สัมภาษณ์พิเศษ : สมเกียรติ ประจำวงษ์ แม่ทัพ “ทรัพยากรน้ำ” กางโปรเจ็กต์สู้แล้ง

สมเกียรติ ประจำวงษ์

ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ยังคงเป็นโจทย์หลักของทุกรัฐบาลที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาวได้เลย จึงทำให้ไทยต้องประสบกับปัญหาเดิมซ้ำซากทุกปี

“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เกี่ยวกับสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในปี 2563 ว่าขณะนี้มีความพร้อมและเตรียมมาตรการในการรับมือกับทั้งภัยแล้ง และพายุฝนที่จะเข้ามาแค่ไหน

“สมเกียรติ” เล่าว่า เริ่มต้นฤดูฝนปีนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจากการคาดการณ์ของนักวิชาการจากหลายองค์กรคาดว่าฝนจะน้อยกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนแรก คือเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และต่อเนื่องถึงกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งเรื่องที่ห่วงคือภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้งขึ้นในช่วง 2-3 เดือนแรกของฤดูฝน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็เป็นไปตามคาดการณ์ คือฝนก็ตกมาน้อย มีเพียงพื้นที่ภาคใต้ที่มีฝนตกชุก ประกอบกับพายุซินลากูเข้ามาทำให้บางพื้นที่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้น โดยภาคอีสานได้รับอานิสงส์จากพายุลูกนี้เป็นหลัก สามารถเติมน้ำเข้าเขื่อนได้ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่น้ำจำนวนนี้ก็ยังไม่เพียงพอ สทนช.คาดการณ์ในอนาคตว่าภาคเหนือโดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำเข้ามาประมาณ 6-7 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรได้ซึ่งเรื่องนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

โดยประมาณกลางเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนคือ กรุงเทพฯและภาคใต้ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯเชื่อว่าจะไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 เพราะยังไม่มีสิ่งบอกเหตุที่สถานการณ์จะรุนแรงถึงขั้นนั้น โดยเฉพาะฝนที่ตกลงมาไม่ได้มีมากพอที่น้ำจะระบายมาได้ ซึ่งในเดือนกันยายนนี้ สทนช.วางแผนบริหารจัดการน้ำฝนทั้งเรื่องการระบาย และแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย โดยมองว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาน้ำท่วม แต่เป็นปัญหาภัยแล้งในปี 2564 ส่วนการบริหารน้ำบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนตั้งแต่นครราชสีมาถึงชัยภูมิตอนบนยังเป็นห่วงเรื่องภัยแล้ง เพราะปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำไม่มากเท่าที่ควร หลังจากนี้จึงได้แต่หวังว่าจะมีพายุฝนเข้ามาในประเทศไทยอีกประมาณ 1-2 ลูกแต่พายุดังกล่าวคาดว่าภาคใต้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงจะมีการประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบอีกครั้ง ซึ่งจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขนเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

Advertisement

ส่วนการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคสำคัญของภาคใต้นั้นทาง สทนช.จะเริ่มปรับปรุงโดยใช้งบประมาณประจำปี 2563/64 โดยกรมชลประทานได้นำเสนอขอโครงการเกี่ยวกับการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ที่ได้เสนอโครงการเพื่อขอปรับปรุงทางรถไฟเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมอีกด้วย ซึ่งทาง สทนช.ได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานทำการศึกษาและออกแบบการกำจัดสิ่งขีดขวางทางน้ำ ภายในเดือนกันยายนนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้อนุกรรมการเป็นผู้พิจารณาอนุมัติกลั่นกรองโครงการเร่งด่วนรอบแรกในฐานะเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การเตรียมการป้องกันมีประสิทธิภาพ และสามารถวางแผนเตรียมความพร้อมในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งนี้ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

พายุที่เข้ามาในไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์หรือผลกระทบ

Advertisement

จากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม ไทยได้รับผลกระทบปริมาณฝนที่ตกหนักมากจากพายุโซนร้อน “ซินลากู” พายุโซนร้อน “ฮีโกส” และอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม รวม 20 จังหวัด นอกจากนี้ยังส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงจังหวัดอุบลราชธานีมีระดับน้ำผันผวนโดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนที่ตกนี้ทำให้เกิดผลดีมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ รวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. โดย 3 อันดับสูงสุด ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ 1,594 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี 494 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก 400 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังน้อยกว่าที่คาดการณ์ โดยปัจจุบันยังไม่มีอ่างขนาดใหญ่ที่มีน้ำมากกว่า 80% แต่ผลที่ได้คืออ่างที่มีน้ำน้อยกว่า 30% มีจำนวนลดลง จาก 26 แห่ง เหลือ 14 แห่ง เนื่องจากฝนตกในที่เดิมซ้ำๆ ทำให้เกิดน้ำหลากจุดเดิม ซึ่งยังคงมีอ่างอีกหลายแห่งที่ต้องการน้ำที่อาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งถัดไปได้

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักปัจจุบันพบว่า เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในอ่าง 4,541 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 34% ของความจุอ่าง แบ่งเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 741 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 8% เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในอ่าง 5,132 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 54% ของความจุอ่าง แบ่งเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 2,282 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 34% เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในอ่าง 9,673 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 42% ของความจุอ่าง แบ่งเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 3,023 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 19% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำในอ่าง 269 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 29% ของความจุอ่าง แบ่งเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 226 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 25% และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในอ่าง 61 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 6% ของความจุอ่าง แบ่งเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 58 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 6%

สทนช.มีแผนรับมือปัญหาน้ำท่วม-แล้งอย่างไร

“สมเกียรติ” เล่าว่า สำหรับการคาดการณ์ฤดูแล้งเมื่อประเมินแล้วฤดูแล้งในปี 2563 ดีกว่าปี 2562 เนื่องจากฝนดีขึ้นประมาณ 50% แต่ไม่ได้ดีมากเท่าปี 2560 ส่วนการบริหารน้ำในปัจจุบันตั้งแต่ต้นฤดูแล้งที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค ขุดบ่อบาดาลในพื้นที่ที่แหล่งน้ำหายาก ซึ่งแผนงานดังกล่าวรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า ทำให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ต้องสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน อาทิ การเจาะบ่อบาดาล 1,000 บ่อ และซ่อมแผนระบบประปาที่มีความคืบหน้าแล้วกว่า 70% เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้เตรียมโครงการขุดลอกทั่วกรุงเทพฯภายใต้การดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) งบประมาณ 90-95 ล้านบาท ขุดคลองกว่า 60 แห่ง ซึ่งจะเริ่มนำร่องจากพื้นที่หนองจอก เพื่อเชื่อมโยงกับกรมชลประทานที่มีการขุดลอกเช่นกัน โดยโครงการดังกล่าวของ กทม.รวมอยู่ในงบประมาณ รวม 500 ล้านบาทด้วย ซึ่งงบประมาณดังกล่าวเป็นของ สทนช. กรมชลประทาน และ กทม. โดย สทนช.นำงบประมาณ จำนวน 9 ล้านบาท ไปช่วยเหลือในการจัดการประชุมของอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเตรียมแหล่งเก็บน้ำเอาไว้ในช่วงฤดูฝนต่อฤดูแล้ง

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังได้รับงบประมาณสำหรับจัดทำโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศจำนวน 18,927 รายการ งบประมาณ 9,950 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะต้องบริหารเร่งด่วนภายในเดือนกันยายนนี้ โดยโครงการนี้จะสนับสนุนให้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กคาดว่าจะสามารถเพิ่มการเก็บกักน้ำได้กว่า 200-300 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งก็เป็นผลดีในการดำเนินงานในครั้งนี้ แต่โครงการนี้เป็นโครงการไม่ใหญ่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศมีศักยภาพในการดำเนินงานไม่เหมือนกัน โครงการนี้จึงถือเป็นโครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แผนบริหารน้ำในปี 2564

สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์ในปี 2564 จากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะดีกว่าปี 2563 เล็กน้อย แต่อาจมีการพลิกผันในกรณีที่มีพายุเข้ามาเพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ด้วย แต่เชื่อมั่นว่าจะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 แน่นอน ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเพียง 2-3% เท่านั้น โดยสิ่งที่เป็นห่วงมากกว่าน้ำท่วมคือ ภัยแล้ง ที่อยู่ระหว่างประเมินว่าจะมีปริมาณน้ำเหลือใช้ปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องทำการประเมินสถานการณ์น้ำช่วงสิ้นฤดูฝน หรือประมาณเดือนตุลาคม เพื่อนำข้อมูลมาจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมต่อไป

คืบหน้าแผนพัฒนาลุ่มน้ำยม

ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม สทนช.เตรียมแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมทั้งระบบ โดยเฉพาะการเพิ่มจุดเก็บกักน้ำ และชะลอน้ำทุกรูปแบบในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมและเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้ง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาแหล่งน้ำตามแผนหลักลุ่มน้ำยม (ปี 2564-2580) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้มีแผนหลักดำเนินการเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ยมตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง

โดยลุ่มน้ำยมตอนบนระยะเร่งด่วนเริ่มดำเนินปี 2564 ได้แก่ อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและติดตั้งระบบเตือนภัย ระยะสั้น เริ่มปี 2565-2566 ได้แก่ พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงแหล่งน้ำตามแนวคิด “สะเอียบโมเดล” ยมตอนกลาง ระยะเร่งด่วน เริ่มปี 2564 ได้แก่ การจัดการจราจรน้ำและปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน ระยะสั้นเริ่มปี 2565-2570 ได้แก่ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำสาขา และเพิ่มความจุแหล่งน้ำเดิม

ส่วนระยะยาว หรือหลังปี 2570 ได้แก่ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำยมซึ่งต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนในพื้นที่มาพิจารณาด้วย ในลุ่มน้ำยมตอนล่าง ระยะเร่งด่วน เริ่มปี 2564 ได้แก่ การพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำยม อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง โดยมีแผนดำเนินการในอนาคตอีก 7 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 11 แห่ง และระบบผันน้ำเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ ได้แก่ โครงการคลองผันน้ำยมน่าน ระยะกลาง เริ่มดำเนินการปี 2566 ได้แก่ พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์

ลุ่มน้ำยม มีน้ำฝนเฉลี่ย 1,369 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำท่า 6,715 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ประสบปัญหาท่วมแล้ง โดยมีพื้นที่ท่วมซ้ำซากคิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 2,021 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ช่วงฤดูแล้งขาดแคลนน้ำประมาณ 1,875 ล้าน ลบ.ม. โดยเป้าหมายแผนหลักลุ่มน้ำยม 20 ปี สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำตอนบน-ตอนกลาง 800 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชะลอน้ำตอนล่าง 833 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 253,630 ไร่ และลดปัญหาน้ำท่วมได้ 54,159 ไร่

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดำเนินการแล้ว 697 โครงการ เก็บกักน้ำได้ 68 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 1.4 แสนไร่ โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 จ.ลำปาง อ่างเก็บน้ำแม่แคม จ.แพร่ ประตูระบายน้ำ (ปตร.) ท่านางงาม จ.พิษณุโลก ปตร.ท่าแห จ.พิจิตร ปตร.บ้านวังจิก จ.พิจิตร ส่วนการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทุ่งบางระกำ ปี 2563 จำนวน 500 แห่ง ได้น้ำรวม 24 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่แผนงานโครงการสำคัญที่จะเริ่มดำเนินได้ภายในปี 2566 มีทั้งสิ้น 36 โครงการ ที่สามารถเพิ่มความจุได้ 116 ล้าน ลบ.ม. แก้มลิงชะลอน้ำ 833 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1.67 แสนไร่ 26,949 ครัวเรือน โดยทำควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน-กลาง ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก 234 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงเร่งผลักดันแผนการพัฒนาพื้นที่รับน้ำ ชะลอน้ำในลำน้ำยมตอนบนให้ได้โดยเร็วตามแผนหลัก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบปริมาณน้ำส่วนเกินก่อนไหลลงสู่พื้นที่จังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นพื้นที่ท่วมซ้ำซากให้ไม่ประสบปัญหาอย่างในปัจจุบัน

แผนจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี

ส่วนการบริหารน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กรมชลประทานได้เตรียม 8 มาตรการรองรับการใช้น้ำในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งปี 2563/2564 ประกอบด้วย 1.สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มาลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล สูบถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 60 ล้าน ลบ.ม. 2.สูบคลองสะพานเติมอ่างประแสร์ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 15 ล้าน ลบ.ม. 3.สูบกลับวัดละหารไร่ (แม่น้ำระยอง) เติมอ่างหนองปลาไหล ถึงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำรวม 4.84 ล้าน ลบ.ม.

4.การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สูบใช้น้ำคลองน้ำหู ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 5 ล้าน ลบ.ม. 5.สูบผันน้ำคลองพระองค์ฯ/พานทอง-อ่างบางพระ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 50 ล้าน ลบ.ม. 6.สูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างบางพระ ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ปริมาณน้ำรวม 20 ล้าน ลบ.ม. 7.ประหยัดการใช้น้ำทุกภาคส่วนในจังหวัดระยอง และชลบุรี และ 8.สูบปันน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี มาลงอ่างประแสร์ มีแผนการสูบน้ำตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายน 2563 ปริมาณรวม 12 ล้าน ลบ.ม.

ภาพรวมการบริหารจัดการเรื่องน้ำของรัฐบาล

“สมเกียรติ” เล่าว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐนั้น ปัจจุบันเริ่มมีการรับรู้มากขึ้นว่าทรัพยากรน้ำมีหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องเยอะมาก จึงทำให้เกิดช่องว่างของการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งภาครัฐต้องการให้เจ้าภาพมีแค่หน่วยงานเดียว หรือมีการทำงานร่วมกันแบบเป็นหนึ่งเดียว ภาครัฐได้เล็งเห็นว่าทางออกคือต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา จึงได้ตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อเป็นเสาหลักในการประสานงานกับองค์กรต่างๆ แบบบูรณาการร่วมกันซึ่งที่ผ่านมา สทนช.ได้มีการพัฒนารูปแบบการทำงานให้ครอบคลุมมากขึ้น อาทิ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการรายงานสถานการณ์น้ำ และการตรวจสอบปริมาณน้ำโดยมีการอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านแอพพลิเคชั่น Thai Water Plan ที่ประชาชน ภาครัฐ หน่วยงานประจำจังหวัดและนักการเมืองสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ ซึ่งเจตนาของการจัดทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเพื่อต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบว่าตอนนี้ในจังหวัดของตนมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำใดแล้วบ้าง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงานในอนาคต

หลังจากนี้จะเริ่มเห็นการทำงานแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงและกรมต่างๆ ในเรื่องของการทำแพคเกจเสนอของบประมาณเพื่อนำไปใช้อย่างเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นอีกการเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลได้เข้าใจและให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารน้ำในประเทศเพิ่มขึ้น ดูได้จากมาตรการเรื่องการผันน้ำที่ปกติหน่วยงานสามารถผลักดันได้เลย แต่ในปัจจุบันต้องมีการเสนอเรื่องไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ก่อนที่จะยิงคำสั่งตรงไปที่หน่วยงานซึ่งช่วยให้เกิดการทำงานแบบมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

จากมุมมองของหน่วยงานที่บริหารจัดการด้านน้ำโดยตรง ฉายภาพให้เห็นถึงแผนการบริหารน้ำแบบครบวงจร แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะสามารถช่วยให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตเรื่องน้ำไปได้อย่างที่ภาครัฐหวังไว้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image