คิดเห็นแชร์ : แนวนโยบายแห่งรัฐ ต่อการหยุดยั้งภัยพิบัติไซเบอร์ยุค5G การใช้เล่ห์หลอกลวงดิจิทัล

ท่ามกลางภัยพิบัติโควิดสร้างความยากลำบากหนักหนาสาหัสกับประชาชนอยู่มากโข

ชีวิตที่ไม่ได้ติดออนไลน์มากมาย ก็ถูกบังคับให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลทั้งๆ ที่ไม่พร้อม ถ้าไม่มีสมาร์โฟนก็ยากมากที่จะเข้าถึง ต้องขวนขวายหามาใช้ทั้งที่รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างเพื่อจะได้รับการศึกษาออนไลน์, การขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ รวมถึงการจองฉีดวัคซีนในระยะแรกที่ต้องจองผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ และด้วยไม่มีความชำนาญ และรอบรู้ ย่อมง่ายต่อการเป็นเป้าหมายในการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ของกระบวนการพนันออนไลน์ การกู้ยืมเงินออนไลน์ การทำแชร์ลูกโซ่ หรืออะไรอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นอีก

การพลาดพลั้งเสียท่าให้กับมิจฉาชีพเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ความผิดของเขาเหล่านี้ที่รู้ไม่ทัน ไม่ใช่เหตุที่จะถูกถากถางว่าทำไมไม่ระวัง ทำไมไม่ติดตามข่าว

การใช้เครื่องมือทันสมัยในการหลอกลวง ไม่ได้มีเพียง SMS หรือ Call center เท่านั้น ยังปรากฏว่ามีการสื่อโซเชียลต่างๆ เช่น Line, TikTok, Facebook และอื่นๆ การป้องกันโดยการปิดกั้นก็ยากที่จะทำได้สมบูรณ์ เพราะเหล่ามิจฉาชีพจะสามารถเปิดบัญชีใหม่ได้เกือบจะทันทีที่ถูกปิดลง การให้ความรู้การรู้เท่าทันมิจฉาชีพเหล่านี้ยังคงต้องใช้เวลาพอสมควร แต่สมควรจะต้องดำเนินการต่อไปควบคู่การปิดกั้น

Advertisement

นอกจากนี้การดำเนินการเพื่อจับตัวผู้กระทำผิด การหาหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อดำเนินการฟ้องร้องเพื่อให้ได้ทรัพย์สินกลับคืนถึงแม้จะทำได้แต่ก็ต้องใช้เวลาและทรัพยากรเป็นอย่างมาก

การดำเนินการเรื่องนี้นอกเหนือจากตำรวจแล้ว ยังต้องได้รับความร่วมมือผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพราะอาชญากรส่วนมากจะใช้ระบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพราะโยกย้ายได้สะดวก ใช้ Sim แบบชั่วคราว

เพราะการตามสะกดรอยผู้กระทำผิด จำเป็นจะได้ข้อมูลการโทร การใช้ Line ในการหลอกลวงเหยื่อ วันเวลา พร้อมทั้งข้อมูล GPS สถานที่ที่ผู้ต้องหาอยู่ เพื่อทางเจ้าหน้าที่จะทำการสะกดรอยได้

โดยที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีปัญหาที่จะหาเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ ถึงแม้จะได้ข้อมูลจากผู้ประกอบการโทรคมนาคม ซึ่งกว่าจะได้ข้อมูลใช้เวลานานมาก

ทั้งนี้ ด้วยข้อบังคับ กสทช. มีนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะดำเนินการเอาข้อมูลให้บุคคลที่สามได้ บางครั้งผู้ประกอบการต้องสอบถามไปยัง กสทช.ก่อน รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลยังอาจต้องพึ่งพาเครื่องมือและบุคลากรจากผู้ประกอบการ ที่จะต้องให้พนักงานมาทำงานให้และรวมไปถึงเป็นพยานในขั้นการดำเนินการในชั้นศาล โดยในแต่ละกรณีเสียเวลาและทรัพยากรเป็นอย่างมาก

ดังนั้น การสร้างกลไกและเครื่องมือในการทำให้เกิดความร่วมมือจากผู้ประกอบการโดยไม่เป็นภาระเกินสมควร เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ มากกว่าการใช้อำนาจบังคับสั่งการจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

ปัญหาที่สำคัญที่สุดของการดำเนินการอันดับแรก ไม่ใช่เรื่องการปิดกั้นหรือ การเอาผิดจับตัวคนผิดเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่ต้องทำก่อนและต้องใช้เวลาน้อยที่สุดคือการลดความสูญเสียของผู้เสียหาย รวมทั้งการระงับยับยั้งไม่ให้มิจฉาชีพใช้หมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขบัญชีธนาคารในการล่อลวงเหยื่อรายต่อไป ท่ามกลางการตั้งโต๊ะแถลงข่าวของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ การตั้งเบอร์สายด่วนสี่หลัก

ตราบใดที่มิจฉาชีพยังสามารถใช้สิ่งเหล่านี้ในการประกอบอาชญากรรมได้อย่างต่อเนื่องย่อมก่อให้เกิดความลำพองในการทำผิดได้อย่างต่อเนื่องต่อไป เช่น การดำเนินการในการระงับธุรกรรมของผู้ร้ายใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ในขณะที่ผู้ร้ายใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรือเพียงไม่กี่วันในการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย การบรรเทาเยียวยาแก่ผู้เสียหายจะไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้

ถอดกรณีศึกษาคดีกลุ่มมิจฉาชีพ Fraud-2-Phone(F2P) ใน18 รัฐของอินเดีย

คดี F2P ที่คิดว่าเป็นเพียงความเสียหายส่วนบุคคลของการถูกหลอกลวงผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยเหยื่อชายชราด้วยความเสียหายราวสามแสนบาท แต่จากการขยายผลด้วยการทำงานที่ใช้เวลาเพียงห้าวันจากศูนย์ประสานงานธุรกรรมการเงิน (Financing Coordination Centre: FCORD) ภายใต้กระทรวงมหาดไทยของอินเดีย (Ministry of Home Affair) ทำให้รู้ว่า F2P ไม่ได้มีเพียงชายชรา แต่มีพื้นที่ทำงานครอบคลุม 18 รัฐของอินเดียและมีความเสียหายมากกว่าหลายสิบล้านบาท

ขั้นตอนในการหลอกลวงของกลุ่มนี้เริ่มต้นเมื่อเย็นวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ชายชราอายุ 78 ปี ขณะกำลังจะรับประทานอาหารมื้อค่ำได้รับข้อความ SMS ที่มีใจความแจ้งว่า SIM card ของเขาถูกระงับการใช้งานและต้องการการยืนยันตัวตนในการแก้ปัญหานี้

ในเวลาไม่กี่อึดใจมีสายโทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่าต้องการข้อมูลของบัตรเดบิตรวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลของเขาเพื่อใช้ในการชำระค่าบริการราวห้าสิบบาท ในตอนแรกชายชราจะขอชำระผ่านบัตรเครดิตแต่มิจฉาชีพแจ้งว่าต้องการการชำระผ่านบัตรเดบิตของธนาคารเท่านั้น และเมื่อได้ข้อมูลตามที่ต้องการไปได้แล้ว ภายในเวลาไม่กี่นาทีเงินจำนวนสามแสนบาทที่ถูกถอนออกจาก 4 บัญชีธนาคารของเหยื่อไม่ใช่ห้าสิบบาทตามที่แจ้งไว้

ดังนั้นในอีกสิบนาทีต่อมาเหยื่อได้โทรไปที่ศูนย์ดูแลลูกค้าของธนาคารซึ่งทำได้เพียงแต่ทำการระงับการธุรกรรมออนไลน์ทุกอย่างและทุกบัญชีของเหยื่อไว้ทันที และสามวันต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ของรัฐอุทัยปุระเข้าพบชายชราที่บ้านพักเพื่อจำลองสถานการณ์วันเกิดเหตุโดยทันที แอพพลิเคชั่น “CyberSafe” ของกระทรวงมหาดไทยอินเดียได้เข้ามาเป็นเครื่องมือหลักในการช่วยเหลือชายชรา

หลังการสืบสวนพบว่าจำนวนผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 800 รายในประกอบอาชญากรรมใน 18 รัฐของอินเดีย และสามารถจับกุมผู้ร้ายจากรัฐณาร์ขันธ์ซึ่งอยู่ห่างจากเหยื่อมากกว่าหนึ่งพันห้าร้อยกิโลเมตรที่โทรศัพท์เข้าไปหลอกลวงชายชราได้ในทันที

โดยเงินที่ได้จากเหยื่อถูกนำไปซื้อสมาร์ทโฟนราคาแพงยี่ห้อยอดนิยมจากตลาดออนไลน์ และนำไปขายในตลาดขายปลีกด้วยราคาต่ำกว่าท้องตลาด 10% โดยเงินที่ได้จากการขายจะนำเข้าไปฝากในอีกบัญชีธนาคาร การขยายผลการจับกุมพบมีเครื่องโทรศัพท์มากกว่า 900 เครื่อง บัญชีธนาคารมากกว่าพันบัญชี บัญชีผู้ใช้ของกลุ่มมิจฉาชีพในตลาดออนไลน์ รวมทั้งหลายร้อยบัญชีการทำธุรกรรมออนไลน์

ทั้งนี้การจำกัดความเสียหายได้มีการดำเนินการระงับการทำธุรกรรมหลายร้อยบัญชีของธนาคารต่างๆ บัตรเดบิตและบัตรเครดิตภายในระยะเวลาน้อยกว่าห้าวันเมื่อมีการแจ้งเหตุจากเหยื่อ โดยมีการประมาณการว่าความเสียหายจากมิจฉาชีพ F2P มีราวแปดสิบถึงร้อยล้านบาท และมีผู้อยู่ในข่ายผู้ต้องสงสัยราวแปดร้อยรายที่กำลังถูกตรวจสอบขยายผลต่อไป

แอพพลิเคชั่น “CyberSafe” ได้มีการพัฒนาและนำมาใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงประสานงานหน่วยงานมากกว่าสามพันแห่งทั้งหน่วยงานตำรวจใน 19 รัฐ และหน่วยงานทางเทคโนยีด้านการเงิน 18 แห่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถล็อกอินเข้าสู่ CyberSafe ได้ ทำการป้อนหมายเลขโทรศัพท์และหมายเลขบัญชีของมิจฉาชีพ ข้อมูลจะถูกนำไปตรวจสอบ

ถ้าพบว่าข้อมูลเหล่านี้เคยมีการแจ้งไว้ในระบบก่อนหน้านี้แล้ว รายละเอียดจะถูกส่งมาให้เจ้าหน้าที่พร้อมดำเนินการปิดกั้นและระงับการธุรกรรมล่อลวงต่อเหยื่อรายอื่นๆ ต่อไป

จากกรณีศึกษาของอินเดีย การดำเนินการหยุดยั้งภัยพิบัติไซเบอร์ของภาคส่วนต่างๆ ควรจะต้องมีการพิจารณา สร้างกลไกและพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อใช้ดำเนินการร่วมกันเพื่อลดความสูญเสียให้ได้ในระยะเวลาอันสั้น

เพราะประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครได้ ทุกวันนี้เมื่อโชคร้ายตกเป็นเหยื่อก็ทำได้แต่ต้องไปแจ้งความที่หน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย และติดตามการดำเนินการด้วยตัวเองทั้งสิ้น

นอกจากสูญเสียจากการถูกหลอกลวง ยังจะต้องมีค่าใช้จ่ายและสูญเสียเวลาในการร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐต่างๆ ด้วยความหวังอันริบหรี่ที่จะได้ทรัพย์สินกลับคืนมา!!

ดร.เจษฎา ศิวรักษ์
หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัทอิริคสันประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image