คิดเห็นแชร์ : Financial Literacy สิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนธุรกิจ ที่ไม่มีสอนในห้องเรียน

เงินอาจไม่ใช่คำตอบของความสุขในชีวิต แต่การมีเงินไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานตามปัจจัยสี่ของมนุษย์นั้น จะทำให้เกิดเป็นความทุกข์ได้ สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน วันนี้ผมจะมาแชร์มุมมองถึงทักษะความรู้หนึ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก็คือ ทักษะการเงินหรือความรู้ด้านการเงิน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Financial Literacy ซึ่งเป็นการประยุกต์เอาความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการใช้ทักษะทางการเงินนี้ ยังสามารถใช้ในการบริหารกิจการ หรือธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทักษะหรือองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นเช่นนี้ควรปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก แต่ในประเทศไทยนั้นกลับไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้นี้ในโรงเรียนมากนัก สิ่งที่อาจเห็นได้บ้าง คือ การสอนเกี่ยวกับ

“การออม” ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมในการออมเบื้องต้นให้กับเด็กและเยาวชน เนื่องจากอาจมองว่าเด็กสามารถฝึกออมเงินจากค่าขนมที่ได้รับจากพ่อแม่ตอนไปเรียนหนังสือ จึงทำให้เด็กที่ได้รับการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านการเงินนี้ มักอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทำธุรกิจ ร้านอาหาร หรือร้านค้า จนหล่อหลอมให้เด็กเหล่านั้น เรียนรู้การคิดเงิน การหาเงิน และการบริหารจัดการเงินจากประสบการณ์จริง

สำหรับความรู้ด้านการเงินพื้นฐานที่จำเป็นนั้น ประกอบด้วย 1) การหารายได้และหน้าที่ในการเสียภาษี 2) การลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย 3) การเก็บออมเงินและอัตราดอกเบี้ย 4) การลงทุนและการจัดการหนี้สิน จะเห็นได้ว่าเพียง 4 ด้านนี้ หากนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ชีวิตดำเนินได้อย่างราบรื่นในสังคมประเทศไทยได้ หากไม่มีปัจจัยอื่น เช่น สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติ เข้ามาเกี่ยวข้อง

บ่อยครั้งที่เราได้เห็นข่าวการฆ่าตัวตายที่น่าสลดจากสื่อต่างๆ เนื่องจากไม่สามารถจัดการกับภาระหนี้สินที่ตนเองและครอบครัวมีอยู่ได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ห้างร้านต่างๆ ต้องปลดพนักงานออกจำนวนมาก เพื่อลดภาระต้นทุนและพยุงกิจการให้อยู่รอดต่อไปได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีทักษะความรู้ทางการเงิน จึงทำให้หาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้

Advertisement

ส่วนในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชากรวัยทำงานทั่วประเทศ พบว่า 88% สนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดวิชาการเงินส่วนบุคคล บรรจุไว้ในหลักสูตรสำหรับนักเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศอย่างน้อยหนึ่งภาคการศึกษา หรือทั้งปีการศึกษาก็ได้ เพื่อให้นักเรียนเหล่านั้นได้มีทักษะด้านการบริหารจัดการด้านการเงิน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวอเมริกันหันมาตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ทางการเงินให้แก่เยาวชนตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อปลูกฝังและสร้างนิสัยการบริหารจัดการด้านการเงิน ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้จะเติบโตไปเป็นประชากรในวัยทำงานของอเมริกาในวันข้างหน้า การให้ความรู้ทางการเงินจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศที่ต้องนำเงินสวัสดิการไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ อีกทั้งยังสร้างการตระหนักรู้หน้าที่ของพลเมืองในการเสียภาษี เพื่อนำเงินภาษีมาบำรุงและพัฒนาประเทศต่อไป

เมื่อหันมามองในภาคธุรกิจของประเทศไทย มีผู้ประกอบการบางรายยังคงมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเงินและการทำบัญชีเพื่อหลบเลี่ยงภาษี โดยใช้วิธีการทำบัญชีของกิจการให้ขาดทุนมาโดยตลอด แต่ก็ลืมคำนึงถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างที่เราประสบกันอยู่คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และเมื่อการดำเนินกิจการขาดทุนมาโดยตลอดก็เป็นการยากที่สถาบันการเงินจะมั่นใจในความสามารถการชำระหนี้ จึงไม่ปล่อยกู้สินเชื่อให้เพราะกลัวว่าจะเป็นหนี้สูญ และจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินว่า ในระยะถัดไปคาดว่าหนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น จากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ยาวนานมากว่า 2 เดือน ทำให้ราคาน้ำมันปัจจัยหลักสำคัญในด้านโลจิสติกส์และการขนส่งของประเทศพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มขึ้นถึงลิตรละ 50 บาท ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และหลายกิจการจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น จนทำให้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยจากตัวเลขในเดือนเมษายน 2565 เงินเฟ้อพุ่งสูงอยู่ที่ 4.65% และมีแนวโน้มขยับขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบให้บางธุรกิจอาจไปต่อไม่ไหว ถูกซ้ำเติมจากวิกฤตเก่าจนต้องขายและปิดกิจการลง ดังนั้นทักษะทางการเงินจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยประคองให้ธุรกิจอยู่รอดได้

Advertisement

ดังเช่นที่ อลัน กรีนสแปน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้กล่าวไว้ว่า ปัญหาอันดับหนึ่งในยุคและเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ “การขาดความรู้ทางการเงิน” ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงาน ก็ควรศึกษาหาความรู้ทักษะทางการเงินไว้เพื่อตัวท่านเอง ปัจจุบันมีสื่อการเรียนรู้มากมายให้ท่านได้ศึกษาค้นคว้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือการสมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตรทางการเงินกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งจะช่วยให้ทุกท่านสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image