มุมมอง ‘หอการค้า-สภาอุต’ ไฟเขียว ‘เขตศก.พิเศษ 4 ภาค’

มุมมอง‘หอการค้า-สภาอุต’ ไฟเขียว‘เขตศก.พิเศษ4ภาค’

มุมมอง ‘หอการค้า-สภาอุต’ ไฟเขียว‘เขตศก.พิเศษ4ภาค’

หมายเหตุ – ความเห็นของหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ภายหลังคณะกรรมการนโยบายกาพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เห็นชอบขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

จุลนิตย์ วังวิวัฒน์
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

ถือเป็นเรื่องที่ดีมากที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเห็นชอบการประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค และให้นำเรื่องการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยกำหนดให้พื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA เพราะจะเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือให้เติบโตไปในทิศทางที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพียงแต่อาจจะต้องมีการมาปรับไส้ในให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่มีการหารือกันมานานมากแล้ว และหอการค้าพยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอด ขณะนี้กำลังดูในรายละเอียด โดยเราต้องการในสองประเด็น คือ NEC Valley และ Cosmetic Valley โดยในส่วนของ NEC Valley เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองดิจิทัล ขอไปในเรื่องของการทำสัญญาในการขอการลงทุนจาก BOI คือ การลดหย่อนภาษีธุรกิจดิจิทัลที่ลงทุนในพื้นที่ เพราะแต่เดิมการลงทุนต้องเสียค่าขนส่งสูง คือ ผู้ผลิตมีต้นทุนในเรื่องการจ่ายภาษีค่าขนส่งสูงกว่า 10% เป็นเรื่องที่ผู้ผลิตต้องแบกรับอยู่ และการทำธุรกิจดิจิทัลไม่มีต้นทุนนี้

Advertisement

จ.เชียงใหม่ เป็นเมืองการศึกษา ซึ่งในแต่ละปีเราผลิตบัณฑิตออกมาจำนวนมาก แต่ทุกคนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น และปัจจุบันนี้การที่บัณฑิตจบปริญญาตรี แต่ยังมีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาท เพราะเราไม่มีนิคมอุตสาหกรรมแบบมาบตาพุด ความจริงเราควรมีนิคมอุตสาหกรรมดิจิทัล แต่อาจไม่ต้องใช้ชื่อว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรม ตอนนี้ทางหอการค้ากำลังทำโครงการเสนอไปให้จังหวัดพิจารณาแต่ต้องมีการปรับไส้ในจากเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้น

ส่วนที่ทำไมต้อง Cosmetic Valley ก็เพราะว่าพื้นที่ภาคเหนือเรามีสมุนไพร และผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องสินค้าล้นตลาด หรือราคาตกต่ำ มีการชุมนุมประท้วงไม่ว่าจะเป็นลำไย หรือมะม่วง ดังนั้น เราควรทำ Cosmetic Valley เพราะเครื่องสำอางมีราคาสูง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และเรามีมหาวิทยาลัยที่มีบุคลากรที่เก่งมาก ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพียงของบประมาณมาตั้งโรงงานเพื่อผลิต โดยการเชิญเกษตรกรมาร่วมวิจัยและดูว่าผลผลิตตัวไหนที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้

ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ว่าจะเป็น NEC Valley และ Cosmetic Valley ต่างก็อยู่ภายใต้ร่มใหญ่ของ NEC-Creative LANNA ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอให้จังหวัดเห็นชอบด้วย และผลักดันให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อเกิดการลงทุนที่เป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด

Advertisement

กรกฏ เตติรานนท์
อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช

ในฐานะกรรมการหอการค้าไทย

กพศ.ไฟเขียวประกาศระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค และให้นำเรื่องการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยภาคใต้เป็นเขตที่ 4 จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาค ฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับนานาชาตินั้น เรื่องนี้มีการพูดคุยกันมานานแล้วหายเงียบไปแล้วก็มีการหยิบขึ้นมาพูดอีกครั้ง

ความจริงแล้วเรื่องนี้มีการเตรียมความพร้อมมานานแล้วในภาคเอกชน พูดคุยกันตลอดมันคือเรื่องเดิม แต่ก็มีความจำเป็นต้องชะลอไป เพียงแต่เอารูปแบบเดิมมาบูรณาการร่วมออกแบบใหม่ เนื่องจากภาครัฐเป็นหัวเรือใหญ่จะต้องขับเคลื่อนภาคเอกชน ประกอบกับเกิดวิกฤตโรคติดต่อร้ายแรง จึงทำให้ทุกอย่างต้องชะลอออกไป และเกิดปัญหาตามมาในหลายเรื่อง วันนี้รัฐแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 ได้อย่างชัดเจนแล้วหรือยัง จะเปิด จะปิดประเทศ แล้วผลของการเปิด-ปิดจะส่งผลกระทบอะไรบ้างพร้อมหรือยัง เอกชนพร้อม รถ เรือ กำลัง ถ้วยชาม กะละมัง โคม น้ำมัน เรามีพร้อม แต่ถามว่ารัฐพร้อมจริงๆ หรือไม่ เมื่อเราเปิดแล้วจะต้องมีการวางแผนว่ารัฐควรจะสนับสนุนอย่างไร ประเด็นนี้ทางรัฐจะต้องคำนึงถึงด้วย

การที่รัฐหยิบเรื่องพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษออกมาอีกครั้ง จึงเป็นสิ่งที่ดี อย่าถามว่าอีกนานไหม ต้องถามว่าเราลงมือทำกันจริงหรือไม่ ก่อนหน้านี้ผมเห็นมีการประชุมติดตามเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ร่วมประชุม ล่าสุดมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน กลับไปวางแผนนำเสนอโครงการต่างๆ ที่จะผลักดันให้เกิดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หากเรามองในเรื่องของความพร้อม ภาคเอกชนพร้อม เพียงรัฐมีความชัดเจน และเปิดทางสะดวกงานตามโครงการที่รัฐตั้งเป้าหมายก็จะเดินไปอย่างราบรื่น ความชัดเจนจึงอยู่ที่ภาครัฐเพียงอย่างเดียว ภาคเอกชนพร้อมรับ

ภาคเอกชนมีความพร้อม โรงงาน เสา บ้านเรือน ที่พัก โกดัง ฯลฯ หรืออาจจะติดปัญหาบ้างในบางเรื่อง รัฐจะต้องมาเสริมส่วนที่ขาดให้กับเอกชน กฎระเบียบของภาครัฐบางอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีบทลงโทษ ทุกอย่างจึงสะดุดเดินต่อไปได้ วันนี้จึงเป็นโอกาสดีหากจะเปิดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษจริงในพื้นที่ภาคใต้ ทุกหน่วยงานลงมาศึกษา ระดับบนและดับล่างยังมองไม่เห็นกัน จึงต้องลงมาศึกษาหาความเป็นไปได้กันอีกครั้งปรับดูว่ามีโครงการใดที่สอดคล้องก็หยิบมาใส่ในโครงการใหม่อีกครั้ง บางโครงการที่ทำร่วมกันไว้ยังใช้ได้ ประกอบกับความต้องการและความพร้อมในภาคใต้มีมาก โดยเฉพาะฝั่งอันดามันมีศักยภาพมาก โดยสรุปแล้วอยู่ที่แผน การวางแผน งานจะเดินได้ต้องมีแผนรองรับและความชัดเจนของภาครัฐ รวมทั้งกฎหมายและข้อบังคับที่มีอยู่จะเป็นตัวที่ทำให้เอกชนไม่กล้าทำอะไร จนทำให้งานโครงการอาจสะดุดลงได้

สมภพ ธีระสานต์
ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี

เดิมในประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ไม่มีจังหวัดกาญจนบุรี สภาอุตสาหกรรมภาคกลางได้ขอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอ กพศ. เพิ่มจังหวัดกาญจนบุรีเข้าไป เนื่องจากมีด่านถาวรและมีพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว จึงมีการประกาศชื่อจังหวัดกาญจนบุรีเพิ่มเติม ซึ่งกาญจนบุรีได้มีการ
เตรียมความพร้อมที่จะเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว เพราะเรามีด่านบ้านพุน้ำร้อน ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้งานได้อย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดชายแดนอื่นๆ รวมทั้งมีการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ไว้ เช่น แหล่งน้ำ การขยายไฟฟ้า กายขยายสายเคเบิล Internet ความเร็วสูง หรือแม้แต่ Motorway จากนี้ไปจังหวัดกาญจนบุรีจะได้มีโอกาสไปร่วมประชุมหารือเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 บริเวณพื้นที่ชายแดนบ้านพุน้ำร้อน มีการกันพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนและญี่ปุ่น แต่ติดปัญหาที่การส่งมอบพื้นที่จากสำนักงานธนารักษ์ให้ผู้รับสิทธิยังไม่เรียบร้อย แต่ปัจจุบันมีการส่งมอบพื้นที่เกือบเรียบร้อยแล้ว ก็มามีปัญหาเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 จึงชะลอโครงการไป แต่ผลดีอีกด้านหนึ่ง คือ จีน กลับมามองหาพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งผลิตสำรอง เผื่อมีการระบาดของโรคหรือเกิดเหตุการณ์ใดที่ต้องปิดเมือง ยังสามารถมีฐานการผลิตสำรองได้ต่อไป จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาญจนบุรี เป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เราเคยส่งออกข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง ติดอันดับ Top 5 ของตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่เป็น BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอีกทั้งจะเริ่มผลิต Plant Based food (อาหารทางเลือกใหม่ ไร้เนื้อสัตว์ ทำจากพืช 100%) ซึ่งกาญจนบุรีก็มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิต Plant-based Food อยู่ กาญจนบุรียังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีชื่อเสียงและมีนักท่องเที่ยว มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ สภาพภูมิอากาศ ร้อนแห้ง ซึ่งเหมาะกับการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนการทำอุตสาหกรรมไฮเทค

โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมปรับตัวรองรับ แต่เพิ่งเจอปัญหาเรื่องโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน และวัตถุดิบต่างๆ สูงขึ้น จึงทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่พร้อมที่จะลงทุนในช่วงนี้ เนื่องจากกลัวขาดสภาพคล่อง รัฐบาลควรให้การช่วยเหลือเรื่องแหล่งทุน การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ทางเทคโนโลยี นโยบายเรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่เคยประกาศมาแล้ว กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ใช้เวลานานมาก ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ก็เกรงว่าระเบียงเศรษฐกิจเมื่อประกาศมาแล้วจะขับเคลื่อนช้าอีก ต้องเอาจริงเอาจัง และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมช่วยกันขับเคลื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image