สัมภาษณ์พิเศษ: อุตุฯศักราชใหม่ ใต้ปีก ‘ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์’

อุตุฯศักราชใหม่ ใต้ปีก ‘ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์’
เคาะสนิมพยากรณ์เดิม ให้ทันสมัยแม่นเป๊ะ!!

ไม่ว่าจะพยากรณ์อากาศได้แม่นยำดังตาเห็นหรือไม่แต่ “กรมอุตุนิยมวิทยา” ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่หัวกระไดไม่เคยแห้ง มีเจ้าสำนักมากหน้าหลายตาแวะเวียนมานำทัพอยู่ตลอด

ล่าสุด ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม ข้ามห้วยมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แทน น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาคนก่อนที่เกษียณอายุราชการ หลายคนมองว่าเป็นการปาดหน้าคนในวงการที่หมายมั่นปั้นมือว่า จะได้กลับมาผงาดอีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเสียงกระซิบเป็นสายทหารบ้าง อีกเสียงกระซิบบอก พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เป็นเถ้าแก่ทาบทามให้เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว

Advertisement

เพื่อไม่ให้เคลือบแคลงสงสัย “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รับการยืนยันว่า ไม่ได้มาจากสายทหาร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส มีวิสัยทัศน์ต้องการคนเข้ามาทำงานในส่วนนี้ หากศึกษาประวัติ การทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยา จะพบว่าเป็นหน่วยงานที่มีความเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ที่เดิมอยู่ในการดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ขณะเดียวกัน หากย้อนดูประวัติจะพบว่า คุณตาเคยเป็นเจ้ากรมอุทกศาสตร์อยู่ 8 ปี ก่อนที่จะแยกออกมา

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคนในกระทรวงดีอีเอสเองมาจากหลากหลาย บางคนอยู่ที่ใดที่หนึ่งก็ยึดติด อย่างคนกรมนี้จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ที่นั่นมาโดยตลอด จะไม่เห็นมุมมองการทำงานในรูปแบบอื่น ที่แตกต่างไปจากเดิม วันนี้เป็นไปได้อย่างไรว่าโครงการมูลค่าเป็นร้อยล้านบาท ไม่มีการว่าจ้าง งบประมาณทิ้งไปทั้งหมด ไม่ดำเนินการอะไร ซึ่งในมุมผู้บริหารมองว่าเกิดอะไรขึ้นในกรม ทำไมงานไม่ค่อยเดิน ปีที่แล้วมีการเบิกจ่ายงบประมาณเพียง 80% จากทั้งหมด 1,600 ล้านบาท คืนไปเป็นหลัก 100 ล้านบาท การบริหารงานอาจให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างมากเกินไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ต้องการคนที่พอมีความรู้เชิงเทคนิค ประกอบกับส่วนตัวมีโอกาสได้หารือกับ ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการเรียนการสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าหลักสูตรในภาควิชาวิทยาศาสตร์ช่วงปี 1-2 มีการบรรจุเรื่องนี้ไว้ด้วย เพราะเป็นเรื่องฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ดังนั้น จึงพอมีเป็นความรู้เบื้องต้นเนื่องจากจบการศึกษาในสาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งหากเราพอมีความรู้เรื่องนี้แล้วได้เข้าไปทำงาน คงจะง่ายขึ้น

ที่ผ่านมาเวลามีการเปิดรับสมัครนักอุตุนิยมวิทยา คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์-ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์-เคมี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ทุกสาขา จึงจะเห็นได้ว่าวิศวกรรมศาสตร์เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการทำงานด้านนี้ และเป็นพื้นฐานที่เราพอมีความรู้อยู่บ้าง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสอาจมองว่าวิศวกรรมน่าจะคุยหรือทำงานกันรู้เรื่อง

เพิ่มความถี่พยากรณ์แม่นเป๊ะ

ที่ผ่านมา มักจะมีการพูดกันตลกๆ ว่าเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศอย่างไร ให้แทงว่าสภาพอากาศจะออกไปในทางตรงกันข้ามเสมอ ซึ่งถ้าพยากรณ์อากาศว่า วันนี้ฝนตกก็ให้แทงว่าวันนี้ฝนไม่ตก เป็นต้น ซึ่งการเป็นแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในข้อมูลการพยากรณ์อากาศ ฉะนั้น สิ่งที่จะดำเนินการจากนี้ ประกอบด้วย

1.ทำให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยานอกจากจะติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์ พยากรณ์แล้ว ในพันธกิจที่สร้างขึ้นต้องมีการพยากรณ์อากาศอย่างถูกต้อง แต่ถูกต้องอย่างเดียวคงไม่พอ จะต้องมีความแม่นยำมากขึ้นด้วย วันนี้ที่บอกว่ามีฝนร้อยละ 30% ต้องสามารถบอกได้ว่าตกที่ไหน ตกเมื่อไร ตกเวลาไหน ที่ผ่านมาทำไมเราไม่สามารถพยากรณ์อากาศได้เหมือนประเทศอื่น ทำไมไม่สามารถตั้งเป้าให้กับประชาชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า

วันนี้ที่พายุเข้า ถามว่า แล้วน้ำจะท่วมหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่อยากรู้ สุดท้ายแล้วต้องไปต่อได้ว่าน้ำจะท่วมในพื้นที่นั้นๆ หรือไม่ กรมอุตุนิยมวิทยามีเครื่องมือมหาศาล ทำอย่างไรถึงจะสามารถตอบได้ และมีเครื่องมืออะไรที่จะทำได้บ้าง ดูเฉพาะเรื่องปริมาณน้ำ ปริมาณฝนก่อนการพยากรณ์ควรจะมีความแม่นยำ และพัฒนาไปมากกว่านี้ ปริมาณฝนตกเท่านั้นเท่านี้ ต้องบอกได้ว่าตกที่ไหน ตกเมื่อไร ต้องแม่นยำมากขึ้น

โดยอุปกรณ์ที่มีอยู่ เชื่อว่าจะสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อาจจะทำได้เลยขณะนี้คือ 1 วัน จะมีติดตามสภาวะอากาศจากภาพถ่ายดาวเทียมประมาณ 4-5 ครั้ง แต่การแถลงข่าวบางครั้ง ข่าวตอนเช้าเวลา 07.00 น.ทิศทางลม ความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น การให้ข่าวต้องมีความถี่ขึ้น อาทิ พยากรณ์อากาศเวลา 07.00 น. ในสภาวะอากาศแบบนั้น เมืองไทยเป็นโซนร้อน ฉะนั้น ลักษณะอากาศอาจจะไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น การคาดการณ์ของเราอาจจะพยากรณ์ให้ถี่ขึ้น เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะเป็นช่วงเวลา 10.00 น. อีกครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศก่อนหน้านี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากอะไรก็ว่าไป จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้มวลอากาศนั้นๆ เคลื่อนตัวไปยังพื้นที่อื่น เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มความถี่ในการให้ข่าว

ลดขั้นตอนทำงาน แต่ประสิทธิภาพสูง

2.เครื่องมือและอุปกรณ์ ซึ่งในเบื้องต้นตอนนี้เครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่างเป็นเครื่องมือที่โบราณ ทั้งเครื่องตรวจวัดน้ำฝน เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งจากสถานีอุตุนิยมวิทยา 125 สถานี ยังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อไปดูค่าปริมาณน้ำฝนในแต่ละจุด ถามว่า ทำไมจะต้องลงพื้นที่เพื่อไปอ่านค่าวันละ 3 รอบ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล แม้มีอยู่หลายโครงการที่พยายามเปลี่ยนเป็นเครื่องมืออัตโนมัติ แต่ถามว่าเบื้องต้นสามารถทำอะไรได้บ้าง เลยถามว่าทำไมต้องให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อไปดูค่า ทำอย่างไรที่จะให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องลงไปดู แต่สามารถอ่านค่าได้บ่อยขึ้น เนื่องจากเป็นเทอร์โมมิเตอร์ที่ต้องอ่านด้วยตาคนเท่านั้น สามารถเปลี่ยนเป็นกล้องวงจรปิดแทนได้ไหม ให้เจ้าหน้าที่นั่งประจำการอยู่ที่กรม แต่สามารถจดค่าผ่านกล้องวงจรปิด ขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มความถี่ได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อไปดูค่า

เรื่องนี้ในฐานะที่เป็นคนนอก มองเข้าไปพบว่า มีหลายเรื่องที่น่าจะทำในรูปแบบอื่นได้ เข้าใจคนที่เป็นช่างเทคนิค คนที่มีหน้าที่ในกรมอยู่กับที่มาเป็นเวลานาน มีความคุ้นเคยกับรูปแบบวัฒนธรรมที่ถูกสอนมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกที่ เหมือนจากที่ก่อนหน้านี้ทำงานในสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นเวลานานเป็น 10 กว่าปี ปัญหาก็จะวนอยู่แค่ไม่กี่เรื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเดิมๆ แต่พอถอยออกมา เราก็จะพบมุมมองที่แตกต่าง

ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะนำมุมมองที่แตกต่างใส่เข้าไป แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้จากปัจจุบันที่เป็นอยู่ บางทีเครื่องไม้เครื่องมือซื้อมาเป็นจำนวนมาก บางตัวเกิดล้าสมัย จำเป็นจะต้องตั้งงบประมาณใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้น ซึ่งก็มีการตั้งงบประมาณ สำหรับอุปกรณ์เครื่องมือในการวัดค่าน้ำฝน วัดความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งต้องค่อยๆ เปลี่ยนตามงบประมาณที่ได้รับ แต่หากไม่ได้รับ ก็ต้องกลับมาช่วยกันคิดว่าจำทำอย่างไรให้การทำงานภายใต้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งต้องใช้เทคนิคต่างๆ ที่เราคิดว่าพอจะให้คำแนะนำได้

ผนึกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เสริมแกร่ง

3.นอกจากการพยากรณ์อากาศให้แม่นยำแล้ว ต้องไปต่อว่าการพยากรณ์นั้นมีคนนำไปใช้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่แค่พยากรณ์อากาศว่าฝนจะตกหนักบริเวณ 12 จังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพายุระดับ 2 ระดับ 3 จะเข้า แต่สิ่งที่ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยากทราบคือ น้ำจะท่วมหรือไม่ แล้วใครจะเป็นคนดูแลเรื่องนี้ กรมชลประทานหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือ เพราะกรมชลประทานมีหน้าที่จัดให้ได้มาซึ่งน้ำเพื่อกักเก็บรักษา ควบคุม ส่ง ระบาย หรือแบ่งน้ำเพื่อการเกษตร การพลังงาน การสาธารณูปโภค หรือการอุตสาหกรรม และหมายถึงการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำ กับการคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทาน

โดยกรมชลประทาน จะนำข้อมูลจากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาไปประกอบ ว่าฝนตกปริมาณเท่านี้แล้วจะสามารถเก็บกักรองรับได้มากน้อยอย่างไร ซึ่งนอกเหนือจากเขตพื้นที่ชลประทานจะดำเนินการอย่างไร ในแม่น้ำลำคลองใครจะเป็นคนดูแล เพราะมีเครื่องมือที่สามารถวัดค่าได้ว่า เวลาฝนตกจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเท่าไร โดยดูจากภาพถ่ายดาวเทียมสะท้อนลงมาเห็นบริเวณริมตลิ่งว่าเหลือปริมาณความจุได้อีกเท่าไร จากนั้นประเมินว่าจะส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งหากเราทำอย่างนี้ได้จะกลายเป็นประโยชน์กับประชาชนในการเตรียมความพร้อมในการรับมือสำหรับการป้องกันภัย ซึ่งเพียงรู้ล่วงหน้าแค่ 2 วัน ก็เป็นผลดีมากแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดภัยหรือปัญหาแล้วค่อยมาแก้ จากนั้นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จะเข้ามาทำหน้าที่หลังจากที่ประชาชนประสบภัยแล้ว

“ปัจจุบันไม่มีใครบอกว่า หน้าที่การเตือนภัยเป็นของใคร เพราะบางคนบอกว่าเป็นหน้าที่ของกรมชลประทาน แต่หากมีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะสามารถบอกแบบนั้นได้ ทาง ปภ.อยากแจ้ง หรือกรมชลประทานอยากแจ้งก็ไม่เป็นไร แต่กรมอุตุนิยมวิทยายินดีจะเป็นคนป้อนข้อมูลให้ เชื่อว่าเครื่องไม้เครื่องมือมีศักยภาพ เพราะว่าเรื่องเหล่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดผลกระทบ ที่เกิดขึ้นให้กับพี่น้องประชาชนได้” นายณัฐพลกล่าว

ดันการพยากรณ์ กระตุ้นท่องเที่ยว

4.การนำการพยากรณ์อากาศไปใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมหาศาล และข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาถือได้ว่าเป็นบิ๊กดาต้าที่สำคัญ และใหญ่มาก ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เหมาะกับงานคำนวณที่ต้องมีการคำนวณตัวเลขจำนวนหลายล้านตัวภายในเวลาอันรวดเร็ว อาทิ งานพยากรณ์อากาศ ที่ต้องนำข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับอากาศทั้งระดับภาคพื้นดิน และระดับชื้นบรรยากาศ เพื่อดูการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ทุกวันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เกิดความล้าสมัยไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าเหล่านี้ มีแค่การเตือนภัยเพียงแค่นั้นหรือ มันควรจะมีประโยชน์มากกว่านั้น ทำไมเราไม่สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการบอกหรือเตือนเกษตรกรได้ล่วงหน้าว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมาก หรือปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะน้อย จะมีโมเดลอะไรที่เราสามารถพัฒนาขึ้นมา ซึ่งแม้จะไม่แม่นยำ 100% เนื่องจากสภาวะอากาศโลกมีการเปลี่ยนแปลง แต่หากมีข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่าปริมาณน้ำฝนปีนี้จะเยอะ เกษตรกรจะสามารถวางแผนได้ว่าจะเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรอย่างไร ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อเตรียมการวางแผนในการเพาะปลูกได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากเรื่องการเกษตรแล้ว ด้านอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องมีความชัดเจนว่าปริมาณการใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมจะขาดแคลนหรือไม่ จะได้ดำเนินการผันน้ำได้อย่างถูกต้อง อาทิ ฝนตกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นจำนวนมาก ต้องประเมินว่าจะสามารถผันน้ำมายังพื้นที่อุตสาหกรรมได้หรือไม่ ดีกว่าจะปล่อยทิ้งขว้าง และสุดท้ายก็ลงแม่น้ำโขงไป จะทำอย่างไรที่จะสามารถวางแผนเรื่องพวกนี้ให้สามารถนำน้ำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา มีกองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา ที่ทำหน้าที่ในเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะละเลยไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไปบ้าง

การนำข้อมูลที่มีอยู่มาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มในด้านต่างๆ จะเป็นประโยชนอย่างมาก หากวันนี้ฝนตกและสามารถแจ้งให้ทราบล่วงหน้าได้ก่อนสัก 2 ชั่วโมง บอกว่าฝนจะตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ บริเวณไหนบ้าง เราก็จะสามารถวางแผนในการเตรียมตัวที่จะออกจากบ้านได้ซึ่งหากแจ้งได้รวดเร็ว ทันการณ์ แทนที่จะออกไปแล้วเจอรถติด จะได้วางแผนถูกว่าจะออกก่อนหรือออกหลัง ก็จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก จะได้ไม่เกิดการสูญเสีย ด้านเศรษฐกิจในเรื่องปัญหาการจราจรติดขัด สิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิง เสียเวลา ซึ่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงดีอีเอสเองมีนโยบายอยู่แล้วในการดำเนินการเรื่องนี้

ในปีนี้มีการจัดสรรงบประมาณบางส่วน จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องมือลักษณะที่สามารถตรวจสอบสภาพอากาศได้ระดับพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันจุดในการติดตั้งอุปกรณ์มีระยะห่างเกินไป จึงต้องเพิ่มความถี่ในการติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อทำให้การพยากรณ์อากาศเกิดความแม่นยำ อย่างในประเทศญี่ปุ่นมีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ตามสถานีรถไฟต่างๆ ทำให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำ ซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือพวกนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ได้

หรือแม้กระทั่งด้านการท่องเที่ยว กรมอุตุนิยมวิทยา ก็สามารถพยากรณ์อากาศ เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหากสามารถพยากรณ์อากาศได้ในรายละเอียดขนาดนั้น ที่พัก นักท่องเที่ยว ก็จะสามารถเดินทางพักผ่อนได้อย่างอุ่นใจ เพราะถ้ากรมอุตุนิยมวิทยามีการพยากรณ์อากาศว่า พายุจะเข้าและสุดท้ายพายุไม่เข้าจะส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ อาทิ การยกเลิกการจองที่พัก ทำให้การเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบน้อยลง กรมอุตุนิยมวิทยา ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โรงแรม ที่พัก แทนที่จะมีลูกค้าในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่มีการพยากรณ์อากาศที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนทำให้เกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาล ซึ่งบางเรื่องที่ผ่านมาเรามองข้ามจนเกินไปจนทำให้เกิดความเสียหายมากมาย กับการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ จึงเชื่อว่าการสื่อสารมีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกันให้บ่อยขึ้น และต้องอัพเดตข้อมูลให้มากขึ้น

ต้องจับตาการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ภายใต้ปีกอธิบดีคนใหม่ กับพยากรณ์อากาศที่แม่นยำดังตาเห็นเป็นเดิมพัน มีเครื่องไม้ เครื่องมือที่ทันสมัย เคาะสนิมบุคลากรที่เก่าแก่พอๆ กับอายุของกรมที่ก่อตั้งมา 78 ปี ทำให้กรมอุตุนิยมวิทยากลับมาโชติช่วงชัชวาลได้อีกหรือไม่

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image