จับทิศ…ราคาทองไกลแค่ไหน กูรูให้ลุ้น วิ่งฉิว 30,000บาท

การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยเดียวที่มีน้ำหนักกระทบไปทุกภาคส่วนและทุกประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ภาคธุรกิจ จนถึงการดำเนินชีวิตของคนทั่วไป ทำให้เกิดความปกติวิถีใหม่ (นิว นอร์มอล) ไม่เว้นแม้กระทั่งภาคการลงทุน ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่ต่างกัน โดยเฉพาะตลาดสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ จะเห็นว่าตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนอย่างต่อเนื่อง แม้สามารถปรับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดได้ค่อนข้างมาก แต่ความเสี่ยงในการลงทุนยังมีอยู่สูง

ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ดัชนีในวันที่ 12 มีนาคม 2563 ถือว่าปรับระดับลดลงมากที่สุดในโลก และยังปรับลดลงต่อเนื่อง ในวันที่ 13 มีนาคม 2563 โดยดัชนีลดลงลึกถึงระดับ 10% ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศใช้มาตรการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว (เซอร์กิต เบรกเกอร์) เป็นรอบที่ 2 ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หุ้นไทย ที่ดัชนีปรับลดลงถึงเกณฑ์เซอร์กิต เบรกเกอร์ทันทีที่เปิดทำการ และเป็นครั้งแรกที่ตลาดหลักทรัพย์หยุดการซื้อขายชั่วคราวติดต่อกัน 2 วันทำการ รวมถึงวันที่ 23 มีนาคม 2563 ดัชนีปรับลดลงมาอยู่ที่ 1,037.05 จุด ลดลง 90.19 จุด หรือลดลง 8% ทำให้ต้องใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์อีกครั้ง โดยถือเป็นการใช้มาตรการหยุดพักซื้อขายชั่วคราว 3 ครั้งในเดือนเดียว

ย้อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการซื้อขายหุ้นไทย เคยมีการใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์แล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อ 19 ธันวาคม 2549 เวลา 11.26 น. โดยดัชนีปรับลดลงกว่า 74.06 จุด หรือ 10.14% ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องพักทำการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที ซึ่งหลังจากที่กลับมาซื้อขายอีกครั้งก็เกือบที่จะต้องพักการซื้อขายอีกรอบ เนื่องจากดัชนีร่วงลงไปต่ำสุดที่ 142.63 จุด หรือ 19.52% สาเหตุเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จะต้องสำรองเงินตราต่างประเทศไว้ 30% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ครั้งที่ 2 วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เวลา 14.35 น. โดยดัชนีปรับลดลงไป 50.08 จุด หรือ 10.02% และครั้งที่ 3 วันที่ 27 ตุลาคม 2551 เวลา 16.04 น. โดยดัชนีปรับลดลง 43.29 จุด หรือ 10% สาเหตุเพราะเกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ของสหรัฐอเมริกา หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

⦁หุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุด
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง เพราะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศ จนส่งผลให้ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ถูกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว โดยประเมินว่าตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 1/2563 ที่ 970 จุด แต่ต้องอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยต้องปรับตัวทำจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/2563 เนื่องจากโดยปกติแล้วดัชนีหุ้นไทยมักปรับตัวชี้นำเศรษฐกิจและกำไรของ บจ.อยู่ประมาณ 1 ไตรมาส

Advertisement

ประเมินทิศทางการลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง 2563 การลงทุนต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เพราะมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 7 ประการ ที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุน คาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายไตรมาส 3 และ 4 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกที่อาจเริ่มชะลอลง การลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปกพลัส) การระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ที่อาจรุนแรงมากขึ้น หากล็อกดาวน์รอบ 2 หลายประเทศอาจไม่มีกระสุนจะอัดฉีดนโยบายการคลังต่อได้ ความผันผวนในช่วงใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 อาจไม่ฟื้นจากไตรมาส 2 รวมทั้งการหมดอายุของมาตรการขายชอร์ตเซลในราคาสูงกว่าตลาด (Uptick Rule) ปลายเดือนกันยายนนี้ และคุณภาพสินเชื่อดีที่จะถดถอยลง

ดัชนีในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าจะเคลื่อนไหวแกว่งตัวไซด์เวย์ และมีกรอบกว้างมาก โดยประเมินกรอบแนวรับแรกของดัชนีที่ 1,300 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียงกำไรสุทธิล่วงหน้าที่ 15.7 เท่า และอิงกับประมาณการกำไรต่อหุ้น (อีพีเอส) ปี 2564 ที่ 83 บาท ส่วนกรอบแนวรับประเมินที่ 1,250 จุด ขณะที่กรอบแนวต้านแรกของดัชนีที่ 1,400 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียงกำไรสุทธิล่วงหน้า ที่ 16.8 เท่า และอิงกับประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 2564 ที่ 83 บาท ส่วนกรอบแนวต้านประเมินที่ 1,450 จุด สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีจะเคลื่อนไหวแกว่งตัวไซด์เวย์กรอบกว้างในไตรมาส 3

เนื่องจากการปรับระดับขึ้น (อัพไซด์) ยังคงถูกจำกัดจากประเด็นราคา (แวลูเอชั่น) เป็นสำคัญ แม้ว่าสภาพคล่องจะท่วมท้น แต่จะเห็นว่าเม็ดเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) เหล่านั้น กลับเลือกที่จะไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ของไทยแทน เพราะมีอัตราผลตอบแทนแท้จริงที่น่าสนใจกว่า

⦁ทิศทางลงทุนครึ่งปีหลัง
นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด มองว่า ภาพรวมการลงทุนครึ่งหลังปี 2563 มีหลายปัจจัยคาดว่ายังคงสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ได้แก่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 จากการทยอยกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัว และแนวโน้มการปรับเป้าผลประกอบการจดทะเบียนจากนักวิเคราะห์จะกลับมามีมุมมองเชิงบวกอีกครั้ง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนมากขึ้น และความผันผวนของสินทรัพย์เสี่ยงมีแนวโน้มลดลง จากนโยบายของธนาคารกลางโลก ที่คาดว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจไม่ให้ปัญหาลุกลามไปสู่ตลาดแรงงาน ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องและการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง

ตลาดหุ้นโลกในภาพรวมยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี หากภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว และมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเลือกลงทุนในอุตสาหกรรม ที่มีแนวโน้มผลประกอบการขยายตัวได้ดีกว่าตลาดโดยรวม และเพิ่งเริ่มเข้าสู่วัฏจักรการขยายตัว จะช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน จากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้

เมื่อภาพการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ที่ปกติจะมีความน่าสนใจมากกว่า เพราะให้ผลตอบแทนในอัตราที่มากกว่า และได้รับผลตอบแทนไวกว่านั้น ไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้ ว่าจะมีกำไรหรือขาดทุน นักลงทุนจึงหันไปให้ความคาดหวังกับสินทรัพย์ปลอดภัย หรือทองคำแทน เพราะทองคำถือเป็นที่หลบภัยในการลงทุน หรือเซฟ เฮฟเว่น (Safe Haven) โดยเฉพาะในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสูง ตลาดมีความกังวลสูงมาก หรือแพนิก (Panic) ต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก

ราคาทองคำล่าสุด ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2563 ราคาทองแท่งขายออก อยู่ที่บาท (บาททองคำ) ละ 28,400 บาท รับซื้อ 28,300 บาท ส่วนทองรูปพรรณ ขายออก 28,900 บาท รับซื้อ 27,788.28 บาท ส่วนทองสปอตอยู่ที่ 1,902 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ อัตราแลกเปลี่ยน 31.62 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยหากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ทองคำปรับขึ้นแล้วกว่า 6,900 บาท เฉพาะต้นเดือนกรกฎาคมถึงปัจจุบัน ปรับขึ้นมาแล้วกว่า 2,5000 บาท

⦁ราคาทองนิวไฮซ้ำซ้อน
ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (วายแอลจี) เปิดเผยว่า ภาพรวมราคาทองคำ ราคาปรับขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง หลังจากราคาทองสปอตผ่านระดับ 1,860 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในรอบ 9 ปีมาได้แล้ว หลังจากผ่านระดับ 1,800 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ที่เป็นจุดสูงสุดในรอบ 8 ปีแล้ว โดยประเมินว่ามีโอกาสที่ราคาทองคำสปอตจะปรับขึ้นทดสอบ 1,920 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,700-28,800 บาท ซึ่งมองว่าหากราคาทองสปอตผ่าน 1,900 เหรียญสหรัฐได้ ก็จะมีโอกาสเห็นทะลุ 29,000 บาท แต่จะเห็นราคาทองคำไทยพุ่งหลุด 30,000 บาท
หรือไม่ ยังต้องติดตามปัจจัยสนับสนุนอย่างใกล้ชิด แต่เบื้องต้นมองว่าช่องว่างของราคายังไกลอยู่

⦁สหรัฐ-จีนกดดันรอบใหม่
สถานการณ์ล่าสุดทางการสหรัฐมีคำสั่งให้ทางจีนปิดสถานกงสุลที่ฮิวสตัน ทันทีภายใน 72 ชั่วโมง ตามมาด้วยทางจีนได้ตอบกลับว่า จะปิดสถานกงสุลสหรัฐในจีนเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการตอบโต้ ทำให้ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศทวีความรุนแรงและบานปลายขึ้นเรื่อยๆ โดยความสัมพันธ์ที่แย่ลงของ 2 ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบในการสร้างความกังวลให้กับตลาดต่อไปแน่นอน ทำให้ภาพความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในสหรัฐ ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มอัดฉีดเงินมากขึ้นกว่านี้ได้อีก ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์น้อยลงไป โดยสหรัฐมีหนี้สินที่มากมายในปัจจุบัน และมีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าหลักๆ ของโลก อาทิ น้ำมัน ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เช่น จีนมีการซื้อน้ำมันจากประเทศคู่ค้าโดยใช้สกุลเงินหยวนในการซื้อขาย ทำให้ความต้องการและการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ค่อนค้างมีความเสี่ยงในระยะยาวที่จะด้อยค่าลง ทำให้การถือครองทองคำจึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ลดความเสี่ยงลงได้

นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดทั่วโลกมีอัตราที่ต่ำมาก ในบางประเทศ การฝากเงินมีอัตราดอกเบี้ยติดลบ เช่น ธนาคารในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก การนำเงินฝาก นอกจากจะไม่ได้ดอกเบี้ยตอบแทนแล้ว ยังต้องเสียเงินในการเก็บรักษาเงินไว้อีก นักลงทุนจึงต้องหาแหล่งตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า แต่มีความเสี่ยงที่ยอมรับได้ นักลงทุนจึงต้องลงทุนในทองคำ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มูลค่าไม่ผันแปรตามกาลเวลา หมายความว่าแม้ราคาจะปรับลดลงบ้าง แต่มูลค่ายังมีอยู่ไม่หายไปแน่นอน ปัจจัยทั้งหลายจึงเป็นแรงสนับสนุนให้ราคาทองคำ เคลื่อนไหวในแดนบวกต่อเนื่อง จึงมองมีลุ้นราคาทองในประเทศได้เห็น
30,000 บาท

⦁นักวิเคราะห์ฟันธงทองขาขึ้น
ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด หรือจีบีเอส มองว่า ภาพรวมตลาดทองคำในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 แนวโน้มยังเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของกองทุนซื้อขายทองคำขนาดใหญ่ของโลก (เอสพีดีอาร์) รวมทั้งความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายประเทศยังอยู่ในอัตราสูง โดยเฉพาะสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) โดยนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบกดดันเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง ทำให้บรรดาธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ต่างทยอยออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินมาอย่างต่อเนื่อง และยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2565 ส่งผลให้เกิดความกังวลในการเกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือเงินมีราคาต่ำกว่ามูลค่าจริง

“ความกังวลต่อการระบาดโควิด-19 หากควบคุมการระบาดได้ อาจส่งผลให้ราคาทองคำลดลง แต่ตราบใดที่ปัจจุบัน นักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัส และยังไม่มีการค้นพบวัคซีนต้านไวรัสที่สามารถใช้งานได้จริง ทองคำก็ยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ที่นักลงทุนมีความต้องการสะสมอย่างต่อเนื่องต่อไป”

สอดคล้องกับ นาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) มองว่า ตลาดทองคำระยะนี้ยังมีความน่าสนใจ จากที่ราคาทองคำได้ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี อยู่ที่ระดับ 1,650-1,750 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะ รวมถึงความต้องการเข้าลงทุนในทองคำ จากกลุ่มผู้ลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (อีทีเอฟ) ที่ยังคงลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย แม้ระดับราคาทองคำปรับตัวขึ้นสวนทางกับความต้องการซื้อ จากแถบภูมิภาคเอเชียและธนาคารกลางต่างๆ ในอัตราที่ลดลงก็ตาม แต่หากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เริ่มคลี่คลาย รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น อาจทำให้ความน่าสนใจในทองคำลดลงได้

พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำ มองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือนกรกฎาคม 2563 แตะ 62.51 จุด เพิ่มขึ้น 2.32 จุด หรือ 3.86% เทียบเดือนมิถุนายน ปัจจัยทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้นมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะ 3 เดือน เดือนกรกฎาคม-กันยายน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2563 จากระดับ 62.11 จุด อยู่ที่ 62.83 จุด เพิ่มขึ้น 0.72 จุด หรือคิดเป็น 1.16% โดยดัชนีปรับเพิ่มขึ้นนั้นมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และทิศทางราคาน้ำมัน

คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำเดือนกรกฎาคมจากกลุ่มตัวอย่าง 296 ตัวอย่าง พบว่า 50.34% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ ขณะที่ 29.05% ยังไม่ซื้อทองคำและ 20.61% คาดซื้อทองคำช่วงเดือนนี้ โดยผู้ประกอบกิจการค้าทองคำมองกรอบราคาทองสปอต 1,717-1,822 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ราคาทองคำแท่งในประเทศ (96.5%) เฉลี่ย 25,400-26,900 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.68-31.72 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนได้ว่า สินทรัพย์เสี่ยงมีความเสี่ยงสูงสมชื่อ ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยก็ราคาสูงขึ้นมากในปัจจุบัน การลงทุนจากนี้คงต้องอาศัยรูปแบบนิว นอร์มอล นั่นคือ เปลี่ยนรูปแบบในการลงทุน เน้นความปลอดภัยและลงทุนด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย หากเข้าลงทุนผิดจังหวะ ไม่แค่หมดโอกาสทำกำไร อาจขาดทุน ดังคำเตือนทุกการลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษารูปแบบการลงทุนให้เข้าใจอย่างชัดเจน ลดทำเงินหายระหว่างทาง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image