รัฐควงเอกชนตีปี๊บ โหมลงทุน ชู ‘เวิร์กเคชั่น’ ดึงดูดอุตฯอนาคต

รัฐควงเอกชนตีปี๊บ โหมลงทุน ชู‘เวิร์กเคชั่น’ดึงดูดอุตฯอนาคต ผลกระทบ

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องเข้าปีที่ 3 ได้กัดกร่อนระบบเศรษฐกิจทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศ ระดมสมองว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศกันอย่างไร สำหรับเศรษฐกิจไทย เสาหลักของการค้ำยันมาจากองค์ประกอบ ภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยว ภาคการบริโภค และภาคลงทุน

ถึงวันนี้ คนทั่วโลกเริ่มคุ้นชินกับการใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกับเชื้อโควิด ที่ปัจจุบันพัฒนาเป็นสายพันธุ์โอมิครอน และด้วยเป็นสายพันธุ์แม้ติดเชื้อกันโดยง่าย แต่ส่วนใหญ่มองว่าอาการไม่รุนแรง ทำให้ทุกประเทศทยอยคลายล็อกมาตรการที่ใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ พร้อมกับการหาวิธีการฟื้นเศรษฐกิจ และทุกประเทศมองว่าที่จะได้ทันหน้าเห็น คือ การกระตุ้นภาคท่องเที่ยว หลายประเทศยอมเสี่ยงเปิดประเทศ และลดมาตรการทุกด้าน โดยด้านเศรษฐกิจ นำด้านสาธารณสุข จากนั้นก็ทยอยฟื้นองค์ประกอบอื่นๆ ล่าสุด พุ่งเป้าไปการดึงดูดภาคลงทุน เพราะเชื่อกันว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะกลางและยาว

⦁ ประเดิมโรดโชว์‘ญี่ปุ่น’ดึงทุนนอก

จึงเป็นที่มาของการนำคณะตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปโรดโชว์ต่างประเทศ เพื่อสะท้อนให้นักลงทุนในประเทศเป้าหมายได้รับรู้ว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญต่อการผลักดันอุตสาหกรรมและการลงทุนอย่างไรหลังจากนี้ ซึ่งประเดิมโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19-23 เมษายนที่ผ่านมา จุดประสงค์ของคณะนี้ ระบุว่าจะไปชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นรายเก่าที่ลงทุนอยู่เดิม และรายใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่ประเทศไทยกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 10 อุตสาหกรรม แต่ระยะสั้นหลังโควิดคลี่คลายจะเร่งก่อน 4-5 อุตสาหกรรม พร้อมกับเตรียมเดินสายโรดโชว์อีก 4-5 ประเทศในปีนี้ ถือเป็นการเดินทางโรดโชว์ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

Advertisement

พร้อมกันนี้ จะใช้โอกาสนี้ชี้แจงเกี่ยวกับการออกวีซ่าประเภทพิเศษ คือ วีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว หรือ Long-Term Resident Visa : LTR ที่มีอายุถึง 10 ปี สำหรับ 4 กลุ่ม คือ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ที่กำลังเร่งออกประกาศของกระทรวงมหาดไทยในเร็วๆ นี้ด้วย ซึ่งจะใช้นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการชักจูงการลงทุน และเงื่อนไขการจูงใจลงทุนอีกจำนวนมาก

⦁ ลงทุนในประเทศยังมีไฟ

ขณะที่มีความเห็นด้วยถึงการเร่งดึงดูดการลงทุนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ก็ยังความเห็นว่าอย่าได้ตั้งความหวังไว้สูง เพราะทั่วโลกเจอผลกระทบจากโควิดสะสมกันมานานเหมือนกัน การจะลงทุนเพิ่มหรือเลือกลงทุนนอกประเทศอาจกลับมาอีกครั้งในปี 2567-70

เรื่องนี้ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่า แม้เกิดการระบาดของโควิด-19 และสงครามรัสเซียกับยูเครนอาจยังยืดเยื้อต่ออีก แต่หากไม่มีอะไรที่รุนแรงกว่านี้ การลงทุนของประเทศในปี 2565 ยังมีให้เห็นและเดินหน้าลงทุนไม่ได้หยุดนิ่งเสียทีเดียว โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ที่เป็นเครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจยังไปได้ดี และมีการผูกพันสัญญาและเบิกจ่ายงบประมาณต่อเนื่อง

“แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่ภาคเอกชนจะต้องชะลอการลงทุน เพราะต้องรอประเมินสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ถ้าเขาประเมินแล้วว่าระยะถัดไปมีความมั่นใจว่าประเทศไทย อาจไม่ผลกระทบมากนัก ในแง่การผลิตและส่งออก ที่ต้องขยายกำลังการผลิต เขาคงเดินหน้าลงทุนต่อ ขณะนี้ยังมีบางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและอาหารที่มีการลงทุนและขยายกำลังการผลิต”

เลขาฯสศช.กล่าวอีกว่า ส่วนนักลงทุนต่างชาติ อาจจะมีการชะลอบ้าง หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะยุติเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังมีคำขอการลงทุนอยู่เรื่อยๆ อาจเป็นผลจากการที่ เมื่อโลกเริ่มแบ่งขั้ว เป็นฝั่งตะวันตกกับตะวันออก และมีมาตรการแซงก์ชั่นออกมา ภาคเอกชนที่เคยไปตั้งโรงงานผลิตที่เป็นประเทศคู่ขัดแย้ง มีโอกาสสูงจะถูกร่างแหไปด้วย จึงมองหาประเทศที่มีความเป็นกลางลงทุนที่เซฟมากขึ้น อย่างเช่นประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นการกระจายตัวของซัพพลายเชนที่อยู่ในค่ายโดนแซงก์ชั่นกระจายตัวออกมา ซึ่งในวิกฤตก็เป็นโอกาสอีกแบบของประเทศไทยเหมือนกัน

⦁ วิชาการชี้ ‘จังหวะเหมาะสม’

มุมมองจากนักวิชาการ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า ตอนนี้ถือเป็นช่วงที่ดีในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แม้เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาในเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังคาราคาซังอยู่ แต่เศรษฐกิจทั่วโลก ก็มีการฟื้นตัวเป็นปีที่ 2แล้ว แม้อัตราการเติบโตจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในตอนต้นแต่ประเทศต่างๆ ก็มีการบริหารโควิด-19 ได้ดี และมีการคลายล็อกมาตรการออกมา ถือเป็นช่วงที่ดีในการเดินหน้าโรดโชว์ เพื่อทำความรู้จักประเทศไทยสู่สายตาต่างชาติ

ประเทศไทย ยังมีความน่าสนใจ โดยจุดขายที่สำคัญ คือ ไทยเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรี ที่ไปถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2568 ที่มีสิทธิประโยชน์ไม่เพียงแต่ลดภาษีนำเข้าจากประเทศที่เป็นสมาชิก แต่ยังสามารถลดอุปสรรคต่างๆ อาทิ การมาใช้ฐานการผลิตในอาเซียน ให้เป็นแหล่งกำเนิดสินค้ากระจายไปในอาเซียน ปรับปรุงมาตรฐานสินค้าให้ใกล้เคียงกัน ปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้อง และง่ายต่อการค้าขายร่วมกัน รวมถึงไทยยังเป็นสมาชิกของอาร์เซ็ป ที่ระยะเริ่มต้นถือ เป็นเขตการค้าเสรี ทำให้ประเทศที่เข้ามาใช้ฐานการผลิต 1 ใน 15 ประเทศ รวมประเทศไทย สามารถส่งออกสินค้าไปในประเทศสมาชิกได้แบบไม่มีภาษีและไม่มีโควต้าจำกัด

มีการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ ที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาคมนาคม ขนส่งโลจิสติกส์ การค้าชายแดน ซึ่งการเชื่อมโยงเหล่านี้ หมายความว่าประเทศไทยอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไทยมีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีโครงการเอื้ออำนวยประโยชน์ค่อนข้างมาก อาทิ ด้านเทคโนโลยีใหม่ ด้านดิจิทัล

⦁ ชูเสน่ห์ท่องเที่ยวไทยหนุน

อย่างไรก็ตาม ยังต้องพึ่งพาเสน่ห์ไทยเป็นสำคัญ นั่นคือภาคการท่องเที่ยว ที่เชื่อมโยง 2 ด้าน ทั้งการเดินทางท่องเที่ยวแบบจริงๆ คู่ขนานไปกับการลงทุน สร้างทั้งแหล่งทำงานและท่องเที่ยวได้ไปด้วย หรือการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาช่องทางการลงทุน เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงมาก เป็นการเวิร์กเคชั่น หรือทำงานได้ทุกที่ ซึ่งประเทศไทยได้รับการโหวตจากทั่วโลกว่า ประเทศไทยน่าเข้ามาทำงานและเที่ยวไปด้วย กับกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภูเก็ต

สิ่งที่ไทยกำลังทำอยู่คือ ซอฟต์เพาเวอร์ เป็นการสร้างอำนาจแบบไม่ใช่การออกรบ แต่เป็นอำนาจในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้ามาในประเทศ ชูจุดเด่นเรื่องอาหาร ผลไม้ ที่เชื่อว่าหากสามารถพัฒนาอาหารและผลไม้ ที่อยู่ในระดับดีอยู่แล้วให้ครบวงจรมากขึ้นได้ ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ สามารถขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1 ในโลกด้านอาหาร และผลไม้

⦁เร่งกำจัดจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง

เขายังระบุอีกว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องเทคโนโลยี ที่ยังไม่สามารถเก่งได้เท่าประเทศใหญ่ๆ โดยรัฐบาลต้องเร่งดึงการลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่และสำคัญเข้ามาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย เพราะการศึกษาไทยที่ผ่านมา เน้นปริมาณ แต่คุณภาพยังไม่ได้ดีมากนัก สะท้อนได้จากการคิด วิเคราะห์ของเด็กไทย ที่อ่อนแอมาก เทียบกับหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ช่วงนี้ ถือเป็นช่วงที่ประเทศไทย ต้องเร่งเดินหน้าดึงการลงทุน และกำจัดจุดอ่อนที่มีอยู่ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว

ประเทศที่มีความน่าสนใจ นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) อินโดแปซิฟิก สหรัฐอเมริกา และตัวที่ช่วยเราคือ ประเทศในตะวันออกกลาง ที่อยู่ในช่วงต้องปรับตัวขนานใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถพึ่งพารายได้จากการส่งออกพลังงาน ก๊าซ และน้ำมันเป็นหลักเหมือนในอดีตได้แล้ว สะท้อนได้จากซาอุดีอาระเบีย ที่มีแผนยุทธศาสตร์เดินหน้าประเทศใหม่ และเปิดประเทศมากขึ้นโดยเราจะได้ประโยชน์จากการเดินหน้ารูปแบบใหม่ของกลุ่มประเทศเหล่านี้

ดังนั้น วิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นว่าเราไม่สามารถพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นหลักได้ เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ไทยจะมีปัญหาตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ไทยก็ไม่สามารถพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศทางเดียวได้ เพราะจำนวนประชากรและขนาดที่มีไม่ใหญ่มากนัก

การทยอยเปิดประเทศและใช้เสน่ห์ที่มีอยู่ เดินหน้าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ถือเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จะบรรลุเป้าจีดีพีเกิน 3.5% หรือไม่ ต้องวัดฝีมือกันต่อไป!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image