คิดเห็นแชร์ : นโยบายการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

ในบทความของผมหลายๆ ตอนที่ผ่านมา ได้เล่าถึงการที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้ง สปป.ลาว เวียดนาม และ กัมพูชา ได้พัฒนาหรือเตรียมกำลังพัฒนา กำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนไปพอสมควร รวมทั้งได้สรุปให้เห็นถึงภาพที่ สปป.ลาว เตรียมแต่งตัวเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ดังนั้น นโยบายการซื้อ-ขาย ไฟฟ้าของไทย กับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เป็นอย่างไรและควรปรับปรุงอะไรบ้าง จะขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้ครับ

1.ด้วยการที่ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าสุทธิด้านพลังงาน (Net-Import of Energy)
ถึงแม้เราจะยังโชคดีอยู่บ้างที่มีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แต่ก็ไม่พอและปัจจุบันต้องถือว่าอยู่ระหว่างการลดลงอย่างน่าใจหาย ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลไทยในหลายยุคหลายสมัย
ได้มีนโยบายสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของไทยทั้ง กฟผ., ปตท., และ ปตท.สผ. (และบริษัทในเครือทั้งหลาย) ได้เข้าไปมีบทบาทในการเข้าถือครองสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรพลังงานทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติของประเทศเพื่อนบ้าน และป้อนกลับไทยอย่างต่อเนื่องโดยตลอด

2.ในด้านการรับซื้อไฟฟ้าก็ได้มอบหมายให้ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ในรูปแบบ Government-to-Government
โดยมีข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ (MOU) เป็นกรอบในการกำกับการรับซื้อไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งปัจจุบันตัวเลขอย่างเป็นทางการในการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวถึง 9,000 MW และเข้าใจว่ากำลังจะ (หรือ อาจจะมีการลงนามไปแล้วก็ไม่ทราบได้?) ว่ามีการขยับกรอบการรับซื้อเพิ่มขึ้นอีก 1,000 MW

3.ในแผน PDP หลายฉบับก่อนหน้านี้ก็เคยได้กำหนดเพดานการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้าสู่ระบบของ กฟผ. ไว้ไม่เกิน 25% ของกำลังการผลิตโดยรวมของประเทศ (ระดับเดียวกับการที่ไทยมีกำลังการผลิตสำรอง หรือ Reserve Margin)
โดยกำหนดไว้เพิ่มเติมด้วยว่าหากจะมีการนำเข้าจากประเทศหนึ่งประเทศใดไม่ควรเกิน 13% ซึ่งหากตัวเลขเป็นตามนโยบายนี้ในแผน PDP ฉบับปัจจุบัน (PDP 2018) กรอบการนำเข้าไฟฟ้าทั้งหมดควรมีเพดานที่ 19,250 MW และกรอบการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ควรเกิน 10,000 MW

Advertisement

4.กรอบนโยบายอีกประเด็นที่ปรากฏใน MOU ระหว่าง ไทย กับ สปป.ลาว
คือ การระบุเจาะจงรับซื้อไฟฟ้าเฉพาะจากโครงการ “พลังน้ำ” หรือ “พลังความร้อน” (เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน) เท่านั้น ทำให้การซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม จาก สปป.ลาว ข้ามมาไทยไม่ได้ ทั้งๆ ที่ศักยภาพก็มีเหลือเฟือ และราคาก็น่าจะสู้ราคาโครงการพลังน้ำ
ใหม่ๆ ได้

5.นโยบายด้าน “ราคารับซื้อ”
เป็นอีกประเด็นที่ “เคยมี” การกำหนดกรอบปฏิบัติไว้ เช่นการกำหนดกรอบราคาที่ใช้เจรจารับซื้อไฟฟ้าไว้ โดยให้ใช้หลักการที่เรียกว่า “รับซื้อในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนหน่วยสุดท้ายของ กฟผ.” หรือ EGAT’s Marginal Cost แต่ในช่วงหลังๆ ก็มีข้อยกเว้นในการไม่ใช้หลักการเหล่านี้ ในโครงการ
ยุคหลังๆ

วันนี้ผมขอหยุดเล่าเท่านี้ก่อน เพราะว่าเท่าที่สัมผัสผู้ที่เกี่ยวข้องมีหลายท่านเสนอความคิดใหม่ๆ มากมายที่ควรเสนอให้ รัฐบาลไทยปรับปรุงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะขอยกยอดไปสนทนากันในฉบับหน้านะครับ แต่ที่คันปากอยากเล่าเพราะข้อเสนอใหม่ๆ มีเรื่องให้น่าคิดเยอะมากเช่น ข้อเสนอการเปิดให้มีการประมูลแข่งขันด้านราคา (Bidding) แทนการเจรจาโดยตรงเป็นรายโครงการ, การปลดล็อกให้สามารถซื้อ และขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นๆ ได้ มิใช่เฉพาะแค่ไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้น, การเสนอขอให้ยุติการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจากต่างประเทศ และการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าของไทยซื้อไฟฟ้าตรงจากผู้ผลิตในต่างประเทศได้ เป็นต้น ไว้คราวหน้านะครับ จะค่อยลงลึกในแต่ละข้อเสนอ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image