คิดเห็นแชร์ : ชัดเจน ทั่วถึง เท่าเทียม : อุตสาหกรรมคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ ณ ตอนนี้ ประเทศไทยได้เริ่มเปิดประเทศตามนโยบายของรัฐบาลเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเร่งฟื้นคืนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้จากการท่องเที่ยวอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา กลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากตัวเลขภาคการส่งออกที่ดีขึ้นอย่างสวนกระแส

แต่เมื่อกล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำและความรู้สึกที่หลายๆ คนมีต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น ยังคงเป็นคำถามคาใจ เช่น เป็นแหล่งรวมเครื่องจักรหนักที่อาจเป็นอันตรายต่อชุมชน หรือขั้นตอนกระบวนการการผลิตสินค้าอาจสิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากร และอาจนำมาซึ่งมลภาวะทางน้ำ, อากาศ, เสียง, กลิ่น หรือแม้แต่การจัดการของเสียอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชนโดยรอบในอดีต

หากกล่าวถึงคำว่า โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และโรงเผาขยะ คนทั่วไปมักรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลใจ หรือแม้แต่ต่อต้าน เพราะบ่อยครั้งที่สถานประกอบการเหล่านี้ถูกสร้างให้มีภาพจำเชิงลบในสังคม ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีในอดีตที่ยังมีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตมีความก้าวหน้าและล้ำสมัยกว่าเดิมเป็นอย่างมาก สามารถปรับปรุงให้กระบวนการผลิตมีความปลอดภัย ช่วยประหยัดพลังงานและใช้ทรัพยากรคุ้มค่า มีระบบบำบัดของเสียที่ทันสมัย เช่น ปัญหามลภาวะจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอังกฤษที่ยุคหนึ่ง โดนต่อต้านจากประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงมีการติดตั้งเทคโนโลยีการดักจับมลพิษที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ประชาชนกลับมามีความเชื่อมั่นซึ่งมาจากความรู้เท่าทันเทคโนโลยี และความน่าเชื่อถือของกลไกการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประเทศอังกฤษ

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาทางกายภาพหลักๆ ที่เคยสร้างความหวั่นวิตกให้แก่ชุมชนไปแล้วบางส่วน แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ประเด็นด้านจิตใจ หรือความเชื่อมั่น (Trust issue) ในการดำเนินงานของภาครัฐและสถานประกอบการ ที่ยังทำให้ชุมชนจำนวนมากเกิดความไม่สบายใจที่จะอยู่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม

Advertisement

แม้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยลดการเกิดมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนข้างเคียง ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีมูลค่าสูงและเป็นการเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไม่พร้อมจะลงทุนถ้าไม่จำเป็น ประกอบกับการกำกับดูแลของภาครัฐที่อาจยังมีช่องโหว่ จึงเป็นการเปิดช่องให้สถานประกอบการบางเเห่งเลี่ยงปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการลดต้นทุนเพื่อประคองให้ธุรกิจอยู่รอด จนส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนโดยรอบ

ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น การขับขี่จักรยานยนต์ย้อนศร ที่แม้จะช่วยประหยัดต้นทุนทั้งน้ำมันและเวลามากกว่าคันอื่น แต่อาจสร้างอันตรายและความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ซึ่งกลายเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา และกลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่ปกติของสังคม เสมือนกับสถานประกอบการที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียสู่แหล่งชุมชน ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายมากกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ เพราะเห็นช่องโหว่จากการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงและเท่าเทียมของเจ้าหน้าที่รัฐ จนเป็นการซ้ำเติมภาพจำของสถานประกอบการ

ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องเป็นตัวกลางในการกำกับและควบคุมให้เกิดจุดสมดุลที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของสถานประกอบการและชุมชนโดยรอบ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน ทั่วถึง และเท่าเทียม เพื่อให้สถานประกอบการแข่งขันกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำและลดแนวโน้มการกระทำผิดต่างๆ เพื่อทำให้ชาวบ้านกลับมามีความเชื่อมั่นและยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมอีกครั้ง โดยท้ายที่สุดแล้ว เมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล ประโยชน์ที่จะเกิดตามมา คือ เกิดการจ้างงานในพื้นที่ โดยมีคนจากชุมชนเป็นแหล่งแรงงาน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องรายได้ของชาวบ้านและการขาดแคลนแรงงานในการผลิต กระตุ้นการหมุนเวียนของเงินและเพิ่มการอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์สูงสุดร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งประเทศชาติ ประชาชน และผู้ประกอบการ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐได้ให้การสนับสนุนสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยยกให้เป็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จ หรือ Best Practice ผ่านการมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและอุตสาหกรรมดีเด่นจากท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีหลักเกณฑ์การตัดสินที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นำเอาแนวคิดและตัวอย่างที่ได้ไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจและบริหารความสัมพันธ์กับชุมชนข้างเคียงที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดของธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน สถานประกอบการต่างๆ ล้วนต้องดิ้นรนลดต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจของตนอยู่รอด ซึ่งไม่ต่างกับชาวบ้านและชุมชนที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและรักษาถิ่นที่อยู่ไว้สำหรับคนรุ่นหลัง

จึงเป็นหน้าที่สำคัญของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับ ควบคุม และดูแลทุกฝ่ายอย่างชัดเจน ทั่วถึง และเท่าเทียม ให้สถานประกอบการสามารถแข่งขันบนกติกาเดียวกันโดยไม่ต้องทำผิดกฎหมายและอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย ตลอดจนภาพลักษณ์ด้านความน่าเชื่อถือและความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกอีกด้วย

ดร.ณัฐพล รังสิตพล
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image