เปิดมุมมอง ‘ซีอีโอ-เอสเอ็มอี’ เศรษฐกิจไทยเข้าโค้งสอง ระวัง!ปัจจัยร้อน‘เก่า-ใหม่’รุมเร้า

เมื่อถามถึงมุมมองจากนักธุรกิจรายใหญ่ ธุรกิจรายเล็ก หรือกลุ่มเอสเอ็มอี ต่อเศรษฐกิจไทย ที่เพิ่งเข้าไตรมาส 2/2565 และทิศทางเศรษฐกิจไทย
ต่อจากนี้ พบว่า ยังมีมุมมองแตกต่างกัน บนสมมุติฐานต่างๆ และมุมมองต่อปัจจัยลบและปัจจัยบวก แต่ที่เหมือนกันคือ มุมมองต่อเศรษฐกิจและกำลังใช้จ่ายตอนนี้ยังฝืดๆ แต่หวังอนาคตดีขึ้น โดยมองไตรมาส 2 นี้ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าเศรษฐกิจดีขึ้น หรือย่ำอยู่กับที่ บางรายยังมองว่าผันผวนขึ้นลงสลับกันจนถึงกลางปี 2566

มาฟังเสียงสะท้อนจากตัวแทนซีอีโอ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจไตรมาส 2/2565 และครึ่งหลังปี 2565 ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง มีปัจจัยที่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ตลอดเวลา ยังต้องจับตาดูทิศทางอย่างใกล้ชิด รวมถึงสถานการณ์โควิดยังมีความเสี่ยง ต้องติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงหลังสงกรานต์นี้
ว่าจะมีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวบ่งชี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป เช่น ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน มาตรการควบคุมจากภาครัฐ ที่จะเพิ่มขึ้นหรือผ่อนคลาย เป็นต้น หอการค้าไทยยังเชื่อว่า
เรายังสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ แม้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะติดง่าย แต่ก็ไม่ส่งผลรุนแรงมากนัก สำหรับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังคงไม่แน่นอนเช่นกัน คาดว่าจะยังมีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะ ส่งผลให้ราคาน้ำมันและวัตถุดิบหลายอย่างเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าปัจจุบัน ราคาน้ำมันจะเริ่มผ่อนคลายขึ้น และคาดว่าจะไม่ส่งผลรุนแรง แต่ผู้ผลิตและผู้บริโภคก็ยังมีความกังวลต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้

“คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งหลังของปีนี้ จะมีทิศทางที่ดีขึ้น คาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นโดยเร็ว เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น มาตรการคนละครึ่ง เฟส 5 หรือมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนั้น  หากมีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่ม จะช่วยทำให้เศรษฐกิจเป็นบวกได้ ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยคาดขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-4% ส่วนการส่งออกขยายตัวในกรอบ 3-5% แต่ยังต้องติดตามมาตรการบางอย่างที่จะเป็นตัวบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย เช่น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวน รวมไปถึงข้อกำหนดใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) สิ่งเหล่านี้สร้างความกังวลให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ และเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาที่มีปัญหาสภาพคล่อง”

ซีอีโอมอง 6 ปัจจัยแรงเหวี่ยงศก.

Advertisement

ประธานสนั่นย้ำว่า เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางการฟื้นตัวมากกว่า จาก 3 ปัจจัยหลักช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.การเร่งประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีทางเศรษฐกิจ 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงเหวี่ยงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 3.สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกไม่ถดถอย เพราะจะส่งผลกระทบหลายเรื่อง เช่น ราคาพลังงาน
ราคาต้นทุนวัตถุดิบ ไปจนถึงการส่งออก ในส่วนปัจจัยเผาเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.เกิดสงคราม มีการสู้รบกัน ฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกลดลง 2.สถานการณ์
โควิดรุนแรงขึ้น ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และ 3.ปัจจัยเรื่อง Ease of traveling ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กลับมาตามที่คาดการณ์ไว้

ดังนั้น การจะฟื้นเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และทั้งปี 2565 รัฐควรเร่งทำใน 3 อันดับแรก คือ 1.รัฐบาลต้องเร่งประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น และปรับกระบวนการ ease of traveling ทั้งปรับมาใช้ ATK และยกเลิก thailand pass 2.มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าใช้จ่ายประชาชนออกมาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ต้องพิจารณาเรื่องจำนวนเงินและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้มาตรการด้วย หากต้องมีการกู้เงินมาใช้ก็ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า และ 3.ดูแลราคาพลังงาน เพราะถือเป็นต้นทุนที่สำคัญของประชาชนและผู้ประกอบการ เพราะจะกระทบต่อสินค้าราคาแพงในระยะต่อไป

อีกส่วนที่เป็นสันหลังพยุงเศรษฐกิจคือธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สะท้อนมุมมองต่อเศรษฐกิจไตรมาส 2/2565 และครึ่งหลังปี 2565 ว่า “สิ่งที่ประเทศไทย และทั่วโลกได้รับผลกระทบและการเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ 3 ส คือ ส แรก วิกฤตสุขภาพ โควิด-19 ที่ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดต่อวันในจำนวนมากกว่า 25,000 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตและมีอาการหนักเพิ่มขึ้นและยังไม่มีแนวโน้มลดลงที่ชัดเจน อีกทั้งมีความเสี่ยงทั้งการกลายพันธุ์ที่อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น การเข้าถึงควบคุมดูแลรักษาผู้ป่วย ความมั่นใจประชาชนในประสิทธิภาพ คุณภาพ การเข้าถึงวัคซีน ระบบสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยอาการรุนแรง และการควบคุมดูแลคุณภาพ ราคาของ ATK ที่จะช่วยลดภาระประชาชน สร้างระบบการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดรวมทั้งการเร่งวิจัยพัฒนายา สมุนไพรทางเลือก วัคซีน และ ATK ที่ต้องลดการพึ่งพา
ต่างประเทศอย่างเร่งด่วน ลดภาระงบประมาณภาครัฐ และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนการค้า การลงทุนภายในประเทศอย่างจริงจัง

Advertisement

ส ที่สอง วิกฤตเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม 1.ด้านเศรษฐกิจ ภาระหนี้รุมเร้าธุรกิจเอสเอ็มอี แรงงาน และประชาชน หนี้ 3 กอง หนี้ครัวเรือนที่มีสูงถึง 90% ของ GDP หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์กว่า 530,000 ล้านบาท อีกทั้งหนี้ชั้นกล่าวถึงพิเศษที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท และหนี้นอกระบบที่สูงขึ้น ขยายตัวอย่างรวดเร็วส่งผลต่อการฟื้นตัวทั้งเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว 2.ด้านสังคม ปัญหาการว่างงาน จากการปิดกิจการ และผลกระทบโควิด-19 ปัญหาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงานนอกระบบที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการภาครัฐ ปัญหาด้านระบบการพัฒนาอาชีพดูแลผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและปัญหาบัณฑิต นักศึกษาจบใหม่ที่มีภาระหนี้ กยศ. ว่างงาน รวมทั้งปัญหาการวางแผนระบบการดูแล พัฒนาผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง เพื่อขับเคลื่อนสังคมลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเชิงรุก 3.ด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็น
รูปธรรม มีนโยบาย แพลตฟอร์มการขับเคลื่อนที่ชัดเจนของภาครัฐและเอกชน และปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ต้องมีระบบการบริหารจัดการควบคุมลดผลกระทบเชิงรุก และไม่ให้ลุกลามกลายเป็นวิกฤตต่อสุขภาพคนไทยเพิ่มเติมขึ้นไปอีก

ส ที่สาม วิกฤตสงคราม รัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเกษตร ปศุสัตว์และพลังงาน ทำให้ปัจจัยการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีเป็นภาระต้นทุนที่สูงขึ้น อาทิ ปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ เหล็กกล้า ก๊าซและ น้ำมัน เป็นต้น และแนวโน้มปัญหายังคงมีปัจจัยความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีท่าทีที่จะจบลงในระยะเวลาอันสั้น

เอสเอ็มอีกางปัญหาเผา ศก.-ขวางทำกิน

เมื่อถามถึงปัจจัยเผาเศรษฐกิจ หรือปัจจัยฟื้นเศรษฐกิจ เรียงอันดับปัจจัยหนักสุดต่อเศรษฐกิจ ประธานแสงชัยกล่าวว่า ปัจจัยแรก 1.แก้หนี้ 3 กอง หนี้ครัวเรือน ที่มีอยู่สูงถึงร้อยละ 90 ของ GDP หรือกว่า 14 ล้านล้านบาท สะท้อนการเป็นหนี้ครัวเรือนที่ส่งสัญญาณอันตราย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงอยู่อันดับที่ 10 ของโลก และหากดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าสูงขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2552 จากหนี้ครัวเรือนค่าเฉลี่ย 147,542 บาทต่อครัวเรือน เป็น 316,623 บาทต่อครัวเรือนในปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ปัจจัย 2.หนี้กำลังจะเสีย หรือหนี้ชั้นกล่าวถึงพิเศษ และหนี้เสีย ที่จะหมดมาตรการผ่อนปรน
ในมิถุนายน ปี 2565 นี้ หนี้ชั้นกล่าวถึงพิเศษ ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์สิ้นปี 2564 มีทั้งสิ้นกว่า 1.13 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 6 ของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ NPLs มีทั้งสิ้นกว่า 530,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3 ของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยหนี้เสีย 3 อันดับแรก กว่าร้อยละ 70 คือ หนี้เสียภาคการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (ที่อยู่อาศัย-รถยนต์-บัตรเครดิต) 143,717 ล้านบาท หรือร้อยละ 27 ของหนี้เสียทั้งหมด หนี้เสียภาคการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 126,326 ล้านบาท หรือร้อยละ 24 ของหนี้เสียทั้งหมด หนี้เสียภาคการผลิต 116,927 ล้านบาท หรือร้อยละ 22 ของหนี้เสียทั้งหมด ตามลำดับ ปัจจัย 3.หนี้นอกระบบที่ภาค
เอสเอ็มอี ภาคแรงงาน และประชาชนทั่วไป โดยที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 65 และเป็นหนี้นอกระบบ ร้อยละ 35 โดย ปี 2551 หนี้นอกระบบเฉลี่ยต่อครัวเรือน 70,230 บาทต่อครัวเรือน เป็น 111,768 บาทต่อครัวเรือนในปี 2561 หรือเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้นอกระบบ (หนี้ครัวเรือน 316,623 บาทต่อครัวเรือน) ขณะที่ ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แรงงาน และประชาชนที่ต้องเผชิญสภาพปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบที่มีต้นทุนต่ำกลับไม่ตอบสนองได้เพียงพอ

จี้แก้ค่าครองชีพ-ต้นทุนผลิต

ปัจจัยอันดับ 2.ค่าครองชีพ และต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง กระทบครอบครัวยากจน 1.4 ล้านครัวเรือน กลไกราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นไม่ได้สะท้อนรายรับของเกษตรกร แต่กลับเป็นภาระต้นทุนปัจจัยการผลิตพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ปุ๋ย ยา และอาหารสัตว์ที่ปรับราคาอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ค่าครองชีพ ปัจจัยเงินเฟ้อ 5% ยังเป็นสิ่งที่รุมเร้าให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ภาคแรงงาน ภาคเกษตรกร ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ปัจจัยอันดับ 3.ขีดความสามารถของเกษตรกร
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และแรงงานไทย การปรับตัวและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนายกระดับขีดความสามารถภาคแรงงานนอกระบบ 20 ล้านราย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3.1 ล้านราย โดยเฉพาะ
รายย่อยกว่า 2.6 ล้านราย รวมทั้งแรงงานในภาคเอสเอ็มอีกว่า 12 ล้านคนที่ต้องเผชิญหน้ากับ Technology Disruption ซึ่งหากรวมจำนวนประชากรเหล่านี้เกินครึ่งหนึ่งของประเทศไทย

“ฟื้นเศรษฐกิจของภาคเอสเอ็มอี เรื่องแรก ต้องพักฟื้น ปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้ ผ่อนหนี้ และรักษาเครดิต จากนั้นเข้าสู่เรื่องสอง ฟื้นฟู เน้นพัฒนาทุนมนุษย์นวัตกรรม ควบกับเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำในระบบ จากนั้นนำสู่เรื่องสาม ฟื้นตัว ช่วยสร้างความพร้อมในการกลับมาประกอบอาชีพ”

ประธานแสงชัยระบุว่า ขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้า คือสถานการณ์ค่าครองชีพ
ต้นทุนวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตเกษตรกร เอสเอ็มอีที่สูงขึ้น จะต้องเร่งเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญในการลดอุปสรรค ลดต้นทุนร่วมกับภาคเอกชน และมีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว สร้างโอกาสการค้า การลงทุนใหม่ๆ ที่จะพึ่งพาเน้นสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดการนำเข้า เพิ่มจำนวนและสัดส่วนการส่งออกเอสเอ็มอีจากปัจจุบัน มีประมาณ 25,000 ราย สัดส่วนส่งออกเอสเอ็มอี 12% หรือมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ให้เติบโตมากขึ้น ทั้งจำนวนเอสเอ็มอี มูลค่าส่งออกและสัดส่วนส่งออก ในระยะยาวการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการประกอบธุรกิจเริ่มต้น (Start up) และเอสเอ็มอี (SME) ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง นโยบาย แก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับภาครัฐ การให้แต้มต่อธุรกิจเริ่มต้น และ เอสเอ็มอี ควรนำมาตรการการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เอสเอ็มอี สัดส่วนร้อยละ 30
กลับมาจากที่ถูกยกเลิกไป เพราะเอสเอ็มอีได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เป็นรูปธรรมในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และแก้กฎหมายระเบียบที่เป็นอุปสรรค เปลี่ยนจากกำกับให้ส่งเสริมสนับสนุนควบคู่กันไป ที่สำคัญ แก้หนี้อย่างเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาทุนมนุษย์นวัตกรรมที่มีขีดความสามารถสูงให้อยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต”

จากมุมมองบิ๊กซีอีโอและเอสเอ็มอี ชี้ชัด แรงเหวี่ยงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ยังแรง!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image