สรุปข่าวฮอตแห่งปี 2564 – 6 เรื่องจำของคนไทยทั้งประเทศ

 

‘เราชนะ’ บทเรียนที่ประเทศไทยจำขึ้นใจ

ปี2564 ถือเป็นช่วงที่กระทบจากการระบาดโควิด-19 อย่างหนัก ช่วงต้นปีรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยา ภายใต้โครงการ “เราชนะ” จนคำว่า “เราชนะ” เป็นคำที่ได้รับความนิยมอย่างมากในค้นหาบนเว็บไซต์กูเกิล (google) เพราะมีผู้รอรับเงินประมาณ 30 ล้านคนทั่วประเทศ ที่อยากรู้ว่าจะได้รับเงินเมื่อไร กลายเป็นนโยบายที่คนไทยสนใจอย่างมาก
แต่เมื่อรายละเอียดโครงการถูกประกาศออกมา คือการใช้เงินผ่านแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง บนสมาร์ทโฟน ด้วยรัฐบาลหวังจะเห็นประชาชนนำเม็ดเงินไปใช้กับร้านค้ารายย่อยที่เคยร่วมโครงการคนละครึ่ง แทนที่จะได้ “ดอกไม้” กลายเป็นโดนก้อนหินแทน เพราะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่อง ตั้งแต่มีกลุ่มคนตกหล่นมากถึง 2.5 ล้านคน ไม่สามารถเข้าระบบได้ เพราะไม่มีสมาร์ทโฟน รวมถึงไม่เคยได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้เกิดคำถามว่า คนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นใคร จนนำมาซึ่งความพยายามของรัฐในการทบทวนสิทธิอย่างจริงจรัง
ต่อมาคือเรื่องรูปแบบเงินเยียวยา ที่รัฐบาลไม่แจกเงินสดทั้งก้อน แต่เป็นวงเงินที่ทยอยแบ่งให้รายสัปดาห์ และอยู่ใน จี-วอลเล็ต บนแอพพ์เป๋าตัง จนต้องเรียกว่า โดนวิจารณ์ยับ ไม่ถูกจริตคนรับ ถูกมองว่า “ช่วยไม่ตรงจุด” คนรับอยากได้เงินทั้งก้อนเพื่อใช้จ่ายอย่างอื่นด้วย นอกเหนือจากใช้จ่ายประจำวัน กระทั่งการเยียวยาผู้ประกันตนจากกระทรวงแรงงานช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จึงได้ปรับมาใช้ผ่านระบบประกันสังคม และจ่ายเป็นเงินสดโอนโดยตรงเข้าบัญชีแทน
นอกจากนี้ ยังพบช่องว่างร้านค้าฉวยโอกาสรับแลกเงินสด มีทั้งที่เจตนาทำ คิดค่าแลกกับผู้ที่สนใจและต้องการเงินสด และกลุ่มที่ไม่เจตนา อาทิ กลุ่มค้าขายออนไลน์ ไม่ทราบเงื่อนไข จึงมีร้านค้าถูกตรวจสอบและเรียกคืนเงิน เนื่องจากทำผิดสัญญา โดยกระทรวงการคลังเปิดให้ส่งหลักฐานอุทธรณ์ได้
เพียงแค่โครงการเดียว ก็สะท้อนปัญหาและเป็นบทเรียนให้กับรัฐบาลได้อย่างชัดเจน เป็นเหตุการณ์ที่จดจำในปี 2564 ว่า “เราชนะ”?

 

Advertisement

‘หวยแพง’ปัญหาโลกแตก รอวันแก้ตรงจุด

เรียกว่าเป็นอภิปัญหานิรันดร์กาล ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพยายามจะแก้ปัญหาการขายสลาก หรือหวย หรือลอตเตอรี่ ราคา 80 บาท ตามราคาบนหน้าสลาก แต่จนถึงปัจจุบันราคาขายยังเกิน ไม่ต่ำกว่าใบละ 100 บาท ขึ้นกับว่าเลขเด็ดขนาดไหนราคาก็จะแพงตาม
ที่ผ่านมา สำนักงานสลากฯพยายามออกทางแก้ไขมาหลายหลาก ทั้งตัดโควต้าเก่า ปรับเป็นโควต้าซื้อจองคนละ 5 เล่ม เพื่อขายโดยตรง และปรับต้นทุนต่ำลงเป็น 70.40 บาท จากเดิมประมาณ 74 บาท เพื่อให้ผู้ค้ามีกำไรเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันได้ปรับสูตรพิมพ์สลากแบบคละเลข ลดการรวมชุดที่ทำให้ราคาสลากสูงเว่อร์ ทำโครงการร้านค้าสลาก 80 บาท จนสลากกลับมาที่ 80 บาท ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แค่นั้น!
ล่าสุด สำนักงานสลากฯปิ๊งไอเดีย ปูพรมขยายร้านสลาก 80 บาททั่วประเทศ ตั้งเป้า 1,000 จุด พร้อมเดิมหน้าสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง เพื่อแข่งขันกับผู้ค้าหวยแพลตฟอร์มออนไลน์ และยังมีแผนระยะยาว ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ กระตุ้นการแข่งขันราคาตามกลไกตลาด เพื่อเป้าหมายราคาสลาก 80 บาท หาซื้อได้จริง
จริงหรือไม่ ต้องติดตามตอนต่อไป

 

เปิดสถานีกลางบางซื่อ ลุ้นอนาคต‘หัวลำโพง’

อีกเรื่องที่ประชาชนให้ควาสนใจอย่างมาก คือการพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพ (หัวลำโพง) และการมาของสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ปักธงเป็นศูนย์กลางระบบรางของอาเซียน นำรถไฟทางไกลเข้าไปให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ จากตอนแรกดูเหมือนจะไปได้สวย กลับต้องมาสะดุดลงเพราะเจอแรงต้านอย่างหนักจากประชาชน เมื่อมีข่าวว่าจะปิดตัวหัวลำโพง สถานีรถไฟที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานานถึง 105 ปี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังเปิดใช้งานสถานีกลางบางซื่อ ตามแผนของกระทรวงคมนาคม จะทุบทิ้ง “หัวลำโพง”
กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่า จน “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยืนกรานว่า ไม่ทุบแน่นอน เพราะถือเป็นสถาปัตยกรรมของประเทศ ไม่มีเหตุผลที่จะไม่อนุรักษ์ไว้ พร้อมปรับแผนการเดินรถไฟ จากเดิมหยุดให้บริการ เป็นลดเที่ยวลง
อย่างไรก็ตาม ต้องตามดูกันต่อ ตอนจบจะเป็นเช่นไร เพราะแม้ยืนยันว่าไม่ทุบ แต่ “ศักดิ์สยาม” ยอมรับว่ากระแสข่าวทุบมีมูลเพราะมีแนวคิดศึกษาการพัฒนาที่มีการสร้างตึกสูงในพื้นที่
คำตอบหลังจากนี้จะชัดเจนได้ข้อสรุปภายในเดือนมกราคม 2565 หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการ ผู้เกี่ยวข้องอีกรอบ ซึ่งเปิดรับฟังมาแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

 

น้ำมันแพง กองทุนฯถังแตก ทุกข์คนไทย

หนึ่งในเรื่องฮอตฮิตสุดของปีนี้ หนีไม่พ้นราคาน้ำมันแพง เฉพาะเดือนกันยายน ทำสถิติขึ้นรวด 4 ครั้ง จนเดือนตุลาคมทุกกลุ่มต่างทะลุ 30 บาทต่อลิตรกันถ้วนหน้า พิจารณากันด้วยเหตุผล ราคานี้ไม่ได้แพงมากถ้าเทียบอดีต
สาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวขึ้น จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวหลังโควิด-19 เบาบางลง เห็นสัญญาณตั้งแต่เดือนสิงหาคม ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้ฟื้นตาม เมื่อรายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม ใครจะยอมทน รัฐจึงที่ต้องดูแล
ด้านกระทรวงพลังงาน หน่วยงานรับผิดชอบตรง มีเครื่องมือหลักในการดูแลราคาน้ำมันคือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่สถานะกองทุนก็ร่อแร่ เพราะต้องควักเงินอุ้มราคาแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) มากว่า 2 ปีตั้งแต่เริ่มเกิดโควิด เพื่อตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง ขนาด 15 กิโลกรัม จนบัญชีแอลพีจีติดลบ
มองอนาคตราคาน้ำมันขึ้นแน่ แต่เงินที่มีช่างน้อยนิด กระทรวงพลังงานจึงพยายามหลายแนวทาง ทั้งประกาศดูแลราคากลุ่มดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ประกาศปรับสูตรไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหลายครั้ง จนมาจบที่เหลือบี 7 ชนิดเดียว จากปกติมีถึง 3 ชนิด คือ บี20 บี10 และบี7 ซึ่งการปรับสูตรจะช่วยลดต้นทุนการผสมไบโอดีเซลที่ราคาแพงกว่าเนื้อน้ำมันปกติเท่าตัว
นอกจากนี้ ยังตัดสินใจเพิ่มกรอบกู้เงินเพื่อดูแลกองทุนน้ำมันฯ เป็น 3 หมื่นล้านบาท จากปกติกฎหมายกำหนดไว้ 2 หมื่นบาท ล่าสุดกองทุนน้ำมันฯอยู่ระหว่างทำเรื่องกู้สถาบันการเงินในประเทศเบื้องต้น 2 หมื่นบาท
แม้จะพยายามทุกทางเพื่อดูแลราคาดีเซล จนฝั่งผู้ใช้เบนซินออกอาการงอน แต่ก็ยังไม่ถูกใจกลุ่มรถบรรทุก ที่ออกมาเรียกร้องดีเซล 25 บาทต่อลิตร พร้อมจัดม็อบรถบรรทุกกดดันกระทรวงพลังงาน
เดิมกระทรวงพลังงาน ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลง ยึดไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่กระแสการเมืองแรงกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงสั่งให้ดูแลระดับ 28 บาทต่อลิตร
โชคเข้าข้างราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มทรงตัว และผลจากการปรับสูตรดีเซลเหลือบี 7 ราคาปัจจุบันจึงอยู่ระดับกว่า 28 บาทต่อลิตร ขณะที่กลุ่มเบนซิน อี20 ระดับกว่า 29 บาทต่อลิตร
หลังปีใหม่ราคาจะพุ่งหรือร่วง หลังเจอพิษโอมิครอน ต้องติดตาม!!

 

ปัญหาท่วม-ภัยแล้งวิบากรรมคนไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้งพบเจอทุกปี อย่างปี 2564 หลายพื้นที่ อาทิ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย และนครราชสีมา รวมถึงภาคใต้ ปัจจุบันยังพบน้ำท่วมสะสมอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ว่าต้นปี 2565 ภาคใต้จะเจอฝนอีกหนึ่งระลอก จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 ถือว่าน้อยกว่า แม้บางพื้นที่ผลกระทบมากกว่า แต่เมื่อเทียบปริมาณน้ำภาพรวมแล้ว ปี 2554 สถานการณ์ท่วมทั้งหมด 77 จังหวัด 87 อำเภอ 6,670 ตำบล คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 69.02 ล้านไร่ มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,039,459 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง เสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ และถนนเสียหาย 13,961 สาย

ขณะที่ปี 2564 มีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 33 จังหวัด 228 อำเภอ 1,216 ตำบล 8,332 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล รายงานจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. พบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่ที่ 2,088,263 ไร่ เสียชีวิต 7 ราย สูญหาย 1 ราย ประชาชนได้รับผลกระทบ 227,470 ครัวเรือน

ส่วนในปี 2565 คาดว่าปริมาณน้ำจะเยอะกว่าปี 2564 ส่วนสถานการณ์จะรุนแรงแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไป

 

เคาะแล้ว 5เสือกสทช. ชุดใหม่ …รอจนลืม

หลังจากที่รอกันอย่างรากงอกกับการได้มาซึ่ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) ชุดใหม่ ที่โดนแช่แข็งมา 4 ปีกว่าแล้ว ในที่สุดวุฒิสภาก็ได้ลงคะแนนลับรับรองรายชื่อว่าที่กรรมการ กสทช. จำนวน 5 คน ได้แก่ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์), พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง), ศ.คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค), รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านเศรษฐศาสตร์) และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)

แต่อีก 2 คน ที่วุฒิสภายังไม่ให้การรับรอง ได้แก่ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ (ด้านกิจการโทรคมนาคม) และร้อยโท ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ (ด้านกฎหมาย) ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์มาว่าคุณสมบัติของทั้งสองไม่ตรงตามสเปค

สำหรับภารกิจยักษ์ใหญ่ที่ต้องดูแลสานต่ออย่างแร่งด่วน คือ 1. การประมูลคลื่นดาวเทียม หลังจากที่ล่มไปในปี 2564 เพราะมีผู้ยื่นประมูลแค่รายเดียว อีกทั้งทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จะปล่อยให้วงโคจรหลุดหากประเทศไทยไม่มีการใช้งาน ขณะที่ กสทช. เองต้องมีหน้าที่รักษาวงโคจรตามกฎหมาย

2.การประมูลคลื่น 3500 MHz ที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่นี้ เพื่อเสริมกำลังระบบ 5G ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3. การประมูลคลื่นวิทยุกระจายเสียง ที่เคาะแผนออกมาต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 4 เมษายน 2565 รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านสู่วิทยุดิจิทัล และ 4.การดูแลเรื่องการควบรวมกิจการของ ทรู-ดีแทค ที่กฎหมายหลายฉบับและภาคประชาชนหลายฝ่าย ระบุว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของ กสทช. จะต้องไม่โยนเรื่องให้กับหน่วยงานอื่น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image