‘อาคม’ ชู ‘อันล็อก’ ปี65 ดันเศรษฐกิจ เดินหน้า 100%

รายงานหน้า 2 : ‘อาคม’ ชู ‘อันล็อก’ ปี65 ดันศก. เดินหน้า 100%

หมายเหตุ ในงานสัมมนา “Thailand 2022 Unlock value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด” วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสวนาพิเศษหัวข้อ “การเงิน-การคลัง” กู้วิกฤตเศรษฐกิจไทย ดำเนินรายการโดย นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเมทริกซ์ เทคโนโลยี จำกัด และกรรมการผู้จัดการสถาบันอนาคตไทยศึกษา

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เมื่อพูดคำว่า อันล็อก (Unlock) ตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ทันทีที่เกิดโควิด-19 หลายประเทศไม่เฉพาะประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน ความจำเป็นที่ใช้เม็ดเงินช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 คือ นโยบายการเงินการคลังที่ต้องการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาประชาชน ภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันไม่ทิ้งการพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตได้บ้างแม้ไม่เต็มที่ เพราะสิ่งที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดทั้งหมด ทุกประเทศมีการล็อกดาวน์ ดังนั้น ภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบแน่นอน

นอกเหนือจากเม็ดเงินที่เข้าไปช่วยประชาชน ภาคธุรกิจต้องได้รับความช่วยเหลือผ่านการให้สินเชื่อและพักชำระหนี้ ของไทยดำเนินโครงการผ่านการกู้เงิน ในปี 2563 กู้เงิน 1 ล้านล้าน ในปี 2564 กู้อีก 5 แสนล้าน ทั้งนี้ เงิน 1.5 ล้านล้าน ใช้เรื่องการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ ผ่านโครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เที่ยวด้วยกัน ทำให้อัตราการบริโภคการใช้จ่ายของประชาชนยังอยู่ได้

Advertisement

ซึ่งในปี 2564 การบริโภคของประชาชนเติบโตเพียงแค่ 0.4% ถือว่าต่ำมาก และเมื่อมีมาตรการของภาครัฐที่เข้าไปกระตุ้นการใช้จ่ายหรือเยียวยา ทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น 1.6% ดังนั้น อันล็อกที่สำคัญคือเรื่องนโยบายการคลังที่เปิดช่องให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น และต่อมาไทยอันล็อก เริ่มเปิดประเทศตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ทำให้เศรษฐกิจเดินได้อย่างเต็มที่ ขณะนี้อาจเดินช้าๆ แต่ในปี 2565 หากสถานการณ์เศรษฐกิจคลี่คลาย อันล็อก 100% ให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้ตามวิถีปกติ 100%

เราจะบอกว่าอันล็อกแบบไร้ขีดจำกัดคงไม่ได้ เพราะยังมีกรอบวินัยการเงินการคลังที่ต้องคุมเอาไว้ เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือของประเทศในเรื่องการบริหารการคลัง ดังนั้น เมื่อดำเนินนโยบายแบบนี้ เราต้องอันล็อกเพดานหนี้ต่างๆ การใช้จ่ายภาครัฐก็ต้องมาจากการกู้อย่างเดียว ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% เพื่อให้มีช่องว่างในการบริหารนโยบายต่างๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกินไปแบบสุดโต่ง

ต้องอันล็อกทางความคิดสร้างสรรค์ สร้างเศรษฐกิจในยุคข้างหน้า เพราะเรารู้ว่า 2 ปี เราเจอเศรษฐกิจที่ติดลบ เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป ต้องกลับมาคิดว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจสมดุลมากขึ้นในระหว่างภาคบริการและภาคการผลิต และต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกติกา ไม่ว่าการเงินการคลังต้องอยู่ในกติกาด้วย

Advertisement

ส่วนมุมมองโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้า เวลานี้รัฐบาลมีกลไกของการเติบโตตัวใหม่ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนใหม่ จากประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของเรา พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นฐานการผลิต แต่สมัยใหม่ที่พูดถึงสร้างมูลค่าสูงขึ้นให้กับห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เราต้องหาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีมาก เป็นการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่

แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเศรษฐกิจในประเทศกับเศรษฐกิจนอกประเทศ ในอนาคตเราต้องมาเน้นเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เป็นที่เข้าใจได้ว่าเราพึ่งพาจากต่างประเทศมากขึ้น เรื่องการท่องเที่ยวเราต้องเน้นคุณภาพมากขึ้น เพราะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากจนเกินไป จะไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเท่ากับอดีต 40 ล้านคน อาจจะต้องเน้นคุณภาพมากขึ้น

การเติบโตเศรษฐกิจในอนาคตในแง่โครงสร้าง คิดว่าเศรษฐกิจของเราเป็นการกระจายอย่างทั่วถึงในระดับประชาชน เพราะในวันนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนออกจากงานค่อนข้างเยอะ มีบางส่วนอยากเปลี่ยนอาชีพ ดังนั้น การส่งเสริมอาชีพอิสระต่างๆ หรือเศรษฐกิจระดับตัวบุคคล เราพบว่าการเยียวยาตามมาตรา 40 มีผู้ประกอบการอิสระมีผู้มาลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยามากกว่าที่คาดการณ์ไว้เยอะ ประมาณ 7-8 ล้านคน แสดงว่าคนที่ออกไปจากตลาดแรงงาน หรือคนที่ประกอบอาชีพได้รับผลกระทบ ดังนั้น การกระจายเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงในระดับชุมชน เชื่อว่าแรงกระแทกในอนาคตก็จะเบาลงไป

มาตรการเยียวยาหลังจากนี้ เรื่องการเยียวยาเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า การโอนเงินเข้ากระเป๋าประชาชนในช่วงตกงาน ไม่มีงานทำ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แน่นอนที่สุดเรื่องการเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ การทำให้ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ของตัวเอง ในเรื่องการเยียวยาจะต้องลดลง ไปเน้นเรื่องการสร้างรายได้มากขึ้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ หรือช่วยในเรื่องโครงการคนละครึ่ง ก็คงจะลดลงไป แต่ช่วยในเรื่องการแบ่งเบา
ภาระประชาชน เช่น ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ คาดว่าต้นปีหน้าจะเห็นการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการ ช่วยเหลือทั้งผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย ก็จะเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อไป

***************

ผู้ว่าการธปท.คาดปี 2563-65

นโยบาย‘คลัง’หนุนศก.โต10.8%

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทุกนโยบายมีขีดจำกัดและมีผลข้างเคียง เพื่อให้นโยบายการเงินอันล็อกแวลู อันที่หนึ่ง การประสานนโยบายให้ดีระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง ต้องใช้จุดแข็งของตัวเอง อย่างนโยบายการคลังแม้ว่ากระบวนการจะออกมาช้าเพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ แต่ว่าเมื่อออกนโยบายมาแล้วทำให้เกิดผลเร็วที่สุด ส่วนนโยบายการเงินทำได้เร็ว แต่ผลลัพธ์ต้องใช้เวลา ต้องส่งผ่านทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ผลของนโยบายการเงินจะไม่ได้ตรงจุดเท่ากับนโยบายการคลัง

อันที่สอง ทำนโยบายแบบยืดหยุ่น สถานการณ์เปลี่ยนก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนไป ตอนแรกที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ได้มีการทำนโยบายการเงินแบบปูพรม เพราะคิดว่าสถานการณ์จะจบได้ในระยะสั้น แต่ตอนนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ไม่จบแบบโรคซาร์สที่มาเร็วไปเร็ว ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงไม่สม่ำเสมอ เป็นลักษณะของกราฟ K-Shaped ที่มีคนได้รับผลกระทบและไม่ค่อยได้รับผลกระทบ จึงต้องปรับมาตรการแบบปูพรมมาเป็นแบบเฉพาะเจาะจงระยะยาวให้กับคนที่ได้รับผลกระทบ ต่อมาต้องนำนโยบายมาใช้ได้จริง ตอนแรกมีคนพูดกันเยอะว่าต่างประเทศออกนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) แต่ที่ ธปท. เพราะว่าไม่เหมาะกับบริบทและไม่ตอบโจทย์กับประเทศไทย เนื่องจากมาตรการจะส่งผลดีกับผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะไม่ได้รับประโยชน์จากการทำคิวอี อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ออกมาต้องนำไปใช้ได้จริง อย่างมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูก็ได้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะปล่อยสินเชื่อได้จำนวนเท่านี้ในระยะเวลาเท่านี้ พร้อมทั้งให้แต่ละธนาคารส่งรายงานเข้ามา

เพื่อให้นโยบายได้ประสิทธิภาพสูงสุด ต้องคำนึงถึงขีดจำกัด ไม่ควรทำอย่างสุดโต่ง หลายประเทศที่ทำนโยบายการเงินแบบสุดโต่ง จะเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ขณะที่ฝั่งการคลังก็มีการกระตุ้น อย่างเต็มที่ สุดท้ายหนี้สาธารณะก็สูงขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะของทั่วโลกสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินก็ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่การทำนโยบายเศรษฐกิจแบบนี้นานเกินไปก็จะเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ จะทำให้ทุกอย่างในระบบเศรษฐกิจรวนไปหมด ดังนั้นนโยบายการเงินและการคลังจะต้องไปด้วยกัน ขาดฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีการพูดถึงกันมากคือเรื่องของเงินเฟ้อที่อาจจะสูงกว่าที่คาดไว้ ก็จะทำให้เกิดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกเร็วขึ้น ส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนทั่วโลก แต่ไม่เป็นความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะว่าความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของโลกนั้นยังไม่น่าสูงมาก โดยธนาคารพาณิชย์ในไทยส่วนใหญ่ใช้เงินฝากในระบบถึง 94% ไม่ได้กู้เงินผ่านตลาดพันธบัตรโลก แต่ก็ไม่ได้ชะล่าใจ

สัญญาณความเสี่ยงในไทย อันแรกการระบาดของโรคโควิด-19 จะน้อยลงเพราะมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ประชาชนไม่ค่อยเกิดการป่วยหนักหรือไปจนถึงการเสียชีวิต โอกาสที่จะเกิดการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดคงจะน้อยลง อันที่สองคือการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างไม่เท่าเทียมกันแบบ K-Shaped จีดีพีไทยจะกลับมาใกล้เคียงเดิมในไตรมาสที่ 1/2566 แต่เป็นการฟื้นตัวเฉพาะตัวเลข ถ้าถามคนทั่วไปจะได้รับคำตอบว่าไม่ฟื้นตัว ภาพตลาดแรงงานและรายได้จะฟื้นได้ช้ากว่าตัวเลขจีดีพี เพราะรายได้ส่วนใหญ่อิงอยู่กับภาคการท่องเที่ยว ที่ได้ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ 6 ล้านคนในปีหน้า เทียบไม่ได้กับตัวเลข 40 ล้านคนในอดีต พร้อมกับตัวเลขหนี้
ครัวเรือนที่สูงขึ้น กลับมาที่ฝั่งนโยบายต้องทำอย่างไม่สะดุด ฝั่งการเงินต้องไม่ให้เกิดการตึงตัว ตัวเลขหนี้เสียต้องไม่ให้สูง ต่อมาคือการให้ความช่วยเหลือ กลุ่มคนที่ยังไม่ฟื้นตัว

นโยบายการเงินที่จะช่วยให้กับกลุ่มคนที่ยังไม่ฟื้นตัว ต้องทำให้ระบบการเงินทำงานต่อไปได้แบบไม่สะดุด ปกติตอนเศรษฐกิจหดตัว สินเชื่อก็จะหดตัวตาม แบบวิกฤตปี 40 ส่งผลกระทบเสียหายหนัก จึงไม่อยากให้เกิดภาพแบบนั้นอีก ทั้งนี้ ช่วงโควิดที่ผ่านมาถือว่าโอเค แม้ว่าจีดีพีประเทศไทยจะติดลบเกือบมากที่สุดในภูมิภาค แต่สินเชื่อในระบบโตกว่า 4-5% สะท้อนให้เห็นว่าระบบการเงินยังทำงานอยู่ แต่ก็มีบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อตรงนี้โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ธปท.จึงออกมาตรการเสริมให้ระบบการเงินทำงาน อย่างสินเชื่อซอฟต์โลนไปจนถึงการออกสินเชื่อฟื้นฟู

ต้องบอกว่าพระเอกอยู่ในฝั่งการคลัง ถ้าไม่มีมาตรการทางการคลังออกมา ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจจะหนักกว่านี้ ในปีที่แล้วอาจจะเห็น จีดีพีไทย -9% และปีนี้ -4% ถ้าไม่ได้มีมาตรการทางการคลังมาช่วย ทั้งนี้ คาดการณ์ในช่วง 3 ปี (2563-2565) นโยบายการคลังจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโตเพิ่มได้ 10.8%

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว มีอยู่ 2 กระแส คือ 1.ดิจิทัล 2.ความยั่งยืน ประเทศไทยมีความเสี่ยงจากผลกระทบภาวะโลกร้อน ในอันดับ 9 ของโลก เนื่องจากเมืองสำคัญติดอยู่ริมทะเล แรงงานอยู่ในภาคเกษตรค่อนข้างสูง เศรษฐกิจพึ่งพิงการท่องเที่ยว สินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่สร้างมลภาวะสูง

ตอนนี้องค์กรกำกับทั่วโลกปวดหัวกับการให้ความสมดุล ระหว่างนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยง โดยให้ธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันปรับตัวได้ อีกทั้งจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา โดยเฉพาะฝั่งที่ไม่ได้ทำธุรกิจการเงินมาก่อน เป็นเทคแพลตฟอร์มที่มาจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (De-Fi) ที่ไม่สามารถกำกับได้ อย่างไรก็ตาม พันธกิจของธนาคารกลางก็ไม่ได้เปลี่ยน ต้องให้ความคุ้มครองผู้บริโภค แต่โจทย์หนักกว่าเดิมคือของใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงมาก พร้อมทั้งภัยคุกคามด้านไซเบอร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image