วิกฤตหนี้ครัวเรือนไทย นักวิชาการฉะ ปชช.ไม่แคร์กฎ กลไกรัฐ-แบงก์บิดเบี้ยว!

“หนี้สิน” เป็นประเด็นเศรษฐกิจที่ใกล้ตัวเราทุกคนไม่ว่าจะซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อของใช้ผ่านบัตรเครดิต หรือจะเป็นการหาเงินทุนเพื่อประกอบธุรกิจ ต่างก็ต้องพึ่งพาเงินกู้กันทั้งนั้น ซึ่งการก่อหนี้สินนั้นไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย หากมีความจำเป็นหรือเป็นการลงทุนธุรกิจ เว้นแต่หนี้เพื่อสนองความฟุ่มเฟือย เรื่องนี้น่ากลัว!

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 นั้น ยังคงขยายตัวเพิ่มต่อเนื่องปัจจุบันอยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่อยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.6% ของจีดีพี

  • หนี้รถยนต์ วิกฤตจ่อเป็นหนี้เสีย

ทั้งนี้ ในส่วนของคุณภาพการชำระสินเชื่อมีการปรับตัวดีขึ้น และมีการขยายตัวในลักษณะชะลอลงของสินเชื่อเกือบทุกประเภท แต่มีส่วนที่ต้องจับตา คือ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ส่งสัญญาณว่าต้องเฝ้าระวังการเกิดหนี้เสีย โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อรถยนต์ ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มูลค่าสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 11.08% ต่อสินเชื่อโดยรวม

ขณะที่ภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดย สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมรถยนต์มีความกังวล เรื่องปัญหาราคาน้ำมันและค่าเงินบาท ที่ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าหลายอย่างเพิ่มขึ้น รวมทั้งหนี้ครัวเรือนระดับสูงทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยพบว่าการปล่อยสินเชื่อหรือไฟแนนซ์ซื้อรถยนต์ไม่ผ่านการพิจารณาเฉลี่ย 30% ของยอดที่ยื่นขอแล้ว

Advertisement

ในเรื่องนี้ สุรพงษ์ ยังระบุสาเหตุที่กังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนว่า หนี้ครัวเรือนเกิดจากการที่ประชาชนหรือครัวเรือน ทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน นำไปซื้อบ้านรถยนต์ หรือทำธุรกิจ ซึ่งทางสถาบันการเงินจะปล่อยกู้ ก็ต้องเข้ามาดูว่าคนที่จะมาขอกู้เงิน มีหนี้สินอยู่แล้วเท่าไหร่และมีรายได้เท่าไหร่ แล้วถ้าจะทำการกู้เงินก้อนใหม่ ก็ต้องดูว่ามีรายได้พอที่จะส่งเงินใช้หนี้ก้อนใหม่หรือไม่ และถ้าสถาบันการเงินมองว่าไม่มีกำลังผ่อนส่ง ก็เท่ากับไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ดังนั้น หนี้ครัวเรือนจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ ก็มีระดับต่ำมานานแล้ว ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19เข้ามา รวมถึงมีการล็อกดาวน์ประเทศ สะท้อนว่าเมื่อมีการล็อกดาวน์ ทำให้คนไม่มีรายได้ ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อจึงลำบาก และปล่อยได้น้อยลง แต่เมื่อมีการคลายล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับคืนมา และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจต่างเริ่มกลับมา จึงทำให้การปล่อยสินเชื่อค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้น

  • คนละเลยก่อหนี้ฟุ่มเฟือยสูง

ขณะที่ นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อมูลว่า ต้องมองย้อนกลับไปที่พื้นฐาน คือ การก่อหนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ หนี้สำหรับการบริโภค และหนี้เพื่อการลงทุน จุดต่างของหนี้สองส่วนนี้คือ หนี้เพื่อการบริโภคใช้แล้วหมดไป แต่หนี้เพื่อการลงทุน เมื่อใช้แล้วมีโอกาสได้รายได้เพิ่มขึ้น สิ่งบิดเบือนไป คือ หลักคิดของคน จะต้องพยายามก่อหนี้เพื่อการลงทุน และไม่ก่อหนี้เพื่อการบริโภค แต่ที่เกิดในสังคมไทย กลับต่างกัน คือ ประชาชนมีหนี้เพื่อการบริโภคเยอะ และเมื่อเป็นหนี้เพื่อการลงทุนต้องดูว่าสิ่งที่จะลงทุนนั้นตอบโจทย์หรือไม่ เพราะในที่สุดต้องมีการใช้คืนหนี้ และยิ่งเป็นหนี้เพื่อการบริโภคต้องคิดมากกว่าเดิมเป็นสองเท่า เพราะในอนาคตต้องหาทางสร้างรายได้ทางอื่น เพื่อนำมาโปะหนี้

“ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะคิดไม่ทัน ต้องตั้งคำถามเสมอ เมื่อก่อหนี้แล้วจะหาเงินจากไหนมาใช้คืน ซึ่งเป็นหลักคิดที่ผู้กู้เงินส่วนใหญ่ ละเลยไป”

นณริฏ ยังระบุว่า อีกปัจจัยคือ สถาบันการเงิน ซึ่งในช่วงหลังๆ มานี้ จะปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคมากกว่าเพื่อการลงทุน เนื่องจากสถาบันการเงินต้องทำการตลาด อยากปล่อยกู้เพื่อการบริโภคเพราะมีดอกเบี้ยสูง จึงปล่อยง่าย เป็นการสร้างนิสัยที่เสียให้ประชาชนเคยชิน ขณะที่หนี้เพื่อการลงทุนกลับปล่อยยาก ทำให้บางคนต้องขอสินเชื่อเพื่อการบริโภคมาใช้ลงทุนธุรกิจแทน ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจก็เพิ่มตาม

ส่วนสุดท้ายคือ ภาครัฐ ปัจจุบันรัฐทำให้พื้นฐานกลไกการกู้เงินมีความผิดเพี้ยน โดยพื้นฐานที่แท้จริงของการกู้มีเพียงข้อเดียวคือ เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ในอนาคต และไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ คนต้องนับถือกฎข้อนี้ด้วย แต่เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อมีช่องว่างให้คนที่ก่อหนี้ แล้วไม่ต้องใช้คืน เมื่อนั้นเศรษฐกิจจะเจอปัญหา

“ทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ เมื่อไหร่อยากขับรถ มีเงินก็จบ ถ้าหากไม่มีเงิน และต้องไปกู้ยืมเงินมา แปลว่า คนนั้นจะต้องหาเงินในอนาคตมาโปะ ไม่มีใครสามารถใช้หนี้แทนกันได้”

  • ลดหนี้ลดโทษลดทอนการใช้คืนหนี้

นณริฏ ให้ข้อมูลอีกว่า สิ่งที่ภาครัฐทำคือ การเข้าไปอุดหนุนให้กับคนที่ไม่ควรจะได้ ยกตัวอย่างการที่รัฐมองเกษตรกรทุกคนเป็นคนจน ทั้งๆ ที่เกษตรกรบางคนไม่ได้จนแต่กลับไปทำประกันราคาสินค้าเกษตรให้ จึงไม่ต่างจากการให้เงินฟรี ในเรื่องหนี้สินภาครัฐได้เข้ามาช่วยลดหนี้เยอะเกินไป บางส่วนเห็นด้วย อาทิ กรณีช่วงที่เกิดโควิด-19เพราะเดือดร้อนจริง แต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีมาตรการลดดอกเบี้ย ออกเงิน หรือลดเงินต้นเช่นกัน มาตรการแบบนี้ทำให้คนไม่เคารพต่อกฎเพราะมองว่าเดี๋ยวภาครัฐก็เข้ามาช่วย

อีกประเด็นสำคัญคือ “การล้มบนฟูก” ในปัจจุบันเกิดการนิรโทษกรรม ทำให้กลไกการล้มบนฟูกทำได้เร็วและง่ายขึ้น หมายถึง ถ้าคนหนึ่งคนกู้เงินมา แล้วผ่อนส่งไม่ไหว ก็ทำการโอนเงินให้คนรู้จัก แล้วก็ยอมล้มละลาย โดยสมัยก่อนต้องติดสถานะล้มละลายถึง 10 ปี จึงจะได้กลับมาทำธุรกรรม แต่ปัจจุบันกลับเหลือ 3-5 ปี รวมทั้งการติดเครดิตเสียสั้นลง ซึ่งเป็นการให้โอกาสก็จริง แต่กลับกันคือโทษที่น้อยไปเหมือนทำให้คนก่อหนี้มาไม่ยอมคืนและจะกลับไปทำใหม่ซ้ำๆ อีก

“มาตรการที่รัฐออกมา และการลดโทษ ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎการใช้คืนหนี้หายไป” นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอทิ้งท้าย

การจัดการกับ “หนี้ครัวเรือน” จึงเป็นอีกภารกิจที่ท้าทายการบริหารเศรษฐกิจไทยของรัฐบาลชุดนี้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image