เทรนด์ดิจิทัล ดันท่องเที่ยวไทย สร้างโลกทีเอทีเวิร์ส… วิ่งให้ทันการเปลี่ยนแปลง

เทรนด์ดิจิทัล ดันท่องเที่ยวไทย สร้างโลกทีเอทีเวิร์ส...วิ่งให้ทันการเปลี่ยนแปลง

เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตสูงมากขึ้น เทียบการปรับจากสิ่งหนึ่งไปสิ่งหนึ่ง สมัยก่อนมักใช้ว่า “เร็วเหมือนติดจรวด” วันนี้น่าจะเกินคำนี้ เกือบทุกคนตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน กิจวัตรประจำวันผูกไว้กับเทคโนโลยีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไม่รู้ตัว บางคนรู้ตัวแต่วิ่งไม่ทัน วันนี้โลกดิจิทัลกำลังผนวกทุกสิ่งให้อยู่บนโลกออนไลน์ อยู่บนอากาศ หมายความว่า แม้มองไม่เห็นแต่มีอยู่ หนึ่งในนั้นคือ การเกิดสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ที่ไม่ได้สัมผัสเหรียญ หรือธนบัตร เหมือนเหรียญบาท หรือธนบัตร แต่ก็มีมูลค่าในตัวเอง

คำนิยามของคริปโทเคอร์เรนซี หรือเงินตราเข้ารหัสลับซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกแบบให้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ที่ใช้วิทยาการเข้ารหัสลับเพื่อรับประกันธุรกรรม ควบคุมการสร้างหน่วยเงินเพิ่ม และยืนยันความถูกต้องของการโอนทรัพย์ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของเงินดิจิทัล เงินทางเลือก และเงินเสมือน โดยคริปโทเคอร์เรนซียังไม่ถูกใช้เป็นหน่วยกำหนดราคาสิ่งของที่เป็นสากล แม้มีบางประเทศเริ่มใช้คริปโทในการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายสินค้าและบริการมากขึ้น แต่ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่รับรองให้คริปโทเป็นสกุลเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เท่ากับว่าการทำธุรกรรมใดก็ตามจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย หรือต้องรับความเสี่ยงเอง

  • โควิดสร้างบทบาท‘เงินดิจิทัล’

หลังการระบาดโควิด-19 กลับยิ่งส่งผลให้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเข้ามามีบทบาทในการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทองคำแม้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่เห็นราคาผันผวนขึ้นและลง ไม่แตกต่างจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจกับคริปโทมากขึ้น เพราะแม้เสี่ยงแต่เห็นแนวโน้มทยอยไต่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบิทคอยน์ ซึ่งเป็นเหรียญคริปโทที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดรวม เห็นราคาพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 69,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่หันมาใช้คริปโทเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ขณะที่หลายคนมองว่าเป็นการลงทุนที่จะได้รับกำไรอย่างรวดเร็ว

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ราคาบิทคอยน์ร่วงลงเกือบ 8% หลังจากที่มีรายงานการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ได้ชื่อแล้วว่า โอไมครอน ส่งผลให้นักลงทุนเทขายคริปโทที่ยังมองว่าเป็นสินทรัพย์มีความเสี่ยงมากกว่า และหันไปเก็บพันธบัตรสกุลเงินที่ได้รับความนิยมการลงทุนเป็นหลัก โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ และเงินเยน

Advertisement

โลกเงินดิจิทัลแม้มีความเสี่ยงอยู่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเงินดิจิทัลถือเป็นอนาคตที่กำลังเปลี่ยนโลกการเงินจากปัจจุบัน ทั้งการลงทุน และการทำธุรกรรมทางการเงินรวม ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถคงอยู่ต่อได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ไม่เว้นแม้แต่ภาคการท่องเที่ยว ที่นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ยังต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาดิสรัปชั่นอย่างรวดเร็วด้วย และกำลังแทรกซึมผนวกไปถึงธุรกิจภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม ล่าสุด ภาคท่องเที่ยว โดยเน้นเพื่อการใช้ชำระค่าสินค้า หรือบริการ

  • ท่องเที่ยวจำเป็นต้องเปลี่ยน

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับอนาคตในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า หากมองว่าการท่องเที่ยวยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป โดย ททท.มีแนวคิดในการสร้างนิว ทัวริซึม อีโคซิสเต็ม บนพื้นฐานการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาปรับเปลี่ยนใหม่ เน้นการสร้างจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมุ่งสู่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมท่องเที่ยวไทย เพราะการเข้ามาของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงต้นทุนที่ต้องจ่าย เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น เราจึงต้องเรียนรู้เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก และก้าวไปข้างหน้าต่อให้ได้

เพื่อปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อเดินหน้าไปต่อในอนาคต ททท.เตรียมจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อรองรับกลยุทธ์การพลิกโฉมท่องเที่ยวไทยอย่างเต็มรูปแบบ โดยเป็นบริษัทที่จะดำเนินงานในด้านดิจิทัลเป็นหลัก และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้ในการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เปลี่ยนวิธีเรียนรู้ การติดต่อสื่อสารและทำธุรกรรม โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Advertisement
  • รุกตลาดคริปโทโกยต่างชาติ

ยุทธศักดิ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเดินเข้าสู่โลกอนาคต คือโลกคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่ง ททท.จะผลักดันและต่อยอดการใช้คริปโทในอนาคต อาทิ การสามารถนำคริปโทซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ รวมถึงออกเหรียญดิจิทัลของ ททท.เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว หลังจากเห็นปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด แม้ปัจจุบันทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้อนุญาตให้นำคริปโทใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการภายในไทย แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นแน่นอน ททท.จึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับดีมานด์นี้ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ถือคริปโทอยู่ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและเต็มใจจ่าย ตรงกับเป้าหมายที่ ททท.ต้องการดึงให้เข้ามาเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทยด้วย

ช่วงที่ผ่านมา ททท.ได้หารือร่วมกับ ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในการหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่มี เหมือนคนกำลังจะจมน้ำที่ขอเครื่องมือช่วยพยุงให้หายใจต่อได้ก่อน จึงต้องหาสภาพคล่องระยะสั้นเพิ่มให้ โดย ททท.พร้อมที่จะออกเหรียญทีเอที คอยน์ (TAT Coin) ที่มีลักษณะเป็นเหรียญโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) พร้อมใช้ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน แปลงคูปองในลักษณะที่เป็นเวาเชอร์ให้เป็นโทเคนดิจิทัล สามารถใช้แลกเปลี่ยนในตลาดต่อลูกค้าได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้สามารถขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวล่วงหน้า เหมือนกับการขายอี-เวาเชอร์

  • ปั้นทีเอทีเวิร์สโลกเสมือนจริง

ถือเป็นแนวคิดเริ่มต้นที่ ททท.พร้อมดำเนินการหากได้รับอนุญาตจากผู้กำกับดูแล ซึ่งจะเป็นโลกสินทรัพย์ดิจิทัลที่ก้าวหน้าเข้าไปมากขึ้น โดยหากเรามีเหรียญดิจิทัล เชื่อว่าจะทำให้คนรุ่นใหม่ที่นิยมถือเหรียญดิจิทัลหันมาสนใจมากขึ้น แต่ข้อจำกัดที่มีคือ ททท.เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงต้องจัดตั้งบริษัทลูกขึ้น ซึ่ง ททท.จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 40% เพื่อรักษาความคล่องตัวในการบริหาร ส่วนอีก 40% จะเป็นบริษัทด้านดิจิทัลในประเทศไทยเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน ขณะที่อีก 20% จะเป็นของพันธมิตรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น สมาคมท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งจะเปิดกว้างให้สมาคมที่สนใจ สามารถเข้าร่วมถือหุ้นบริษัทลูกแห่งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแนวคิดได้ เพราะความเดือดร้อนของผู้ประกอบการไม่สามารถรอได้

“การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลมีความสำคัญมากอย่างยิ่ง โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีเมทาเวิร์ส (Metaverse) หรือโลกเสมือนจริง ที่ผู้คนต่างหลบหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงที่บิดเบี้ยว หรือการแบ่งปันสภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริงของผู้คนผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งในอนาคต เราอาจมีการสร้างโลกทีเอทีเวิร์ส (TATverse) ขึ้นมาก็ได้ เพื่อนำเสนอภาพการท่องเที่ยวไทยในรูปแบบใหม่” ยุทธศักดิ์กล่าวตบท้าย

หากเทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยนโลกใบเดิมให้ดีขึ้นได้ ในอนาคตเราคงได้เห็นภาคท่องเที่ยวไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image