สัมภาษณ์พิเศษ : “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” บทบาทนอก ครม. โฟกัสชุมชน-4กุมารชี้ทางออกประเทศ

ขณะที่คลื่นโควิดยังคงซัดเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงและไม่หยุดหย่อน…แต่ภายใต้การเมืองไทยที่เปลี่ยนผ่าน สัปดาห์นี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่หรือตู่ 2/2 จะเข้าทำงานอย่างเป็นทางการ สุพัฒน พงษ์พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เตรียมได้เวลาแสดงผลงาน แต่ในมุมของทีมเศรษฐกิจชุดเก่าที่ลาออกไป “มติชน” สัมภาษณ์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงบทบาทการทำงานด้านเศรษฐกิจและการเมืองนอก ครม.

“สนธิรัตน์” เล่าย้อนถึงการทำงานวันแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้วางนโยบายหลัก 2 ด้าน คือ Energy for All และ Center Energy of ASEAN ก่อนจะแตกนโยบายออกมาในรายละเอียดต่างๆ

เปิดนโยบายเดิมควรไปต่อ

เดิมคนมองพลังงานเป็นค่าใช้จ่ายต้องซื้อพลังงาน แต่ด้วยความเป็น Essentials of life จึงมองได้ 2 มิติ คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ไม่มีใครปฏิเสธว่าตัวเองไม่มีภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน มิติที่ซ่อนอยู่ในนโยบาย Energy for All คือ

Advertisement

ถ้าคนเริ่มเป็นเจ้าของพลังงานได้ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้ และอีกส่วนคือมีความเกี่ยวข้องที่จะได้ประโยชน์จากพลังงาน อาทิ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน จะได้ประโยชน์จากการทำ บี100 ซึ่งเป็นนโยบายรัฐ ตอนทำมีเป้าหมายคือ เกษตรกรมีรายได้และมั่นคงจากนโยบาย บี100 แม้นโยบายนี้ทุกคนต้องรับภาระจากการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุ้ม แต่อีกด้านหนึ่งคือช่วยลดการนำเข้าน้ำมันที่เราผลิตเองไม่ได้ ช่วยเพิ่มการผลิตจากคนในประเทศ สุดท้ายประโยชน์จะกลับไปที่เกษตรกร มีเรื่องสิ่งแวดล้อม กรีนเอ็นเนอร์ยี จะมองมิติราคาอย่างเดียวไม่ได้ หัวใจสุดท้ายที่จำเป็นมากๆ คือ รายได้เกษตรกรที่เป็นคนทำ

ถ้านโยบาย บี100 ทำแล้วเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ สัดส่วนโครงสร้างราคาไม่สอดรับกัน ถือว่านโยบายนี้ผิดดังนั้น สิ่งที่พยายามทำก่อนจะออกจากตำแหน่งคือ การสร้างกลไกเป็นธรรมระหว่างราคา บี100 กับราคาผลผลิตปาล์ม ใช้เทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนเข้ามาควบคุม สิ่งเหล่านี้คือมิติพลังงานที่ได้ทำ เพื่อให้พลังงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน สร้างความมั่นคง เกิด Decentralized หรือการกระจายอำนาจในพลังงาน ไม่ใช่พลังงานจะอยู่ในกลุ่มบิ๊กเฟิร์มอย่างเดียว ซึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นการกระจายอำนาจมากที่สุด เพื่อให้เอสเอ็มอี หรือชุมชน ได้มีโอกาสของการเป็นเจ้าของพลังงาน สามารถเกื้อกูลพืชพลังงานให้มั่นคง ไม่ใช่ซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่โรงไฟฟ้าเหล่านี้มีความจำเป็นและสำคัญเรื่องต้นทุนราคาค่าไฟ ขณะที่โรงไฟฟ้าชุมชนสำคัญเรื่องกระจายอำนาจ สร้างความเข้มแข็งเรื่องเศรษฐกิจฐานราก

การเปลี่ยนผ่านของเอ็นเนอร์ยี่ ดิสรัปชั่น ในส่วนของกระทรวงพลังงานมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะมา แต่สิ่งสำคัญคือองค์ประกอบการอีวีต้องมีชาร์จจิ้งสเตชั่น ได้ทำแผนแม่บทสถานีชาร์จ การปรับโครงสร้างต้นทุนค่าไฟของสถานีชาร์จ เพราะตอนนี้ทุกแห่งกำลังขาดทุนอยู่ ดังนั้น รัฐต้องช่วย การส่งเสริมราคาค่าไฟ 2.70 บาทต่อหน่วยนั้นเป็นสิ่งที่รัฐต้องช่วย เพื่อให้เกิดได้ เป็นนโยบายที่เกื้อกูล จูงใจให้เกิดการลงทุน เหมือนไก่กับไข่ อีวีกับสถานีชาร์จ ตัวอย่างในญี่ปุ่นตอนสนับสนุนก็ใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านจากรัฐบาลในการสนับสนุน ถึงจะจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่อีวี และเมื่อเปลี่ยนผ่านจริงจะลดค่าพลังงานจากการนำเข้าน้ำมันอย่างมหาศาล ประเทศจะเข้มแข็ง ซึ่งไทยไม่มีพลังงานของตนเองมากนัก แต่มีศักยภาพเรื่องไฟฟ้า บริหารต้นทุนได้อาจถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องนี้มีการตั้งกรรมการศึกษาโครงสร้างราคาไฟฟ้าทั้งระบบแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐมนตรีคนใหม่

ลุยโรงไฟฟ้าชุมชนถ้ารมว.พลังงานเอาด้วย

ปัญหาอดีตในด้านพลังงานของไทยจะมองแค่ความมั่นคง แต่มองด้านต้นทุนไฟฟ้าให้มีความสามารถในการแข่งขัน เพราะเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของไทย ซึ่งไทยไปสู่นิวเคลียร์ไม่ได้ ถ่านหินไม่ได้ แต่ปัจจุบันพาร์ตที่สำคัญคือ การสร้างเศรษฐกิจฐานราก ต้องผสมผสานต้นทุน บริหารต้นทุนยังไงให้ถูก และมีพาร์ตที่เข้ามาสร้างเศรษฐกิจฐานราก แต่ถ้าคิดแค่โรงไฟฟ้าชุมชนค่าไฟแพง คิดแบบนี้ก็จบ ถ้าพึ่งแต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) แต่ประเทศจะไปอย่างไร หลังจากนี้ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนต่อ ส่วนตัวจะเลือกพื้นที่ประมาณ 500-600 ชุมชน เดือนสิงหาคมนี้ เพื่อสนับสนุนให้เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนในอนาคต จะชวนมูลนิธิสัมมาชีพเพราะมีความพร้อมระดับหนึ่ง เน้นชุมชนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวแก้หนี้ไม่ได้ หรือชุมชนที่แห้งแล้ง ปลูกอะไรก็ไม่ได้ เลือกชุมชนเหล่านี้เพื่อเข้าไปดูว่าองค์ประกอบเหล่านั้นเหมาะหรือไม่กับการเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน จะยกมือบอกว่าควรให้เขาลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน จะพิสูจน์ถึงการปลดหนี้ ปากท้องดีขึ้น ดึง ธ.ก.ส.เข้ามาช่วย จะพิสูจน์ว่าโรงไฟฟ้าชุมชนที่แท้เป็นสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่การตั้งโรงไฟฟ้าของเอกชน ที่สำคัญอยากเห็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงเข้มแข็ง ไม่ใช่แค่แก้หนี้ จะลงไปดู

ถือเป็นบทบาทจากคนให้นโยบาย บริหารกระทรวง ลงมาผลักดันนโยบายที่เชื่อมั่นว่าดีให้สำเร็จ เป็นมิติการทำงานการเมืองอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่การเมืองต้องมีตำแหน่งหน้าที่ ต้องทำจากบนลงล่าง แต่จะเป็นล่างขึ้นบน เพราะต้องการขับเคลื่อนประโยชน์จากการใช้พลังงานให้เปลี่ยนชีวิต ตอนนี้มีหลายองค์กรติดต่อเข้ามาว่าอยากทำงานด้วย อาทิ กลุ่มของธนาคารต้นไม้มีความพร้อมอยากร่วมด้วย กองทุนหมู่บ้าน ยินดีทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อาจทำงานกับท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พร้อมทำงานทั้งหมด

ปฏิรูปอุตสาหกรรมปาล์มยกระดับประเทศ

เช่นเดียวกับปาล์มน้ำมัน จะเดินหน้าบล็อกเชนเพื่อใช้กับ บี100 ขณะนี้เตรียมพบกับสมาพันธ์ปาล์มน้ำมัน สมาคมลานเท ผู้ประกอบการโรงสกัด เพื่อดูว่าติดขัดอะไร จะช่วยเหลือ อาจต้องขอร้องกลุ่มโรงกลั่นในการช่วยซื้อ บี100 ภายใต้โครงสร้างบล็อกเชน อยู่ที่ว่าจะสนับสนุนนโยบายนี้ต่อหรือไม่ เพื่อให้เกษตรกรพ้นจากการถูกเอาเปรียบ เป็นผลดีกับทุกฝ่าย เกิดปาล์มคุณภาพ เกิดบิ๊กดาต้าของภาคเกษตร สิ่งเหล่านี้อยากให้เกิด เพราะถ้าทำต่อข้างล่างกำลังจะได้ ไม่ได้เสียใจกับตำแหน่ง แต่เสียใจว่างานเหล่านี้กำลังจะเดินหน้าและเกษตรกร ชุมชน กำลังจะได้

อย่าง บี10 เมื่อนำกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน ขณะเดียวกันการใช้น้ำมันชนิดนี้จะลดการนำเข้าน้ำมันที่ไทยผลิตไม่ได้ นโยบายต้องมีส่วนทำให้ บี100 ไปดันต้นทุนของเกษตรกรให้ดีขึ้น และก้าวต่อไปต้นทุน บี100 ต้องถูกลงด้วย เพราะเทรนด์พลังงานของโลก บี100 อนาคตจะไม่จำเป็นสำหรับเชื้อเพลิงเมื่ออีวีเข้ามาแทนที่ ไทยมีเวลาไม่มาก ตัวปาล์มน้ำมันอนาคตจะเป็นโอลิโอเคมิคัลส์ ที่ผ่านมาเตรียมส่งเสริมให้เกิดกรีนดีเซล คือดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมัน คือดีเซล 100% ซึ่งไทยจะลดการนำเข้าดีเซลจากต่างประเทศได้ แต่ตอนนี้ต้นทุนยังแพง ต้องส่งเสริมให้ผลิตจำนวนมาก จะคล้าย บี100 ยกตัวอย่างหากสามาถเติมกรีนดีเซลได้ 10% จะลดการนำเข้าดีเซลได้ 10% ขณะเดียวกันเมื่อเติม บี100 อีก 10% จะเท่ากับไทยลดการนำเข้าดีเซลได้ถึง 20% เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการเพิ่มมูลค่าจากปาล์มน้ำมันมาทำซีพีโอและมาทำ บี100 และเป็นไบโอดีเซล

อีกส่วนคือ จากซีพีโอมาทำกรีนดีเซล และอีกส่วนคือซีพีโอทำเป็นโอลิโอเคมิคัลส์ ยกระดับราคาหลายเท่าตัว สิ่งเหล่านี้จะเป็นก้าวต่อไปในการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ปาล์มน้ำมันของไทยอยู่ต่อได้ เข้ากับทิศทางของบีซีจี คือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว สอดรับกับนิวเอสเคิร์ฟอินดัสทรีที่รัฐบาลต้องลงทุน สิ่งเหล่านี้มีระยะเวลา ไม่ใช่การโฟกัสแค่ บี100 และอยู่กับตรงนี้ ซึ่งอยู่ไม่ได้ ไทยต้องก้าวไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้จะทำ ความเป็นรัฐอะไรที่เดินแล้วติดขัด มีข้อจำกัด หรือนโยบายที่ริเริ่มไว้และเชื่อว่ามีประโยชน์กับพี่น้องประชาชน จะทำ ไม่เลิก ความตั้งใจเป็นประมาณนั้น อย่างน้อยก็อดีตรัฐมนตรีจะไม่ฟังบ้างเลยหรือ และที่ทำคือเพื่อคนข้างล่าง และยังช่วยผู้มีอำนาจในการขับเคลื่อนแต่ต้องรอนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ด้วย

โซลาร์รูฟท็อปมีทางไป

หรือกรณีโซลาร์รูฟท็อปเป็นความล้มเหลวของนโยบาย ทั้งที่เป็นทิศทางที่ดี ไทยมีแสงแดดฟรี เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ถ้าสามารถสร้างองค์ประกอบของโซลาร์รูฟท็อปให้ดีจะสร้างโอกาสและรายได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาคิดรอในเรื่องของแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้า คิดว่าราคาเท่าไหร่ดี ราคารับซื้อส่วนเกิน 1.68 บาทต่อหน่วย จะกำหนดที่จูงใจอย่างไรดี หรือกำหนดรับซื้อจาก 10 ปี เป็น 15 ปีไหม เพื่อให้คืนทุนใน 7 ปี ช่วยลดต้นทุน มีกำไรอาจจูงใจมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มีวิธีทำงาน เพิ่งตั้งคณะทำงานศึกษาเป้าหมาย 60 วัน 50 เมกะวัตต์ น่าเสียดาย เพราะเป็นเรื่องดีแต่ต้องทำให้เหมาะสม ไม่ใช่สิ่งที่กระทรวงทำไว้ไม่ดี แต่เมื่อก่อนมีข้อจำกัดว่าเทคโนโลยีแพง การเลือกกลุ่มเป้าหมายสำคัญ หากเริ่มประชาชนไม่ได้ อาจเน้นกลุ่มอาคารออฟฟิศ โรงพยาบาลไหม กลุ่มใช้ไฟกลางวัน เริ่มกลุ่มนี้ก่อน อาจใส่แรงจูงใจ อาทิ เรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ที่ผ่านมาพบข้อจำกัด คือ การกำหนดว่าต้องมีวุฒิวิศวะเซ็นรับรอง กลุ่มนี้ในไทยจะมีกี่คน ถ้าประชาชนอยากติดไม่มากจะหาวุฒิวิศวะจากไหน ข้อจำกัดเหล่านี้ที่ถูกผูกไว้ต้องได้รับการแก้ไข จากเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ ลงมาเป็น 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี ลงมาเป็นปีละ 100 เมกะวัตต์ และล่าสุดลงมาแค่ 50 เมกะวัตต์ แต่ทำได้จริงแค่ 1 เมกะวัตต์ ต้องแก้ไขอุปสรรค ทำนโยบายต้องเข้าใจปัญหา ทั้งที่ประชาชนจำนวนมากอยากลงทุน มีบริษัทเอกชนพร้อมร่วมลงทุน ตัวอย่าง 50 เมกะวัตต์ กำลังเหมาะสมในการแก้กฎระเบียบต่างๆ ต้องอยู่ที่รัฐบาลจะเดินอย่างไร

ไทยพร้อมศูนย์กลางพลังงานภูมิภาค

สำหรับนโยบาย Center Energy of ASEAN ที่ทำไว้จะมีทั้งเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางแอลเอ็นจีของภูมิภาค ทั้งการนำมาใช้เอง เพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า แต่ข้อสำคัญคือจะบาลานซ์ยังไงระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำเข้าในช่วงที่ผ่านมากับผู้นำเข้ารายอื่นที่นำเข้าเองก็ต้องมีสัดส่วนเท่าใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งการเปิดให้เอกชนสามารถนำเข้าแอลเอ็นจีได้เอง นอกจากต้นทุนที่ถูกลงของผู้ประกอบการแล้ว ต้นทุนปลายทางคือค่าไฟต้องถูกลงด้วย ขณะเดียวกันการกระจายต้องมั่นคงด้วย เรื่องนี้ต้องศึกษารายละเอียดรอบด้าน รอรัฐมนตรีคนใหม่ศึกษา ซึ่งการอนุมัติให้เอกชนนำเข้าอย่างเป็นทางการนั้นต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อีกองค์ประกอบของการเป็นศูนย์กลางแอลเอ็นจี คือด้านการส่งออก ซึ่ง ปตท.มีความพร้อม ขณะนี้ใกล้ดำเนินการแล้วในปลายเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้ในด้านไฟฟ้าก็อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งหมดจะทำให้ไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขัน

ด้านความคืบหน้าการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ล่าสุด อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานร่วมด้านพลังงานของ 2 ประเทศ เรื่องนี้ค้างคามา 20 ปี ต้องดูมิติเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ร่วมกัน การแก้ปัญหาความไม่เข้าใจ เดิมผมตั้งใจทำให้สำเร็จ ได้เริ่มต้นไว้แล้ว เพราะจะเกิดประโยชน์กับไทยระยะยาวเนื่องจากก๊าซในอ่าวไทยจะหมดลงในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันเรื่องนี้สำคัญเพราะไทยเป็นผู้นำปิโตรเคมีของภูมิภาค หากขาดก๊าซที่ผลิตได้เองจะต้องนำเข้า ต้นทุนจะสูง การมีความมั่นคงด้านพลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ฉวยโอกาสยกระดับไทยหลังโควิด

ตอนนี้ไทยมี 2 ปัญหาซ้อนคือ ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่สะสมมา ตั้งแต่โครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน อาทิ การพึ่งพิงส่งออกที่ต้องผลิตสินค้ามูลค่าสูง หรือการพึ่งพิงดิจิทัลไลซ์เซชั่นที่ต้องปรับตัว หรือด้านการท่องเที่ยวที่ไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าการบริการสูงขึ้นเรื่อย แต่ปัจจุบันการท่องเที่ยวเมื่อเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นสถานการณ์ที่กระแทกเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก ตอนนี้เมื่อต้องเจอทั้งเศรษฐกิจไทยและโลกเข้ามา ไทยต้องจัดการกับมิติที่ทับซ้อน มิติของนิว นอร์มอลหลังโควิด จะปรับตัวอย่างไรกับการฉกฉวยโอกาสหลังโควิด ใช้จุดแข็งของประเทศ ขณะเดียวกันจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สะสมเพื่อพาผู้ประกอบการให้อยู่รอด การเข้ามาหลายเรื่องต้องพยุงภาวะปัจจุบันให้อยู่รอด ขณะเดียวกันต้องปรับวิธีคิดการนำเม็ดเงินรัฐและเอกชน เพื่อใช้แต่ละพื้นที่ ต้องเกื้อกูลการเปลี่ยนผ่าน ต้องใช้เม็ดเงินฟื้นฟูเพื่อรับการเปลี่ยนผ่าน ไม่เช่นนั้นเม็ดเงินจะหายไป อย่างปัจจุบันต่างชาติอยากเข้ามาอยู่ในไทย เพราะเห็นว่าเป็นประเทศปลอดภัย คำถามคือต้องทำอย่างไร อาจต้องยอมให้ต่างชาติถือครองที่อยู่อาศัยในไทยได้หรือไม่ เพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ หรือด้านการแพทย์ การท่องเที่ยวจะใช้ประโยชน์อย่างไร

สถานการณ์ปัจจุบันเป็นภาวะวิกฤตและโอกาสมาพร้อมๆ กัน วิเคราะห์คู่แข่ง อย่างประเทศสิงคโปร์กำหนดแผนว่า 18 เดือนจากนี้เศรษฐกิจไม่ดี จึงกำหนดเม็ดเงินอัดฉีดและเป้าหมาย เพื่อประคับประคอง ขณะเดียวกันรัฐก็ลงทุนปรับปรุงสนามบินชางงีโดยปิดเกือบทั้งหมด เหลือใช้เทอร์มินอลเดียว การปรับปรุงเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ที่ผ่านมาได้เจอผู้ประกอบการโรงแรมหลายรายของไทยต่างใช้โอกาสนี้ ปรับปรุง และยังเป็นการจ้างงาน ซึ่งต้นทุนจะถูกลงด้วย เพราะแรงงานต้องการงาน ในด้านการท่องเที่ยวไทยอาจใช้เวลานี้ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว รัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้เอกชน ถ้าเป็นงบรัฐต้องมีเป้าหมายชัด ไม่ใช่เบี้ยหัวแตก

4 กุมารชู Wisdom for The Country

การทำงานร่วมกับ 4 กุมาร (ประกอบด้วย อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) ล่าสุด ได้คุยกับนายอุตตมไปพอสมควรแล้ว เบื้องต้นจะทำเรื่อง Wisdom for The Country ภายใต้สถาบันไทยแลนด์ฟิวเจอร์ คาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะเริ่มทำงานด้วยกัน จะเน้นทำงานวิจัย งานนโยบายสาธารณะ สามารถทำให้เห็นทิศทางการบริหารประเทศ เป็นวิสดอมให้กับการจัดการปัญหาของประเทศ มองเห็นการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคต อย่างกรณีเงินฟื้นฟูประเทศ 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างอนุมัติโครงการ หากถามว่าควรเดินไปทิศทางไหนสถาบันไทยแลนด์ฟิวเจอร์จะมีคำตอบให้ จะเสนอการเปลี่ยนผ่านอย่างไร จะมีทีมวิจัยเพื่อศึกษาให้เห็นภาพชัด เหล่านี้คือบทบาทของ 4 กุมารภายใต้สถาบันไทยแลนด์ฟิวเจอร์ที่คุยกันไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image