คลังวิ่งวุ่นหาเงินเปย์ ‘ประกันราคาข้าว’ ประชานิยมสุดลิ่ม ไม่สนบทเรียนอดีต!!

คลังวิ่งวุ่นหาเงินเปย์‘ประกันราคาข้าว’ ประชานิยมสุดลิ่มไม่สนบทเรียนอดีต!!

คลังวิ่งวุ่นหาเงินเปย์ ‘ประกันราคาข้าว’ ประชานิยมสุดลิ่ม ไม่สนบทเรียนอดีต!!

จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วทั้งโลกได้ประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาเช่นกัน

รัฐบาลจึงตัดสินใจออกพระราชกำหนดเงินกู้ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวถึง 2 ฉบับ รวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ปัจจุบันคงเหลือเพียง 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่ารายได้ของประเทศ กำลังอยู่ในขาลง ปีงบประมาณ 2564 เก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 3 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาขยายเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มชั่วคราว จาก 60% เป็น 70% เมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา

  • ม.28กระตุกสัญญาณวิกฤตการคลังหนักขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้กำหนดข้อกฎหมายไว้อีกหลายมาตรา ซึ่งส่วนที่กำลังประสบปัญหาอีกตัว คือ มาตรา 28 ว่าด้วยการกําหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ในการดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 28ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจําปี ทำให้ปีงบ 2565 รัฐบาลจะมีหนี้สะสมได้ไม่เกิน 9.3 แสนล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ตั้งไว้ 3.1 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันพบว่ารัฐบาลมีการก่อหนี้จนใกล้เต็มเพดานหนี้ที่กำหนดไว้แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น หนี้สะสมในส่วนนี้ไม่ได้ถูกนำมารวมเป็นหนี้สาธารณะแต่อย่างใด

การที่หนี้ส่วนนี้สะสมเต็มเพดาน ส่งผลให้ต่อไปนี้รัฐบาลไม่สามารถให้หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ช่วยออกเงินแทนในการดำเนินโครงการต่างๆ ได้ หรือหากทำได้ก็เพียงเล็กน้อย เห็นได้จากล่าสุดในการอนุมัติโครงการประกันรายได้ข้าว ตามปกติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติและให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการจ่ายเงินไปก่อนเต็มจำนวนและตามผ่อนคืนทีหลัง แต่ในปีนี้ ครม.กลับอนุมัติไปเพียงบางส่วน เพียง 1.3 หมื่นล้านบาท จากงบที่ขอทั้งหมด 8.9 หมื่นล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าหนี้ใกล้เต็มเพดานแล้ว อาจจะเสี่ยงผิดวินัยทางการเงินการคลังได้

Advertisement

ซึ่งเงินส่วนที่เหลือ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือและพิจารณาแนวทางหางบประมาณมาให้ได้ตามที่ได้ตั้งไว้

  • หนี้สะสมแบงก์รัฐกว่า 7 แสนล้านบาท

ตรวจสอบสาเหตุสำคัญของการสะสมหนี้ เป็นผลจากการใช้นโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ดำเนินโครงการต่างๆ แทนตั้งแต่อดีต อาทิ โครงการจำนำข้าวซึ่งปัจจุบันเหลือหนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท และปัจจุบันรัฐบาลก็ยังมีโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ลงเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท ทำให้เพดานก่อหนี้ส่วนนี้ลดลงไปด้วย

สำรวจลงลึกยังพบว่า หนี้ที่สะสมส่วนใหญ่อยู่ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีหนี้สะสมมากสุดจากโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตรถึง 6-7 แสนล้านบาท ธนาคารออมสิน มีหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการสินเชื่อช่วยเหลือประชาชน และยังมีสะสมเล็กน้อยในธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) อย่างไรก็ตาม หนี้สะสมก้อนนี้ไม่กระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินรัฐ เนื่องจากส่วนใหญ่สามารถบริหารสภาพคล่องได้เพียงพอ และมีการรับชำระเงินคืนจากรัฐมาทุกปี

Advertisement
  • วิบากกรรม!! ชาวนาไทยกำลังอ่อนแอ

แม้ว่าประเทศไทยขึ้นชื่อว่า แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชชนิดใดก็งอกงาม แถมมีสินค้าเกษตรที่ขึ้นชื่อหลายตัว ทั้งทุเรียนที่เป็นราชาผลไม้ มังคุดเป็นราชินีผลไม้และยังมีสินค้าส่งออกตัวเด่น อย่างมะพร้าวน้ำหอม ข้าวหอมมะลิ ที่มีการส่งออกจำนวนมากต่อปี

ข้อมูลนี้อาจจะสะท้อนว่า อาชีพเกษตรกรไทยที่มีรัฐบาลสนับสนุน จะมีรายได้และฐานะที่ดี แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงเผชิญวิกฤตรายได้จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ ความไม่แน่นอนของราคาตลาด ภัยพิบัติ ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้นผ่านโครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

เจาะรายละเอียด พบว่าการประกันรายได้ข้าวมียอดเงินสะสมมากที่สุด ในฤดูการผลิต 2562/63 ใช้วงเงินจำนวน 19,416.99 ล้านบาท และในปี 2563/64 ใช้จำนวนเงิน 48,178.37 ล้านบาท และในปี 2564/65 กระทรวงพาณิชย์เสนอวงเงินงบประมาณ 89,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกๆ ปี

  • ‘บิ๊กตู่’ สั่งด่วนปรับโครงสร้างเกษตรไทย

ในอดีตโครงการจำนำข้าว มีเสียงจากหลายฝั่ง ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ มองว่าจะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ เช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรในตอนนี้ มีคำถามว่าการพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น เพราะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในไทยอ่อนแอลงเรื่อยๆ หรือไม่ และการช่วยเหลือรูปแบบนี้เหตุใดไม่ถึงจุดสิ้นสุดเสียที และเหตุใดระบบเกษตรกรรมไทยยังไม่ได้รับการพัฒนา อาทิ การพัฒนาพืชสายพันธุ์ใหม่ๆ การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการพัฒนาเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร

จากวิกฤตงบประมาณตามมาตรา 28 “พล.อ.ประยุทธ์” ยืนยันว่าจะหางบประมาณส่วนการประกันรายได้ได้อย่างแน่นอน โดยสั่งการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้เดินหน้าปรับโครงสร้างการเกษตร ให้เกษตรไทยเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นช่วยลดต้นทุนการผลิต การแก้ไขให้เกิดการเช่าที่ดินทางการเกษตรอย่างถูกกฎหมาย และการดูแลเรื่องการเข้าถึงโครงการประกันรายได้

“ต้องเร่งสำรวจว่า คนที่ได้รับรายได้จากการประกันราคา ได้เงินจริงหรือเปล่า ข้าวที่ออกมาแล้วอยู่ที่ไหน ทำไมชาวบ้านถึงบ่นว่าได้ 6 พัน เป็นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่เรามีการประกันรายได้ไปแล้ว โรงสี ต้องสำรวจกันใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าจะพยายามหาเงินมาดำเนินการ หาวิธีการทางการเงินว่าจะทำได้อย่างไร คิดออกแล้ว ขอเวลาสักนิด จะทยอยจ่ายให้ตามลำดับ” นายกรัฐมนตรีให้คำมั่น

เวลานี้กล่าวได้ว่ารัฐบาลไทยอาจ “ขว้างงูไม่พ้นคอ”ประกันรายได้กำลังสร้างภาระไม่ต่างกับจำนำข้าว เพราะแม้ทุ่มงบไปมหาศาล แต่ชาวนาไทยยังคงอ่อนแอเหมือนเดิม!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image