“พุทธิพงษ์” โชว์ไทม์ไลน์ 4 โปรเจ็กต์ กลางกระแสร้อนปรับ ครม.

วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ก้าวเท้าเข้าทำงานที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรัฐมนตรี หัวเรือใหญ่ในการพลิกโฉมวงการดิจิทัลไทยอีกตลบ หลังมีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือแอนตี้เฟคนิวส์เซ็นเตอร์ ในระยะเวลาไม่กี่เดือน เป็นผลงานสร้างชื่อชิ้นแรก จนหลายคนให้ฉายาว่า “รัฐมนตรีเฟคนิวส์”

ได้ไปต่อทำ”พ.ร.บ.บิ๊กดาต้า”

ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กระพือว่าน่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ “พุทธิพงษ์” ระบุว่า หลายคนคิดว่าง่ายถึงอยากมาอยู่กระทรวงนี้ แต่ที่จริงแล้วกระทรวงนี้ไม่ง่ายเลย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคนิค อีกทั้งมีประวัติศาสตร์เยอะ เรื่องราวยาวนาน บางครั้งต้องนั่งอ่านข้อมูลยันตีหนึ่ง-ตีสอง

โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น จะเห็นได้ว่า “ดิจิทัล” เข้ามามีบทบาทสำคัญกับวิถีนิว นอร์มอล ซึ่งต่อไปกระทรวงดีอีเอสจำเป็นต้องประสานกับทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล โดยแต่ละกระทรวงอาจจะขอความร่วมมือให้เราเข้าไปช่วยวางระบบ รวมถึงวางโครงข่าย และสนับสนุนแพลตฟอร์มสำหรับการเวิร์กฟรอมโฮมอย่างเป็นทางการ หรือมีสื่อกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงาน

Advertisement

“หากมีโอกาสได้สานงานต่ออยากเสนอให้มีการทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้า เพราะการไม่มี พ.ร.บ.ชัดเจน เวลากระทรวงจะขอความร่วมมือใครมักจะถูกปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือ อ้างว่ากฎหมายไม่ได้เปิดกว้างให้นำข้อมูลให้กระทรวงอื่นไปคิดวิเคราะห์ แต่ความจริงไม่เกี่ยวเลย เพราะเราไม่ได้นำข้อมูลไปขาย แต่นำมาวิเคราะห์ให้เป็นประโยชน์ ที่ผ่านมาเราจะมีการวางระบบการจัดการไว้อย่างดี แต่เมื่อเขาไม่ให้ข้อมูลมาแล้วจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้อย่างไร” พุทธิพงษ์กล่าว

“พุทธิพงษ์” มั่นใจว่า หลายฝ่ายรวมถึงฝ่ายค้านน่าจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้โดยการจัดทำ พ.ร.บ.จะทำให้ทุกหน่วยงานให้ข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลได้ โดยจะมีการกำหนดขอบเขตของข้อมูลให้ชัดเจน หากผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา คราวนี้ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ก็สร้างหน่วยงานเพื่อจัดทำบิ๊กดาต้าได้จริง โดยอาจนำข้อมูลจากโครงการ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, มาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเนื่อง 3 เดือน ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน รวมถึงโครงการช่วยเหลือเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 รับ เงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน มาวิเคราะห์ข้อมูลว่าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และได้รับประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ควบรวมแคท-ทีโอทีลุย”5G”

“พุทธิพงษ์” ยังระบุว่า จะเร่งเดินหน้าการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที โดยจะนำเรื่องขอขยายระยะเวลาการควบรวมกิจการออกไปอีก 6 เดือนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จากเดิมที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เป็นแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2564 รวมถึงมีข้อสรุปเรื่องชื่อบริษัทที่ถูกต้อง ซึ่งมีการจดทะเบียนให้เป็นบริษัทมหาชน เนื่องจากบริษัทมหาชน ควบรวมกับบริษัทมหาชน การจดทะเบียนบริษัทใหม่ย่อมเป็นบริษัทมหาชน

อย่างไรก็ตาม การขอขยายระยะเวลาครั้งนี้จะมีการกำหนดกรอบการทำงานที่ชัดเจนว่าแต่ละช่วงเวลาจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ส่วนตัวมีแนวคิดว่า การควบรวมกิจการไม่ใช่เพียงการนำทั้ง 2 บริษัทมารวมกัน แต่อยากให้เอ็นทีเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งมีการแบ่งเป็นหน่วยธุรกิจ (บิซิเนส ยูนิต) โดยส่วนงานใดที่มีความเกี่ยวข้องกันให้นำมารวมกัน ซึ่งมีข้อดีคือ ผู้บริหารจะถูกแยกออกไปเฉพาะทาง ทำให้บุคลากรของทั้ง 2 บริษัทมีเส้นทางการทำงานที่ดีขึ้น เกิดการปรับตัวและมีโอกาสเติบโตในสายงานที่ถนัด ซึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 บริษัทก็เข้าใจ และมองเป้าหมายในการควบรวมกิจกิจการไปในทิศทางเดียวกัน คือให้องค์กรเข้มแข็งและอยู่รอด

“หากผมยังอยู่จนถึงวันที่ทุกอย่างครบ ไม่ใช่เฉพาะควบรวมกิจการเสร็จสิ้น แต่กระทั่งเอ็นทีมี 5G พร้อมให้บริการ มีแนวคิดว่าจะเสนอให้ทุกหน่วยงานภาครัฐที่ต้องใช้ 5G พิจารณาใช้งานของเอ็นทีก่อน ซึ่งจะเกิดผลดีกับบริษัทในการแข่งขันกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายอื่นๆ ซึ่งจากนี้จำเป็นต้องมีการวางแผนเรื่องการลงทุนพัฒนาโครงข่ายให้มีศักยภาพ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ เนื่องจากแคทและทีโอทีไม่มีคลื่นความถี่ย่าน 2600เมกะเฮิรตซ์ จึงอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในการเชื่อมโยงโครงข่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ในการให้บริการ 5G ร่วมกัน” พุทธิพงษ์กล่าว

โดยมีกระแสข่าวว่า ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เอ็นทีจะมี 2 คนคู่กันคือ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท ซึ่งจะหมดวาระในเดือนสิงหาคม 2563 และ นายมรกต เธียรมนตรี ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที โดยจะมีผลเดือนกรกฎาคมนี้ แทน นายพิพัฒน์ ขันธ์ทอง กรรมการบริษัททีโอที ที่ลาออก

ปูทาง”เอ็นที”ให้เน็ตฟรี 3 เดือน

ทั้งนี้ ในสถานการณ์โควิด-19กระทรวงดีอีเอสจึงได้พิจารณาแนวทางช่วยเหลือโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม ซึ่งได้ร่วมมือกับแคทและทีโอทีสนับสนุนบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (ฟิกซ์ บรอดแบนด์) สำหรับประชาชนที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตบ้าน โดยจัดแพคเกจเน็ตอยู่บ้าน ด้วยความเร็ว 100/50 เมกะบิต ฟรีเป็นระยะเวลา 3 เดือน ภายใต้สัญญาใช้บริการ 12 เดือน โดยในระยะเวลา 9 เดือนที่เหลือ ประชาชนจะชำระค่าบริการในราคา 390 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ฟรีค่าใช้จ่ายแรกเข้าและค่าติดตั้ง ซึ่งประชาชนสามารถสมัครรับสิทธิแพคเกจดังกล่าวได้ตั้งแต่ 10 พฤษภาคม-31 กรกฎาคม 2563

การที่ทั้ง 2 หน่วยงานมีแนวทางช่วยเหลือโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมดังกล่าว ถือเป็นการปูทางสู่การควบรวมกิจการเป็นเอ็นทีในอนาคต โดยจะนำมาซึ่งประโยชน์ของทั้ง 2 หน่วยงาน และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งนี้ ได้มีการประสานไปยังผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายอื่นๆ เพื่อให้การสนับสนุนโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ จึงไม่สามารถดำเนินการได้

“เบื้องต้นได้จัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อรองรับความต้องประชาชนไว้จำนวน 100,000 ราย ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ดีขึ้น จะพิจารณาขยายระยะเวลาสนับสนุนเพิ่มเติมอีก แต่หากสถานการณ์คลี่คลาย ตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไปจะคิดค่าบริการในราคา 390 บาทต่อเดือน” พุทธิพงษ์กล่าว

ชง 9 โครงการของบ 4 แสนล้าน

ส่วนการเสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จำนวน 9 โครงการ มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการฝึกอบรมสร้างทักษะด้านดิจิทัล มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมกับแคท เพื่อศึกษาแนวทางการรีสกิล-อัพสกิล ให้กับนักศึกษาจบใหม่ในทุกสาขา ซึ่งมีแนวโน้มตกงานสูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยการฝึกอบรม ส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล อาทิ การเขียนโปรแกรม การทำกราฟิก และการทำแพลตฟอร์มต่างๆ เพราะเรื่องดิจิทัลจะต้องแทรกซึมอยู่ในทุกสาขาอาชีพ ทั้งนี้ เบื้องต้นจะสนับสนุน จำนวน 50,000 ราย ได้รับเงินสนับสนุนเป็นเวลา 3 เดือน เดือนละ 10,000 บาท

2.โครงการจัดทำข้อมูลประชาชนเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 1,964 ล้านบาท โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ในการลงพื้นที่สอบถามข้อมูลความเดือดร้อนประชาชนทั่วทั้งประเทศ โดยจะมีการตั้งงบประมาณให้สำนักงานสถิติจังหวัดว่าจ้างคนในพื้นที่ 100-200 คน กระจายทุกอำเภอและหมู่บ้าน ซึ่งอาจใช้เวลา 1 เดือน ในการฝึกอบรมและจัดทำคำถามที่ดีให้สามารถนำกลับมาเป็นข้อมูล เพื่อให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

3.โครงการขยายจุดให้บริการฟรีไวไฟในชุมชนเมืองทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 มูลค่า 2,049 ล้านบาท โดยทีโอที ให้มีการขยายจุดเชื่อมต่อไวไฟฟรีในชุมชนเมือง 45,000 จุด ซึ่งที่ผ่านมาโครงการเน็ตประชารัฐจะทำเฉพาะพื้นที่ชายขอบ แต่ในชุมชนเมืองบางพื้นที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

4.โครงการสนับสนุนค่าจัดส่งสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าจัดส่ง จัดซื้อสินค้าจำหน่ายในแพลตฟอร์มของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มูลค่า 4,000 ล้านบาท โดยส่งเสริมให้ผู้คนใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการซื้อ-ขายสินค้า โดยเฉพาะเกษตรกรในการนำผลผลิตมาจำหน่ายผ่านตลาดกลางสินค้าออนไลน์ของไปรษณีย์ เพื่อช่วยระบายผลผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

5.โครงการพัฒนาคลาวด์แพลตฟอร์มเพื่อรองรับนิว นอร์มอล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มูลค่า 893 ล้านบาท โดย สดช.ร่วมกับ แคท ในการพัฒนาคลาวด์ เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานและประชาชนหันมาใช้คลาวด์ของคนไทย ไม่ต้องพึ่งพาคลาวด์ของต่างประเทศ

6.โครงการยูนิฟาย คอมมูนิเคชั่น แพลตฟอร์ม การทำแพลตฟอร์มด้านอี-มิทติ้ง มูลค่า 70 ล้านบาท โดยแคท ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ของคนไทย ใช้คลาวด์ของไทยในการรองรับ เพื่อเป็นทางเลือกให้หน่วยงานราชการก่อน แทนการใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศ

7.โครงการรวมพลังเด็กไทยพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) มูลค่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด

8.โครงการเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนสู่การเติบโตด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 70 ล้านบาท และ 9.โครงการบวร 4.0 เพื่อการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับศาสนสถานในการเป็นศูนย์กลางพัฒนาความเท่าทันในการใช้ดิจิทัล มูลค่า 900 ล้านบาท โดย สดช.

“คาดว่าจะมีอย่างน้อย 3 โครงการที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงภาวะวิกฤตจะเห็นได้ว่า ทุกคนมีการให้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น จนเกิดเป็นความปกติรูปใหม่ หรือนิว นอร์มอล ซึ่งโครงการต่างๆ ที่กระทรวงดีอีเอสเสนอมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น พลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19” พุทธิพงษ์ระบุ

เพิ่มจุดไวไฟในชุมชนแออัดลดเหลื่อมล้ำ

สำหรับโครงการขยายจุดให้บริการฟรีไวไฟในชุมชนเมืองทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อดำเนินชีวิตในวิถีนิว นอร์มอล หากจะตีความหมายตามโครงการเน็ตประชารัฐก่อนหน้านี้ที่ต้องความครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อที่จะไปพูดบนเวทีโลกว่าเรามีเครือข่ายเน็ตประชารัฐไปถึงทุกหมู่บ้าน แต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง อย่าว่าแต่ดูหนังฟังเพลงเลย แค่ส่งรูปสักรูปก็ไม่ได้

ส่วนตัวมองว่าถ้าจะให้ได้ผล และไม่ว่าผู้คนจะอยู่ที่ไหนสามารถใช้งานได้ เวิร์กฟรอมโฮมได้ เรียนออนไลน์ที่บ้านได้ อยากขายสินค้าออนไลน์ได้ จึงเสนอให้ทีโอทีขยายจุดให้บริการฟรีไวไฟในชุมชนเมือง เช่น ในชุมชนแออัด แฟลต การเคหะ ป้ายรถเมล์ เป็นต้น แน่นอนว่ามีการบริการของเอกชน แต่ผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้นอาจไม่มีกำลังในการชำระค่าบริการ ซึ่งเขามีสิทธิใช้เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยควรระบุจุดที่จะติดตั้งให้ชัดเจน ตัวอย่างมีผู้อยู่อาศัย 300 คน ซึ่งกำหนดจุดไวไฟ 1 จุด ให้บริการต่อ 10 คน ก็เท่ากับต้องติดตั้งจุดไวไฟทั้งหมด 30 จุด ซึ่งอย่าคิดว่าเขาจะใช้หรือไม่ใช้ แต่อย่างน้อยให้ทุกคนได้ใช้

ของบ”64 หนุนวิถีนิวนอร์มอล

สำหรับการอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมามีการทำการบ้านอย่างรอบด้าน โดยกระทรวงเสนอขอรับการจัดสรร จำนวน 8,604.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,818.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.8% ซึ่งถือเป็นกระทรวงที่มีเปอร์เซ็นต์เสนอขอรับการจัดสรรสูงสุดอธิบายได้ โดยแนวทางในการพัฒนาภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 จะเน้นทางด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ซึ่งหลายองค์กรในภาคเอกชนส่วนมากได้เร่งปรับตัวกันแล้ว แต่ในอีกหลายๆ ภาคส่วนยังคงต้องพัฒนากันต่อไป หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้ไกลเลยแม้แต่น้อย เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มผลงาน โดยใช้เวลาน้อยลงและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการต่างๆ ได้

โดยกระทรวงดีอีเอสได้ดำเนินการผลักดันให้ทุกภาคส่วนเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รองรับวิถีนิว นอร์มอล ภายหลังสิ้นสุดวิกฤตโควิด-19 และพร้อมเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลไปใช้ในทุกมิติ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“ไทยฟลิกซ์”เอาจริงจี้แคทศึกษา

ส่วนแนวความคิดการสร้างแพลตฟอร์มไทย โดยยกตัวอย่างว่า เมื่อมีเน็ตฟลิกซ์ได้ทำให้มีช่องทางในลักษณะเปรียบเทียบเป็นไทยฟลิกซ์ได้เช่นกัน ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก ว่าจากในไลฟ์ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) ที่ส่วนตัวได้พูดถึงแนวคิดเรื่องการสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแบบเดียวกับเน็ตฟลิกซ์ และมีการขยายประเด็นไปในสื่อต่างๆ จนอาจเข้าใจผิด จึงขอชี้แจงให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ปัจจุบันสื่อโทรทัศน์ถูกดิสรัปชั่น หรือโดนสื่อออนไลน์แย่งคนดูไปมากมาย จนย่ำแย่ไปตามๆ กัน ทั้งผู้ผลิตละคร ผู้ผลิตรายการต่างๆ พยายามหาทางออก โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติเผยแพร่เนื้อหาให้เข้าถึงผู้ชม ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณามหาศาลออกไปสู่เจ้าของแพลตฟอร์มต่างประเทศ อุตสาหกรรมโฆษณาของไทยแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร

สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่ามีฝีมือขนาดไหน ได้รับรางวัลระดับโลกมาก็บ่อย นอกจากการสนับสนุนด้านอื่นๆ แล้ว การพัฒนาช่องทางดิจิทัลที่เป็นของไทยเองยังจะช่วยให้ผู้ผลิตเผยแพร่ผลงานได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี อาทิ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เวียดนาม ก็สนใจหนังไทย รวมถึงตลาดที่ใหญ่มากอย่างจีน

“ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดเริ่มต้น โดยมอบให้แคทไปศึกษาแนวทาง ซึ่งคงต้องรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทุกๆ ฝ่าย เราไม่ได้จะทำแข่งกับใครเลย แต่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มารวมกัน สร้างเนื้อหาดีๆ ให้ถึงประชาชน และได้ลูกค้าใหม่ๆ ภาครัฐจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ทั้งวงการโปรดักชั่นภาพยนตร์ สื่อโฆษณา บุคลากรวงการดิจิทัล ร่วมเป็นทีมประเทศไทย” พุทธิพงษ์ระบุ มองว่าช่วง 1-2 ปีนี้ไม่ควรปรับ ครม. เพื่อให้งานเดินต่อเนื่อง

“จะทำอย่างไรล่ะ การเมืองก็คือการเมือง ถ้าเขาไม่ให้ทำ เราก็กลับไปเลี้ยงลูก ลูกยังเด็ก”

เหล่านี้คือภารกิจของกระทรวงดีอีเอส…ที่ต้องติดตามเก้าอี้รัฐมนตรีนับจากนี้จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image