‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ ปลุกพลัง ‘ส่งออก’ ฝ่ามรสุมโควิด พลิกศก.ไทย

‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ ปลุกพลัง ‘ส่งออก’ ฝ่ามรสุมโควิด พลิกศก.ไทย

หมายเหตุ : นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงสถานการณ์การส่งออกไทย และทิศทางในอนาคตขณะนี้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

⦁ ภาวะการส่งออกของไทยในปัจจุบัน

การส่งออกของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง เดือน ก.ค.2564 ไทยส่งออก 22,650.83 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 708,651.66 ล้านบาท ทำมูลค่าได้มากกว่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเวลาต่อเนื่อง 5 เดือน มากกว่ามูลค่าการส่งออกรายเดือนเฉลี่ยของปี 2562 ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเดือน ก.ค.ขยายตัวถึง 20.27 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่ 5 ส่งผลให้ภาพรวม 7 เดือนแรก 2564 ไทยส่งออก 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4,726,197.35 ล้านบาท ขยายตัว 16.20%

โอกาสและอุปสรรคต่อการส่งออกไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีปัจจัยบวกจากการเร่งกระจายวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และแผนเร่งฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3

Advertisement

การเรียนรู้จากที่ผ่านมา ทำให้จัดการอุปสรรคเร็วขึ้น ภาคเอกชนมองโควิด-19 เป็นเรื่องระยะยาว และปรับสู่นิวนอร์มอล แต่ยังมีความไม่แน่นอน หากทั่วโลกไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านอุปทาน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมปิดชั่วคราว ขาดแคลนแรงงาน ขาดแคลนวัตถุดิบส่วนประกอบ และการขนส่งล่าช้าและชะงักงัน อาจส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง

หากเทียบกับประเทศคู่แข่งต่างๆ ในโลก สถานะการส่งออกไทยอยู่ในอันดับแล้ว การส่งออกของไทยเติบโตสอดคล้องกับการส่งออกของโลก เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก เชื่อมโยงในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างเดือน ก.ค. การส่งออกของไทยขยายตัว 20.27% สูงกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนาม ขยายตัว 11.9% จีน ขยายตัว 18.9% และสิงคโปร์ ขยายตัว 19.0% การส่งออกของไทยขยายตัวสูงกว่าทั้ง 3 ประเทศ มาต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว

ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกของไทยอยู่อันดับที่ 17 ของโลก 3 อันดับแรก คือ จีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ไทยเป็นอันดับที่ 10 ของเอเชียรองจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย

Advertisement

⦁ กลยุทธ์ดัน 7 เดือนส่งออกไทยบวก 15%

มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยหนุนการทำงานเชิงรุก เราใช้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต มีทีมเซลส์แมนประเทศทำงานร่วมกับทีมเซลส์แมนจังหวัดอย่างเข้มแข็ง และทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ยึดหลัก รัฐหนุน เอกชนนำ ผ่านกลไก กรอ.พาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที และผลักดันให้เอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ทั้งทวิภาคี และพหุภาคี

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวและขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้ง สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน สะท้อนจากการขยายตัวของตัวเลขจีดีพี และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing Purchasing Manager’s Index หรือ Global Manufacturing PMI) และค่าเงินบาทอ่อนค่าช่วยสนับสนุนให้การส่งออกดีขึ้น

ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรค ประการแรกคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดในโรงงานการผลิตในไทย ทำให้ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว อาจส่งผลต่อภาคการผลิตอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม โรงงานมีมาตรการป้องกันเข้มงวด และเร่งรัดการฉีดวัคซีน ให้กลับมาเปิดโรงงานได้อีกครั้ง

อีกประการคือ ค่าระวางเรือยังคงอยู่ในระดับสูง กระทบต่อต้นทุนการขนส่ง และราคาสินค้าส่งออกของไทย แต่เอกชนไทยได้ปรับตัว โดยการรวมกลุ่มเช่าพื้นที่ระวางร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนค่าระวางเรือ

ขอตัวอย่างแผนงานที่ช่วยเสริมพลังให้การส่งออกไทย เช่น การปรับรูปแบบงานส่งเสริมการส่งออกเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้นำเข้าจากต่างประเทศ และผู้ส่งออกไทยสามารถเจรจาจับคู่ธุรกิจ และช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มีกิจกรรมกว่า 130 กิจกรรม

กรอ.พาณิชย์ สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ จนสามารถเข้าสู่ระดับสมดุล ปริมาณตู้สินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการ และแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีนผ่านเส้นทางบก จนสามารถส่งออกได้คล่องตัว

กระทรวง มีมาตรการบริหารจัดการผลไม้ โดยให้ทีมเซลส์แมนประเทศ และทีมเซลส์แมนจังหวัดทำงานล่วงหน้า ในการหาผู้นำเข้าและผู้ประกอบการไทยร่วมเจรจาการค้าก่อนมีผลไม้เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

การลงนาม มินิ เอฟทีเอ (Mini-FTA) เจาะตลาดเมืองรองสำคัญได้มากขึ้น ลงนามแล้ว 2 ฉบับ คือ ไทย-ไห่หนาน และไทย-โคฟุ และรอลงนามอีก 2 ฉบับ คือ ไทย-เตลังกานา และไทย-คยองกี

การผลักดันการลงนามความตกลง อาร์เซ็ป (RCEP) ได้สำเร็จในช่วงไทยเป็นประธานการประชุม จะทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการลดอัตราภาษีของประเทศสมาชิก 14 ประเทศ

⦁ อนาคตส่งออกไทยโค้งสุดท้ายปี 64 และอนาคตปี 65

เราเชื่อมั่นว่าการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2564 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าสำคัญที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การส่งออกปี 2564 คาดขยายตัวได้ในระดับ 2 หลัก และมีโอกาสขยายตัว 13-16% จากเดิมเราคาดไว้ 4%

การส่งออกปี 2565 คาดว่าจะยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัว 4.9% และ องค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ คาดว่าปริมาณการค้าโลกจะเพิ่มขึ้น 4.0% จากอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จนสามาถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ทั่วถึงมากขึ้น

รวมถึงวางนโยบายและแผนการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการค้าและการส่งออกโลก ผลักดันแผนผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสำคัญภายใต้ วิสัยทัศน์ เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต เป้าหมายไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

รวมถึงเร่งรัดเปิดเจรจาเอฟทีเอ 5 ฉบับ ได้แก่ อียู สหราชอาณาจักร เอฟต้า สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และอาเซียน-แคนาดา และปรับปรุงเอฟทีเอที่มีอยู่ให้ทันสมัย ทั้งอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ และให้สัตยาบัน อาร์เซ็ป เพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในปีนี้ รวมทั้งเสนอตั้งกองทุนเอฟทีเอ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ

เร่งผลักดันการลงนาม มินิ เอฟทีเอ อีก 2 ฉบับ ได้แก่ ไทย-เตลังกานา กับ ไทย-คยองกี จะให้ทีมเซลส์แมนประเทศ เร่งติดตามกับฝ่ายอินเดีย และเกาหลีใต้ ให้เกิดการลงนามโดยเร็ว

อีกทั้ง ร่วมมือกับทุกภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ มีทีมเซลส์แมนจังหวัดและทีมเซลส์แมนประเทศ ร่วมกับภาคเอกชนในการผลักดันการส่งออกผ่านเอ็มโอยู และขยายตลาดต่างประเทศ มีกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกมากกว่า 130 กิจกรรมในครึ่งปีหลัง และการปรับกลยุทธ์สินค้าส่งออกเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดบีซีจี โมเดล

⦁ คาดหวังส่งออกไทยหลังโควิด-19

ไฮไลต์เรามีทั้งการเจาะตลาดประเทศเป้าหมาย ผ่านพัฒนาและส่งออกสินค้าและบริการ กลุ่มสินค้า หรือบริการนั้น จะมุ่งเน้นการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้เป็นพื้นฐาน ตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายเอส-เคิร์ฟ (S-Curve) และโมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง สินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นรากฐานสู่การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูง ยกระดับรายได้ให้กับประเทศและคนไทย ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ

ส่วนตลาดส่งออกนั้น จะมุ่งกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ไทยส่งออกไปได้น้อยกว่าศักยภาพ และยังสามารถเพิ่มมูลค่าส่งออกได้อีก ประกอบด้วย ยุโรป 14 ประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เบลเยียม เช็ก ออสเตรีย ฝรั่งเศส สเปน โปแลนด์ ฮังการี และอิตาลี เอเชีย 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล รวมถึง แคนาดา และชิลี

ในปี 2563 ตำแหน่งไทยในการค้าโลก ด้านสินค้าไทยส่งออกสินค้าสูงเป็นอันดับที่ 25 ของโลก และอันดับที่ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ด้านนำเข้าสินค้าสูงเป็นอันดับที่ 25 ของโลก และอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และเวียดนาม ไทยติดอันดับผู้ส่งออกหลักของโลก ดังนี้ ด้านสินค้าเกษตร อันดับ 7 สินค้าอาหาร อันดับ 10, ยานยนต์ อันดับ 9, ไทยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลัง อันดับ 1 ของโลก, ข้าว อันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย, น้ำตาล อันดับ 3 ของโลก รองจากบราซิล และอินเดีย, เนื้อไก่แปรรูป อันดับ 1 ของโลก, ปลาทูน่ากระป๋อง พิกัด อันดับ 1 ของโลก, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น เครื่องดื่มที่มีนมยูเอชที นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มที่มีกาแฟ หรือเครื่องดื่มปรุงรสกลิ่น อันดับ 2 ของโลก รองจากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

สำหรับภาคบริการ ปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 30 และผู้นำเข้าอันดับ 25 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกและนำเข้าอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ เราติดอันดับผู้ส่งออกหลักของโลกด้านการท่องเที่ยว อันดับ 7

⦁ กลยุทธ์สร้างส่งออกยั่งยืนใน 3-5 ปีจากนี้

นโยบายของผม สนับสนุนต่อยอดพัฒนากลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพเติบโตสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของโลก อาทิ อุปกรณ์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า สินค้าเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอาหารและเครื่องดื่มนวัตกรรม เป็นต้น ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้าเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มสินค้าไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีฐานวัตถุดิบที่สำคัญ

พร้อมกับสนับสนุนการยกระดับภาคบริการสมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับบริการที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ บริการสุขภาพ ดิจิทัลคอนเทนต์ บริการด้านการศึกษานานาชาติ ธุรกิจแฟรนไชส์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ หรือเทรด ซัพพอร์ตติ้ง เซอร์วิส (Trade Supporting Services) ในอาเซียน ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอาเซียน เรายังพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบการให้มีทักษะดิจิทัลและการค้าอีคอมเมิร์ซ เพื่อเสริมศักยภาพทางการแข่งขันให้พร้อมรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

อีกเรื่องเด่นคือ การขยายความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในตลาดเป้าหมาย ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อสร้างแต้มต่อและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพ เร่งรัดเปิดเจรจาเอฟทีเอ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ คาดว่าจะสามารถเปิดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู
ได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ และคาดว่าจะสามารถเปิดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-เอฟต้า หรือสมาคมการค้าเสรียุโรป ได้คู่ขนานกันไป

และสนับสนุนและลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากเป็นนโยบายที่ประเทศคู่ค้าสำคัญให้ความสนใจ และอาจจะใช้เป็นมาตรการไม่ใช่ภาษีต่อประเทศผู้ส่งออก จะเป็นความหวังของส่งออกไทยในอนาคต

⦁ กางแผนรับมือ 4 ด้าน ฝ่าโควิดและสถานการณ์โลก

เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ ผมเตรียมพร้อมและผลักดัน 4 เรื่อง คือ 1.โควิดอยู่กับโลกและประเทศไทยอีกนาน เราต้องคิดและต้องนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิดไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้อย่างไร ผมยืนยันทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ยึดหลักรัฐหนุนเอกชน เพราะเขาคือ ทัพหน้าทำรายได้เข้าประเทศ ถ้าเป็นทีมฟุตบอลเอกชนต้องเป็นกองหน้า ทำหน้าที่ยิงประตู รัฐบาลเป็นแบ๊ก เพื่อดันการส่งออกและฟื้นเศรษฐกิจ 2.ผนึกการทำงานทีมเซลส์แมนจังหวัดคือ พาณิชย์จังหวัด กับทีมเซลส์แมนประเทศคือ ทูตพาณิชย์ จัดเป็น 77 ทีม และทูตพาณิชย์ 50-60 ประเทศเป็นหัวเรือใหญ่จับมือร่วมกับนักธุรกิจการค้าส่งออก

เรื่องที่ 3.ภาคเอกชนไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์โลก โดยเฉพาะโลกจะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเข้มข้นหนักข้อขึ้น มาตรการใหม่จึงเกิดขึ้นคือ มาตรการที่มิใช่ภาษีมาเป็นกำแพงกั้นสินค้าที่ไปจากประเทศคู่แข่ง หรือประเทศอื่นๆ เราต้องจับตาสิ่งเหล่านี้ใกล้ชิด ต้องรู้จักและรับมือด้านมาตรการสิ่งแวดล้อม มาตรการแรงงาน มาตราการสิทธิมนุษยชน สุขอนามัย ล่าสุดภาษีคาร์บอน เป็นต้น เรื่องความมั่นคง การเอาปัจจัยเศรษฐกิจมาผูกมัดติดกับปัจจัยทางการเมืองและกลายเป็นปัจจัยปกป้องกีดกันทางการค้า ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เราจะอยู่ตรงไหนคือ สิ่งที่เราต้องคิด ทุกคนตอบตรงกันว่าเราต้องผนึกกำลังกับอาเซียน

เรื่องที่ 4.อยากย้ำให้ภาคเอกชนเร่งศึกษาหาประโยชน์จากเอฟทีเอ และการทำสัญญาการค้าระบบพหุภาคี โดยเฉพาะอาร์เซ็ปตอนนี้อยู่ในขั้นตอนให้สัตยาบันประเทศไทย ไม่น่าจะช้ากว่าเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หวังว่าจะบังคับใช้ได้ต้นปีหน้า เราต้องรีบศึกษาข้อตกลงอะไรเป็นอุปสรรคและอะไรได้เปรียบ

———–

– อย่าพลาด! ร่วมรับฟังรายละเอียดแผนผลักดันการส่งออกของไทยเพิ่มเติมได้ ในงานสัมมนา ‘ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย’ จัดโดย มติชน ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ โดย ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ ‘ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด’ จากนั้นเปิดมุมมอง บอกเล่าทิศทางการทำงานภาครัฐ ในวงเสวนา ‘2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย’ โดย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

และอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้! กับวงเสวนา ‘มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย’ ตัวแทนจากภาคเอกชน จะมาร่วมถอดบทเรียนในครั้งนี้ นายยุทธนา ศิลป์สรรควิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด วันพุธที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น.

ในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง ที่เฟซบุ๊ก : Matichon Online – มติชนออนไลน์, เฟซบุ๊ก : Khaosod – ข่าวสด, เฟซบุ๊ก : Prachachat-ประชาชาติธุรกิจ, ยูทูบ : matichon tv – มติชน ทีวี#มติชน #สัมมนา #ปลุกพลังส่งออกพลิกเศรษฐกิจไทย #ประเทศไทยไปต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image