กกร.รุกรัฐปลุกชีพ ศก. คุมดีเซล35-งัดมาตรการกระตุ้น

รายงานหน้า 2 : กกร.รุกรัฐปลุกชีพ ศก. คุมดีเซล35-งัดมาตรการกระตุ้น

รายงานหน้า 2 : กกร.รุกรัฐปลุกชีพศก. คุมดีเซล35-งัดมาตรการกระตุ้น

หมายเหตุ – คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นประธานการประชุมประจำเดือนพฤษภาคม 2565 ประเมินสถานการณ์และแนวทางที่จะนำเสนอภาครัฐ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนายเกรียงไกรเป็นผู้แถลงผลสรุปการประชุม

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหวจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ถือเป็นความท้าทายต่อการส่งออกช่วงที่เหลือของปี 2565 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่มีโอกาสยืดเยื้ออย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 หรืออาจยาวไปถึงปี 2566 ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด ผ่านการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% จากที่คาดว่าจะขึ้นเพียง 0.25% ถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุดในรอบ 22 ปี รวมถึงมีแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมทั้งปี 2565 อยู่ที่ 2.50-2.75% รวมถึงประเทศขนาดใหญ่อย่างจีน ที่ใช้มาตรการซีโร่โควิด ทำให้เศรษฐกิจของจีนหดตัว

จีนถือว่ามีส่วนสำคัญต่อซัพพลายเชน และห่วงโซ่เศรษฐกิจทั่วโลกสูงมาก ทำให้เป็นแรงกดดันการขยายตัวเศรษฐกิจโลกไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 ลดลงมาจาก 4.4% เหลือ 3.6% จะส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกของไทยได้อย่างแน่นอน เป็นปัจจัยด้านราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิม

Advertisement

หากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นมาก จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อไทยที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน และมีแนวโน้มส่งต่อลบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจยังเปราะบางในหลายอุตสาหกรรม อาทิ โรงแรม ค้าปลีก สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนมีผลกระทบมาก ส่วนใหญ่อาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำในระยะข้างหน้าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 5% ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมิน จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ในระดับที่เหมาะสม

การท่องเที่ยวมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น การเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิม สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีมาอยู่ที่ 70-80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 เนื่องจากนักท่องเที่ยวในไทยปรับตัวอยู่กับโควิด-19 บ้างแล้ว อีกทั้งได้อานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มการเดินทางอยู่ที่ 119 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิมเช่นกัน โดยการเปิดประเทศมีผลดี ทำให้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก หากไม่มีอะไรผิดพลาด และเราสามารถอำนวยความสะดวกในการเข้าประเทศได้ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 ก็อาจทำได้ถึง 8 ล้านคน

เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม แต่ความเสี่ยงในระดับสูง ก็ทำให้ที่ประชุม กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-4.0% ในกรอบเดิม ภายใต้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในระดับที่เหมาะสม และคงประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3.0-5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5-5.5%

จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ และสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน-รัสเซีย กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างเต็มที่และจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน ในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2565 ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่มากขึ้นในช่วงปลายปี จากทั้งภาระค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตหรือการขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ได้แบ่งมาตรการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง ผ่านการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยเฉพาะเมื่อมีการขึ้นราคาน้ำมันเป็นขั้นบันได จนถึง 35 บาทแล้วอยากให้ตรึงที่ราคา 35 ยาวที่สุด หากจะปรับขึ้นเพิ่มเติมอีก การขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า อาทิ ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ, เพิ่มโควต้านำเข้า รวมถึงเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนจากโควิดสูงมาก และยังไม่ฟื้นตัว ทำให้เงินเฟ้อที่ขึ้นยิ่งทำให้สภาพคล่องหายมากเข้าไปอีก อาทิ เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐบาลสามารถทำได้ทันทีและทำได้เร็วที่สุด มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

2.การกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อาทิ การออกโครงการคนละครึ่งเฟส 5 เพราะเป็นการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มกำลังซื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยการขยายโครงการคนละครึ่ง อยากให้ทำทันทีเร็วที่สุด ภายในไตรมาส 2/2565 ในจำนวนเงินใช้จ่ายอยู่ที่ 1,000 บาทต่อคน หรือหากได้ 1,200 บาทจะดีมาก แต่หากได้ 1,500 บาทจะดีที่สุด และอย่างน้อยจะต้องดำเนินโครงการเป็นเวลา 3 เดือน การขยายจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน การผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ มีความสำคัญเพราะหลายภาคส่วนยังไม่มีงาน อาทิ ธุรกิจสถานบันเทิง ที่ยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ ธุรกิจนี้มีแรงงานเกี่ยวข้องจำนวนมาก การลดภาระให้กับผู้ประกอบการ อาทิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อยากให้พิจารณาช่วยเหลือเก็บใน 10% เท่านั้น ลดหย่อนให้ 90% เหมือนที่ผ่านมา การเริ่มเก็บที่ 100% เต็มในตอนนี้ มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยังไม่พร้อม หากยืนยันที่จะเก็บ 100% ก็มองว่ารัฐบาลไม่ควรคิดเบี้ยปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า

การส่งเสริมและอำนวยความความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม โดยในครึ่งปีหลังนี้ อยากให้เปิดแบบจริงๆ เหมือนหลายประเทศ อย่ามีเงื่อนไขสูงมากเหมือนที่ผ่านมา ยิ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเท่าใด ก็จะยิ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชน และลดภาระให้กับรัฐบาลได้ด้วย

การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาครัฐควรคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงาน ในแต่ละจังหวัดนั้นๆ ประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด การปรับอัตราค่าแรงที่สูงเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการด้านต้นทุนการผลิตให้เพิ่มพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าได้ ภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนสูง ก็ส่งผลให้สินค้าและบริการต้องปรับราคาขึ้นมากพออยู่แล้ว

กกร.จึงขอเสนอให้ใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (คณะกรรมการไตรภาคี) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด รวมทั้งนำกลไกการปรับขึ้นค่าแรงในลักษณะตามทักษะการทำงาน Pay by Skill และมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณาในการปรับขึ้นค่าแรงงาน

กกร.ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พีดีพีเอ) แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และปรับตัวให้อยู่รอด อีกทั้งปัจจุบันกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูกก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงควรมีเวลาให้ทุกภาคส่วนพิจารณาทำความเข้าใจพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ด้วย เพราะตอนนี้มองว่ายังเร็วไป กกร.จึงเสนอให้ภาคธุรกิจมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวตามกฎหมายลูก และขอชะลอบทลงโทษในกรณีที่มีการบังคับใช้จริงออกไปอีก 3 ปี เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจให้เข้มข้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image