กสทช.ชงตั้งกองทุน ‘OTT-5G’ ไอเดียฟื้น ศก.แนวใหม่

กสทช.ชงตั้งกองทุน’OTT-5G’ ไอเดียฟื้น ศก.แนวใหม่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ดร.ประถมพงศ์ ศรีนวล สำนักวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช.ได้นำเสนอแนวคิดการนำเทคโนโลยี 5G เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจแนวใหม่ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เนื้อหาระบุว่า

การใช้ชีวิตประจำวันตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกับบริการที่เรียกว่า โอเวอร์ เดอะ ท็อป (Over The Top) หรือโอทีที (OTT) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยบริการโอทีทีที่มีการใช้งานแพร่หลายในปัจจุบันมีหลายหลากมากมาย ทั้งบริการการสื่อสาร เช่น ไลน์ และเฟซบุ๊ก บริการแพร่ภาพและกระจายเสียง เช่น ยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ และบริการอีคอมเมิร์ซ เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า และแกร็บ (Shopee Lazada Grab) เป็นต้น ผู้ให้บริการ OTT เหล่านี้ล้วนเป็นผู้ให้บริการที่พัฒนาตนเองมาจากสตาร์ตอัพ โดยเริ่มต้นธุรกิจด้วยแนวความคิดหรือไอเดียใหม่ของคนรุ่นใหม่ และที่สำคัญผู้ให้บริการแพลตฟอร์มล้วนเป็นของต่างชาติทั้งสิ้น

หากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุค นิว นอร์มอล หรือฐานวิถีชีวิตใหม่(ตามคำบัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน) ผ่านบริการ OTT มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศผูกโยงเกี่ยวพันกับผู้ให้บริการต่างชาติมากยิ่งขึ้น

การขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยระบบดิจิทัลยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ จะเป็นผลให้ผู้ให้บริการ OTT ล้วนเป็นผู้ให้บริการต่างชาติจะเติบโตและมีความแข็งแกร่งยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

Advertisement

ดังนั้น การสนับสนุนและพัฒนา OTT ระดับชาติที่เป็นผู้ให้บริการสัญชาติไทย จึงเป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เพียงจะทำให้การใช้จ่ายในประเทศหมุนเวียนสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจในประเทศและรายได้ไม่รั่วไหลไปต่างประเทศแล้ว OTT จะพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการในต่างประเทศเช่นเดียวกับแพลตฟอร์ม OTT ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น Grab ของสิงคโปร์ โก-เจค (Go-jek) ของอินโดนีเซีย และ ไอเฟล็กซ์ (iflex) ของมาเลเซีย

“ผู้เขียนจึงขอย้ำว่าการสร้าง OTT ระดับชาติเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องนำมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน โดยระดมทุนสนับสนุนในการสร้าง OTT เป็นแพลตฟอร์มในการให้บริการ 5G เป็นการนำเอาจุดแข็งของประเทศไทยที่มีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่สามารถนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานได้นั่นคือ คลื่นความถี่ย่าน 700MHz 2600MHz และ 26GHz ก่อนประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน”

ในปัจจุบันกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่รองรับเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และพื้นที่สมาร์ทซิตี้ นอกจากนี้ ยังสามารถให้ทุนสนับสนุนในการสร้าง OTT เพื่อเป็นคู่แข่งขันกับบริการ OTT เป็นเจ้าตลาด หรือมีการใช้บริการที่แพร่หลายแล้วอีกด้วย

Advertisement

กลไกการสนับสนุนสร้างแพลตฟอร์ม หรือธุรกิจสตาร์ตอัพ ในต่างประเทศนั้นได้ทำกันมานานแล้ว ส่วนใหญ่เป็นภาคภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น กองทุนวิชั่น หรือวิชั่น ฟันด์ ของกลุ่มบริษัทซอฟต์แบงก์ (Softbank) ของประเทศญี่ปุ่น เน้นลงทุนส่งเสริมในธุรกิจสตาร์ตอัพ ด้านเทคโนโลยี มีมูลค่าการลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ สามล้านล้านบาท เป้าหมายการลงทุนเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรืออาร์ตติฟิเชียล อินเทลิเจนซ์ (Artificial intelIigence) หุ่นยนต์ ไอโอที (internet of Things) หรือการพัฒนาแพลตฟอร์ม

กองทุนวิชั่นลงทุนใน 88 บริษัทในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มด้านคมนาคมและการขนส่ง เช่น Grab และ Uber ด้านการบริโภค เช่น เคลุก (KLOOK) และยังมีด้านการเงิน (Fintech) สาธารณสุข อสังหาริมทรัพย์ และเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Frontier Tech) และระดับองค์กร

สำหรับประเทศไทย การตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ต-อัพ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่และเป็นกระแสมาตั้งแต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ (ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ) ปูนซิเมนต์ไทย ปตท. หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่ายใหญ่ (AIS DTAC TRUE) หรือกลุ่ม 500 Tuk Tuks (ตุ๊กตุ๊กส์) ตลอดจนหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จัดตั้งกองทุนสนับสนุนและบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัพขึ้น แต่วัตถุประสงค์ของกองทุนดังกล่าวเป็นการสนับสนุนหรือบ่มเพาะสตาร์ตอัพโดยทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่จะสร้างให้เกิดแพลตฟอร์ม หรือสตาร์ตอัพที่จะนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้

ดังนั้น การจัดตั้ง “กองทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพ โอทีที-5จี (start-up OTT-5G) เพื่อการพัฒนาประเทศไทย” เพื่อเป็นแหล่งทุนให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียและแบบจำลองธุรกิจหรือ บิสสิเนส โมเดล (business model) ในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้และอาจสร้างเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อให้ภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมสามารถนำแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นนี้ไปใช้ในธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมของตนเองเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจของโลกกำลังตกต่ำอย่างเป็นประวัติการณ์อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

กองทุนนี้จะเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญในการปลุกฟื้นเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ภาวะน่าวิตกอย่างยิ่ง การดำเนินการจึงต้องมีความรวดเร็วทันเหตุการณ์ และจะต้องมีคนรุ่นใหม่มา

บริหารจัดการ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวคิดของการจัดตั้งและการบริหารกองทุน ดังนี้

1) เสนอเร่งจัดตั้งกองทุน OTT-5G โดยด่วน เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เปลี่ยนผ่านจากเดิมเป็นยุคใหม่ รองรับกิจกรรมเศรษฐกิจนิว นอร์มอลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในยุค 5G เพื่อพัฒนาประเทศไทยและขยายสู่ตลาดโลกได้โดยเร็ว

2) ให้กองทุน กสทช. และกองทุนดีอี จัดสรรเงินให้กองทุน OTT-5G เพื่อใช้ในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ

3) คณะกรรมการกองทุน OTT-5G จะต้องเป็นคนรุ่นใหม่มีความเป็นมืออาชีพ และมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี 5G การสร้างแพลตฟอร์ม OTT และการส่งเสริมสนับสนุนสตาร์ต-อัพเป็นอย่างดี เพื่อจะได้บริหารจัดการกองทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนที่จะต้องจัดสรรทุนในการสนับสนุน และบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัพที่มีแบบจำลองทางธุรกิจในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ และที่สำคัญจะต้องลดขั้นตอนกระบวนการในรูปแบบระบบราชการที่ไม่จำเป็นออกไป โดยกองทุนดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการ 5G แห่งชาติ เพื่อจะได้นำนโยบายของคณะกรรมการมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและบริหารกองทุน

4) เป้าหมายในการดำเนินการควรจะจัดสรรเงินกองทุนนี้ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึง ในช่วงเริ่มต้นควรเน้นการใช้ทุนสนับสนุนกับนักศึกษาจบใหม่ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ในภาคเอกชน เพื่อสร้างธุรกิจด้วยการบ่มเพาะก่อตั้งธุรกิจจากกลุ่มยังเจนเนอเรชั่นที่มีศักยภาพสูง หรือซีด ฟันดิ้ง (Seed Funding) โดยจัดสรรเป็นทุนให้เปล่า

เราคาดการณ์ว่าหาก คณะกรรมการ 5G แห่งชาติพิจารณาใช้กลไกของกองทุนสนับสนุน start-up OTT-5G ในระยะเวลา 3-5 ปีที่จะถึงนี้ เราจะได้เห็นสตาร์ตอัพที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่สัญชาติไทย เป็นยูนิคอร์นที่เป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศเหมือนดังเช่นประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคนิว นอร์มอลกองทุนนี้จะเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่จะให้สตาร์ตอัพไทยในยุค 5G ได้ขยายสู่ตลาดโลกได้อย่างเร็ว

นอกจากนั้น ยังเป็นการช่วยสร้างงานสร้างรายได้ในระดับชุมชน ให้มีทางเลือกที่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ สร้างรายได้ บริหารจัดการได้เอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างภาคเอกชนที่อนาคตไม่อาจกำหนดได้เองอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image