คิดเห็นแชร์ : เงินเฟ้อกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจะขอเขียนถึงเหตุการณ์สำคัญของตลาดการเงินโลกที่เพิ่งผ่านพ้นไป คือการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อที่จะควบคุมภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ร้อนแรงมากจนอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ล่าสุดการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อกลางเดือน มี.ค.2565 มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็นครั้งแรกหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 และได้มีการส่งสัญญาณผ่านแผนภาพ Dot plots ว่า เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 6 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปี 2566 ซึ่งโดยปกติแล้วการเปลี่ยนนโยบายการเงินจาก “นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย” มาเป็น “นโยบายการเงินแบบเข้มงวด” จะใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความร้อนแรงของภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วจนเกินไป จนอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งสำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันหากพิจารณาย้อนไปช่วงปลายปี 2564 ที่มีการฟื้นตัวของราคาน้ำมันจากอุปสงค์หรือความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย และได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังราคาสินค้าและบริการ และทางเฟดได้ทำการส่งสัญญาณการเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดขนาดงบดุลมาเป็นระยะๆ ซึ่งเราประเมินว่าในสถานการณ์ดังกล่าว การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจช่วยชะลอความร้อนแรงของภาวะเงินเฟ้อของโลกได้ ซึ่งเป็นไปตามกลไกเศรษฐศาสตร์

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นแรงทะลุ 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็นผลมาจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลให้เกิดความกังวลต่ออุปทานน้ำมันโลก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน และ
ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ทำให้ผมไม่มั่นใจว่า การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในครั้งนี้จะสามารถชะลอความร้อนแรงของภาวะเงินเฟ้อได้ตามกลไกเศรษฐศาสตร์ได้หรือไม่ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2564 เกิดขึ้นจากผลของความกังวลฝั่งอุปทาน ที่กลไกอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถที่จะเข้าไปมีผลต่อปริมาณอุปทานได้ ปัจจัยที่จะทำให้ราคาน้ำมันในปัจจุบันปรับลดลงได้นั้นมีเพียงการคลายความกังวลของนักลงทุนและผู้ประกอบการที่มีต่อภาวะอุปทานน้ำมัน แต่ที่แน่นอนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดขนาดงบดุลของเฟดนั้น มีผลทำให้เศรษฐกิจลดความร้อนแรง หรือชะลอตัวลงจากปัจจุบัน เนื่องจากสภาพคล่องระบบการเงินถูกดึงกลับไป นอกจากนี้ หากพิจารณาประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมจากการประชุม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะพบว่ามีการปรับลดประมาณการ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิม 4.0% ได้สะท้อนความกังวลของที่ประชุมต่อแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะเดียวกันดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ หรือ OCEAD leading indicators ได้ส่งสัญญาณที่ผ่านจุดสูงสุดแล้วในช่วงเดือน ก.ย.2564 ที่ผ่านมา สะท้อนว่าในอนาคตอันใกล้เศรษฐกิจโลกน่าจะเริ่มชะลอตัวลง

ภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำหนดนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว ต่างจากสถานการณ์ปกติ ดังนั้น ผมประเมินว่าเราอาจจะต้องอยู่กับภาวะเงินเฟ้อไปจนกว่าโลกจะสามารถแก้ไขความกังวลต่ออุปทานน้ำมันได้ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรมแล้ว มีด้านที่ดีอยู่บ้างคือ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับขึ้นและเป็นบวกต่อรายได้เกษตรกรไทย แต่ด้วยต้นทุนการเพาะปลูกที่อาจปรับขึ้นเช่นกัน ผลบวกดังกล่าวจึงยังอาจจะไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่าเกษตรกรไทยจะมีกำลังซื้อที่มากขึ้นตามราคาขายสินค้าเกษตรที่ปรับขึ้น

Advertisement

สำหรับภาพรวมการลงทุน ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น คือ สภาพคล่องในระบบการเงินของสหรัฐถึงจุดสูงสุดแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว หลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2564 ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสที่จะมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมายังประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะในอาเซียน ที่คาดว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวได้ในปีนี้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ น่าจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วหลังวิกฤตโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายและเริ่มเปิดการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ KGI

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image