เฉลียงไอเดีย : บิ๊กบอส CPANEL ‘ชาคริต ทีปกรสุขเกษม’ จับจุด PAIN POINT ต่อยอดธุรกิจดั้งเดิม ใส่นวัตกรรมปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ปัจจุบันการก่อสร้างในรูปแบบเดิมๆ คือการก่ออิฐฉาบปูน เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง ด้วยข้อจำกัดด้านแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือเริ่มหายากขึ้น จำเป็นต้องอาศัยพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ซึ่งอาจจะหาแรงงานฝีมือได้ยาก และต้องใช้เวลาฝึกกันนาน

ดังนั้น ทางออกหนึ่งของผู้ประกอบการคือต้องหาเทคโนโลยีการก่อสร้างเพื่อลดระยะเวลาการก่อสร้าง เพราะหากยิ่งก่อสร้างได้เร็ว การส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้เร็ว ก็ยิ่งทำให้ลดต้นทุนธุรกิจ ต้นทุนดอกเบี้ยได้ค่อนข้างเยอะ

ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จึงหันมาใช้การก่อสร้างในรูปแบบวัตถุกึ่งสำเร็จ หรือแผ่นคอนกรีตสำเร็จกันมากขึ้น เพราะตอบโจทย์ได้ทั้งด้านแรงงานและการร่นระยะเวลาการก่อสร้าง…ธุรกิจการผลิตสินค้าประเภทนี้จึงได้รับการตอบรับที่ดี

โดยเฉพาะหากเป็นเจ้าของเทคโนโลยีรายแรกๆ และมีนวัตกรรมแบบเฉพาะเจาะจงที่เลียนแบบได้ยาก ยิ่งทำให้เกิดข้อได้เปรียบ อย่างบริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) ด้วยระบบอัตโนมัติ (Fully Automated Precast) ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จ

Advertisement

หัวเรือใหญ่ CPANEL “ชาคริต ทีปกรสุขเกษม” กรรมการผู้จัดการ ถือว่าคร่ำหวอดและคลุกคลีในวงการอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้างมายาวนาน เพราะได้ร่วมงานกับบิดา ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP ที่ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับงานโครงสร้างงานระบบ และคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับงานตกแต่ง จึงเข้าใจธุรกิจนี้และเล็งเห็นปัญหาเกี่ยวกับวัสดุใช้ก่อสร้าง โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนอิฐมอญ ราคาจึงถีบตัวสูงต่อเนื่อง ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือก่ออิฐฉาบปูน จึงศึกษาโครงการลงทุน Precast Concrete ที่ใช้ในงานอสังหาฯเพื่อการอยู่อาศัย และอาคารประเภทอื่นๆ ด้วยระบบ Fully Automated

และนี่คือจุดเริ่มที่ ชาคริต ก่อตั้งบริษัท ซีแพนเนล จำกัด ขึ้นในปี 2555 ภายใต้วิสัยทัศน์การเป็นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มประสิทธิภาพของทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ผู้บริโภคได้บ้านหรืออาคารในราคาที่เข้าถึงได้

จากประสบการณ์และความชำนาญในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับปูนซีเมนต์และงานคอนกรีตตั้งแต่ครั้งเป็น เอ็มดี CCP ของบิดา ทำให้ “ชาคริต” ได้สั่งสมความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างประเภทงานคอนกรีตเป็นอย่างดี รวมทั้งได้ทำการศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต Precast Concrete จากวิศวกรผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรจาก Vollert Anlagenbau GmbH ประเทศเยอรมนี และเมื่อประยุกต์กับความรู้ด้านระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ Management Information System (MIS) ที่ตนเองจบการศึกษามา จึงได้ร่วมกับวิศวกรผู้จัดจำหน่ายเครื่องจักรในการออกแบบสายการผลิตให้มีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ทุกขั้นตอนการผลิต

นับได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มพัฒนานวัตกรรมด้วยการนำ Software ต่างๆ มาทำงานเชื่อมโยงกันและบริหารงานก่อสร้างบนระบบ Building Information Modeling หรือ BIM ในการบริหารจัดการ ตั้งแต่การออกแบบ ควบคุมการผลิต การทำงานหน้างาน ทำให้บริษัทสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล

การผลิต Precast Concrete ด้วยระบบ Fully Automated ช่วยทำให้เกิดความรวดเร็วและมิติที่แม่นยำของชิ้นงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์และคำนวณค่าตามหลักวิศวกรรม การควบคุมแผนการผลิตและเครื่องจักรภายในโรงงาน กระบวนการผลิตที่เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ จนกระทั่งส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามความต้องการของลูกค้าในเวลาอันสั้น ด้วยระบบและกระบวนการผลิตที่วางแผนไว้ กอปรกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้บริษัทสามารถผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปได้หลากหลายรูปแบบ ที่มีความซับซ้อนทางสถาปัตยกรรม และความซับซ้อนทางวิศวกรรมโครงสร้าง เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้า (Made-to-Order) ในหลากหลายโครงการ

“ผลิตภัณฑ์ Precast Concrete ของ CPANEL สามารถแก้ Pain Point การก่อสร้างในปัจจุบัน ทั้งลดต้นทุนแรงงานได้ถึงประมาณ 50% ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการก่อสร้าง (รวมงาน Finishing) ประมาณ 30% ส่งผลให้ต้นทุนรวมของการก่อสร้างลดลง 15% ช่วยให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าแรง ลดเวลาการก่อสร้างส่งงานได้รวดเร็วขึ้น สุดท้ายลูกค้าจะได้ประโยชน์จากการที่สามารถประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรวมของโครงการ ทำให้ลูกค้าที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้รับเหมาก่อสร้างนิยมหันมาเลือกใช้ Precast Concrete มากขึ้น นับเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของ CPANEL”

“ชาคริต” กล่าวอย่างภาคภูมิและเล่าต่อว่า ปัจจุบัน CPANEL มีลูกค้าที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กว่า 10 ราย ที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง อาทิ สัมมากร ธนาสิริ ศุภาลัย ริสแลนด์ บริทาเนีย กานดา พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค เรียลแอสเสท ฯลฯ อีกทั้งลูกค้าที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง อาทิ รุ่งฟ้าเสริม คอร์ปอเรชั่น โกลว์ ไลท์ เอ็นจิเนียริ่ง พรีบิลท์ กรีไทย คอนสตรัคชั่น เชียร์ยู คอนสตรัคชั่น คอนสตรัคชั่น ไลนส์

ส่วนในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา สินค้าของบริษัทได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัว เพราะผู้ประกอบการ อสังหาฯระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติม แต่ในอีกมุมหนึ่ง “ชาคริต” บอกว่า โควิค-19 ได้สร้างฐานพฤติกรรมใหม่ (New Normal Behavior) ให้แก่ผู้บริโภค เป็นปัจจัยเกื้อหนุนอย่างสูงต่อที่อยู่อาศัยแนวราบให้มีการขยายตัวไปยังเขตรอบนอกกรุงเทพมหานคร (De-Urbanization) ซึ่งเป็นที่ดึงดูดจากการที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย พื้นที่ใช้สอย และฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้านมากขึ้น อีกทั้งการขยายตัวของเครือข่ายรถไฟฟ้า โครงข่ายถนน และศูนย์การค้า ที่ขยายความเจริญครอบคลุมพื้นที่รอบนอกมากขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตในเขตรอบนอกกรุงเทพมหานครในรูปแบบ Sharing Economy เช่น Delivery Service, Self-Storage Service เป็นต้น

จากเหตุดังกล่าวทำให้ ธุรกิจ Precast Concrete จึงได้รับผลกระทบในเชิงลบน้อยกว่าธุรกิจวัสดุก่อสร้างอื่นๆ หรือธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ใช้วิธีการก่อสร้างแบบเดิม จากภาวะเศรษฐกิจมหภาคและอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากสินค้า Precast Concrete เป็นสินค้าที่จะเข้ามาทดแทนการก่อสร้างแบบเดิมๆ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยแนวราบที่ก่อสร้างโดย Precast Concrete ในอีก 5 ปี ถึงปี 2568 จะมีอัตราการทดแทนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อปีเป็นอย่างน้อย เพราะ Precast Concrete สามารถตอบโจทย์ได้เกือบทุกอย่าง ทั้งในแง่ของความเหมาะสมต่อโครงการที่พักอาศัยแนวราบ และข้อได้เปรียบทางต้นทุนและระยะเวลาการก่อสร้าง

“โควิดไม่ได้ส่งผลกระทบกับเรามากนัก ยกเว้นช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่มีการล็อกดาวน์ ปิดไซต์งานก่อสร้างใน กทม. แต่ต่างจังหวัดยังคงเดินหน้าได้ ทำให้ในอนาคตมีแผนที่จะขยายกลุ่มลูกค้าไปต่างจังหวัดมากขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10% ของยอดขาย”

ปัจจุบัน CPANEL ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพื่อระดมทุนขยายโรงงานแห่งใหม่ วางเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็นเท่าตัว หรืออีก 7.2 แสนตารางเมตรต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท สามารถเดินเครื่องการผลิตได้ภายในกลางปี 2566

สำหรับหลักการและแนวคิดการบริหารงานของ “ชาคริต” นอกจากใส่ใจเรื่องรายละเอียดเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าทั้งก่อนและหลังการขายแล้ว ในส่วนของพนักงานเอง ก็จะให้ความใส่ใจและดูแลทุกระดับทั้งสำนักงาน และโรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ซึ่ง “ชาคริต” บอกว่าต้องทำให้แรงงานเหล่านี้รักที่จะอยู่กับบริษัทไปนานๆ และไม่เคยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานแม้แต่น้อย อย่างกรณีที่กระทรวงแรงงานเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวแจ้งเปลี่ยนนายจ้างได้นั้น มีแรงงานต่างด้าวมาเข้าคิวหรือมาลงทะเบียน เพื่อขอทำงานแล้วจำนวนมาก ซึ่งแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมาแบบปากต่อปาก เนื่องจากได้รับการชักชวนจากแรงงานเดิมที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน

“เราทำทุกกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาทุกๆ เรื่อง” ชาคริตกล่าวย้ำ

นับเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่น่าจับตาอีกคนว่าจะนำพาหรือพัฒนานวัตกรรมด้านการก่อสร้างไทยไปไกลแค่ไหน

เพ็ญทิพย์ อักษรเนียม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image