เอกชนเฮ ‘ไทย-ซาอุฯ’ ฟื้นความสัมพันธ์ทูต ช่วยดันเศรษฐกิจโต

รายงานหน้า 2 : เอกชนเฮ ‘ไทย-ซาอุฯ’ ฟื้นความสัมพันธ์ทูต ช่วยดันเศรษฐกิจโต

หมายเหตุภาคให้เอกชนให้ความเห็นถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ และฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันกลับมาอีกครั้งในรอบ 32 ปี รวมถึงมีความร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ

สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

หอการค้าพบปะพูดคุยนายอิซอม ซอเละห์ เอช. อัลจีเตลี อุปทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ เศรษฐกิจ การค้า และหารือโอกาสความร่วมมือระหว่างกันแล้ว

การเดินทางเยือนซาอุฯของนายกฯ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ภาคเอกชนจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศไทยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ช่วยทำให้การค้าของประเทศกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับไว้

Advertisement

ตั้งแต่ด้านการส่งออก หากดูสัดส่วนการค้าในปี 2564 ไทยส่งออกไปประเทศซาอุฯประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 45,000 ล้านบาท) คิดเป็นเพียง 0.6% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทย (การค้ากับตะวันออกกลาง ประมาณ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) หากไทยสามารถเปิดประตูการค้ากับซาอุฯได้มากขึ้น จะทำให้การส่งออกไปซาอุฯกลับไปที่ประมาณ 2.2% ของการส่งออกทั้งหมด เหมือนปี 2532 หมายถึงปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 150,000 ล้านบาท)

สินค้าที่ไทยสามารถจะเจาะตลาดได้ ทั้งรถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าอาหารและอาหารแปรรูป อาหารฮาลาล สินค้าเกษตร เครื่องจักรกล จิวเวลรี อุปกรณ์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด Medical Hub และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ซาอุฯถือเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลาง และมีแผนที่จะขยายและพัฒนาประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว จะเป็นโอกาสให้กับประเทศไทยในการส่งสินค้าไป ซึ่งสินค้าที่มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม คือสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของการนำเข้าทั้งหมด เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้า 10 อันดับแรกของซาอุฯทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยเช่นกัน

ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยประมาณ 40 ล้านคน โดยมาจากตะวันออกกลางประมาณ 7 แสนคน ซึ่งล้วนแต่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและอยู่ในประเทศไทยนานมากกว่าค่าเฉลี่ย แต่เป็นนักท่องเที่ยวจากซาอุฯเพียง 36,000 คน

Advertisement

ดังนั้น หากมีการเปิดประเทศ จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวซาอุฯมาได้เพิ่มขึ้น หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวซาอุฯก่อนเกิดปัญหามีกว่า 73,000 คน (ค่าเฉลี่ยปี 2530-2531) คาดว่าจะนักท่องเที่ยวซาอุฯจะเดินทางมาไทยประมาณ 150,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 13,500 ล้านบาท (คิดจากการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวซาอุฯ 90,000 บาทต่อราย ในปี 2562)

ขณะที่ด้านตลาดแรงงาน ซาอุฯเคยเป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยในตะวันออกกลาง ในช่วงปี 1970-1980 ทางการไทยประเมินว่าช่วงนั้นมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในซาอุฯ (ทั้งแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย) มากถึง 200,000 คน และส่งเงินกลับประเทศไทยเฉลี่ย 9,000 ล้านบาทต่อปี

การกลับมาฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุฯครั้งนี้ จะทำให้แรงงานไทยมีโอกาสกลับไปทำงานในซาอุฯอีกครั้ง เนื่องจากซาอุฯยังมีความต้องการว่าจ้างแรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ รวมถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงาน เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว ซึ่งแรงงานไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานของซาอุฯ

ดังนั้น เมื่อซาอุฯเปิดให้แรงงานไทยเข้าไปทำงานอีกครั้ง คาดว่าจะมีแรงงานไทยในซาอุฯเพิ่มขึ้นจาก 10,000 คนในปัจจุบัน เป็น 100,000 คน ในระยะ 3 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คน ในระยะ 5 ปี เท่ากับปี 2532 ซึ่งจะมีรายได้ส่งกลับประเทศ 4,500-9,000 ล้านบาทต่อปี

ด้านการลงทุน แม้ว่าโอกาสที่ซาอุฯจะขยายการลงทุนทางตรงมายังประเทศไทยในระยะสั้นอาจจะมีไม่มากนัก แต่เมื่อความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศฟื้นฟูขึ้น ก็จะทำให้นักธุรกิจมีการติดต่อเจรจาธุรกิจระหว่างกัน จะช่วยดึงดูดให้นักธุรกิจซาอุฯนำเงินมาลงทุนยังประเทศไทยทั้งในระยะกลาง และระยะยาว

ปัจจุบันซาอุฯมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแผนการปฏิรูป Vision 2030 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนในการเพิ่มสัดส่วนจีดีพี จากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 65 นอกจากนั้น แผนปฏิรูปดังกล่าวยังต้องการเพิ่มจีดีพีการส่งออก (ในภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน) จากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 50 พร้อมวางเป้าหมายที่จะลดอัตราการว่างงานจากร้อยละ 12 เหลือร้อยละ 7

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนให้แผนการปฏิรูปเกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ช่วยสร้างโอกาสในการเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนระหว่างกัน ซึ่งทั้งไทยและซาอุฯสนใจลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวในกลุ่มธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนั้น ทางซาอุฯยังมีโอกาสที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคนี้มาที่ประเทศไทยด้วย

การเดินทางเยือนของนายกฯครั้งนี้ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล ดังนั้น ภาคเอกชนของไทยต้องใช้โอกาสอันดีนี้ต่อยอดและขยายผล นอกจากจะเป็นผลดีต่อธุรกิจของตนเองแล้ว ยังส่งผลดีต่อภาพรวมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

หอการค้าไทยได้หารือกับภาคเอกชนของซาอุฯนอกรอบมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อเตรียมการส่งเสริมการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างกัน คาดว่าจะมีการเซ็น MOU ความร่วมมือกันต่อภายในครึ่งปีแรกนี้

ชัยชาญ เจริญสุข
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

ผลลัพธ์การฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุฯมีแต่ข้อดี ไม่มีข้อเสีย เพราะตัวเลขการส่งออกจากไทย ไปซาอุฯในแต่ละปีที่ผ่านมาค่อนข้างลดลง เฉลี่ยปีละประมาณ 1,600 ล้านเหรีญสหรัฐ เมื่อหลายสิบปีก่อนที่ความสัมพันธ์ยังปกติอยู่นั้น อยู่ในระดับปีละ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อไทยกับซาอุฯกลับมาสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกันได้ จะช่วยให้การส่งออกจากไทยไปซาอุฯเพิ่มขึ้นเช่นกัน หวังว่าจะกลับขึ้นมาอยู่ระดับปีละ 2,000-3,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับอานิสงส์ในการส่งออกไปยังซาอุฯ ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว กลุ่มอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปัจจุบันยังคงมีการส่งออกไปซาอุฯอยู่ เพียงแต่มีจำนวนน้อย ดังนั้น ถ้ามีการฟื้นความสัมพันธ์ การส่งออกสินค้าจากไทยจะเพิ่มขึ้นแน่นอน และเป็นตัวช่วยเร่งให้การส่งออกของไทยไปเจาะตลาดประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

เดิมที ซาอุฯเคยเป็นตลาดการส่งออกหลักหนึ่งแห่งของไทย แต่ด้วยหลายปัจจัยจึงทำให้การส่งออกหยุดชะงักไป ดังนั้นเมื่อความสัมพันธ์เป็นปกติแล้ว การส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้นแน่นอน

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร
นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)

กว่า 30 ปี ที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุฯถูกลดระดับลง เมื่อเห็นการกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้ง ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ถือเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง มีศักยภาพและสามารถใช้จ่ายได้คล่องตัว อาทิ คูเวต เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในประเทศไทยกว่า 100,000 คน อิสราเอล มากว่า 190,000 คน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ พบว่าในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดโควิด มี 36,783 คน ปี 2563 จำนวน 4,125 คน และปี 2564 คาดว่าจะมีแค่ 467 คน

การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งนี้ หากการทูตของไทยทำได้ดี และการท่องเที่ยวไทยทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯจะฟื้นตัวได้อีกกว่า 10 เท่า หรือประมาณ 300,000 คนต่อปี

ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล เนื่องจากจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าปัญหาด้านสาธารณสุขก็ถือเป็นปัญหาที่ต้องพยายามควบคุมให้ได้ แต่มองอีกด้านปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้ามากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่า เนื่องจากการระบาดโควิด-19 กว่า 2 ปี ทำให้เกิดผลกระทบซ้ำเติมธุรกิจและเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นการเปิดประเทศที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะทำอย่างประเทศซาอุฯ ดังนั้น เรื่องเก่าๆ ก็ต้องทิ้งเอาไว้ข้างหลังและเดินหน้าใหม่ต่อไปให้ได้ เพราะในปัจจุบันจนถึงอนาคต เราไม่สามารถพึ่งพารายได้ทางเดียวได้อีกต่อไปแล้ว

ส่วนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านรูปแบบเทสต์ แอนด์ โก ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ เมื่อเปิดแล้วก็ไม่อยากให้ปิดอีกครั้ง ต้องไม่เปิดๆ ปิดๆ อีกแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาคนในภาคการท่องเที่ยวไม่มีอาชีพมากว่า 2 ปีแล้ว คนที่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้เพราะมีเงินทุนอยู่ก็อาจอยู่ได้ แต่กับคนที่ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ รอเวลาท่องเที่ยวฟื้นกลับมา ก็ต้องออกไปทำงานอย่างอื่นแทน เปลี่ยนอาชีพเพื่อให้มีรายได้ใช้ชีวิตต่อไป

นโยบายเปิดประเทศต้องทำเชิงรุกและทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยภาคเอกชนอยากเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยเฉพาะการทำตลาดเพื่อให้ผู้ประกอบการรู้สถานะและข่าวในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างกำลังใจให้ธุรกิจอยู่ให้ได้ รวมถึงอยากให้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามาช่วยทำตลาดแบบเต็มตัว กระทรวงการท่องเที่ยวฯทำเพียงขาเดียวไม่พอแล้ว โดยเฉพาะเรื่องต่างประเทศ ต้องเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ในการเจรจาด้านการทูต

อีกสิ่งที่ยังจำเป็นคือ การจับคู่ประเทศท่องเที่ยวระหว่างกัน (ทราเวล บับเบิล) จะเพิ่มโอกาสในการทำตลาดท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะแม้ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกประเทศแล้ว แต่หากนโยบายของประเทศต้นทาง เมื่อมาเที่ยวไทยกลับไปประเทศต้นทางแล้วยังต้องกักตัวอยู่ นักท่องเที่ยวคงไม่อยากมา ดังนั้น หากสามารถทำทราเวล บับเบิลกับประเทศอื่นๆ ได้ สามารถเดินทางระหว่างกันได้แบบไม่ต้องกักตัว จะจูงใจให้มาเที่ยวไทยได้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image