภูมิภาคเอเชียอาจเทียบเท่าทุกประเทศทั่วโลก จะกลับไปเริ่มต้นระบบเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกจะเท่ากัน

เสียงสะท้อนของเอกชนบ่งบอกชัดเจนว่าวิกฤตรอบนี้หนักหนากว่าทุกรอบที่เคยผ่านมาจริงๆ

⦁จีดีพีไตรมาสแรกวูบ
หากย้อนกลับไปดูการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2563 ติดลบที่ 1.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2562 นับเป็นการติดลบครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 และติดลบมากที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4/2554 นอกจากนี้หากเทียบกับไตรมาส 4/2562 เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ยังติดลบมากขึ้นกว่า 2.2% เป็นการหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส
สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของเศรษฐกิจ และการก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้วหรือไม่ เนื่องจากไตรมาสแรกของปี ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ยังเข้ามาไม่เต็มที่ แต่เศรษฐกิจไทยตอบรับด้วยการติดลบไปแล้ว ทำให้ไตรมาส 2 ที่หลายฝ่ายประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะสาหัสมากกว่าเดิม เพราะผลกระทบจากโรคระบาดจะรับรู้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

ประเด็นนี้มีการประเมินว่า หากพิจารณาผลการดำเนินงานในภาคเอกชน ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ไตรมาส 1/2563 ที่ออกมา กำไรอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท ต่ำกว่าคาดประมาณ 10%

ขณะที่ไตรมาส 2 คาดจะแย่ลงกว่าเดิม จากรายงานของหุ้นรายตัว ส่วนใหญ่มองว่าไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ แต่หากประเมินเป็นรายเซกเตอร์ มีประมาณ 80% มองในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ทั้งนี้ ในหุ้นกลุ่มพลังงานและโรงไฟฟ้าเชื่อว่าถึงจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสแรก กินมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมของหลักทรัพย์จดทะเบียน (บจ.) ไทยในตลาดกว่า 26% ทำให้กำไรของธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีลดลงจากไตรมาส 1 ปีที่ผ่านมาโดยหดตัวลงกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนไตรมาส 2 จะไม่ได้แย่มากนัก เพราะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสแรกมาแล้ว

ขณะที่กำไรของหุ้นกลุ่มภาคการผลิต (กลุ่มเรียลเซกเตอร์) ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองไป 1 เดือน กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป 1 เดือน กำลังการผลิตอาจหายไปประมาณ 40% เพราะการกลับมาเริ่มต้นเปิดธุรกิจใหม่อีกครั้งไม่สามารถกลับมาได้อย่างเต็มที่เพราะข้อจำกัดและการทำตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้ทุกอย่างหดตัวลง กำไรไตรมาส 2จึงถูกมองว่าจะต้องแย่ลง แต่หากนำธุรกิจทั้งกลุ่มมาเฉลี่ยรวมกัน ภาพรวมกำไรสุทธิน่าจะไม่ได้แย่กว่าไตรมาสแรกมากนัก

ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย หากเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา จะต้องติดลบมากกว่าไตรมาสแรกอยู่แล้ว ตัวเลขติดลบน่าจะสูงขึ้นอีก เพราะไตรมาสแรกขนาดยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักยังติดลบกว่า 1.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประเมินว่าในเชิงกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทย เทียบเป็นรายไตรมาส จะไม่แย่มากนัก แต่หากเทียบเป็นรายปี ถูกกระทบหนักอยู่แล้ว เพราะภาพปัจจัยปีที่ผ่านมากับปีนี้เป็นคนละเรื่องกัน

⦁ประเมินจีดีพีทั้งปีดิ่งหนัก
ด้านความเห็นจากผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย อย่าง อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประเมินว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จะช่วยเสริมสภาพคล่องและประคองเศรษฐกิจให้เดินต่อได้ แต่ยังไม่ถึงกับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

มองว่าไตรมาส 2 ของปีนี้จีดีพีจะอยู่ในจุดต่ำสุดติดลบกว่า 14% ส่วนไตรมาส 3 และ 4 ยังมีโอกาสติดลบเลข 2 หลักประมาณ 10% ส่วนทั้งปีนี้เฉลี่ยติดลบ 8.9% ถือว่ารุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ผ่านมา โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อีกครั้งจะอยู่ในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2564 หัวใจหลักอยู่ที่การใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าจะมีการขยายตัว 10-20% มองว่ารัฐควรมีมาตรการเพิ่มการสร้างงานในชุมชนมากกว่านี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก

สอดคล้องกับ มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจติดลบประมาณ 8.8% แม้ว่าไตรมาสแรกจะติดลบน้อยกว่าที่ตลาดไว้ว่าจะติดลบประมาณ 3.9%

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปิดเมืองของประเทศต่างๆ เพิ่งเริ่มต้นในช่วงเดือนมีนาคม โดยวิกฤตไวรัสโควิด-19 แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมาซึ่งเกิดจากจำนวนผลผลิต (ซัพพลาย) มีมากเกินไป ก่อนลุกลามไปยังฝั่งความต้องการ (ดีมานด์)

แต่โควิด-19 เขย่าเศรษฐกิจทั่วโลกให้หยุดชะงักอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่อุปทานหยุดชะงัก (ซัพพลายช็อก) เนื่องจากการยับยั้งการแพร่ระบาดผ่านการชัตดาวน์เมือง และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม สายพานการผลิตและการจ้างงานต้องหยุดลงอย่างกะทันหัน ส่งผ่านผลกระทบกลับมายังอุปสงค์โดยรวมที่อ่อนแออยู่ก่อนแล้วให้หดตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้น

⦁สัญญาณหนี้เสียพุ่ง
เศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะครั้งนี้ ส่งผลทำให้เกิดปัญหาหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เรื่องนี้ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) คาดว่า ปี 2563 ปริมาณการเกิดหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาทสูงเกิน 10% หรือเป็นตัวเลข 2 หลัก สาเหตุสำคัญมาจากศักยภาพชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลงโควิด-19 ทำให้รายได้ลูกหนี้ลดลง
ข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า ไตรมาสแรกปี 2563 ประเทศไทยมีหนี้เสีย ปรับสูงขึ้นกว่า 9.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.1% ของหนี้ครัวเรือนที่เก็บในเครดิตบูโร มูลค่าประมาณ 11.7 ล้านล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 7.7 แสนล้านบาท แนวโน้มหนี้เสียในไตรมาสแรกปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก สะท้อนภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ไตรมาส 2 หลายฝ่ายจึงประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจจะแย่กว่าไตรมาสแรก เชื่อว่าตัวเลขหนี้เสียไตรมาส 2 จะวิ่งขึ้นไปเป็นตัวเลข 2 หลักต่อเนื่อง
สาเหตุการเกิดหนี้เสีย ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นหนี้เสียทั้งของบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน รถยนต์ และสินเชื่อบุคคล รวมแล้วคิดเป็น 5.5% ของหนี้เสียรวม 11.7 ล้านล้านบาท หากแบ่งตามประเภทสินเชื่อพบว่า ไตรมาสแรกมีหนี้เสียบ้านอยู่ที่ 4.9% ของสินเชื่อบ้าน 4.03 ล้านล้านบาท หนี้เสียรถยนต์ 6.2% ของสินเชื่อรถ 2.43 ล้านล้านบาท หนี้เสียบัตรเครดิต 15.2% ของสินเชื่อบัตร 4.7 แสนล้านบาท และหนี้เสียส่วนบุคคล 10.1% ของสินเชื่อส่วนบุคคล 2.13 ล้านล้านบาท
ซึ่งทั้งหมดมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาแล้วเป็นจำนวนมาก เพื่อไม่ให้ตกชั้นเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นอีก ขณะนี้จึงมีความกังวลและเป็นห่วงคนที่กู้เงินเป็นก้อน ผ่อนเป็นงวด และยอดผ่อนสูงมากที่สุด อาทิ สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากพบว่าในช่วงที่ผ่านมา คนที่กู้เงินซื้อรถยนต์มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาครัฐได้ออกมาตรการมาช่วยภาคเอกชนในการยืดเวลาชำระหนี้ออกไป แม้จะมีข้อเสียในส่วนของการที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงคิดดอกเบี้ยตามปกติก็ตาม ทำให้ในเชิงทฤษฎีสัญญาณหนี้เสียยังไม่ได้เร่งตัวขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่แย่ในช่วงไตรมาส 2 หนักมากนัก แต่ในช่วงไตรมาส 4 หลังจากภาครัฐปลดล็อก ทุกอย่างกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง มาตรการในการอุ้มสินเชื่อเหล่านี้จะต้องหมดลง ก้อนหนี้ที่ถูกสะสมไว้จะต้องกลับมาชำระตามปกติ ทั้งที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นกลับมาดีเท่าเดิม จึงประเมินว่าในช่วงปลายปีนี้ จะเป็นช่วงที่หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นแบบพวยพุ่งแน่นอน

⦁รัฐพยุงเศรษฐกิจถูกทาง
จากเม็ดเงินภาครัฐเพื่อเยียวยาประชาชนกลุ่มต่างๆ ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินเม็ดเงินที่เข้าระบบไม่ได้ช่วยให้จีดีพีเพิ่มขึ้นแต่ทำให้จีดีพีไม่ลดลงมากกว่าเดิม โดยตัวเลขที่สภาพัฒน์ประเมินไว้คือ จีดีพีปีนี้จะติดลบประมาณ 5-6% ได้รวมเม็ดเงินต่างๆ ที่ใช้จ่าย เพื่อพยุงผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านการเยียวยาก้อนเงิน 6 แสนล้านบาทแล้ว แต่ยังไม่รวมเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้จีดีพีเด้งตัวขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงคือเดือนมิถุนายนนี้เป็นเดือนที่สภาผู้แทนราษฎรเปิด จึงไม่แน่ใจว่าจะมีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่
“ก้อนเงิน 6 แสนที่ใช้สู้กับผลกระทบโควิด-19 ขณะนี้น่าจะใช้ไปแล้วประมาณ 3.9-4 แสนล้านบาท ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ น่าจะตรงจุดในการช่วยเหลือ เพราะต่างประเทศทำในลักษณะเดียวกัน แต่จะตรงจุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ต้องประเมินจากก้อนเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมา ต้องผ่านการพิจารณาของสภา ประเมินแล้วไม่น่าง่าย หากประเมินจีดีพีทั้งปีนี้ มองว่าคงติดลบไม่แตกต่างจากที่สภาพัฒน์คาดไว้” ณัฐพลระบุ
นอกจากนี้หากก้อนเงิน 4 แสนล้านบาท ทำงานได้เร็วคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเร็วผ่านสภาได้เร็ว เป็นโครงการโปร่งใส จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ฟื้นตัวดีมากขึ้นได้
ประเมินจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพื่อรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เชื่อว่า หากไวรัสไม่กลับมาระบาดระลอก 2 แบบรุนแรง คือพบผู้ติดเชื้อใหม่เป็น 100 รายต่อวัน มาตรการที่รัฐเตรียมไว้เพียงพอ อาทิ การแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน หากจ่ายครบ 3 เดือน เป็นจำนวน 15,000 บาทได้ จะหล่อเลี้ยงผู้ที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการเริ่มต้นใหม่ในภาคธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้ง มีการค้าขายเพิ่มขึ้น แม้รายได้หรือลูกค้าจะไม่มากเท่าเดิม แต่ถือว่าเม็ดเงินที่หมุนในระบบจะมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่อ
ปัญหาที่พบขณะนี้คือ การเยียวยาในส่วนของประกันสังคมที่ต้องเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง หรือการหยุดจ้างชั่วคราว ขณะนี้เยียวยาแรงงานได้ช้ากว่าความเป็นจริง ประกันสังคมต้องเร่งจ่ายเม็ดเงินเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบเร็วกว่าเดิม
สำหรับเครื่องมือเศรษฐกิจ อาทิ ภาคการท่องเที่ยวจะต้องรอให้สัญญาณการกลับมาระบาดระลอก 2 ไม่เกิดขึ้นแบบชัดเจน หลังจากนั้นจึงกลับมาเริ่มต้นกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในระยะถัดไป
ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เตรียมได้รับการปลดล็อกในระยะ 3 อาทิ ธุรกิจสปา นวดแผนไทย กลุ่มนี้แรงงานเป็นรากหญ้า เพราะได้ค่าแรงเป็นรายวันหรือรายชั่วโมง ทำให้ต้องเร่งเปิดธุรกิจเหล่านั้นกลับมา เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับมามีรายได้อีกครั้ง ไม่เหมือนร้านเสริมสวยหรือร้านทำผมที่บางร้านเจ้าของร้านให้บริการลูกค้าเอง ทำเอง ได้เงินเอง
อย่างไรก็ตาม “วิจิตร” ยังประเมินว่า รัฐบาลทำมาตรการออกมาใช้ได้ ไม่ได้แย่ แต่อยากให้เดินหน้าต่อไปแบบรักษาการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ควบคู่กับการทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ โดยภาครัฐไม่ควรปิดประเทศแบบล็อกดาวน์ต่อไปแล้ว ต้องปล่อยให้เศรษฐกิจเรียนรู้ตัวเอง ค่อยๆ เดินหน้าเปิดประเทศ ส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแบบเคร่งครัดต่อไป
ต้องติดตามรายละเอียดกรอบฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากภายใต้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่าจะถูกใช้อย่างตรงจุดและคุ้มค่าเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยฟื้นชีพ หรือแค่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ถดถอยตามที่หลายฝ่ายแอบกังวล!!

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image